ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > สำรวจน้ำในเขื่อน “ภัยแล้ง” จะรุนแรงแค่ไหน เมื่อเหลือน้ำไม่ถึงครึ่งและใช้การได้เพียง 15%

สำรวจน้ำในเขื่อน “ภัยแล้ง” จะรุนแรงแค่ไหน เมื่อเหลือน้ำไม่ถึงครึ่งและใช้การได้เพียง 15%

27 เมษายน 2020


เขื่อนแม่กวงอุดมธารา อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่มา : กรมชลประทาน

วิกฤติภัยแล้ง เขื่อนใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง 19 แห่ง ระบายน้ำไม่ได้ 6 แห่ง ทั้งไม่มี “น้ำไหลลงอ่าง-ไม่ระบายน้ำ”มี 5 แห่ง เหลือปริมาณน้ำใช้การได้แค่ 15% ประกาศภัยแล้งไปแล้ว 26 จังหวัด

ขณะที่วิกฤติสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายดีขึ้นเรื่อยๆ แต่วิกฤติภัยแล้งดูจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติ ซึ่งหลายสถาบันวิจัยได้คาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจกันไปแล้ว

  • เศรษฐกิจไทยหดตัวต่ำสุด EIC คาดติดลบ 5.6% KKP Research ลงลึกที่ -6.8%
  • KKP Research วิเคราะห์วิกฤตภัยแล้ง 2020 ปีนี้รุนแรงแค่ไหน – ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย
  • TMB Analytics ชี้ จะรักษาการจ้างงานได้ “SME ต้องรอด” ปลดล็อกสภาพคล่องด้วย “รายใหญ่ช่วยรายเล็ก”
  • KKP Research ประเมินจ้างงานไทยมืดมิดจากพิษ COVID-19 ว่างงานพุ่งสูงกว่า 5 ล้านคน
  • วิจัยกรุงศรี ประเมินใช้เงินอย่างน้อย 1.7 ล้านล้าน อัดสภาพคล่องให้ธุรกิจรอดวิกฤติไวรัส
  • สำหรับภัยแล้ง ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายน 2563 จากกรมชลประทาน รวบรวมโดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ระบุว่า จากปริมาณความจุอ่างเก็บน้ำและเขื่อนทั่วประเทศกว่า 70,926 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างฯ เหลือเพียง 34,247 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 48% ของความจุอ่างฯ (โดยปริมาณน้ำที่จะเข้าเกณฑ์น้ำน้อยขั้นวิกฤติหากมีน้ำน้อยกว่า 30% ของความจุอ่างฯ รวม) เทียบกับปีที่แล้วที่เหลือน้ำในเขื่อนในช่วงเวลาเดียวกัน 41,246 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 58% ของความจุอ่างฯ

    ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การได้เหลือเพียง 10,722 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นเพียง 15% ของความจุอ่าง

    เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ณ เดือนธันวาคม 2562 ที่มาภาพ : กรมชลประทาน

    แล้งจัด! เขื่อนใหญ่ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง 19 แห่ง ระบายน้ำไม่ได้ 6 แห่ง

    ข้อมูลวันที่ 24 เมษายน 2563 พบว่าเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ น้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ 0 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือไม่มีน้ำไหลลงอ่างเลย มีทั้งหมด 19 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล,เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล,เขื่อนกิ่วคอหมา,เขื่อนแม่มอก,เขื่อนน้ำพุง,เขื่อนจุฬาภรณ์,เขื่อนห้วยหลวง,เขื่อนน้ำอูน,เขื่อนลำปาว,เขื่อนลำตะคอง,เขื่อนมูลบน,เขื่อนลำนางรอง,เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์,เขื่อนทับเสลา,เขื่อนกระเสียว,เขื่อนวชิราลงกรณ์,เขื่อนคลองสียัด,เขื่อนบางพระ และเขื่อนนฤบดินทร์จินดา ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคกลาง

    และมีเขื่อนที่น้ำระบายเป็น 0 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือไม่สามารถระบายน้ำได้ ทั้งหมด 6 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์,เขื่อนน้ำอูน,เขื่อนลำนางรอง,เขื่อนทับเสลา,เขื่อนกระเสียว และเขื่อนท่าพระ

    สำหรับเขื่อนที่มีทั้งน้ำไหลลงอ่าง และระบายน้ำเป็น 0 ล้านลูกบาศก์เมตรมีอยู่ 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน,เขื่อนลำนางรอง,เขื่อนทับเสลา,เขื่อนกระเสียวและเขื่อนบางพระ เป็นต้น

    หากเจาะลึกดูอ่างเก็บน้ำและเขื่อนในแต่ละภาคจะพบว่า ในภาคเหนือสถานการณ์กำลังวิกฤติ โดยจากปริมาณความจุอ่างฯ  24,825 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันเหลือน้ำเพียง 8,845 ล้านลูกบาศก์เมตร (36% ของความจุอ่างฯ รวม) และเหลือน้ำใช้การได้เพียง 2,100.16 ล้านลูกบาศก์เมตร (8% ของความจุอ่างฯ รวม) โดยเขื่อนสำคัญอย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์เหลือปริมาณน้ำ 34% และ 40% ของความจุอ่างฯ รวมตามลำดับ แต่เหลือน้ำใช้การได้เพียง 6% และ 10% เท่านั้น

    ภาคกลางที่มีความจุอ่างฯ รวม 1,419 ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเพียง 228 ล้านลูกบาศก์เมตร (16% ของความจุอ่างฯ รวม) และเหลือน้ำใช้การได้ 167.64 ล้านลูกบาศก์เมตร (12% ของความจุอ่างฯ รวม) โดยเขื่อนสำคัญอย่างเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำเหลือ 15% ของความจุอ่างฯ รวม และเหลือน้ำใช้การได้ 14% ของความจุอ่างฯ รวม

    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีความจุอ่างฯ รวม 8,368 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 2,690 ล้านลูกบาศก์เมตร (32% ของความจุอ่างฯ รวม) โดยมีน้ำใช้การได้ 1,039.17 ล้านลูกบาศก์เมตร (12% ของความจุอ่างฯ รวม) สำหรับเขื่อนสำคัญอย่างเขื่อนอุบลรัตน์และเขื่อนสิรินธร  มีปริมาณน้ำเหลือ 14% และ 56% ของความจุอ่างฯ รวมตามลำดับ และเหลือน้ำใช้การได้ -10% และ 14% ของความจุอ่างฯ รวม ตามลำดับ

    ภาคตะวันตก มีความจุอ่างฯ รวม 26,605 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 17,767 ล้านลูกบาศก์เมตร (67% ของความจุอ่างฯ รวม) โดยมีน้ำใช้การได้เพียง 4,489.62 ล้านลูกบาศก์เมตร (17% ของความจุอ่างฯ รวม) เขื่อนสำคัญอย่างเขื่อนศรีนครินทร์  แม้ว่าจะมีปริมาณน้ำ 73% ของความจุ แต่มีน้ำใช้การได้เพียง 16% ของความจุอ่างฯ รวมเท่านั้น

    ภาคตะวันออก มีความจุอ่างฯ รวม 1,515 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 282 ล้านลูกบาศก์เมตร (19% ของความจุอ่างฯ รวม) และมีน้ำใช้การได้เพียง 182 ล้านลูกบาศก์เมตร (12% ของความจุอ่างฯ รวม) โดยเขื่อนสำคัญอย่างเขื่อนคลองสียัด เขื่อนขุนด่านปราการชล  และเขื่อนประแสร์  มีน้ำใช้การได้เหลือเพียง 6%, 16% และ 4% ของความจุอ่างฯ รวมเท่านั้น

    ภาคใต้ มีความจุอ่างฯ รวม 8,194 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 4,470 ล้านลูกบาศก์เมตร (55% ของความจุอ่างฯ รวม) และมีน้ำใช้การได้ 2,759 ล้านลูกบาศก์เมตร (34% ของความจุอ่างฯ รวม)

    เทียบเคียงภัยแล้ง 59 – เสียหาย 41 จังหวัด

    ทั้งนี้ หากเทียบกับปี 2559 (เส้นสีม่วง) ซึ่งเป็นปีที่เผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา กับปีนี้ (เส้นสีแดง) จะพบว่าสถานการณ์ภัยแล้งของปีนี้ใกล้เคียงกันกับปี 2559 แม้ว่าจะมีน้ำต้นทุนในช่วงต้นปีมากกว่า และส่งสัญญาณว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรงมากกว่าและรุนแรงถึงที่สุดในช่วงเดือนมิถุนายน

    ย้อนกลับไปในปีดังกล่าวสถานการณ์ภัยแล้งกระจายตัวไป 41 จังหวัด 267 อำเภอ 1,444 ตำบล และ 11,840 หมู่บ้าน และกระทบประชาชน 1,061,125 ล้านครัวเรือน คิดเป็นประชาชน 3,015,391 ราย โดยสร้างความเสียหายกับพื้นที่การเกษตรไป 2,728,354 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่นาและสวน ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ในวันที่ 24 เมษายน 2563 มีพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ไปแล้ว 26 จังหวัด 149 อำเภอ 793 ตำบล และ 6,918 หมู่บ้าน และถ้าย้อนกลับไปสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์ที่ 20 แล้วที่เริ่มประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งและอาจจะต้องติดตามต่อไปว่าสถานการณ์นี้จะไปสิ้นสุดเมื่อไรและอย่างไรในท้ายที่สุด