ThaiPublica > เกาะกระแส > กยศ. ฟ้องนักศึกษา 1.2 แสนราย คืนหนี้ 1.2 หมื่นล้าน กรมบัญชีกลางเตรียมหักเงินผู้กู้ที่เป็นขรก. 70,000 ราย ใช้หนี้ 3.4 พันล้าน

กยศ. ฟ้องนักศึกษา 1.2 แสนราย คืนหนี้ 1.2 หมื่นล้าน กรมบัญชีกลางเตรียมหักเงินผู้กู้ที่เป็นขรก. 70,000 ราย ใช้หนี้ 3.4 พันล้าน

8 มิถุนายน 2018


เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) (ซ้าย) และนายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย แถลงข่าว บริการรับชำระหนี้จากผู้ที่กู้ยืมเงินจาก กยศ. และกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ผ่านระบบ QR Code โดยไม่เสียค่าธรรมเนียม ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวงการคลัง

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 2539 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2561 เป็นเวลา 22 ปี กยศ. ปล่อยเงินกู้นักเรียน นักศึกษา ไปแล้ว 5.4 ล้านราย คิดเป็นเงิน 5.7 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาและเรียนจบแล้วอยู่ในช่วงปลอดหนี้ประมาณ 1 ล้านราย, นำเงินมาชำระหนี้คืน กยศ. แล้ว 8 แสนราย และเสียชีวิต-ทุพพลภาพประมาณ 5 หมื่นราย ล่าสุดมี ผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้ประมาณ 3.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 4 แสนล้านบาท

ในจำนวนผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้ 3.5 ล้านราย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1. ผู้กู้ที่ชำระหนี้ได้ตามปกติ 1.4 ล้านราย

2. กลุ่มผิดนัดชำระหนี้ 2.1 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ 6.8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ประกอบไปด้วยกลุ่ม

  • ลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกิน 5 งวด (ชำระหนี้ปีละ 1 ครั้ง) โดย กยศ. ได้ส่งฟ้องศาลแล้ว 1 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ที่ค้างชำระ 4.8 หมื่นล้านบาท
  • กลุ่มผิดนัดชำระหนี้ แต่ยังไม่ถูกดำเนินคดีมีประมาณ 1.2 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ที่ค้างชำระ 2 หมื่นล้านบาท

นายชัยณรงค์ กล่าวว่า ตามแผนงานในปี 2561 กยศ. เตรียมฟ้องลูกหนี้ที่ค้างชำระหนี้เกิน 5 งวด เพิ่มเติมอีก 1.2 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้ที่ค้างชำระ 1.2 หมื่นล้านบาท กยศ. ขอประชาสัมพันธ์ถึงผู้กู้ที่ค้างชำระหนี้เกิน 5 งวด หากได้รับหมายศาล ไม่ต้องวิตกกังวล ทาง กยศ. ยังเปิดโอกาสให้ผู้กู้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอประนอมหนี้ได้ โดยผู้กู้ยืมสามารถชำระเงินคืนกองทุนได้หลากหลายช่องทาง ได้แก่
1) หักบัญชีออมทรัพย์ชำระหนี้อัตโนมัติ
2) หน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร
3) ตู้ ATM
4) กรุงไทยเทเลแบงก์
5) ชำระผ่าน KTB netbank ทาง Internet
6) ชำระผ่าน KTB netbank ทาง Mobile Application
7) ชำระใช้บาร์โค้ดผ่านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เคาน์เตอร์เซอร์วิส เคาน์เตอร์ธนาคารต่างๆ โดยการสแกนผ่าน QR Code ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการคีย์ข้อมูลของทางฝั่งผู้กู้ยืมหรือฝั่งผู้รับชำระ ทำให้การเข้าถึงระบบการชำระเงินมีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และยังเชื่อมกับระบบพร้อมเพย์ ซึ่งสามารถชำระได้กับทุกธนาคารที่เป็น Mobile Banking โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมอีกด้วย ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบยอดที่ต้องชำระได้ที่ www.studentloan.or.th

“ในปีการศึกษา 2561 กยศ. ตั้งเป้าหมายปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษา ประมาณ 7 แสนราย คิดเป็นเงิน 3 หมื่นล้านบาท ปัจจุบัน กยศ. ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ หรือเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมา 3 ปีแล้ว โดยเงินที่ กยศ. นำมาใช้ปล่อยกู้นั้นเป็นเงินที่ กยศ. ได้รับจากการชำระหนี้ ในปีงบประมาณ 2558 คืนมา 1.8 หมื่นล้านบาท, ปี 2559 ได้รับชำระหนี้คืน 2.1 หมื่นล้านบาท, ปี 2560 ได้รับชำระหนี้คืน 2.6 หมื่นล้านบาท และปี 2561 คาดว่าจะได้รับชำระหนี้คืนกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพียงพอที่จะนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการปล่อยกู้นักเรียน นักศึกษา จึงขอประชาสัมพันธ์ถึงผู้กู้ที่เรียนจบแล้วมีงานทำ เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้นักเรียน นักศึกษารุ่นน้อง ขอให้นำเงินมาชำระหนี้ กยศ. ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี หากชำระล่าช้า อาจต้องจ่ายดอกเบี้ยปรับเป็นจำนวนมาก” นายชัยณรงค์ กล่าว

นายชัยณรงค์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีข้าราชการที่เป็นลูกหนี้ กยศ. ทั้งสิ้น 1.69 แสนราย มูลหนี้ 1.6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นข้าราชการที่ชำระหนี้ได้ตามปกติ 99,000 ราย และผิดนัดชำระหนี้ 70,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้ที่ค้างชำระ 3,400 ล้านบาท สำหรับลูกหนี้กลุ่มข้าราชการนั้น กยศ. ได้หารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อกำหนดแนวทางในการหักเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างที่ติดค้างหนี้กับ กยศ. โดยจะเริ่มดำเนินการหักเงินเดือนข้าราชการและลูกจ้างของกรมบัญชีกลางในเดือนกรกฎาคม 2561 เป็นโครงการนำร่อง หลังจากนั้นก็จะขยายผลไปยังกลุ่มข้าราชการและลูกจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังและส่วนราชการอื่นๆ ในปี 2562 ส่วนลูกหนี้กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชนจะเริ่มที่บริษัทขนาดใหญ่เป็นโครงการนำร่องภายในปี 2561 เช่น กลุ่มบริษัท ซีพี, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), ธนาคารกรุงไทย และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ เป็นต้น

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า “ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากกองทุนให้เป็นผู้บริหารและจัดการเงินให้กู้ยืม กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา ซึ่งธนาคารได้พัฒนาช่องทางในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้กู้ยืมที่ครบกำหนดชำระหนี้ และเพื่อสนับสนุนนโยบายการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการ National e-Payment ของรัฐบาล ธนาคารจึงได้พัฒนาระบบงานเพื่อให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้คืน กยศ. และ กรอ. ผ่านการสแกน QR Code โดยสามารถชำระผ่าน Mobile Banking Application ของทุกธนาคาร ระหว่างเวลา 07.30-20.30 น. โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมในการใช้บริการ

ทั้งนี้ การชำระหนี้คืนกองทุน ผ่าน QR Code สามารถชำระได้ 2 รูปแบบ คือ แบบ Static QR โดยการ สแกน QR Code ผ่านบริการ KTB netbank และเลือกประเภทกองทุนที่ต้องการชำระหนี้คืน หรือแบบ Dynamic QR เป็นการสแกน QR Code ผ่าน www.studentloan.ktb.co.th หรือ www.studentloan.or.th ด้วย Mobile Banking Application ทุกธนาคาร