ThaiPublica > เกาะกระแส > เดอะมอลล์ผนึกกำลังแบงก์เดินหน้าฟื้นธุรกิจ : ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูกว่า 6 พันราย (ตอน1)

เดอะมอลล์ผนึกกำลังแบงก์เดินหน้าฟื้นธุรกิจ : ช่วย SMEs เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูกว่า 6 พันราย (ตอน1)

31 พฤษภาคม 2021


เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ได้มีงานแถลงข่าว “ประสานพลังคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” เดอะมอลล์กรุ๊ปผนึกกำลังภาครัฐ ภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำ เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อเศรษฐกิจไทย โดยมีดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน)นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจ ลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) และนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เข้าร่วม

โครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” เป็นความร่วมมือของเดอะมอลล์ กรุ๊ปที่จับมือ สถาบันการเงินชั้นนำ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน เข้าร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู SOFT LOAN และเพิ่มศักยภาพ ให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 ราย ได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศ

ธปท.ชี้เศรษฐกิจฟื้นตัวไตรมาสแรกปี66


ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า โครงการ“ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด และสถาบันการเงินหลายแห่ง ในการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs คู่ค้า ให้เข้าถึงสินเชื่อและบริการของสถาบันการเงินได้มากขึ้น ถือเป็นการผนึกกำลังแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด และเป็นอีกตัวอย่างแนวคิดในการสนับสนุนให้กลไกการให้สินเชื่อทำงานได้อย่างเต็มขีดความสามารถในภาวะที่ยังมีความเสี่ยงสูง และช่วยบรรเทาไม่ให้ปัญหาลุกลาม ส่งผลรุนแรงต่อการจ้างงานและเสถียรภาพเศรษฐกิจมากไปกว่านี้

การแพร่ระบาดของโควิด 19 นับเป็นวิกฤติสาธารณสุขที่ส่งผลในวงกว้างและได้ทดสอบความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะสำหรับ SMEs และรายย่อยมาตลอดระยะเวลาเกือบปีครึ่ง เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวเกือบจะมากที่สุดในภูมิภาค จากการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรง อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกสามและการกระจายวัคซีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลา ซึ่งอาจต้องรอถึงไตรมาสแรกของปี 2566 กว่าจะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิด

การระบาดที่เกิดขึ้นหลายระลอกและมาตรการที่ออกมาควบคุม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดเป็นช่วง ๆ ส่งผลต่อไปยังกำลังซื้อและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ธุรกิจในภาคการค้าและบริการโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ได้รับผลซ้ำเติมต่อเนื่อง ซึ่งความรุนแรงของผลกระทบและความทนทานของธุรกิจต้องวัดกันที่สายป่านเป็นสำคัญ บางธุรกิจที่สายป่านสั้น ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว หลายธุรกิจขาดรายได้ กระทบสภาพคล่องทางการเงินและความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกตินี้ ธุรกิจ SMEs จึงต้องการความช่วยเหลือเยียวยาโดยเร่งด่วน

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ในช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐรวมถึง ธปท. ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาครัฐที่เน้นการเยียวยารายได้และกระตุ้นรายจ่ายของประชาชน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังรายได้ของผู้ประกอบการ ในส่วนของ ธปท. ได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้แบบครบวงจร เพื่อให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนมีทางเลือกตัวช่วยที่เหมาะสมและทันการณ์ ตั้งแต่การพักหรือชะลอการชำระหนี้ออกไป การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น ลดการชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ย รวมทั้งการคำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระให้เป็นธรรม นอกจากปัญหาภาระหนี้เดิม ยังมีมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และ ธปท. ผ่านการให้สินเชื่อ soft loan เพื่อใช้เยียวยาและเป็นเงินหมุนเวียน ซึ่งสินเชื่อภายใต้ พ.ร.ก. soft loan เดิม อาจมีข้อจำกัดในการให้ความช่วยเหลือ

มาตรการช่วยเหลือเดิมจึงไม่เพียงพอ ภาครัฐจึงยกระดับ (step up) ความเข้มข้นของมาตรการเพื่อให้ช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ซึ่งล่าสุด ธปท. ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังออกมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูสำหรับผู้ประกอบธุรกิจ โดยได้ปลดล็อกข้อจำกัดของ พ.ร.ก. soft loan เดิม ให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น คือ
(1) ขยายขอบเขตของลูกหนี้ให้รวมผู้ที่ไม่เคยมีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินมาก่อน
(2) ขยายเวลาการให้ความช่วยเหลือให้ยาวขึ้น จากเดิม 2 ปี เป็น 5 ปี ให้สอดคล้องกับการที่ธุรกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
(3) ขยายวงเงินให้เพียงพอรองรับความต้องการของลูกหนี้ จากเดิมที่ร้อยละ 20 ของยอดคงค้างสินเชื่อที่เบิกใช้ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ
(4) กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อ แต่เฉลี่ยแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี โดยดอกเบี้ยในช่วง 2 ปีแรกจะอยู่ที่ร้อยละ 2 ต่อปี และลูกหนี้จะได้รับยกเว้นค่าดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก
(5) เพิ่มกลไกค้ำประกันโดย บสย. และเพิ่มสัดส่วนการค้ำประกันความเสียหายของกลไกดังกล่าว จากปกติที่ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 40 ของความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยออกแบบให้กลุ่ม SMEs รายเล็ก ได้รับการค้ำประกันในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่มีสภาพคล่องไม่มากหรือมีสายป่านสั้น และต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว

แม้จะได้ขยายเงื่อนไขของความช่วยเหลือในมาตรการให้ครอบคลุมขึ้นแล้ว แต่สิ่งสำคัญกว่า คือ การบริหารจัดการมาตรการ (Execution) และการให้ลูกหนี้เข้าถึงมาตรการได้มากขึ้น ที่ผ่านมา มีข้อจำกัด หรือ “gap” ที่ทำให้ SMEs หลายรายไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คือ (1) ธุรกิจ SMEs มีความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง (2) สถาบันการเงินประเมินความเสี่ยงของ SMEs ได้ยาก เพราะขาดข้อมูล และ (3) ยังขาดคนกลางที่จะช่วยชี้เป้า SMEs ที่มีศักยภาพและจะกลับมาฟื้นตัวได้ เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุด

“มองไปข้างหน้า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะต้องใช้เวลา ทำให้ต้องเร่งแก้ปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ SMEs ไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ ซึ่งทั้ง 4 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และ SMEs ต้องทำงานร่วมกัน และยกระดับบทบาทของตนในการช่วยให้ SMEs ได้รับสภาพคล่องอย่างทันการณ์”

    (1) ภาครัฐและ ธปท. มีบทบาทในการช่วยลดความเสี่ยงภาพรวมของ SMEs โดยได้เตรียมความพร้อมและเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการฟื้นฟู โดยได้ขยายเงื่อนไขและเพิ่มกลไก บสย. ในการรองรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามที่ได้เรียนข้างต้นแล้ว
    (2) สถาบันการเงิน มีบทบาทในการประสานงานและเชื่อมต่อข้อมูลจากผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ และปรับแนวทางการประเมินความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ
    (3) ผู้ประกอบธุรกิจรายใหญ่ มีบทบาทสำคัญในการประสานความช่วยเหลือระหว่างสถาบันการเงินกับคู่ค้ารายย่อย รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลของคู่ค้าที่เดิมยากที่จะเข้าถึงให้กับสถาบันการเงิน เพื่อประกอบการประเมินสินเชื่อและความเสี่ยงให้ได้ภาพครบถ้วนขึ้น
    (4) สำหรับธุรกิจ SMEs ควรปรับตัวเตรียมพร้อมเพื่อให้อยู่รอดและมีโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนสภาพคล่อง โดยอาจยกระดับการจัดการธุรกิจ เช่น การจัดการเรื่องการเงินและบัญชีให้ได้มาตรฐาน รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยบริหารจัดการต้นทุน กำไร และ stock สินค้าได้ดีขึ้นแล้ว ยังช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับข้อมูลฐานะการเงินของ SMEs และเพิ่มความมั่นใจให้กับสถาบันการเงินในการพิจารณาความเสี่ยงด้วย

ความร่วมมือในวันนี้ จึงเป็นอีกตัวอย่างของการประสานพลัง และการนำข้อมูลที่มีอยู่แล้ว มาใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดข้อจำกัดข้างต้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้มากขึ้น ทั้งธุรกิจ SMEs เอง ที่จะได้รับความช่วยเหลือ ผู้ประกอบธุรกิจที่จะมีคู่ค้าที่แข็งแกร่ง สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้เร็วเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ สถาบันการเงิน ที่จะมั่นใจขึ้นในการปล่อยสินเชื่อและขยายฐานลูกค้า และสุดท้าย คือ ภาครัฐที่สามารถยื่นความช่วยเหลือไปสู่ผู้ที่ต้องการได้ดียิ่งขึ้นด้วย

“ด้วยประโยชน์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมของโครงการนี้ ผมจึงอยากจะขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ใช้แนวทางนี้ในการขยายผลออกไปเพื่อช่วยคู่ค้ารายย่อยของท่าน ซึ่งจะทำให้ SMEs กว่า 1.8 ล้านราย ที่จ้างงานกว่า 7.5 ล้านคน และเป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจ มีโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสูงขึ้น และแม้อาจไม่สามารถช่วยได้ทุกคน แต่การร่วมกันทำงานของทุกฝ่ายอย่างเต็มที่จะช่วยธุรกิจ SMEs ได้มากที่สุด และเป็นประโยชน์กับธุรกิจในภาพรวม”

สมาคมแบงก์คาด 6 เดือนแรกปล่อยสินเชื่อ 1 แสนล้าน

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภาคการเงิน โดยสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ได้ยืนหยัดเป็นอีก “หนึ่งกำลังสำคัญ” ในการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และลดภาระทางการเงินให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม โดยเฉพาะลูกค้ารายย่อย และ SMEs ที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดยร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าอย่าง “เร่งด่วน” ตั้งแต่การระบาด “ระลอกแรก” ซึ่งเป็นมาตรการช่วยเหลือแบบเหมารวมเพราะต้องการความรวดเร็ว และหลังจากนั้น ก็ได้มีการการปรับมาตรการเป็นระยะ โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือแบบ “เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย” เพื่อให้การช่วยเหลือลูกค้าได้อย่าง “ตรงจุด” และให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในระบบให้ได้ประโยชน์สูงสุด

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ใหม่ในครั้งนี้ ได้สร้างความ “รุนแรง” และ “ขยายวงกว้าง” ในเวลาอันรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ “มากกว่า” ทุกครั้งที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ประเมินว่า การระบาดระลอกใหม่นี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ ดัชนีชี้วัดในช่วงเดือนพ.ค.นี้ อาทิ ดัชนีของ Google ที่วัดกิจกรรมการจับจ่ายใช้สอยตามห้างร้านและพักผ่อนหย่อนใจของครัวเรือน หรือ Retail & Recreation นั้นลดลงถึงกว่า 30% เมื่อทียบกับช่วงเดือนมี.ค. เป็นต้น ในเดือนพ.ค.นี้ ทางกกร.จึงได้ปรับลดการประมาณการ GDP ปี 2564 เหลือเพียงขยายตัวในกรอบ 0.5-2.0% ซึ่งตัวเลขนี้ ได้รวมผลลัพธ์จากมาตราการของรัฐบาลที่ได้มีการประกาศออกมาแล้วด้วย

ความรุนแรงของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนผู้ประกอบการ ภาคธนาคาร และภาคประชาชน “ต้องร่วมมือกัน”ช่วยเหลือประเทศใน “ทุกๆด้าน” เพื่อให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ ซึ่งเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือ การทำให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด เราจึงได้เห็นความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมกลไกของกระทรวงสาธารณสุขในการกระจายวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมการระบาดสูงสุด ผ่านโครงการ “ไทยร่วมใจ กรุงเทพปลอดภัย” โดยได้เปิดศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 25 จุดทั่วกรุงเทพฯ หนึ่งในนั้นมีห้างสรรพสินค้าในเครือของเดอะมอลล์กรุ๊ปถึง 4 จุด คือ เดอะมอลล์บางกะปิ เดอะมอลล์บางแค สยามพารากอน และดิเอ็มโพเรียม

นอกจากการเข้าไปมีส่วนในการกระจายวัคซีนแล้ว การช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่เร่งด่วนเช่นเดียวกัน ทางสมาคมธนาคารไทยตระหนักว่า “หัวใจ” ของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งก็คือ SMEs จะเผชิญกับความยากลำบาก ไม่ใช่เฉพาะช่วงนี้ แต่รวมไปถึงการฟื้นฟูกิจการภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย

สมาคมธนาคารไทย ภายใต้ความร่วมมือกับธปท. ได้เร่งหารืออย่างใกล้ชิดกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจ เพื่อช่วยลูกค้าประคองกิจการ รักษาการจ้างงาน เพื่อให้สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติ หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยมี 2 มาตรการหลักๆ คือ

1.มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท โดยให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีใน 2 ปีแรก ช่วยเหลือลูกค้าทั้งรายเดิม และรายใหม่ มีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อยหรือบสย. สนับสนุนการค้ำประกัน โดยธนาคารพาณิชย์สมาชิกสมาคมฯ จะเร่งดำเนินการตามมาตรการนี้ ตามแนวนโยบายของรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งตั้งเป้าระยะ 6 เดือนแรก คาดว่าจะปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูประมาณ 1 แสนล้านบาท

2.มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจที่มีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน สามารถลดภาระทางการเงินชั่วคราว ในช่วงที่รอให้ธุรกิจฟื้นตัว ด้วยวิธีการโอนทรัพย์ชําระหนี้และได้รับสิทธิซื้อทรัพย์คืนในอนาคต

นอกจาก 2 มาตรการนี้แล้ว สมาคมธนาคารไทย ยังได้หารือใกล้ชิดกับภาคธุรกิจ ผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อจัดหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเป็นรายธุรกิจ ผ่านกลไกที่แต่ละธนาคารมี เริ่มจาก “ธุรกิจค้าปลีก” เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย ในการช่วยให้เม็ดเงินจำนวนมากหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ มีผู้ประกอบการเกี่ยวข้องจำนวนมาก โดยเฉพาะ SMEs ที่เป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย โดย “กลุ่มธุรกิจการค้าและบริการ” มีผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวข้องถึง 2.5 ล้านราย หรือประมาณ 81% ของผู้ประกอบการ SMEs ทั้งหมด และยังเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการจ้างงานมากที่สุด ถึง 9 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 77% ของการจ้างงานในภาค SMEs หรือมากถึง 54% ของการจ้างงานทั้งหมด

เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีก สมาคมธนาคารไทย จึงได้ร่วมกับธปท. สมาคมค้าปลีกไทย และสมาคมศูนย์การค้าไทย เร่งพัฒนาสร้างระบบ Digital Supply Chain Platform เพื่อเพิ่มแนวทางในการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าปลีกตลอด Supply Chain ด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลที่จำเป็นของผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นคู่ค้าของกลุ่มธุรกิจค้าปลีก มาประกอบการพิจารณาสินเชื่อของภาคธนาคาร ซึ่งการเป็นคู่ค้าของธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่มายาวนาน ทำให้ธนาคารเห็นถึงศักยภาพของผู้ประกอบการ มีข้อมูล เข้าใจธุรกิจ ประเมินความเสี่ยงได้ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการเพื่อให้มีสภาพคล่องในการทำธุรกิจต่อไปได้อีกแนวทางหนึ่ง

ความร่วมมือของภาคสถาบันการเงินกับเดอะมอลล์กรุ๊ป ภายใต้โครงการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นคู่ค้า และพันธมิตรของเดอะมอลล์กรุ๊ปกว่า 6,000 ราย สามารถเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ผ่านผลิตภัณฑ์ต่างๆที่แต่ละธนาคารมีอยู่ การมองความเชื่อมโยงแบบครบภาพระหว่างผู้ค้ารายใหญ่ อย่าง เดอะมอลล์ กับผู้ค้ารายเล็กที่อยู่ในระบบนิเวศ รวมไปถึง supplier ที่เชื่อมโยงกันในเรื่องของสภาพคล่อง เชื่อว่าจะทำให้สินเชื่อฟื้นฟูทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

“หลักการให้ความช่วยเหลือตอนนี้คือ การประคองกิจการในช่วงสั้นที่กำลังรอวัคซีนเพื่อให้ผ่านพ้นไปได้ การปรับโครงสร้างหนี้ การมีสินเชื่อฟื้นฟูคือ หนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการในช่วงเปราะบาง สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมคือ ข้อมูล เช่น กิจกรรมการซื้อขายกับคู่ค้า ประวัติ มีรูปแบบการชำระเงินจากคู่ค้าอย่างไร ซึ่งจะเป้นข้อมุลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเร่งกระบวนการ ลดขั้นตอนการสอบถาม หรือผู้ประกอบการสามารถติดต่อกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้ สมาคมธนาคารก็รับมาประสานงานต่อ หรือติดต่อธนาคารที่ใช้บริการและมีความคุ้นชิน รวมทั้งเข้าใจในธุรกิจของผู้ประกอบการ”

สำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ปที่สนใจเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ สามารถติดต่อธ.พ. และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ได้ทุกสาขา สำนักงานธุรกิจทุกแห่ง เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่ดูแล หรือสามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการได้ทุกวัน

“สมาคมธนาคารฯเชื่อว่าภายใน 6 เดือน ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อฟื้นฟูได้ 100,000 ล้านบาท”

ในส่วนของธนาคารกรุงไทย มี 2 มาตรการ คือ

    1. “สินเชื่อฟื้นฟู” เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการโดยเป็นวงเงินกู้ระยะยาวอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปีในช่วง 2 ปีแรก หรืออัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปี ไม่เกิน 5% ต่อปี ได้รับยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกโดยมีระยะเวลาผ่อนชําระสูงสุดไม่เกิน 10 ปี และยังสามารถได้รับการค้ำประกันสินเชื่อจากบสย. เปิดกว้างให้ทั้งกับลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารมาก่อน
    2. สินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนสำหรับคู่ค้าของเดอะมอลล์กรุ๊ป ซึ่งเป็นวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี โดยให้วงเงินตามธุรกรรมการค้า ใช้หลักประกันต่ำ และได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ สามารถใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกันร่วมกับการใช้หลักทรัพย์อื่นได้ และลูกค้าก็สามารถขอสินเชื่อโดยไม่มีหลักประกันได้เช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจและความต้องการใช้วงเงินของคู่ค้า มาตรการนี้ เปิดกว้างให้ทั้งกับลูกค้ารายเดิม และลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยเป็นลูกค้าธนาคารมาก่อน

ผู้ที่สนใจก็สามารถลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือมาตรการที่สอดคล้องกับความต้องการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จากความร่วมมือในครั้งนี้ คาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก ตลอดทั้ง Supply Chain สามารถประคองธุรกิจ รักษาการจ้างงาน และลดภาระทางการเงินในช่วงนี้เพื่อให้ธุรกิจสามารถผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ โดยธนาคารพร้อมช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจให้เข้าถึงสภาพคล่องอย่างเต็มที่

เดอะมอลล์ประสาน SMEs กว่า 6,000 ราย

นางสาวศุภลักษณ์ อัมพุช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะองค์กรเอกชนของคนไทยที่ยืนหยัดเคียงข้างคนไทยมาตลอด โดยได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฝ่าวิกฤตโควิด-19 ด้วยมาตรการความช่วยเหลือในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง นับแต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ประกอบด้วย 4 มาตรการ คือ มาตรการรณรงค์ “ฉีดวัคซีน เพื่อชาติ”, มาตรการ “บริจาค ฟันฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19”, มาตรการ “สนับสนุน SME และเกษตรกรไทย” และมาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ”

1.มาตรการรณรงค์ “ฉีดวัคซีน เพื่อชาติ” เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้ผนึกความร่วมมือเอกชนทุกภาคส่วน สนับสนุนภาครัฐเพื่อให้การฉีดวัคซีน
โควิด-19 เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเร่งด่วน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและก้าวข้ามวิกฤติโควิด-19 โดยการสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ในการจัดตั้งหน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยงบประมาณกว่า 200 ล้านบาท สนับสนุนพื้นที่ 6 สาขา แบ่งเป็นพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ เดอะมอลล์ บางกะปิ, เดอะมอลล์ บางแค, ดิ เอ็มโพเรียม และสยามพารากอน, พื้นที่ จังหวัดนนทบุรี ได้แก่ เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน และพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ เดอะมอลล์ โคราช รวมกว่า 16,800 ตร.ม. โดยจะดำเนินการระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง ธันวาคม 2564 ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี และ จังหวัดนครราชสีมา โดยคาดว่าจะบริการฉีดวัคซีนได้วันละ 2,000 – 5,000 คน / สาขา รวมทุกสาขา 12,000 คน / วัน หรือ 400,000 คน / เดือน

นอกจากนี้ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังได้จัดหาเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร เพื่อช่วยดูแลความเรียบร้อยระหว่างดำเนินงาน พร้อมสนับสนุนชุดอาหาร-เครื่องดื่ม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และจัดหาอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดการดำเนินงาน

2. มาตรการ “บริจาค ฟันฝ่าวิกฤตการณ์โควิด-19” เดอะมอลล์ กรุ๊ป เล็งเห็นว่าโรงพยาบาลต่างๆ ประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงได้ร่วมบริจาค “เงิน” และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้กับ 5 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาล
ศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันบำราศนราดูร เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ที่สำคัญทางการแพทย์ในการดูแลผู้ป่วย โดยในปี 2563 ได้ร่วมบริจาคเงิน และ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมมูลค่า 20 ล้านบาท และปี 2564 อยู่ระหว่างดำเนินการบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และเครื่องช่วยหายใจ รวมมูลค่า 10 ล้านบาท และรวมมูลค่าทั้งโครงการทั้งสิ้น 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้ร่วม บริการจัดส่งอาหารกล่อง รสชาติอร่อย สด สะอาด ปลอดภัย ส่งตรงถึงบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาล รวมกว่า 30,000 ชุด ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจจัดทำ “ชุดกำลังใจ” ซึ่งภายในประกอบด้วยสินค้าอุปโภค – บริโภค และสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน มอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 10,000 ชุด พร้อมบริจาค “ถุงน้ำใจ ช่วยชุมชน” เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 โดยมอบถุงน้ำใจให้กับชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพมหา นคร นนทบุรี และ นครราชสีมา จำนวน 10,000 ชุด

โครงการบริจาคโลหิตเพื่อศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เพื่อร่วมบรรเทาการขาดแคลนโลหิตสำรอง ผ่านห้องรับบริจาคโลหิตที่เดอะมอลล์ ทุกสาขา และดิ เอ็มโพเรียม โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป เป็นหน่วยงานที่บริจาคโลหิตมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย กว่า 15 ปี รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 450 ล้านซีซี

สนับสนุนโครงการผลิตวัคซีน เดอะมอลล์ กรุ๊ป ร่วมเป็นหนึ่งในภาคีโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” ของมูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผนึกกำลังพันธมิตรธุรกิจ เชิญชวนพนักงาน และลูกค้า ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนนักวิจัยไทย ค้นคว้า วิจัย และผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 โดยคนไทยเพื่อคนไทย ร่วมเป็น 1 ในล้านคนไทย บริจาคเงิน 500 บาท รวม 500 ล้าน

3.มาตรการ “สนับสนุน SME และเกษตรกรไทย” เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้สนับสนุนนโยบายภาครัฐ โดยมีมาตรการช่วยเหลือภาคเกษตรกรรม ด้วยการเปิดพื้นที่ เดอะมอลล์ ทุกสาขา ตลอดทั้งปี เป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า เพื่อช่วยระบายสินค้าภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมแปรรูป ภาควิสาหกิจชุมชน OTOP ตลอดจน SME โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป ได้นำร่องด้วยโครงการตลาดคัดไทย, ตลาดเดอะมอลล์รวมใจ, THE MALL TOGETHER MARKET, เดอะมอลล์ บ้านของคนโคราช ฯลฯ

4.มาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย ผนึกกำลังภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมกับสถาบันการเงินชั้นนำ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารออมสิน ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อสนับสนุนสินเชื่อฟื้นฟู SOFT LOAN และเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย กว่า 6,000 ราย ได้เข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟู เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และรักษาการจ้างงาน เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

สำหรับการดำเนินมาตรการ “ประสานพลังเพื่อคู่ค้า เดินหน้าฟื้นฟูธุรกิจ” เดอะมอลล์ กรุ๊ป ในฐานะผู้บริหารศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์, ดิ เอ็มโพเรียม, ดิ เอ็มควอเทียร์ และสยามพารากอน มีความตั้งใจมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะดูแลช่วยเหลือคู่ค้า ผู้ประกอบการ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อย รวมกว่า 6,000 ราย พร้อมเดินหน้าเป็นตัวกลางในการประสานระหว่างทุกกลุ่มกับธนาคารพาณิชย์ชั้นนำทั้ง 6 แห่ง

การประชุมสัมมนาออนไลน์ (WEBINAR) ในวันนี้ จึงเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในประเทศไทยที่คู่ค้าทุกราย จะได้ทราบในข้อมูลมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และข้อเสนอแนะพิเศษต่างๆ จาก 6 ธนาคารพาณิชย์ชั้นนำของประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ต่อคู่ค้าทุกรายในการพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด ที่เหมาะสมที่สุด

โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะเป็นตัวกลางประสานงานรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นของผู้ประกอบการธุรกิจ ร้านค้า ซัพพลายเออร์ SMEs ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูให้กับแต่ละธนาคาร และประสานการจัดประชุมในวาระต่อไป ระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกับแต่ละธนาคาร เพื่อรับทราบมาตรการ ข้อมูลและรายละเอียด เพื่อให้ได้รับการพิจารณาวงเงินได้อย่างรวดเร็ว จากนั้นเข้าสู่กระบวนการขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของแต่ละธนาคาร ซึ่งธนาคารจะติดต่อตรงกับผู้ประกอบการธุรกิจที่ยื่นขอวงเงินแต่ละราย โดยผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับอนุมัติวงเงินจะได้รับการแจ้งจากธนาคารโดยตรง และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป จะอำนวยความสะดวกในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างผู้กู้และธนาคาร

“ผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี ผู้เช่าพื้นที่ รายเล็กรายใหญ่และไม่จำเป็นที่ต้องเป็นผู้ที่ค้าขายกับเดอะมอลล์ ในการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการฟื้นฟู ทุกธนาคารตั้งใจที่จะช่วยเหลือด้วยการจัดโปรแกรมพิเศษ ซึ่งโครงการนี้น่าจะเป็นต้นแบบในการให้ความช่วยเหลือต่อๆไปได้ ขณะนี้มีผู้ประกอบการตอบรับมาแล้ว 3,000 รายจากระยะเวลาการเชิญให้เข้าร่วมเพียง 2-3 วัน”

สำหรับกำลังซื้อในช่วงที่เหลือของปี การใช้จ่ายจะเกิดขึ้นเมื่อมั่นใจว่าจะได้รับวัคซีนเมื่อไรและการเยียวยาจะเกิดผลเร็วแค่ไหน เดอะมอลล์จึงได้เข้ามาประสานงานเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือโดยเร็ว และมีส่วนในการสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่วนการฉีดวัคซีนเดือนมิถุนายนคงจะยังไม่มีปริมาณเข้ามากม ถ้ารัฐบาลประกาศชัดเจนว่าวัคซีนจะเข้ามาเมื่อไร บอกอย่างจริงใจ ก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้สูงมาก และหากเปิดภูเก็ตได้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ความเชื่อมั่นก็จะมา

โดย เดอะมอลล์ กรุ๊ป ขอให้คำมั่นว่า จะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อเป็นตัวกลางในการประสานพลัง บูรณาการความร่วมมือทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการเงินชั้นนำ เพื่อให้คู่ค้าทุกรายได้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 ในสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน พร้อมร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนสืบไป