ThaiPublica > เกาะกระแส > ปตท. จับมือ 9 ธนาคาร พัฒนานวัตกรรมการเงิน ขับเคลื่อนสู่ ไทยแลนด์ 4.0

ปตท. จับมือ 9 ธนาคาร พัฒนานวัตกรรมการเงิน ขับเคลื่อนสู่ ไทยแลนด์ 4.0

29 พฤษภาคม 2018


ปตท. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม กับ 9 ธนาคาร

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ลงนามร่วมกับผู้บริหารทั้ง 9 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารออมสิน เพื่อร่วมกันวางแผนและพัฒนานวัตกรรมด้านการเงิน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงิน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีและวิศวกรรม ปตท. กล่าวว่า ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่าง ปตท. กับทั้ง 9 ธนาคาร ถือเป็นความตั้งใจของ ปตท. เพื่อร่วมผลักดันนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐ ที่มุ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมโดยความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้นส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาระบบและนวัตกรรมทางการเงินของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงาน นำไปสู่การต่อยอดและขยายการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ต่อไป

บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมครั้งนี้ มีระยะเวลา 2 ปี โดย ปตท. จะร่วมกับธนาคาร ทั้ง 9 แห่ง กำหนดนโยบายและทิศทางการดำเนินงานในการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินของ ทั้งสองฝ่าย ผลักดันการปรับปรุงและพัฒนาระบบทางการเงิน เช่น ระบบการประกันภัย อนุพันธ์ทางการเงิน ธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ การทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งการปรับปรุงกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงาน อันจะนำไปสู่การได้รับการสนับสนุนเกื้อกูลจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมกันชักชวนคู่ค้าที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจร่วมกัน เพื่อต่อยอดและขยายการดำเนินงานในเชิงพาณิชย์ต่อไป

“ปตท. เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในด้านดิจิทัล IoT จะกระทบกับธุรกิจของ ปตท. ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ระดับหนึ่ง ปตท. มีหน่วยงานด้านดิจิทัลอยู่แล้ว แต่พฤติกรรมผู้บริโภคในประเทศที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก รวมทั้งมีสมาร์ทโฟน มีบริการ 3G/4G และ 5G คนรุ่นใหม่มีการทำธุรกรรมบนมือถือมากขึ้น ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนไปอยู่บนมือถือ ก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ เมื่อ ปตท. รู้ว่าลูกค้าอยู่ตรงไหน มีความต้องการอะไร เมื่อมารวมกับธนาคารต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว จะมีการร่วมพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ร่วมกัน และหาโซลูชั่นใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เช่น บล็อกเชน คิวอาร์โค้ด อินเทอร์เน็ตออฟทิงหรือไอโอที รวมทั้ง ดาต้า เป็นต้น เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ต้นทุนลดลง และสร้างความสะสวกสบายให้กับลูกค้า” นายชาญศิลป์ กล่าวและว่า ปัจจุบัน ปตท. กำลังอยู่ระหว่างการทดลองให้มีการชำระเงินผ่าน QR Code กับธุรกิจค้าปลีก

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพมีความยินดีที่ได้ลงนามใน MOU กับ ปตท. เพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์พัฒนานวัตกรรมทางการเงิน ปรับปรุงและพัฒนาระบบการเวิน รวมถึงต่อยอดการพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะนำไปสู่ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ เช่น การค้ำประกันเงินกู้ยืม การชำระเงิน การโอนเงินรวมถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การบริหารความเสี่ยงและอื่นที่เกี่ยวข้อง อันจะเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในทุกภาคส่วน

“จากทิศทางดังกล่าว ผมเชื่อมั่นว่าจะเป็นแรงผลักดันให้ภาคธุรกิจเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้มากกว่าเดิม และถือเป็นแนวทางที่ดี ที่ภาคธุรกิจประสานความร่วมมือกันไม่เพียงในภาคธุรกิจเดียวกัน แต่อาจจะมีการเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมด้วย เช่น ความร่วมมือครั้งนี้ที่เชื่อมโยงอุตสาหกรรมพลังงานกับอุตสาหกรรมการเงิน”

ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญต่อการกำหนดกลยุทธ์และแผนงานด้านดิจิทัลเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ธนาคารได้นำเทคโนโลยีต่างๆ เข้า คิดค้นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายร่วมเป็นพันธมิตรสนับสนุนนโยบาย พัฒนาธุรกิจ startup กลุ่ม fintech ซึ่งมองว่าเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและธุรกิจการเงินของไทยในอนาคต อีกทั้งมีเครือข่ายที่แข็งแรงสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชีย ด้วยจุดแข็งดังกล่าวของธนาคารกรุงเทพ ในการเป็นธนาคารชั้นนำแห่งภูมิภาคเอเชียเพื่อผนวกเข้ากับความเป็นผู้นำทางด้านธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีอย่างครบวงจรของ ปตท. ในฐานะบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ซึ่งเป็นคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจที่มีความสัมพันธ์อันดีและแนบแน่นมายาวนาน จึงเชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่ความร่วมมือเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีครั้งนี้ได้อย่างดีเยี่ยม

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทยยินดีที่ได้ร่วมกับ ปตท. และธนาคารชั้นนำในการคิดค้นและผลักดันการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจในทุกภาคส่วนเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค คู่ค้า และพันธมิตรโดยรวม ธนาคารพร้อมที่จะให้ความสนับสนุนในทุกๆ มิติที่จะจัดตั้งขึ้นภายใต้ข้อตกลงนี้เพิ่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่มุ่งหวัง
ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี ธนาคารกรุงไทยเป็นสถาบันการเงินที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ที่มีพันธกิจหลักในการร่วมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน และร่วมผลักดันโครงการต่างๆ ของภาครัฐให้สัมฤทธิผลโดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“ปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลง ธนาคารกรุงไทยมีแผนยุทธศาสตร์ Future Banking เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ในฐานะกลไกหนึ่งของกระทรวงการคลัง ในเรื่องไทยแลนด์ 4.0 และการนำเทคโนโลยีในทุกมิติ ทั้งดาต้า และทุก ecosystem ที่กรุงไทยเข้าไปมีส่วนร่วม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือระหว่างองค์กรระดับประเทศในครั้งนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทยให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัล Thailand 4.0”

นายแดน ฮาร์โซโน ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กรุงศรีขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด Digital First สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ใน การให้บริการทางการเงิน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ กรุงศรีจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลและความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคารมาร่วมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าและต่อยอดความเติบโตในเวทีธุรกิจ

ปี 2560 กรุงศรีได้นำนวัตกรรม Krungsri Blockchain Interledger มาใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ สำหรับภาคธุรกิจไทยเป็นรายแรก โดยการให้บริการโอนเงินระหว่างบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และคู่ค้าในต่างประเทศของ IRPC จึงนับว่ากรุงศรีได้พลิกโฉมภูมิทัศน์ทางการเงินสำหรับภาคธุรกิจ และล่าสุดประสบความสำเร็จในการนำร่องการโอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ ระหว่างไทย-สิงคโปร์ ด้วยเทคโนโลยี Krungsri Blockchain Interledger

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ความสามารถของ ปตท. ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนได้ทำมาต่อเนื่อง ทั้งในการบริหารสต็อก ความสามารถในการบริหารปั๊มจำนวนมากที่ให้บริการประชาชนทุกวันนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำที่สุดถือว่าพัฒนาไปมากพอสมควร ธนาคารมีความหวังว่าในอนาคตจะมีส่วนร่วมในการที่พัฒนาความสามารถของ ปตท. ไปเรื่อยๆ

“ธนาคารกสิกรไทยเชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้กับกลุ่ม ปตท. ตลอดจนวงจรธุรกิจ หรือ Value Chain ทั้งคู่ค้าและลูกค้าในกลุ่ม ปตท. ให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกทั้งจะเป็นการพลิกโฉมครั้งสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลของภาคธุรกิจไทยจากโครงการนำร่องที่จะเกิดขึ้นอีกมาก จนเป็นต้นแบบสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชาติในอนาคต”

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วในยุคที่คุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นผู้บริหารสูงสุดของ ปตท. ได้ตอบรับคำเชิญไปบรรยายที่ TMB พร้อมกล่าวคำพูดสำคัญที่ทำให้ TMB พัฒนา supplychain ว่า น้ำมันสามทหารยังเป็น ปตท. ในวันนี้ได้ ทำไม TMB จะไม่สามารถก้าวหน้าขึ้นไปได้ จึงเป็นกำลังใจให้ TMB นำเทคโนโลยีมาตอบสนองบริการคู่ค้า ปตท. ด้วยการทำ supplychain financing ให้กับดีลเลอร์รายใหญ่ของเครือ ปตท. หลังจากนั้นมีนวัตกรรมอื่นตามมามากมายที่ได้ทำร่วมกัน

“ผมเชื่อว่าทุกวันนี้คู่ค้าของ ปตท. จำนวนมากเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือ SMEs และเป็น SMEs รุ่นใหม่ที่มีความต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน สภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพ และมีระบบการทำงานที่ทันสมัย ซึ่งใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อพัฒนาการทำธุรกิจได้ง่ายและครบวงจร”

การทำบันทึกข้อตกลงนี้ นับได้ว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างระหว่าง ปตท. และ ทีเอ็มบี จึงเชื่อมั่นว่า จุดแข็งของ ปตท. ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมและธนาคารพาณิชย์ในประเทศที่มีจุดเด่นด้านการเดินไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ความเชี่ยวชาญด้านธุรกรรมการเงินทั้งของทีเอ็มบีและธนาคารพาณิชย์ทุกวันนี้ ประกอบกับดิจิทัลเทคโนโลยีที่มีอยู่ ทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น จะก่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์และส่งผลดีต่อ ปตท., คู่ค้า, ลูกค้า ซัพพลายเชน และเกื้อกูลต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุด Corporate Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารไทยพาณิชย์มีความยินดีที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาเทคโนโลยีตามวิสัยทัศน์ของ ปตท. ที่ต้องการยกระดับการให้บริการลูกค้าของ ปตท. และเพิ่มประสิทธิภาพทางการทำธุรกรรมทางการเงินของคู่ค้า และเป็นการผลักดันเข้าไทยแลนด์ 4.0 ธนาคารไทยพาณิชย์มีความพร้อมที่จะสนับสนุนดำเนินงานทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ปตท. เพราะเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนในยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่เป็นตัวชี้นำให้ปรับตัว

ธนาคารไทยพาณิชย์ได้มีการตั้งบริษัทลูก SCB Abacus เพื่อการนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มาใช้ในการพัฒนาธุรกิจและบริการ เป็นบริษัทแรกในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นการใช้ข้อมูลให้เรียนรู้ลูกค้ามากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ ด้วยความพร้อมทั้งทางด้านการลงทุนและเครือข่ายของผู้พัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วโลก

นางสาววิศาลศรี นิโลดม รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารธนชาต กล่าวว่า ธนชาตเป็นสถาบันการเงินที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัททุนธนชาต และสโกเทีย แบงก์ จากแคนาดา มีเทคโนโลยีทันสมัยและได้มาตรฐานสากล สอดรับกับทิศทางโลกในยุค 4.0 อีกทั้งธนชาตยังเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูงในการดำเนินงาน มากด้วยประสบการณ์ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ เช่น ความร่วมมือ QR ข้ามประเทศ ความร่วมมือกับผู้ให้บริการระบบชำระเงินในไทย จึงพร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลและความรู้ทางการเงินอย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศต่อไป

นางสาวไพลิน อึ้งศรีวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า ธนาคารยูโอบีมีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ในวันนี้ได้มีโอกาสร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงในการขับเคลื่อนนวัตกรรมทางการเงินและพัฒนาระบบธุรกิจใหม่ๆ กับ ปตท. ซึ่งนับว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะก่อให้เกิดการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลเต็มตัว ธนาคารยูโอบีเชื่อว่า การร่วมมือจัดหาดิจิทัลโซลูชั่นจะทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันในยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลนี้ได้ และยังเป็นการอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้แก่ผู้บริโภคอีกด้วย ด้วยเครือข่ายของธนาคารยูโอบี กว่า 500 สาขา ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จะสามารถรองรับโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจอย่างก้าวกระโดด และนโยบายในการดำเนินธุรกิจของ ปตท. ที่จะมุ่งสู่ regional top brand ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เป็นอย่างดี

นายพิเชฐ ธรรมวิภาค รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กลุ่มลูกค้าธุรกิจและภาครัฐ กล่าวว่า ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้สร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งทางด้านเงินฝากและด้านสินเชื่อ ทุกกลุ่มลูกค้าแม้กระทั่งกลุ่มลูกค้าฐานราก โดยความร่วมมือกันระหว่าง ปตท. กับสถาบันการเงินในครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่จะร่วมมือกันในการวางแผน และพัฒนานวัตกรรมด้านการเงิน การค้าประกันเงินกู้ การชำระเงินและโอนเงิน รวมถึงการเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกรรมทางการเงิน ได้อย่างเป็นรูปธรรม