ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > คลัง- ธปท. ทุ่ม 350,000 ล้าน อุ้มลูกหนี้ฝ่าวิกฤติโควิด

คลัง- ธปท. ทุ่ม 350,000 ล้าน อุ้มลูกหนี้ฝ่าวิกฤติโควิด

23 มีนาคม 2021


มาตรการชุดใหม่ช่วยเหลือลูกหนี้รอดพ้นวิกฤติโควิด คลัง-ธปท.ประสานใช้ซอฟต์โลน 250,000 เดินหน้าให้สินเชื่อฟื้นฟู ขยายประเภทและขนาดธุรกิจมีสิทธิยื่นรับความช่วยเหลือ พร้อมให้บสย.ค้ำประกัน แถมตั้งวงเงิน 100,000 รองรับการโอนกิจการมาไว้ที่ธนาคารช่วงหยุดเปิดบริการ

วันที่ 23 มีนาคม กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมแถลงข่าวการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่เริ่มต้นในปี 2563 ยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยตลอดช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐได้เร่งออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านมาตรการเสริมสภาพคล่องและลดต้นทุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งรวมถึงการตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 19 เมษายน 2564

สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงมีความรุนแรง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และยืดเยื้อยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ภาคธุรกิจมีความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจในการเข้าถึงสภาพคล่องและแหล่งทุน ปัจจัยดังกล่าวประกอบกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศได้ทำให้ความรุนแรงของผลกระทบและความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาคส่วนต่าง ๆ แตกต่างกันออกไป

โดยผู้ประกอบธุรกิจในบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงและคาดว่าอาจต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นตัว เช่น กรณีผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งผลสำรวจของผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization : UNWTO) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 พบว่า ร้อยละ 42 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจะกลับมาสู่ระดับเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2562 อย่างเร็วที่สุดในปี 2567 เป็นต้น

ดังนั้น การให้ความช่วยเหลือผ่านมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียวอาจไม่ได้บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มนี้ได้อย่างตรงจุดและเพียงพอ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวยังไม่สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพแต่ยังคงมีภาระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวมีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loans : NPLs) เลิกกิจการถาวร ขายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันหรือถูกยึดทรัพย์สินดังกล่าวและขายทอดตลาดในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale)

ภาครัฐจึงมีความจำเป็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องออกมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่มีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อให้ภาครัฐสามารถปรับปรุงเงื่อนไขการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจใด้อย่างทันการณ์ เหมาะสม และเพียงพอกับสภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่การระบาดของโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูงได้ ผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ซึ่งการดำเนินดังกล่าวจะเป็นการป้องกันมิให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องและปัญหาผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจลุกลาม ผ่านกลไกการจ้างงานและห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) อันจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งยากต่อการแก้ไขในภายหลัง และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อให้หน่วยงานที่ข้องสามารถดำเนินมาตรการได้และให้การดำเนินมาตรการบรรลุวัตถุประสงค์

คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุมเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 จึงได้เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมาตรการทางภาษีอากรและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง และส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาก่อนดำเนินการตามกระบวนการตรากฎหมายต่อไป โดยมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจสามารถสรุปรายละเอียดได้ ดังนี้

เสริมสภาพคล่องฟื้นฟูกิจการ

การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 ประกอบไปด้วย 2 มาตรการ ได้แก่
1. มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู) วงเงิน 250,000 ล้านบาท
มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดกลไกการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่มีพื้นฐานดีแต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสมผ่านกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิตของภาครัฐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงาน รวมทั้งปรับปรุงธุรกิจเพื่อให้สอดรับกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินสินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 หรือ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า แต่ต้องไม่เกิน 150 ล้านบาท และสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใด ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สามารถขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท โดยสถาบันการเงินจะคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา และเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกที่สถาบันการเงินได้รับแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูกำหนดให้มีกลไกค้ำประกันสินเชื่อดังกล่าวเพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี ภาระชดเชยค้ำประกันสูงสุดร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อภายใต้โครงการ ค่าธรรมเนียมการค้ำประกันโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 1.75 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ตลอดสัญญาได้

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการจดจำนองหลักทรัพย์ค้ำประกันจากการดำเนินการตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู เหลือร้อยละ 0.01 เพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

พักทรัพย์พักหนี้รอเวลาฟื้น

2. มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง (มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้) วงเงิน 100,000 ล้านบาท มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้กำหนดกลไกในการช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพ แต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และต้องใช้ระยะเวลายาวนานในการฟื้นตัว โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราวและไม่ถูกบังคับให้ขายทรัพย์สินหลักประกันในราคาต่ำกว่าสภาพความเป็นจริง (Fire Sale) ให้แก่กลุ่มทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจโดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้หลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

โดยให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันที่โอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีเงินกู้ที่มีอยู่กับสถาบันการเงิน และมีข้อตกลงให้สิทธิซื้อทรัพย์สินหลักประกันนั้นกลับคืนในภายหลังตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ ธปท. กำหนด ซึ่งรวมถึงราคาที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงิน โดย ธปท. จะสนับสนุนแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถขายทรัพย์สินคืนให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินรายเดิมในราคาที่ไม่สูงจนเกินไป นอกจากนี้ สถาบันการเงินสามารถให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินเช่าทรัพย์สินนั้นเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในช่วงระยะเวลามาตรการได้อีกด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันให้สถาบันการเงิน และจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงินเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

โดยทั้ง 2 มาตรการมีระยะเวลาการดำเนินการ 2 ปี โดยคณะรัฐมนตรีสามารถขยายระยะเวลามาตรการออกไปได้อีก 1 ปี ในกรณีที่มีความจำเป็นและมีวงเงินเหลืออยู่ และคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติให้เกลี่ยวงเงินระหว่างมาตรการได้

กระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่าการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบวันนี้ จะสามารถยกระดับการช่วยเหลือฟื้นฟูให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ทุกกลุ่มได้อย่างตรงจุดและเพียงพอ รวมถึงมีความยืดหยุ่นทำให้ภาครัฐสามารถปรับปรุงเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยกฎหมาย จะเป็นกลไกหลักของภาครัฐในการรักษาการจ้างงาน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถป้องกันปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจในระบบสถาบันการเงินได้ นอกจากนี้ ยังถือเป็นแนวทางสำคัญในการบรรเทาความเดือดร้อนและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ควบคู่ไปกับรักษาเสถียรภาพระบบการเงินและความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ

ปลดล็อกของเดิมรับการฟื้นตัวนานขึ้น

ในบ่ายวันเดียว ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงมาตรการเพิ่มเติม

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มองไปข้างหน้าสัญญานเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจน แต่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจประเทศไทยใช้เวลาอีกนาน การคาดการณ์ GDP จะกลับมาสู่ระดับก่อนโควิดระบาดในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างกลับมาเป็นปกติ สภาวะการจ้างงานยังไม่กลับมาที่ระดับปกติการฟื้นตัวยังไม่เท่าเทียมกัน ภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวเห็นจากการส่งออกที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนโควิด บางกรณีสุูงกว่านั้น แต่ภาคบริการยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง และใช้เวลานานกว่า และใช้เวลานาน 4-5 ปี กว่าท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเข้าใกล้ระดับก่อน

“ดังนั้นมาตรการที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อการรองรับสถานการณ์ที่ยาวนานกว่าที่คาดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการใหม่ที่จะตอบโจทย์ในสถานการณ์ปัจจุบัน 2 มาตรการ และเป็นมาตรการที่ยืดหยุ่นมากขึ้นรองรับความไม่แน่นอน ปรับตามสถานการณ์ที่เหมาะสมได้ เน้นการปลดล็อกสำคัญ ครอบคลุมปัญหาที่หลากหลายมากขึ้นและยาวขึ้นตามการประเมินว่าการฟื้นตัวจะนานขึ้น เช่น สินเชื่อรอบเดิมกู้ได้นาน 2 ปี รอบนี้กู้ได้นาน 5 ปี ค้ำประกันนานถึง 10 ปี”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) มุ่งเน้นให้สถาบันการเงินส่งผ่านสภาพคล่องดังกล่าวแก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบแต่ยังมีศักยภาพ และใช้เวลาในการฟื้นนาน มาตรการนี้เน้นการปลดล็อกสำคัญๆต่างจากมาตรการชุดก่อนเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้

โดยขยายขอบเขตลูกหนี้ให้ครอบคลุมทั้งลูกหนี้รายเดิมและลูกหนี้รายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เพื่อให้ลูกหนี้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น พร้อมกับรองรับการฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลา ด้วยการปรับเพิ่มวงเงินกู้ให้สูงขึ้นขยายระยะผ่อนชำระให้ยาวขึ้น และกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เอื้อต่อการฟื้นฟูกิจการยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ภาครัฐยังสนับสนุนกลไกการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) รวมถึงยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ ธปท. สนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเพื่อให้เกิดการส่งผ่านสภาพคล่องไปยังกลุ่มเป้าหมาย

มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) มุ่งเน้นในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว แต่ยังมีศักยภาพและมีทรัพย์สินเป็นหลักประกัน ด้วยการเจรจากับเจ้าหนี้สถาบันการเงินเพื่อหยุดหรือลดภาระหนี้ภายใต้เงื่อนไขสัญญามาตรฐานที่กำหนด อาทิ ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์คืนเป็นลำดับแรกในราคาต้นทุน ภายในระยะเวลา 3-5 ปี เท่ากับราคาตีโอนบวกด้วยต้นทุนการถือครองทรัพย์ (carrying cost) ร้อยละ 1 ต่อปีของราคาตีโอน และต้นทุนในการดูแลรักษาทรัพย์ตามที่จ่ายจริงและสมควรแก่เหตุ

โดยผู้ประกอบธุรกิจสามารถขอเช่าทรัพย์กลับมาดูแลหรือเปิดดำเนินการและสถาบันการเงินจะนำค่าเช่าที่ได้รับไปหักออกจากราคาที่ขายคืนทรัพย์ให้กับลูกหนี้ เพื่อช่วยรักษาโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ถูกกดราคาบังคับขายทรัพย์ (fire sale) สามารถกลับมาสร้างงานและทำรายได้อีกครั้งเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทั้งนี้ ธปท. ให้การสนับสนุนสภาพคล่องต้นทุนต่ำแก่สถาบันการเงินเท่ากับมูลค่าทรัพย์ที่สถาบันการเงินและลูกหนี้แต่ละรายตกลงร่วมกัน และภาครัฐสนับสนุนยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีและค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีและค่าธรรมเนียมในการตีโอนทรัพย์ ทั้งขารับโอนและขายคืนให้กับลูกหนี้รายเดิม

ในการให้ความช่วยเหลือภายใต้มาตรการฟื้นฟูฯ ได้คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรทั้งของภาครัฐและเอกชนให้เกิดประสิทธิผลและมีประโยชน์สูงสุด โดยสภาพคล่องจะถูกส่งผ่านไปยังกลุ่มลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รักษาการจ้างงาน พัฒนาทักษะแรงงานและปรับรูปแบบธุรกิจ ให้กลับมาสร้างรายได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนี้ ธปท. และ ภาครัฐยังมีนโยบายลักษณะอื่นเพื่อรองรับความต้องการที่ต่างกัน อาทิ กลุ่มรายย่อยที่ขาดสภาพคล่องชั่วคราว ภาครัฐมีนโยบายเสริมสภาพคล่อง โดยเพิ่มรายได้ผ่านโครงการต่าง ๆ สำหรับกลุ่มที่ต้องแก้ไขหนี้เดิม มีมาตรการพักหนี้ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อเร่งบรรเทาปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัว นอกจากนี้ ธปท. ได้ออกหลักเกณฑ์การปรับฐานและอัตราการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะช่วยกลุ่มลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและมีปัญหาในการชำระหนี้ เพื่อช่วยลดภาระและสร้างความเป็นธรรมในการใช้บริการทางการเงินของประชาชน รวมถึงลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน

ที่ผ่านมา ภาครัฐ สถาบันการเงินในฐานะเจ้าหนี้ และสมาคมหรือสภาต่าง ๆ ในฐานะลูกหนี้ ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ในการพิจารณาถึงรูปแบบของมาตรการที่เน้นสนับสนุนให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือตามกลไกตลาด และประสานประโยชน์ร่วมกันจากทุกภาคส่วน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการและบริบทของเศรษฐกิจไทย ซึ่งทุกฝ่ายมีความพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการนี้ โดยธนาคารพาณิชย์ไทยและต่างประเทศ จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจให้กลับฟื้นตัวและแข่งขันได้ เช่นเดียวกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่จะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อและตอบสนองนโยบายของรัฐในการลดช่องว่างทางการเงิน นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจที่มีศักยภาพแต่ยังได้รับผลกระทบ จะได้รับประโยชน์จากมาตรการฟื้นฟูฯ เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และพร้อมกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้เติบโต แข็งแรง และแข่งขันได้

ทั้งนี้ คาดว่า มาตรการฟื้นฟูฯ จะเริ่มดำเนินการได้เร็วที่สุดภายในเดือนพฤษภาคมหลังแล้วเสร็จตามขั้นตอนการออกกฎหมาย

คลังดูแลเรื่องภาษีมหาดไทยลดค่าธรรมเนียม

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบผ่านมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ มาตรการสินเชื่อมีการกำหนดกลไกค้ำประกันสินเชื่อเพื่อให้เข้าถึงสภาพคล่องแหล่งทุนได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง กระทรวงการคลังและแบงก์ชาติจะได้ออกหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการค้ำประกัน คำนึงถึงประโยชน์ผู้ประกอบการ เป็นเวลา10 ปี ด้วยบรรษัทอุตสาหกรรมขนาดย่อม ภาระชดเชยค้ำประกันร้อยละ 40 ของวงเงินสินเชื่อ รัฐบาลจะชดเชยภาระค่าธรรมเนียมดังกล่าวโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี

สำหรับภาระด้านภาษีและค่าธรรมเนียมจะดำเนินการทั้งกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลังจะยกเว้นภาระภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ตามมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้สำหรับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ และผู้ประกอบธุรกิจผู้กู้หรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกัน นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนจากผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันให้สถาบันการเงิน และจะลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองให้ผู้ประกอบธุรกิจหรือเจ้าของทรัพย์สินหลักประกันในกรณีที่ซื้อทรัพย์สินนั้นคืนจากสถาบันการเงินเพื่อลดภาระให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ

กระทรวงการคลังหวังว่าจะได้รับการร่วมมือจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยใหลูกหนี้ฟื้นตัว ปรับตัวรองการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจกลัฐมาเติบโตเต็มศักยภาพ

ช่วยโรงแรมธุรกิจในพื้นที่กระทบรุนแรง

นายผยง ศรีวณิช กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จำนวน 2 มาตรการ คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้) นั้น สมาคมธนาคารไทยและธนาคารสมาชิก พร้อมสนับสนุนการดำเนินมาตรการดังกล่าว เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถทำธุรกิจต่อไปได้ ในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกนานในการฟื้นตัว

การจัดทำมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูฯ ในครั้งนี้ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือและรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการ ภาครัฐในการดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ความกังวลของสถาบันการเงิน และสามารถให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุด นำมาสู่การจัดทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจเพิ่มเติม 2 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ ( สินเชื่อฟื้นฟู) ครอบคลุมทั้งการเสริมสภาพคล่อง และการลงทุน เพื่อกลับมาทำธุรกิจตามปกติ (Revive & Restart) วงเงินสนับสนุนดูแลสินทรัพย์ สำหรับธุรกิจโรงแรมและธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรง และประสงค์จะหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว โดยภาครัฐได้ปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงเงินสินเชื่อได้มากขึ้น

มาตรการที่ 2 มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์ชำระหนี้ และให้สิทธิลูกหนี้ซื้อคืน (โครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ) ซึ่งเป็นโครงการภาคสมัครใจ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมและธุรกิจในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างรุนแรงเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นกิจการที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น โดยให้ผู้ประกอบการสามารถหยุดการดำเนินกิจการได้ชั่วคราว ด้วยการโอนทรัพย์เป็นหลักประกันไว้กับธนาคาร เพื่อรับสิทธิในการขยายเวลาชำระหนี้ระยะยาว รอเศรษฐกิจฟื้นตัวโดยไม่สูญเสียกิจการไป ซึ่งจะมีสินเชื่อพิเศษสนับสนุนจากภาครัฐสำหรับดูแลทรัพย์ที่อยู่ในโครงการฯ มาตรการนี้อยู่ภายใต้หลักการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตรงตามสถานะธุรกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพสถาบันการเงิน

“สมาคมฯ และธนาคารสมาชิก มีความตั้งใจและความพร้อมในการดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจไทยให้สามารถอยู่รอดในช่วงที่เศรษฐกิจรอการฟื้นตัว และกลับมาดำเนินธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

แบงก์รัฐเตรียมตรวจสอบข้อมูลลูกค้า

นายฉัตรชัย ศิริไล ประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า มาตรการนี้จะช่วยลูกหนี้แบงก์รัฐที่มีสถานะไม่แข็งแรงนักให้รอดต่อไปได้และลดโอกาสที่ลูกหนี้จะสูญเสียทรัพย์อีกด้วย ขณะนี้ธนาคารของรัฐได้เริ่มเตรียมการที่จะตรวจสอบและยืนยันตัวลูกหนี้แล้ว

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องขอบคุณภาครัฐที่รับฟังความเห็นเอกชนและนำความเห็นนั้นมาปรับใช้ในการออกมาตรการชุดใหม่ ทั้งการสนับสนุนสภาพคล่องช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้พยุงการจ้างงาน สวนการพักทรัพย์พักหนี้ช่วยให้มีโอกาสรักษากิจการ ฟื้นตัวโดยเร็ว

นายณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การปลดล็อกข้อจำกัดจากมาตรการชุดก่อน เป็นส่งที่เอกชนต้องการมานาน และทำให้ปัญหาหนี้มีทางแก้ไข มีการจ้างแรงงาน มาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ขณะที่การพักทรัพย์พักหนี้ให้ทุกอุตวาหกรรมทั้งรายกลาง รายใหญ่ รายย่อยที่มีปัญหา เป็นมาตรการครอบคลุม และอยากให้ธนาคารเอกชนมาร่วมด้วยเพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น