รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ
เว็บไซต์ nytimes.com รายงานว่า รัฐบาลโจ ไบเดน ประกาศสนับสนุนให้มีการระงับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญหาสำหรับวัคซีนโควิด-19 ท่าทีสหรัฐฯดังกล่าวถือเป็นการสนับสนุนต่อความพยายามของนานาชาติ ที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตวัคซีน ท่ามกลางความวิตกในเรื่องที่ ประเทศกำลังพัฒนารายได้ต่ำไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน
ก่อนหน้านี้ในที่ประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) สหรัฐฯเป็นประเทศสำคัญที่คัดค้านข้อเสนอจะให้มีการระงับการบังคับใช้สิทธิบัตร ที่ให้การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาแก่วัคซีนโควิด-19 หากมีการระงับสิทธิบัตรดังกล่าว จะทำให้บริษัทผู้ผลิตยาทั่วโลก สามารถเข้าถึงความลับทางการค้าในเรื่องกระบวนการวัคซีนผลิต
โลกเผชิญสถานการณ์พิเศษ
นางแคเธอรีน ไท (Catherine Tai) ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ประกาศจุดยืนของรัฐบาลโจ ไบเดนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นวิกฤติสาธารณสุขของโลก สถานการณ์พิเศษที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องใช้มาตรการพิเศษ ฝ่ายบริหารของสหรัฐฯเชื่อในเรื่องการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา แต่เพื่อให้การแพร่ระบาดสิ้นสุดลง จึงสนับสนุนการระงับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของวัคซีนโควิด-19
แต่บรรดาที่ปรึกษาสาธารณสุขของโจ ไบเดน มีความเห็นแตกกันในเรื่องนี้ ที่ปรึกษาบางคนเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากทางด้านศีลธรรม ที่ประธานาธิบดีไบเดนจะดำเนินการในเรื่องการระงับการคุ้มครอง และเป็นนโยบายที่ไม่ถูกต้องที่รัฐบาลสหรัฐฯ จะเข้าข้างบริษัทผู้ผลิตยา แต่ที่ปรึกษาอีกส่วนหนึ่งเห็นว่า การเปิดเผยความลับทางการค้า จะไม่ได้ช่วยให้การผลิตวัคซีนเพิ่มมากขึ้น
ดร. แอนโทนี เฟาซี่ ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุขของโจ ไบเดน ให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจะต้องดำเนินการ ในเรื่องการขยายกำลังการผลิตให้มากขึ้นแก่ประเทศอื่นๆ และในราคาที่ลดลงอย่างมากด้วย หรือไม่ก็โดยวิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถผลิตวัคซีนได้ถูกลง
ดร. เฟาซี่กล่าวว่า “ผมเคารพความจำเป็นที่บริษัทยาจะปกป้องผลประโยชน์ เพื่อดำเนินการทางธุรกิจ แต่เราไม่สามารถทำสิ่งนี้ โดยการสร้างความเสียหาย เพราะวัคซีนซึ่งจะช่วยชีวิตคน ไปไม่ถึงคนที่ต้องการสิ่งนี้ คุณไม่อาจจะอยู่ในสภาพที่คนทั่วโลกกำลังจะเสียชีวิต เพราะพวกเขาเข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์วัคซีน ในขณะที่คนฐานะร่ำรวยสามารถเข้าถึงสิ่งนี้”
ข้อเสนอจากอินเดียกับแอฟริกาใต้
สิทธิบัตรถือเป็นเอกสิทธิการเป็นเจ้าของกระบวนการนวัตกรรม ที่มีลักษณะการคิดค้นแบบใหม่ และมีคุณค่าเชิงอรรถประโยชน์ สิทธิบัตรจึงเป็นมาตรการคุ้มครอง เพื่อให้การคิดค้นสิ่งใหม่ สามารถเรียกคืนต้นทุนที่ลงทุนไป และได้รับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการดำเนินการดังกล่าว
แต่การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาหรือสิทธิบัตร จะต้องมีความสมดุลกับนโยบายทางสังคม ในเรื่องความจำเป็นในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่สำคัญดังกล่าว ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก (WTO) เรียกว่า TRIPS Agreement จึงมีมาตราในเรื่องความยืดหยุ่นในการบังคับใช้กฎหมายสิทธิบัตร
ก่อนที่จะมีข้อตกลง TRIPS Agreement ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผลิตภัณฑ์ยา ทำให้บริษัทยาสามัญต่างๆ สามารถผลิตยาเลียนแบบ ที่ขายได้ในราคาถูกกว่ายาที่มีสิทธิบัตร สภาพดังกล่าวยังเป็นแรงกดดันทำให้ผู้ผลิตยาที่มีสิทธิบัตร ขายยาในราคาถูกลงด้วย แต่เมื่อมีข้อตกลง TRIPS Agreement ประเทศสมาชิก WTO มีพันธะที่จะต้องคุ้มครองสิทธิบัตรจากการคิดค้นทางเภสัชกรรม
ในเดือนตุลาคม 2020 อินเดียและแอฟริกาใต้ได้เสนอต่อที่ประชุม WTO ว่า การที่ประเทศสมาชิก WTO จะสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิผล จำเป็นที่จะต้องสามารถเข้าถึงอย่างรวดเร็ว ต่อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับป้องกันและรักษา เช่น อุปกรณ์ตรวจเชื้อ วัคซีน และยารักษา
สองประเทศนี้เสนอให้ประเทศสมาชิก WTO ไม่ต้องมีความรับผิด จากการบังคับใช้สิทธิบัตร หรือความลับทางการค้า ที่อยู่ภายใต้ความตกลง TRIPS Agreement ขององค์การ และให้การระงับการบังคับใชสิทธิบัตรวัคซีนตามความตกลง TRIPS มีผลจนกว่าวัคซีนจะมีแพร่หลายทั่วโลก และประชากรโลกส่วนใหญ่สามารถพัฒนาภูมิคุ้มกันแล้ว
บริษัทยาคัดค้านการระงับสิทธิบัตร
กลุ่มอุตสาหกรรมยาให้เหตุผลคัดค้านท่าทีล่าสุดของสหรัฐฯว่า การระงับสิทธิบัตรวัคซีนไม่ได้ช่วยให้การผลิตวัคซีนรวดเร็วขึ้น เพราะยังมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบและระบบการแจกจ่าย Pfizer เองกล่าวว่า วัคซีนของ Pfizer ต้องใช้สารต่างๆ 280 ชนิด โดยการจัดหาจาก 86 ซับพลายเออร์ และมาจาก 19 ประเทศ นอกจากนี้ การผลิตต้องอาศัยอุปกรณ์เฉพาะระดับสูงและบุคลากรมีคุณภาพ
ส่วน Moderna ที่พัฒนาวัคซีนจากเทคโนโลยีแบบ mRNA ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม 2020 ว่า บริษัทจะไม่บังคับใช้สิทธิบัตรเกี่ยวกับการดำเนินผลิตวัคซีนโควิด-19 หากการกระทำดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับโรคระบาด และ Moderna ก็ยินดีที่จะให้ใบอนุญาตด้านทรัพย์สินทางปัญหา สำหรับการผลิตวัคซีน ในช่วงภายหลังจากการแพร่ระบาดแล้ว
ก่อนหน้านี้ สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐฯ สังกัดพรรคดีโมแครทกว่า 100 คน ลงชื่อเรียกร้องให้โจ ไบเดน ดำเนินการเรื่องการระงับสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ผู้แทนจากรัฐคอนเนคติคัต Rosa DeLauro กล่าวในแถงการณ์ว่า
“เราเป็นประเทศที่มีอำนาจมากสุดในโลก ที่สามารถทำให้หายนะภัยครั้งนี้สิ้นสุดลงได้ เราไม่อาจจะอยู่เฉย ที่คนหลายล้านคนต้องเสียชีวิตลงไป เพราะบริษัทยายักษ์ใหญ่”
ส่วนเบอร์นี่ แซนเดอร์ วุฒิสมาชิกพรรคดีโมแครท รัฐเวอร์มอนต์ กล่าวยกย่องโจ ไบเดนว่า
“สิ่งนี้คือความเป็นผู้นำที่โลกกำลังต้องการ ณ เวลานี้”
แนวทางจัดการทุกจุดในโลก
บทความใน foreignaffairs.com ชื่อ America Can – and Should – Vaccinate the World สนับสนุนวิธีการแบบทุ่มเททรัพยากร ที่จะนำไปใช้กับทุกจุดในโลก (all-out global approach) เพื่อเอาชนะการแพร่ระบาดโควิด-19 อเมริกามีความสามารถและควรที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรในโลกเรา
เหตุผลที่ต้องดำเนินการต่อสู้กับโควิด-19 ในแบบทุกจุดในโลก เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นทั้งหายนะภัยด้านมนุษยธรรม และหายนะภัยทางเศรษฐกิจของโลกในยุคสมัยใหม่ แม้ว่าจะไม่มีความเสียหายในแบบที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ แต่ความเสียหายทั้งหมดจากโควิด-19 มีมากกว่าและเกิดขึ้นกว้างขวางกว่าความเสียหายจากภัยธรรมชาติใดๆ
โควิด-19 ทำให้คนทั่วโลกเสียชีวิตไปแล้วกว่า 3 ล้านคน การวิเคราะห์ของธนาคารโลกระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ในปี 2020 ประชากรโลกมากกว่า 124 ล้านคน ต้องตกอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้น ถือเป็นตัวเลขจำนวนคนยากจน ที่เพิ่มเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี
นิตยสาร The Economist ก็ประมาณการณ์ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงเวลา 2 ปี จะทำให้โลกเสียหายทางเศรษฐกิจ 10.3 ล้านล้านดอลลาร์ เท่ากับมูลค่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่น เยอรมัน และสเปน มารวมกัน
ธนาคารโลกยังกล่าวว่า ความเสียหายจากโควิด-19 มีมูลค่า 2 เท่าของความเสียหายจากเศรษฐกิจถกถอยครั้งใหญ่ในปี 2008 ดังนั้น การจะยับยั้งความเสียหายจึงมีอยู่ทางเดียว คือการฉีดวัคซีนทั่วโลกเท่านั้น
สหรัฐฯเองจะได้ประโยชน์อย่างมากจากการฟื้นตัวที่เร็วขึ้นของเศรษฐกิจโลก รายงานชื่อ Ending the Covid-19 Pandemic ของกลุ่ม Eurasia Group ระบุว่า การปล่อยให้ประเทศรายได้ต่ำและปานกลางระดับล่าง ต้องประสบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมาก จนทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา
Eurasia Group คาดการณ์ว่า การให้วัคซีนกับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ จะสร้างรายได้แก่สหรัฐฯและอีก 9 ประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างน้อย 153 พันล้านดอลลาร์ขึ้นในปี 2021 ดังนั้น แม้สหรัฐฯจะฉีดวัคซีนให้พลเมืองของตัวเองได้ครบหมด การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะยังลากยาวออกไป ตราบใดที่ประเทศคู่ค้าไม่สามารถเข้าถึงวัคซีน และการแพร่ระบาดยังเกิดขึ้นต่อไป
Eurasia Group สรุปว่า โครงการให้ประเทศรายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงการรักษาและวัคซีนโควิด-19 จะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 38 พันล้านดอลลาร์ แต่ในระยะ 5 ปีข้างหน้า 2021-2025 โครงการนี้จะให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประเทศร่ำรวย 10 ประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ เป็นเงินถึง 466 พันล้านดอลลาร์ หรือ 12 เท่าของที่เงินที่ใช้ไปในโครงการทำให้ประเทศยากจนเข้าถึงวัคซีน
เอกสารประกอบ
Taking “Extraordinary Measures”, Biden Backs Suspending Patents on Vaccine, May 5. 2021, nytimes.com
America Can – and Should – Vaccine the World, March 19, 2021, foreignaffairs.com
Ending the Covid-19 Pandemic: The Need for a Global Approach, 25 November 2020, Eurasia Group.