ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สธ.ชี้ กทม.ยังเป็นพื้นที่ระบาดใหญ่ คาดยอดเสียชีวิตคงระดับนี้อีกพัก

สธ.ชี้ กทม.ยังเป็นพื้นที่ระบาดใหญ่ คาดยอดเสียชีวิตคงระดับนี้อีกพัก

2 พฤษภาคม 2021


นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค
ที่มาภาพ :https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/157562/

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรคแถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,940 ราย จากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 1,799 ราย คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 85 ราย จากต่างประเทศ 10 ราย รักษาหายเพิ่ม 1,183 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 29,481 ราย อาการหนัก 954 ราย ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 270 ราย

ในส่วนของรายจังหวัด พบว่าผู้ติดเชื้อในกรุงเทพลดลงจากวานนี้ มีจำนวน 539 ราย รองลงมาคือ นนทบุรี มี 276 ราย สมุทรปราการ 145 ราย ชลบุรี 89 ราย ปทุมธานี 62 ราย และเชียงใหม่ 55 ราย

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ขณะนี้ในเขต กทม.ยังเป็นพื้นที่ระบาดใหญ่ ส่วนในต่างจังหวัดผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังคงตัว ในจังหวัดสีแดงและสีส้มจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมถึงมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ทั้งนี้ หลังจากมีมาตรการปิดสถานบันเทิง ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้นทำให้พบผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้สัมผัสภายในบ้านเพิ่มสูงขึ้นตามมา ข้อมูลการระบาดระลอกเมษายนสัปดาห์ที่ 14-17 มีผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดคนในครอบครัวและเพื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 54 ขอแนะนำให้เข้มงวดป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนในครอบครัว ผู้ที่ทำงานนอกบ้านให้เว้นระยะห่าง แยกสำรับอาหาร หากเป็นไปได้ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในบ้านปรับกิจกรรมในครอบครัวป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดการติดเชื้อขึ้นได้

ด้านมีผู้เสียชีวิตมีจำนวน 21 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 9 ราย อายุระหว่าง 34-88 ปี อยู่ใน กทม. 8 ราย เชียงใหม่ 4 ราย ชลบุรี ลำพูน จังหวัดละ 2 ราย นครปฐม ตาก ระนอง นครสวรรค์ อุดรธานี จังหวัดละ 1 ราย ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ ไขมันในเลือดสูง หลอดเลือดสมอง มะเร็ง ภาวะอ้วน ปอดเรื้อรัง ไตเรื้อรัง และติดบ้านติดเตียง โดยติดเชื้อมาจากการสัมผัสในครอบครัว เพื่อน/เพื่อนร่วมงาน ซึ่งการพบผู้เสียชีวิตจำนวนมากสาเหตุจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขพยายามดูแลอย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มียา เวชภัณฑ์ ที่เพียงพอที่จะดูแลผู้ติดเชื้อทุกคน

ในระลอกเดือนเมษายนพบผู้เสียชีวิตทั้งหมด 151 คน ทำให้มียอดสะสมอยู่ที่ 245 คน โดยระยะเวลาตั้งแต่ทราบผลติดเชื้อถึงเสียชีวิตวันนี้โดยเฉลี่ยประมาณ 9 วัน

“ในเรื่องของการเสียชีวิตจะอยู่หลังจากวันที่วินิจฉัยอาจจะอยู่ประมาณ 3 ถึง 10 วัน จำนวนผู้เสียชีวิตก็ยังคงระดับประมาณนี้บวกลบอยู่ประมาณนี้ต่อเนื่องไปอีกสักพัก“นายแพทย์เฉวตสรร กล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเสียชีวิตในแต่ละระลอก พบว่า ระลอกปัจจุบันมีอัตราการเสียชีวิตแซงหน้าระลอกเดือนธันวาคม 2563 แล้ว แต่น้อยกว่าในระลอกแรกหรือเดือนมกราคม 2563 โดยกลุ่มผู้เสียชีวิตจะมีจำนวนที่สูงเพิ่มขึ้นเหมือนอายุของผู้ป่วยทั้ง 3 ระลอก ซึ่งต้องมีการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมต่อไป

“ในระลอกที่ 3 จำนวนการเสียชีวิตสูงก็จริง แต่เป็นเพราะจำนวนของผู้ป่วยผู้ติดเชื้อมีจำนวนสูงมากเช่นกัน ร้อยละการเสียชีวิตในแต่ละกลุ่มต่ำกว่าในแต่ละกลุ่มอายุหลายๆกลุ่ม”นายแพทย์เฉวตสรร กล่าว

ในขณะนี้จำนวนการเสียชีวิตค่อนข้างที่จะสูงต่อเนื่องหลายวัน ส่วนหนึ่งอาจอธิบายได้ว่า ปัจจุบันมีฐานการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อในจำนวนที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าระลอกอื่นๆ ดังนั้นในส่วนของผู้ป่วยที่มี อาการหนัก ก็จะมีในส่วนของการเสียชีวิตมาปรากฎผลด้วยเช่นกัน และอีกส่วนหนึ่งคือการมาถึงของสายพันธุ์อังกฤษในคลัสเตอร์ทองหล่อ จะเห็นถึงระยะเวลาของการเสียชีวิตจากการวินิจฉัยสั้นลงกว่าเดิม ซึ่งมีความสอด คล้องกับการศึกษาในยุโรปหลายชิ้นที่ระบุว่าสายพันธุ์นี้อาจจะเกี่ยวข้องกับลักษณะที่มีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้น

“อย่างไรก็ตามในภาพของอัตราการเสียชีวิต โดยรวมตอนนี้ก็ยังน้อยกว่าระลอกแรกอยู่ อย่างไรก็ตามเราก็จะดูแลอย่างเต็มที่ สุดความสามารถโดยที่ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในเรื่องของการสนับสนุนความพร้อมเทคโนโลยี และในเรื่องของยาก็มีความเพียงพอ”

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกาและอิสราเอล ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเริ่มฉีดวัคซีนที่เร็วกว่าประเทศอื่น รวมทั้งครอบคลุมพื้นที่การฉีดวัคซีน โดยอิสราเอลครอบคุมกว่า 62.4 % และสหรัฐอเมริกา 43.3 % ส่วนอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยต่อประชากร 1 ล้านคนในข้อมูลเมื่อวันที่ 30 เมษายน พบว่า สหรัฐอเมริกา มีผู้เสียชีวิต 2.15 % และอิสราเอล 0.28 % ขณะที่ไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 0.17 %

ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าถึงแม้จะมีการฉีดวัคซีนที่สูง แต่จำเป็นจะต้องมีมาตรการอื่นประกอบด้วย โดยขณะนี้ประเทศไทยอาจจะยังมีวัคซีนไม่มากครอบคลุมประชากรเพียงแค่ 1.5 % แต่ประเทศไทยมีมาตรการในการควบคุมการระบาด ในเรื่องของการเว้นระยะห่าง ล้างมือ รวมถึงการมี Social distancing ต่างๆได้ดี

“วัคซีนไม่ใช่มาตรการเดียว สิ่งที่เราทำอยู่ถือว่าเป็นสิ่งที่เราทำดีอยู่แล้ว และเราสามารถที่จะทำต่อเนื่องไปเพื่อให้การควบคุมโรคนี้ได้ผลดี ”

สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2,632 ราย ยอดสะสมอยู่ที่ 1,097,862 ราย และเข็มที่ 2 อีก 4,855 ราย ยอดสะสม386,703 ราย ทำให้มียอดสะสมทั้งหมด 1,484,565 โดส

“สำหรับข่าวปลอมในสื่อโซเชียลมีเดีย ในประเด็นจำนวนวัคซีนสำหรับประชาชน รัฐบาลยืนยันว่ามีวัคซีนโควิด 19 เพียงพอที่จะฉีดให้คนไทยทุกคน นอกจากวัคซีนแล้วการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล สาธารณสุขสังคม และองค์กร มีส่วนสำคัญ แม้อาจทำให้รู้สึกไม่ผ่อนคลายมากนัก หากทุกคนความร่วมมือร่วมใจกันการระบาดจะลดลงอย่างรวดเร็ว และทำให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติอย่างเดิมมากขึ้น” นายแพทย์เฉวตสรร กล่าว