ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > “นพ.ประสิทธิ์” ขอความร่วมมือสวมหน้ากาก-ฉีดวัคซีน อย่ารอจนวิกฤติรุนแรงแก้ไขไม่ได้

“นพ.ประสิทธิ์” ขอความร่วมมือสวมหน้ากาก-ฉีดวัคซีน อย่ารอจนวิกฤติรุนแรงแก้ไขไม่ได้

3 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/watch/?v=2769656020014086

แถลงการณ์สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2564

ก่อนการรายงานข้อมูลรายวันได้มีการฉายวิดีโอ ศาตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อขอความร่วมมือจากประชาชน โดยกล่าวว่า วันนี้ 3 พฤษภาคม เป็นวันครบรอบ 1 ปี ของการเริ่มผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิด-19 แต่ 1 ปี ให้หลังทุกอย่างเป็นอีกเรื่อง เรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของวิกฤติโควิด-19 อัตราการเสียชีวิต เมื่อ 1 เดือนก่อนแค่ 0.12 % แต่ตัวเลขของเมื่อวานนี้เพิ่ม เป็น 0.36 % หากตัวเลขต่างๆ ไม่ลดลง นั่นหมายความว่าเรากำลังวิ่งเข้าไปถึงจุดวิกฤติที่แท้จริง

“ขอกราบเรียนทุกท่าน ขอความกรุณา คนไทยต้องช่วยกัน การใส่หน้ากากตลอดเวลา ไม่เว้นแม้กระทั่งอยู่บ้าน ตัวเลขสัปดาห์นี้ ตัวเลขการแพร่ระบาดเกิดในบ้าน กับครอบครัวและเพื่อน รักษาระยะห่าง หมั่นทำความสะอาดและล้างมือ คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน”

มาตรการของผู้ประกอบการขอให้ทำตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ มาตรการนี้ไม่ได้คิดเองแต่จัดทำขึ้นจากข้อมูลต่างๆ จากการบูรณาการว่าอะไรจำเป็นและไม่จำเป็น

“สำหรับวัคซีนเป็นเครื่องมือหนึ่ง ที่จะทำให้เราปลอดภัย มันมีข่าวลือเยอะมาก ผมให้ข้อมูลทุกคนว่า ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับการฉีดวัคซีน เมื่อเทียบกับตัวเลขอัตราการเสียชีวิต จากโควิด-19 แตกต่างกันอย่างมากมาย การฉีดวัคซีน 1 ล้านคน มีโอกาสที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง 4 คนผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหรือผลไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นเป็นผลที่เกิดขึ้นชั่วคราว

“ขณะที่ตัวเลขผู้ติดโควิด-19 ของโลกในวันนี้ 100 คน เสียชีวิต 2.2 คน เป็นตัวเลขที่แตกต่างมากมายเหลือเกิน ขอความกรุณาการฉีดวัคซีนไม่ได้เพื่อตัวท่านอย่างเดียว แต่เพื่อคนท่านรัก เพื่อจะได้ไม่ต้องแพร่เชื้อให้คนเหล่านั้น ถ้าเราฉีดได้เยอะพอและทันเวลา เรากำลังจะช่วยประเทศ โควิดอยู่ไม่ได้หากคนไทยมีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่ง”

“ขอความกรุณาให้มั่นใจ เพราะสิ่งเดียวที่อยู่ในสมองเรา คือจะทำอย่างไร ให้คนไข้ คนไทยปลอดภัยจากโควิด-19 ขอให้เชื่อกันอีกครั้ง ผมขอร้องกันจริงๆ ถ้าเราร่วมกันจริงๆ เราจะผ่านวิกฤติไปได้ด้วยดี อย่ารอจนเกิดวิกฤติรุนแรงจนแก้ไขไม่ได้แล้วค่อยคิด”

ติดเชื้อในบ้านยังสูงสถานบันเทิงลดลง

แพทย์หญิง อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7072

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 2,041 ราย สำหรับการตรวจผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ พบติดเชื้อ 1 รายจากกัมพูชา และขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 29,765 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 21,473 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 8,292 ราย มีอาการหนัก 981 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 278 ราย

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ขณะนี้ปัจจับเสี่ยงโควิด-19ในระลอกใหม่จากสถานบันเทิงมีตัวเลขลดลง แต่ส่วนใหญ่ในขณะนี้ได้แก่การสัมผัสผู้ป่วยยืนยันหรือสัมผัสใกล้ชิดจากผู้ร่วมบ้านและเพื่อนร่วมงาน โดยในกรุงเทพมียอดสะสมถึง 3,953 ปริมณฑล 4,176 และจังหวัดอื่น ๆ 9,995 ราย

และผู้ติดเชื้อรายจังหวัดในวันนี้สูงสุดอยู่ที่กรุงเทพเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานเป็น 675 ราย รองลงมาได้แก่นนทบุรี 277 ราย สมุทรปราการ 161 ราย ชลบุรีพุ่งจากเมื่อวาน 89 มาเป็น 153 ราย สุราษฎร์ธานีเพิ่มเป็น 69 ราย และเชียงใหม่ยังเท่าเดิมอยู่ที่ 55 ราย

โดย พญ.อภิสมัย เสริมว่าในเดือนเมษายน พบผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ 40,121 ราย เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ 13,283 ราย ซึ่งพบมากที่เขตห้วยขวาง 392 ดินแดง 284 บางเขน 284 วัฒนา 272 และจัตุจักร 259 ราย นอกจากนี้ในชุมชนเขตคลองเตย และในชุมชนบ่อนไก่ที่พบผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุง ดังนั้นผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้สัมผัวใกล้ชิดให้กักกันตัวเอง เพื่อลดการแพร่เชื้อ โดยจะมีัผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ต่าง ๆ จะเข้าไปดูแล และจะจัดสรรไปอยู่ในพื้นที่ดูแลที่เหมาะสม รวมทั้งกรมควบคุมโรคได้มีการหารือว่าจะมีการจัดสรรวัคซีนเข้าไปฉีดในพื้นที่ที่เหมาะสม

ยอดผู้เสียชีวิตในวันนี้ 31 ราย สะสมแล้ว 276 ราย โดยเป็นเพศชาย 18 ราย และเพศหญิง 13 ราย อายุตั้งแต่ 31 – 83 ปี อยู่ในจังหวัดกรุงเทพและนนทบุรีจังหวัดละ 10 ราย ปทุมธานีและนครศรีธรรมราชจังหวัดละ 2 ราย และ ฉะเชิงเทรา อ่างทอง เพชรบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี ชัยภูมิ ระนองจังหวัดละ 1 ราย และปัจจัยเสี่ยงการติดเชื้อจากการสัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน 15 ราย จากครอบครัว 6 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เสียชีวิตก่อนทราบผลติดเชื้อ 2 ราย และเสียชีวิตในวันที่ทราบผล 1 ราย ซึ่งทั้ง 3 ท่านขณะที่มีอการเจ็บป่วยไม่ได้มีความรุนแรงและไม่ตระหนักว่าติดเชื้อโควิด-19

“ดังนั้นทุกคนจึงต้องรักษามาตรการทั้งการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ รวมถึงมาตราการของผู้ประกอบการที่รัฐบาลกำหนดเอาไว้ ซึ่งมาตรการที่สร้างขึ้นเกิดจากการเก็บข้อมูลและประมวลผลว่าสิ่งใดจำเป็น และนอกจากนี้วัคซีนคืออีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ปลอดภัย ผลไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วคราว แต่อัตราการเสียชีวิตทั่วโลกในวันนี้ 100 คนเสียชีวิต 2.2 คน ดังนั้นวัคซีนจะช่วยหยุดยั้งการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้”

สธ.ย้ำผู้ติดเชื้อโควิค-19 ทุกรายต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ด้านที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า อัตราผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต ในระลอกแรกช่วงเวลากว่า 11 เดือนมีผู้ป่วย 4 พันกว่าราย มีผู้เสียชีวิต 60 ราย หรือ 1.42 % ระลอกที่ 2 มีผู้ติดเชื้อ 2 แสนกว่ารายมีผู้เสียชีวิต 34 ราย หรือ 0.14 % และในระลอกที่ 3 ยังเป็นระยะเริ่มต้นและบางส่วนยังมีผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวนขึ้นภายหลัง คิดเป็นอัตราเสียชีวิต 0.38 %

“ เมื่อเริ่มเข้ารับการรักษาไปสักระยะ ผลการเสียชีวิตหรือว่าหายป่วยก็จะปรากฏตามมา ซึ่งจะมีช่วงเวลาที่ต่างกันประมาณ 7-10 วันเพราะฉะนั้นก็จะเป็นคำอธิบายว่าทำไมช่วงนี้อาจจะมีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตสูงอยู่ ”

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีการประสานจัดหาเตียงสำหรับผู้เข้าตรวจเชื้อกับแลปเอกชนในกรุงเทพ โดยต่อไปจะเมื่อผู้ตรวจเชื้อมีผลเป็นบวก แลปเอกชนจะต้องส่งเรื่องส่งให้สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และส่งไปที่ 1668 เพื่อให้ติดต่อกลับไปยังผู้ป่วย เพื่อให้ได้เตียงและนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด ป้องกันการตกหล่นจากระบบ

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรมการแพทย์ได้พยายามหาเตียงในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามมารองรับเพื่อให้แลปต่าง ๆ สามารถส่งผู้ป่วยเข้าสู่ระบบได้ ทั้งนี้เมื่อจัดหาเตียงแล้วขอให้ผู้ป่วยเข้าสู่กระบวนการรักษา หากผู้ป่วยปฏิเสธการรักษา แต่ทีมแพทย์คิดว่ามีความจำเป็นจะต้องกักกันโรคอาจจะต้องให้เจ้าหน้าที่ 191 เชิญเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษา แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการที่ดีมากกว่า 7 วันสามารถพักอยู่ที่บ้านได้ในเงื่อนไขของ Home Isolation พร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัว

“ผู้ติดเชื้อโควิค 19 ทุกรายจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และบุคลากรทางด้านการแพทย์ทั้งหมด”

นพ.ณัฐพงศ์ เสริมถึงกรณีที่ผู้ป่วยใส่ท่อ ว่า เป็นกลุ่มผู้ป่วยมีอาการหนักหรือรุนแรง และมีความจำเป็นที่อาจจะต้องอยู่ในห้องความดันลบ แต่ผู้ป่วยหนักทั่วไปขณะนี้มีการปรับให้สามารถพักที่ห้อง ICU ได้ทำให้สามารถขยายเตียง ICU ในโรงพยาบาลได้มากขึ้น และสถานการณ์เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่เป็นตามอัตราส่วน ซึ่งส่วนที่รุนแรงจะเป็นไปตามโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ทั้งนี้ในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นเด็กอาจไม่ได้แตกต่างจากผู้ใหญ่ แต่จำเป็นที่จะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่เฉพาะสำหรับเด็ก และมีเตียงรองรับอย่างเพียงพอ