ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สธ.แจงกรณีพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 รายที่ตากใบหายแล้ว คุมสถานการณ์ได้ ยอดรวมติดเชื้อเม.ย.ทะลุ 1 แสน

สธ.แจงกรณีพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 รายที่ตากใบหายแล้ว คุมสถานการณ์ได้ ยอดรวมติดเชื้อเม.ย.ทะลุ 1 แสน

23 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

วันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ แถลงกรณีการพบเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์ B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ว่า กรมควบคุมโรคได้รับแจ้งการตรวจเชื้อจากห้องปฏิบัติการของเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อกลายพันธุ์ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยพบเชื้อสายพันธุ์ B.1.351.2 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (SA) จำนวน 3 ราย จากการสุ่มตรวจหาเชื้อ โดยขณะนี้ได้รับการรักษาและหายป่วยแล้ว

ทั้งผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นชายไทย อายุ 32 ปี ในหมู่ 9 ต.เกาะสะท้อน อ.ตากใบ มีภรรยาชาวมาเลเซียเดินทางมาเยี่ยม เริ่มป่วยวันที่ 26 เมษายน มีอาการไข้ ปวดเมื่อย ปวดท้อง และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด 19 เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ขณะนี้รักษาหายแล้ว ส่วนภรรยาเดินทางกลับมาเลเซีย เมื่อพบกรณีดังกล่าวได้มีการเฝ้าระวัง ค้นหาผู้สัมผัสในครอบครัวและชุมชน พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 698 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 160 ราย พบผู้ติดเชื้อรวม 83 ราย มีอาการน้อยรักษาในโรงพยาบาลชุมชน 35 ราย โรงพยาบาลสนาม 41 ราย และมีอาการปานกลางรักษาในโรงพยาบาลนราธิวาส 7 ราย ปัจจุบันรักษาหายแล้ว 16 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 67 ราย สุ่มตรวจพบสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 3 ราย รักษาหายแล้วทั้ง 3 ราย

“มาตรการควบคุมโรคได้มีการปิดพื้นที่เพื่อควบคุมและจำกัดการเดินทางเข้าออกตั้งแต่วันที่ 8 พฤษภาคม 2564 ถึงปัจจุบัน โดยตั้งด่านตรวจที่หมู่ 4 , 7 , 8 และ 9 มีการค้นหาเชิงรุกและสอบสวนโรค ผู้สัมผัสทุกรายได้รับการกักตัวในสถานที่กักกัน ตรวจตราการลักลอบเข้าเมือง และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (อีโอซี) อ.ตากใบ และ จ.นราธิวาส มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้ แนวโน้มไม่พบผู้ป่วยเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามกรณีนี้เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้เราได้ทราบว่าโอกาสที่จะมีการติดเชื้อโดยเฉพาะการเข้าพื้นที่ชายแดน” นายแพทย์โอภาสกล่าว

สำหรับมาตรการควบคุมการระบาดของโรค ได้มีการดำเนินการ ได้แก่

    ●มีการควบคุมและจำกัดการเดินทางเข้า-ออก ในพื้นที่
    ●มีการจัดสถานที่กักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่
    ●มีการตรวจตราลักลอบเข้าเมืองและคัดกรองเชื้อ COVID-19
    ●มีการกำกับติดตามคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
    ●มีการปิดพื้นที่ ต.เกาะสะท้อน ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2564 จนถึงขณะนี้
    ●ตั้งด่านตรวจเพื่อกำกับควบคุมการเข้าออก โดยเฉพาะที่ หมู่ 4, 7, 8 และ 9
    ●เปิดสถานกักกันโรคในระดับท้องถิ่น หรือ Local Quarantine ในกรณีที่พบผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ซึ่งในกรณีนี้ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินหรือที่เรียกว่า EOC ตากใบ กับ จ.นราธิวาส มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ตรวจพบมีลักษณะใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งสอดคล้องกับผู้ติดเชื้อรายแรก ที่มีประวัติสัมผัสกับญาติที่ลักลอบเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย จึงน่าจะเชื่อได้ว่ามีการติดมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ประเทศมาเลเซียมีสถานการณ์การติดเชื้อที่ค่อนข้างรุนแรง และพบเชื้อหลากหลายสายพันธุ์ ดังนั้นคงจะต้องมีความระมัดระวังในการเดินทางข้ามไปมา

จากข้อมูลสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในขณะนี้บ่งชี้ว่าการตอบสนองของวัคซีนอาจจะไม่ดีเท่ากับสายพันธุ์อื่น ๆ แต่วัคซีนยังสามารถลดการเกิดอาการรุนแรง และลดอัตราการตายของโรคได้ เพราะฉะนั้นก็ยังมีประโยชน์ในการให้วัคซีนในกรณีนี้อยู่ ส่วนความสามารถในการกระจายโรคใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย และระดับความรุนแรงของโรคไม่ได้มากกว่าปกติ

“เพราะฉะนั้นมาตรการในการป้องกัน ก็ยังคงใช้มาตรการทางสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาผู้ป่วย การพบผู้สัมผัส มีการกักตัว มีการตรวจหาเชื้อ มีการแยกผู้ป่วย”

ศบค.รายงานยอดรวมผู้ติดเชื้อระลอกเม.ย.ทะลุ 1 แสนราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7139

ทางด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2564 ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศ 3,382 ราย มีผู้ป่วยในเรือนจำ 460 ราย และจากต่างประเทศ 5 ราย โดยมาจากมาเลเซียผ่านช่องทางธรรมชาติ 4 ราย และกัมพูชา 1 ราย

ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมในระลอกเมษายนแตะอยู่ที่ 100,637 ราย และผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 129,500 ราย ทำให้อันดับสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกของไทยแตะอยู่ในอันดับที่ 88

วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 17 ราย เป็นชาย 14 ราย และหญิง 4 ราย อายุตั้งแต่ 38 – 85 ปี ในกรุงเทพ 15 ราย สงขลาและเชียงใหม่จังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากพบโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 12 เบาหวาน 8 ไตเรื้อรัง และไขมันในเลือดสูง 4 ราย มีปัจจัยเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อในครอบครัว 6 ราย สัมผัสจากบุคคลอื่น (เพื่อน คนในชุมชน ทานอาหารร่วมกัน และพนักงานรักษาความปลอดภัย) 6 ราย เป็นพนักงานขับรถแท็กซี่ 4 ราย และค้าขายในตลาด 1 ราย

สำหรับผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 44,189 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 18,615 ราย และโรงพยาบาลสนาม 25,574 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,210 ราย และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 412 ราย

คลัสเตอร์โรงงานเพชรบุรี พบผู้ติดเชื้อกว่า 900 ราย

ยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพและปริมณฑลวันนี้ 1,401 ราย และจังหวัดอื่น ๆ 1,516 ราย ในส่วนของรายจังหวัดสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพ 983 ราย รองลงมาได้แก่ เพชรบุรี 968 สมุทรปราการ 181 ราย นนทบุรี 107 และฉะเชิงเทรา 103 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อในจ.เพชรบุรี นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พบการระบาดในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งใน อ.เขาย้อย ตรวจพบแล้วกว่า 942 ราย ซึ่งมีการระบาดกระจายใน 8 อำเภอ และจากการตรวจหาเชื้อในแรงงาน 1 หมื่นกว่าราย พบพนักงานในโรงงาน 2 รูปแบบ สำหรับการตรวจหาเชื้อได้แก่

1. พนักงานมีที่พักอาศัยอยู่รอบโรงงาน ในส่วนนี้สำนักงานสาธารณสุขประจำจังหวัด (สสจ.) จะมีการตรวจเชิงรุกกับพนักงานและในชุมชนใกล้เคียงโรงงาน จึงต้องขอความร่วมมือกับประชาชนในการตรวจคัดกรอง
2. พนักงานที่เดินทางไป-กลับ มีการเดินทางข้ามจังหวัด 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี 481 สมุทรสาคร 43 และสมุทรสงคราม 179 ราย รวมประมาณ 703 ราย ดังนั้นเมื่อได้รับการติดต่อให้ไปตรวจในจุดบริการใกล้บ้านเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง

นอกจากนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และสสจ.เพชรบุรี ได้มีการวางแผนป้องกันและควบคุมโรคได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะควบคุมได้ภายใน 1-2 สัปดาห์