รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 เพจ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานว่า ศบค. สั่งด่วน เร่งฉีดวัคซีนชุมชนคลองเตย ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 64 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยมีจุดบริการฉีดวัคซีน 2 จุด คือ
คาดว่าจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 64 จะสามารถฉีดได้ 20,000 คน ขณะนี้ ชุมชนคลองเตยมีผู้ติดเชื้อ 304 รายอยู่ในแหล่งชุมชนแออัด 193 ราย และพักอาศัยในสถานที่อื่น ๆ 111 ราย
เตรียมตั้งศบค.กรุงเทพฯ-ปริมณฑล
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศ 1,763 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 72,788 ราย มีผู้ป่วยจากต่างประเทศ 13 ราย และวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 303 ราย
โดยผู้เสียชีวิตเป็นชาย 21 ราย และหญิง 6 ราย อายุตั้งแต่ 25 – 92 ปี มากสุดอยู่ที่อยู่ในกรุงเทพ 8 ราย นนทบุรี 5 ราย ลำพูนและสมุทรปราการจังหวัดละ 2 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 12 เบาหวาน 9 โรคหัวใจ 6 โรคไตเรื้อรัง 6 โรคอ้วน 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ 9 ราย และใกล้ชิดคนในครอบครัวที่ติดเชื้อ 9 ราย
สำหรับผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 30,011 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 21,453 ราย และโรงพยาบาลสนาม 8,558 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,009 ราย และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 311 ราย
สถิติผู้ป่วยรายจังหวัดวันนี้ พบว่าผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพ 562 รายซึ่งลดลงจากเมื่อวานนี้ รองลงมาได้แก่ สมุทรปราการ 201 นนทบุรี 168 ชลบุรี 91 สมุทรสาคร 55 ราย
สถานการณ์การระบาดทั่วโลกวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกอยู่ที่ 669,689 ราย สะสมอยู่ที่ 154,178,244 ราย และมีผู้เสียชีวิต 10,478 ราย สะวม 3,226875 ราย ผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดอยู่ที่ประเทศอินเดีย 355,828 ราย มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 20,275,543 ราย และมีผู้เสียชีวิต 3,438 ราย ส่งผลอินเดียมียอดผู้ติดเชื้ออยู่อันดับ 2 ของโลกและอันดับ 1 ในเอเชีย ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 99
นพ.ทวีศิลป์ รายงานสถานการณ์ในกรุงเทพเบื้องต้นการค้นหาในพื้นที่ แขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน ว่า พบการติดเชื้อใน 6 ชุมชนแออัด และเคหะชุมชม 1 แห่ง โดยมีประชากรทั้งสิ้น 29,581 คน พบผู้ติดเชื้อในชุมชน 96 คน และอาศัยอยู่แหล่งอื่น อาทิ คอนโด บ้าน หอพัก 66 ราย
โดยสำนักอนามัยร่วมกับ สปคม. ของกรมควบคุมโรค และทางสบส. ในพื้นที่จะทำการตรวจเชิงรุก ในพื้นที่โดยเฉลี่ยประมาณ 1,000 รายต่อวัน
ทางด้านแขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต พบการติดเชื้อใน 3 ชุมชนแออัด มีผู้ติดเชื้อในชุมชน 80 ราย ได้แก่ ชุมชนวัดญวน-คลองลำปัก 73 ราย ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา 5 ราย และชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้วอีก 2 ราย ซึ่งทางผอ.เขตรายงานว่าชุมชนวัดญวนคลอง-คลองลำปักจะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ในการตรวจ โดยในพื้นที่นี้มีประชากรโดยรวม 856 คน
นอกจากนี้การระบาดในพื้นที่ปริมณฑลคือโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ มีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นขณะนี้ 160 ราย โดยจากการตรวจสอบเชิงรุกพนักงานและญาติ 323 คน พบผู้ติดเชื้อ 151 จาก และในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอีก 9 คน
นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยผลการประชุมศบค.นัดพิเศษเมื่อวานนี้ว่า จะมีการจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพและปริมณฑล” โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้อำนวยการศูนย์ และยกระดับการทำงานผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร ในการดูแลศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระดับเขต เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดในกรุงเทพและปริมณฑล ที่มีปริมาณผู้ป่วยสูงกว่า รายจังหวัดอื่น ๆ
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นเพราะว่าประชากรในกรุงเทพมหานครเป็นหลักรวมถึงประชากรแฝงเป็น 10 ล้านคนนี่คือเรื่องใหญ่ที่จะต้องมีการวางแผนรวมถึงการฉีดวัคซีนก็ต้องมีมาอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ ได้ชี้แจงการฉีดวัคซีนให้กับชุมชนคลองเตยว่า เพื่อลดอาการไม่ให้มี ความรุนแรง และลดอัตราการที่จะต้องอยู่โรงพยาบาลลง ส่วนผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์พักคอยรอลำเลียงที่วัดสะพาน เพื่อแยกผู้ป่วยออกจากชุมชน มาอยู่รวมกัน และรอการประสานหาเตียง เพื่อให้รถลำเลียงมารับไปที่โรงพยาบาล แต่ขณะนี้ศูนย์พักคอยยังไม่มีศักยภาพในการค้างคืน ทำให้ผู้ป่วยยังต้องกลับไปนอนรวมกับครอบครัว เพราะฉะนั้นกลุ่มเสี่ยงจะต้องรีบเข้ามารับการตรวจ และเจ้าหน้าที่จะต้องจัดทำให้เป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งในเขตต่าง ๆ ต้องมีการค้นหาเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงโดยเร็ว
ด้านมาตรการรองรับกลุ่มสีเขียวมีเพียงพอ แต่ปัญหาคือ กลุ่มสีเหลืองเนื่องจากเตียงในโรงพยาบาล ขณะนี้มีไม่เพียงพอ จึงมีแนวคิดที่จะเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อระดับสีเหลือง หากเป็นผู้ป่วยระดับสีเขียวที่เข้ารับการรักษาใน รพ.สนามแล้วมีอาการรุนแรงขึ้น เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเตียงในโรงพยาบาล แต่ที่สำคัญที่สุดคคือบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งขณะนี้ค่อนข้างมีความตึงมือในหลายพื้นที่ จึงขอความร่วมมือจากจิตอาสา และสามารถจัดสรรเวลาได้ รวมลงชื่อใน Line ผ่าน @thaimedvolunteer เพิ่มมาร่วมช่วยดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองและสีแดง
สธ.คาดสถานการณ์การรักษาดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์
สำหรับการแถลงที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่า ภาพรวมถือว่ายังพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง แต่เริ่มทรงตัว โดยต่างจังหวัดควบคุมสถานการณ์ได้ดี แนวโน้มลดลง ส่วนใหญ่มีผู้ป่วยไม่ถึง 20 ราย สามารถค้นหาผู้ป่วยและติดตามผู้สัมผัสได้ดี ขอให้เคร่งครัดมาตรการป้องกันโรคต่อไป ส่วน กทม.และปริมณฑลยังมีแนวโน้มสูง ต้องจับตาชุมชนแออัดขนาดใหญ่ หากควบคุมสถานการณ์ใน กทม.และปริมณฑลได้ จะควบคุมสถานการณ์ระดับประเทศได้
“ขณะนี้ยังพบการติดเชื้อจากการสัมผัสคนในครอบครัว การระบาดเป็นกลุ่มก้อนจากกิจกรรมรวมกลุ่ม โดยพบการแอบนัดมาเล่นพนันเป็นวงเล็ก การเทียบไก่ชน งานเลี้ยงสังสรรค์ในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนการรับประทานอาหารร่วมกันในที่ทำงาน ถือว่ายังเป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น กรณีโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการผู้ติดเชื้อรายแรกทำงานติดต่อกับคนหลายแผนก มีการรับประทานอาหารร่วมกัน และพบกินน้ำแก้วเดียวกัน ทำให้ติดเชื้อสูง 100 กว่าคน และติดเชื้อไปในชุมชน จึงต้องปิดโรงงาน คัดกรองหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงไปกักตัวและรักษาพยาบาล กรณีนี้คล้ายกับแพปลา จ.ระนอง ที่ผู้ติดเชื้อรายแรกพบปะผู้คนจำนวนมากทำให้ติดเชื้อหลายคน” นายแพทย์โอภาสกล่าว
ทั้งนี้ ขอความร่วมมือโรงงาน สถานประกอบการ เคร่งครัดมาตรการเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ สแกนไทยชนะ งดรับประทานอาหารร่วมกัน แยกภาชนะส่วนบุคคล จะทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะคนที่พบปะผู้คนจำนวนมาก การใส่หน้ากากจะช่วยลดการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ในพื้นที่ได้ รวมถึงการใส่หน้ากากในบ้านจะช่วยลดการแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายและคนมีโรคประจำตัวได้
“ตรงนี้ก็เป็นสิ่งเตือนใจว่าแต่ละโรงงานจะต้องเคร่งครัดมาตรฐานที่ทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม และจังหวัดกำหนดและคอยตรวจตราพนักงาน โรงงานก็คือคนในชุมชน ถ้าคนในโรงงานติดเชื้อเยอะ ๆ แน่นอนว่าย่อมกระจายไปสู่ชุมชนและที่บ้าน เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องร่วมมือ กันทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นพ.โอภาส กล่าว
นายแพทย์โอภาสกล่าวต่อว่า ขณะนี้ผู้รักษาหายเพิ่มขึ้น อัตราการรักษาหายมากกว่า 95% จึงต้องพยายามลดผู้ติดเชื้อรายใหม่ คาดว่าใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ สถานการณ์การรักษาในโรงพยาบาลจะดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลโดยจัดหาไอซียูเพิ่มเติมรองรับผู้ป่วยอาการหนัก และปรับเปลี่ยนให้วินิจฉัยกลุ่มอาการสีเหลืองได้เร็วขึ้นและให้ยาเร็วขึ้น มีเตียงเพิ่มอีก 2 พันกว่าเตียง ทำให้สถานการณ์การรักษาค่อนข้างคงตัว สำหรับศูนย์แรกรับและส่งต่อนิมิบุตร มีผู้ติดต่อเข้ามาสะสม 247 ราย ส่งผู้ป่วยไปรักษาได้ 239 ราย คิดเป็น 96.8% ถือว่าช่วยเหลือส่งต่อได้ทันท่วงที ส่วนการตรวจหาเชื้อโควิดในห้องปฏิบัติการเฉลี่ยวันละ 5-6 หมื่นตัวอย่างมากที่สุดคือ 7 หมื่นกว่าตัวอย่างต่อวัน ถือว่าตรวจได้ค่อนข้างมาก
สำหรับสถานการณ์ยาฟาวิพิราเวียร์ นพ.โอภาส กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายการสำรองไว้ให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ประเทศไทยแล้ว 2 ล้านเม็ดโดยเก็บไว้ที่ส่วนกลาง 1 ล้านและกระจายไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ยังสั่งเข้ามาเพิ่มเติมอีกประมาณ 3 ล้านเม็ดและองค์การเภสัชกรรมแห่งประเทศไทยได้จัดหาวัตถุดิบเพื่อผลิตยาได้อีก และหากโรงพยาบาลต้องการจะเบิกยาสามารถสอบถามได้ที่กระทรวงสาธารณสุข สำนักการแพทย์ หรือสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ส่วนต่างจังหวัดสามารถขอยาได้ที่สาธาณสุขประจำจังหวัด
ด้านการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศวันนี้ นพ.โอภาส ชี้แจงว่า เข็มที่ 1 มีจำนวน 6,611 ราย และเข็มที่ 2 อีก 5,099 ราย ซึ่งในระยะนี้อัตราการฉีดวัคซีนที่ลดลงเนื่องจากวัคซีนที่ได้กระจายไปประมาณ 2 ล้านโดส ซึ่ง 1 คนต้องฉีด 2 เข็ม ขณะนี้จึงต้องรอเวลาในการฉีดเข็มที่ 2 เมื่อวานนี้มีวัคซีนล็อตใหม่ที่เข้ามาอีก 5 แสนโดสซึ่งอย. และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ ตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานเรียบร้อยแล้วและมีการกระจายออกไป เพื่อดำเนินการฉีดต่อไป ในวันที่ 6 พฤษภาคมนี้วัคซีน Sinovac จะเข้ามาอีกประมาณ 1 ล้านโดส และในวันที่ 22 พฤษภาคมอีก 1.5 ล้านโดส เพื่อนำมาฉีดในพื้นที่ระบาด ส่วนวัคซีน AstraZeneca จะมีการส่งมอบในเดือนมิถุนายน ซึ่งจะทยอยส่งมอบทั้งหมด 61 ล้านโดส
สำหรับโรงพยาบาลเอกชนถือเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ซึ่งให้ความร่วมมือฉีดตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมควบคุมโรคและไม่คิดมูลค่า โดยมี สปสช.สนับสนุนค่าใช้จ่ายการฉีดวัคซีน 20 บาทต่อคน