“หมออรพรรณ์” ตอกย้ำบทบาท “สปสช.” ไม่มีอำนาจตาม กม. ทำโครงการพิเศษจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ตั้งคำถามถือเป็นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือไม่
นับจากวันที่ องค์การเภสัชจัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านชุด ราคาต่ำสุด70 บาท/ชุด จากบริษัทผลิตที่ FDA สหรัฐสั่งระงับใช้เป็นการเปิดศึกการจัดซื้อชุดตรวจโควิด antigen test self-test kits หรือ ATK ระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับชมรมแพทย์ชนบททันที ในฐานะที่ประธานคณะกรรมการจัดซื้อของสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นั่งอยู่ในตำแหน่งประธานชมรมแพทย์ชนบทอีกตำแหน่ง
ระหว่างทางต่างฝ่ายต่างตอบโต้กันไปมา รวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรีให้จัดซื้อ ATK ว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน(Antigen Test Kit: ATK) ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก(WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจ เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด” สัปดาห์ต่อได้แก้ไขข้อความเป็นว่า “ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้ สธ. เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”
ล่าสุดการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ทาง อภ.นัด “ออสท์แลนด์ฯ” เซ็นสัญญาซื้อ “ATK” 8.5 ล้านชุด 30 ส.ค.นี้ – ย้ำไม่ได้ลดสเปค
แต่กว่าจะมาถึงวันลงนามจัดซื้ออย่างเป็นทางการ การเดินหน้าออกมาแจกแจงเพื่อให้มุมมองที่ครบถ้วนมากขึ้น พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล นายกสมาคมแพทย์อาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย (สพอท.) เป็นหนึ่งในฐานะแพทย์ที่ออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในหลายๆเรื่องในแวดวงสาธารณสุข โดยเฉพาะบทบาทการทำหน้าที่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้การใช้งบประมาณรายจ่ายต่อหัวของประชาชนเกือบ 48 ล้านคนตรงตามวัตถุประสงค์
ดังนั้น การจัดซื้อชุดตรวจ ATK ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดิน ที่จัดซื้อโดยองค์กรเภสัชได้จัดประมูลการจัดหาชุดตรวจโควิด – 19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK ) จำนวน 8.5 ล้านชุด ให้กับโรงพยาบาลราชวิถีตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ “สปสช.” ในครั้งนี้ จึงเป็นอีกประเด็นที่เกี่ยวโยงกับบทบาทของสปสช.
พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุลได้ชี้แจงผ่านคลิปวิดีโอกรณีแพทย์ชนบทบุกกรุงที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการประมูลชุดตรวจโควิด-19 ขององค์การเภสัชกรรม
คลิปวิดีโอชุดแรก พญ.อรพรรณ์ ในฐานะอดีตสมาชิกที่เคยเข้าร่วมชมรมแพทย์ชนบทเมื่อปี 2524 ตั้งประเด็นคำถาม “โควิดไทย ถูกชมรมแพทย์ชนบท และ สปสช. ซ้ำเติมหรือไม่?” โดย พญ.อรพรรณ์ กล่าวว่า จากการติดตามข่าวในช่วงที่ผ่านมา พบความผิดปกติหลายเรื่อง เริ่มจากชมรมแพทย์ชนบทบุกกรุง เข้ามาช่วยตรวจโควิดฯ ด้วยชุด rapid antigen test ให้กับประชาชนในกรุงเทพมหานคร จากนั้นต่อมาก็มีข่าวว่าที่ประชุมบอร์ด สปสช. อนุมัติงบประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท ทำโครงการพิเศษ จัดซื้อชุดตรวจโควิดฯ หรือ “ATK” จำนวน 8.5 ล้านชุด ตรวจหาผู้ติดเชื้อ เพื่อให้เข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว
แต่ก่อนที่ บอร์ด สปสช. จะมีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานจัดซื้อขึ้นมาพิจารณา โดยมีแพทย์จากชมรมแพทย์ชนบทร่วมอยู่ในคณะทำงานนี้ด้วย โดยมีการกำหนดราคาชุด ATK ที่จะจัดซื้อไม่เกินชุดละ 120 บาท และต้องเป็น ATK ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แต่ต่อมาก็มีการยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าว โดยหลักการแล้วประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเป็นอิสระเสรี มีกฎหมายบังคับใช้ หากบริษัทไหนประสงค์นำเข้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพมาขายในประเทศ อย่างเช่น ชุด ATK ต้องผ่านกระบวนการตรวจรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ที่มีทั้งคณะนักวิชาการไทยและคณะแพทย์ที่เชี่ยวชาญ ทำการทดสอบคุณภาพตามหลักวิชาการ
พญ.อรพรรณ์กล่าวต่อว่า บริษัทที่เข้าประมูลกว่า 20 บริษัท ผ่านการตรวจรับรองจาก อย. ทั้งหมดแล้ว ดังนั้น โดยหลักการแล้วผลิตภัณฑ์ของทุกบริษัท จึงมีฐานะหรือมาตรฐานเท่ากัน จากนั้นองค์การเภสัชกรรมได้เริ่มเปิดประมูล และให้ทุกบริษัทเสนอราคาเข้ามาอย่างอิสระ จนได้ผู้ชนะเสนอราคาต่ำสุดชุดละ 65 บาท(เมื่อรวมภาษีมูลค่าราคาประมาณ 70 บาท) ปรากฏว่าชมรมแพทย์ชนบทออกมาให้สัมภาษณ์ว่าองค์การเภสัชฯ ทำไม่ถูกต้อง
กลุ่มชมรมแพทย์ชนบทออกมาให้สัมภาษณ์หลักๆ มี 3 คน คือ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุด ถัดมาคือ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา และ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งชมรมหมอชนบททั้ง 3 ท่านนี้ปกติก็จะมีหน้าที่ต้องดูแลคนไข้ของตนเอง แต่กลับมาให้สัมภาษณ์ว่าจะขอทำการตรวจทดสอบชุด ATK ที่ผ่านการประมูลมาได้ด้วยราคาอันชอบธรรม รวมทั้งผ่านการตรวจรับรองจาก อย. แล้วว่าชุดตรวจโควิดฯ ดังกล่าวมี sensitivity เท่าไหร่ specificity เท่าไหร่ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีมนักวิชาการของ อย., มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมงานของกรมการแพทย์ ที่ทำหน้าที่ตรวจทดสอบคุณภาพได้ดีอยู่แล้ว
“ถามว่าถ้าแพทย์ชนบทจะเข้าไปตรวจทดสอบ ATK แล้ว ปรากฏได้ผลแตกต่างจาก อย. ถามว่าจะมีใครเชื่อหรือไม่ เพราะคุณตรวจอย่างมีอคติใช่หรือไม่ และถ้าหากจำเป็นต้องตรวจทดสอบ ควรใช้นักวิชาการที่เป็นกลางปราศจากอคติ เข้ามาตรวจทดสอบอย่างตรงไปตรงมาจะดีหรือไม่”
ประเด็นถัดมา พญ.อรพรรณ์ตั้งคำถามถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการ สปสช. ทราบหรือไม่ว่า สปสช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ที่จะมาทำโครงการพิเศษ เพราะเงินตรงนี้ไม่ใช่เงินของ สปสช. แต่เป็นเงินของ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเป็นลักษณะเงินเหมาจ่ายรายหัว ที่ สปสช. ต้องจัดสรรเงินให้กับหน่วยบริการ ส่วนการจัดชุด package ต่างๆ นั้น สปสช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะดำเนินโครงการพิเศษที่ตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญใดๆ
“การที่ สปสช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายแล้วมาทำโครงการพิเศษ ถามว่าเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ผิดกฎหมาย ถือเป็นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบหรือไม่ และถ้าพิสูจน์ได้ว่าเป็นการทำให้ใครคนใดคนหนึ่งได้รับประโยชน์ กรณีนี้อาจเข้าข่ายทุจริตหรือไม่”
“หากย้อนกลับไปดูโครงการของบอร์ด สปสช. ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ, ผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มเอ็นจีโอ รวมกว่า 30 คน ซึ่งตัวแทนในบอร์ด สปสช. บางท่านอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข และมีตัวแทนบางกลุ่มสลับปรับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่หมุนเวียนกันเข้าไปนั่งเป็นบอร์ด สปสช. ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานฯ กับปลัดกระทรวงสาธารณสุขนั่งเป็นกรรมการอีก 1 เสียง ซึ่งทำอะไรไม่ได้มาก”
พร้อมย้ำเรื่องนี้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะบุคลากรสาธารณสุขทราบดี งบประมาณที่ใช้ในการให้บริการสาธารณสุข ถูกโอนมาอยู่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหมดเป็นวงเงินกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี โดยมีกลุ่มชมรมแพทย์ชนบทและพวก ที่ช่วยกันยกร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้ขึ้นมา และก็เขียนโครงการเข้ามา ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของตน และตามกฎหมายก็ทำไม่ได้ แต่ก็ทำโครงการเสนอขึ้นมา โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็เห็นชอบไปด้วย ไม่แน่ใจว่ามีผลประโยชน์อะไรกันหรือไม่ อันนี้ก็ไม่ทราบ
แต่ที่ผิดปกติมากคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ทราบหรือว่า สปสช. ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดทำโครงการพิเศษเป็นวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท หากเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็อาจจะมีความผิดประพฤติมิชอบได้ และถ้าหากพิสูจน์ได้ว่ามีใครได้ประโยชน์ ก็อาจเป็นการทุจริต ขออย่าซ้ำเติมคนไข้โควิดฯ เลย ประชาชนกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก
“ดิฉันมีข้อสงสัย ทำไมนายอนุทิน และหมอจากชมรมแพทย์ชนบท 3 คน ออกมาทำอะไรที่ผิดปกติ ที่คนทั่วไปไม่ทำกัน ใครมีหน้าที่ตรงไหน ก็ทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดี ไม่ใช่ละทิ้งหน้าที่(หมอ)ตรงนั้น แล้วมาทำตรงนี้ แถมยังก็ไปว่าคนอื่นที่มีหน้าที่อีก”
สุดท้าย พญ.อรพรรณ์ เรียกร้องขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งหลายที่รักความถูกต้อง ทำความเห็นแย้งกรณี สปสช. ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำโครงการพิเศษ และควรนำงบประมาณทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสถานการณ์โควิดฯ ส่งไปให้หน่วยงานที่เขามีอำนาจหน้าที่ อย่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับโรงพยาบาลเหล่านี้ ไม่ใช่ปล่อยไปตามยถากรรมอย่างนี้
ขอร้องทำในสิ่งที่ดีๆ กันเถอะค่ะ อย่าซ้ำเติมคนไทย…
ประมูล ATK 8.5 ล้านชุด ความจริงที่พูดไม่ครบทั้ง “แพทย์ชนบท-องค์การเภสัช”