ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สธ.แจง รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนให้ทุกคนในประเทศไทย

สธ.แจง รัฐบาลมีนโยบายฉีดวัคซีนให้ทุกคนในประเทศไทย

6 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่มาภาพ:https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/157728/

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2564) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนว่า รัฐบาลโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะฉีดวัคซีนให้ทุกคนในแผ่นดินไทย ดังนั้น คนไทยหรือคนต่างชาติที่มีความประสงค์จะฉีดสามารถรับฉีดวัคซีนได้ทุกคนโดยความสมัครใจ

การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศ (Herd immunity) จะต้องฉีดให้ครอบคลุมประชาชนอย่างน้อยร้อยละ 70 ซึ่งประเทศไทยมีประชากรทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่หรือมีการทำงานต่อในประเทศไทย รวมทั้งคณะทูตานุทูต ทั้งหมด 70 ล้านคน คิดเป็นคนไทยประมาณ 67 ล้านคน และคนต่างชาติอีก 3 ล้านคน ดังนั้นเมื่อคิดยอดฉีดวัคซีนร้อยละ 70 คือ 50 ล้านคน โดยฉีดคนละ 2 โดส รวมวัคซีนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส

“การที่ฉีดวัคซีนให้กับทุกคนในแผ่นดินไทย ทางรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำหลายครั้งว่า Nobody is safe until everyone is safe ทุกคนจะปลอดภัย เราต้องทำให้ทุกคนในแผ่นดินไทยให้ปลอดภัย” นพ.โอภาส กล่าว

สำหรับการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั้งคนไทยและต่างชาติจะยึดหลักการปฏิบัติแบบสากล ทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนอย่างพร้อมเพรียงและใกล้เคียงกัน เป็นไปตามความสมัครใจ และข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดบริการฉีดวัคซีน ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน และเพิ่มจุดบริการฉีดวัคซีนที่อาคารบางรัก ซึ่งอยู่ใจกลางเมือง เนื่องจากอยู่ใกล้สถานทูตต่างๆ ที่พักอาศัยและที่ทำงานของชาวต่างชาติในประเทศไทย และเมื่อมีวัคซีนมามากในเดือนมิถุนายนก็จะมีจุดฉีดวัคซีนหลายจุดเพิ่มมากขึ้น

นพ. โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้วัคซีนซิโนแวคเข้ามาในประเทศไทยอีก 1 ล้านโดส ทำให้ในเดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่ได้รับวัคซีนค่อนข้างมาก โดยจะมีกระบวนการขั้นตอนในการตรวจเชิงคุณภาพ ประมาณ 7 วัน จากนั้นจะเร่งกระจายวัคซีนไปในจังหวัดต่างๆ และจะกระจายวัคซีนไปฉีดเพื่อควบคุมสถานการณ์ในจุดที่มีการระบาด

สธ.ปรับแนวทางรักษา ให้ยาต้านไวรัสเร็วขึ้น

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ที่มาภาพ: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/157781/
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจง กรณีการรักษาโควิด-19 ด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ ว่า จากการปรึกษกับอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรคปอด จากหลายสถาบัน ได้ข้อสรุปว่าจะมีการปรับแนวทางใหม่โดยจะใช้ยารักษากับ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย จนถึงมีอาการมาก รวมไปถึงผู้ป่วยที่ไม่มีอาการแต่มีโรคร่วมหรือมีปัจจัยเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น ทั้งนี้จะขึ้นกับดุลพินิจจากทางแพทย์ผู้รักษา แต่สำหรับผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการจะยังไม่ให้ยารักษาเฉพาะ

“เกณฑ์การให้ยาต้านไวรัสโดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ เราจะให้เร็วขึ้นแต่ไม่ถึงกับให้ทุกคน มีคนถามว่าทำไมไม่หว่านแห การที่หว่านแหมีผลเสียหลายอย่าง โดยเพราะยาฟาวิพิราเวียร์มีผลข้างเคียง หลายคนอาจมีปัญหาเรื่องตับอักเสบ และในขณะเดียวกันการที่จะหว่านแหทั้งหมดจะมีปัญหาในเรื่องของเชื้อดื้อยา”

ส่วนการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ มีการกระจายไปทั่วประเทศแล้วกว่า 2 ล้านเม็ด ซึ่งอัตราการใช้ยาในปัจจุบันประมาณ 5 หมื่นเม็ด และในประมาณวันที่ 10 กว่า ๆ จะมีการนำเข้ายามาอีก 3 ล้านเม็ด แต่ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการต่อองค์การเภสัชกรรมให้มีการสำรองยาอย่างน้อย 2 ล้านเม็ด

นอกจากนี้ในการพักรักษาตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น จะต้องอยู่อย่างน้อย 14 วัน และสำหรับผู้ที่มีอาการเมื่อครบกำหนดหากมีอาการจะให้อยู่รักษาต่อ แต่เมื่อไม่มีอาการแล้วจะต้องอยู่ดูอาการ 24 – 48 ชั่วโมงจึงจะจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล แต่หากในจังหวัดที่มีปัญหาในการบริหารเตียง อาจให้อยู่ในโรงพยาบาล 10 วัน และให้กลับไปกักตัวที่บ้านต่อจนครบ 14 วัน ซึ่งทั้งนี้จะเป็นการบริหารจัดการไปตามสถานการณ์

ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานการฉีดวัคซีนว่า ขณะนี้มีผู้ฉีดซิโนแวค เข็มที่ 1 จำนวน 1,085,046 และเข็มที่ 2 จำนวน 434,101 ราย ส่วนวัคซีนแอสตราเซเนก้า เข็มที่ 1 จำนวน 82,673 และเข็มที่ 2 จำนวน 13 ราย ทำให้ขณะนี้มียอดสะสมทั้งหมดอยู่ที่ 1,601,833 โดส และปริมาณยาคงเหลือในวันนี้ ยาฟาวิพิราเวียร์มีอยู่ในคลังทั้งหมด 1,465,471 เม็ด โดยอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม 951,600 เม็ด ที่สปสธ.209,615 เม็ด กรมการแพทย์ 257,792 เม็ด และกรมควบคุมโรค 46,464 เม็ด ส่วนยา เรมเดซิเวียร์ (remdesivir) มีอยู่ 3,918 vials ซึ่งอยู่ในระดับที่เพียงพอ

กทม.เร่งตรวจเชิงรุกในชุมชน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7082
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 1,911 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 76,811 ราย พบผู้ป่วยจากต่างประเทศ 9 ราย และมีผู้เสียชีวิต 18 ราย

โดยผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย 5 ราย หญิง 13 ราย อายุ 45-100 ปี อาศัยในกรุงเทพ 6 รายสมุทรปราการ 3 ราย นนทบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย และปทุมธานี ยะลา สิงห์บุรี อีกจังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากพบโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 13 ราย เบาหวาน 10 ราย ไขมันในเลือดสูง 6 ราย โรคหลอดเลือดสมอง 3 ราย มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากครอบครัว 12 ราย

ทางด้านผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลตอนนี้มีทั้งหมด 29,680 ราย อยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 20,937 ราย และโรงพยาบาลสนาม 9,743 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,073 ราย และใส่เครื่องช่วยหายใจ 356 ราย วันนี้รักษาหายเพิ่มขึ้น 2,435 รายและรักษาหายแล้วทั้งหมด 46,795 ราย

ในส่วนของรายจังหวัด พบว่าผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมีจำนวนลดลงจากวานนี้อยู่ที่ 739 ราย รองลงมาคือ นนทบุรีมี 273 ราย สมุทรปราการ 143 ราย ชลบุรี 76 ราย และสมุทรสาคร 65 ราย

นพ.ทวีศิลป์ รายงานเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ในเขตพื้นที่บางแค ในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 28 และ 30 เมษายน และ 1 พฤษภาคม จากการตรวจเชิงรุก 1,413 ราย พบผู้ติดเชื้อถึง 68 ราย และที่ท่าปล่อยรถเมล์ ซึ่งมีพนักงานประมาณ 100 คน โดยมีการพบเชื้อ 14 คน และการตรวจเพิ่มเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม อีก 70 คน ขณะนี้กำลังรอผลตรวจอยู่

ส่วนในชุมชนบ้านขิง ซึ่งมีความเชื่อมโยงเป็นแหล่งพักอาศัยของพนักงาน ซึ่งมีประชากรประมาณ 1,000 คน พบว่าวันที่ 28 เมษายน มีการติดเชื้อถึง 30 คน ในวันที่ 30 เมษายน เข้าไปตรวจเชิงรุกกลุ่มผู้ที่เสี่ยงสูง 316 ราย พบผู้ติดเชื้อ 24 ราย และ วันที่ 3 พ.ค. เข้าไปตรวจเชิงรุก อีก 576 ราบ พบเชื้ออีก 25 ราย

นพ.ทวีศิลป์ รายงานผลการดำเนินการตรวจเชิงรุกตั้งแต่ 5 เมษายน – 5 พฤษภาคม พบว่า การตรวจเชิงรุกทั้งหมด 49 แห่ง 69 ครั้ง จำนวน 42,251 คน พบผู้ติดเชื้อ 1,677 คน คิดเป็น 3.97% และยังรอผล 559 ราย

“ในชุมชนที่เขาเข้าไปตรวจ 100 คน จะมี 4 คนที่ติดเชื้อ”

นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงโครงสร้างศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ว่าแบ่งการทำงานได้เป็น 1 ศูนย์ และ 2 คณะกรรมการ โดยได้มีการเพิ่มคณะกรรมการสำหรับ กทม.และปริมณฑล ทางด้านคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติยังคงเดิม แต่เพิ่มคณะกรรมการสำหรับ กทม.และปริมณฑล เป็นการประสานกับศปก.กทม. เพื่อให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.ได้รับรู้ข้อมูล และบริหารจัดการโดยเร็ว