ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค. รายงานยอดติดเชื้อเรือนจำทะลุหมื่น ราชทัณฑ์ยันไม่ปกปิดข้อมูล

ศบค. รายงานยอดติดเชื้อเรือนจำทะลุหมื่น ราชทัณฑ์ยันไม่ปกปิดข้อมูล

17 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 ว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 92 จากทั่วโลก วันนี้พบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 9,635 ราย โดยเป็นผู้ป่วยจากเรือนจำ 6,853 ราย และมาจากต่างประเทศ 9 ราย ซึ่งมีผู้ป่วยยืนยันสะสมในระลองเมษายน 82,219 ราย และมีผู้เสียชีวิต 225 ราย

โดยผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย 15 ราย หญิง 10 ราย อายุ 33-86 ปี มีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 15 ราย เบาหวาน 7 ราย ไขมันในเลือดสูง 8 ราย และโรคอ้วน 5 ราย หลอดเลือดสมอง 3 ราย และปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากครอบครัว 12 ราย จากบุคคลอื่น ๆ 6 ราย มาจากพื้นที่ระบาด 5 ราย ไปสถานที่แออัด 1 ราย และคนขับรถรับจ้าง 1 ราย

ทางด้านผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลตอนนี้มีทั้งหมด 43,268 ราย อยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 22,662 ราย และโรงพยาบาลสนาม 20,606 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,226 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 400 ราย และรักษาหายแล้ววันนี้ 1,397 ราย

ยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพและปริมณฑลวันนี้ 2,362 ราย จังหวัดอื่นๆ 411 ราย และในเรือนจำหรือที่ต้องขัง 6,853 ในส่วนของรายจังหวัดสูงสุด พบว่าผู้ติดเชื้อในกรุงเทพเพิ่มขึ้นจากวานนี้อยู่ที่ 1,843 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ 155 ราย ปทุมธานี 146 ราย นนทบุรี 129 ราย และสมุทรสาคร 53 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7124

นพ.ทวีศิลป์ รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อในเรือนจำและสถานที่ต้องขัง จากการตรวจเชิงรุก 8 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 – 16 พฤษภาคม 2564 ว่า มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 10,748 รายจาก 24,357 ราย และรอรายงานผล 2,235 ราย แบ่งเป็นรายจังหวัด ได้แก่

กรุงเทพ ได้แก่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ , ทัณฑสถานหญิงกลาง , เรือนจำกลางคลองเปรม , เรือนจำพิเศษธนบุรี และทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง พบผู้ติดเชื้อ 14,429 รายจากตรวจทั้งหมด 6,749 ราย

เรือนจำจังหวัดนนทบุรี พบผู้ติดเชื้อ 48 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 2,661 คน รอรายงานผล 2,214 ราย

เรือนจำกลางฉะเชิงเทรา พบผู้ติดเชื้อ 22 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 798 คน รอรายงานผล 21 ราย

เรือนจำกลางเชียงใหม่ พบผู้ติดเชื้อ 3,929 คน จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด 6,469 คน

“ผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 49 % หรือ 10,748 คนที่ได้รับการดูแลอยู่ในเรือนจำที่มีสภาพแน่นและแออัด”

กรมราชทัณฑ์แจงยอดเพิ่มจากตรวจเชิงรุก

ทางด้านกรมราชทัณฑ์โดย นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนางสาวโศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในเรือนจำและทัณฑสถาน ณ อาคารกรมราชทัณฑ์ จังหวัดนนทบุรี

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รายงานว่า ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่ง มีผู้ต้องขังควบคุมดูแลทั้งสิ้น 311,540 รายเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง หรือเข้าสู่ภาวะนักโทษล้นคุก และมีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามเรือนจำทั่วประเทศประมาณกว่า 13,000 ราย อีกทั้งภายในเรือนจำยังมีสภาพเก่าและคับแคบ ดังนั้นเรื่องของสุขภาพอนามัยและการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ จึงทำได้อย่างมีข้อจำกัด

“กรมราชทัณฑ์จะมีเรือนจำทั้งหมด 143 แห่งและเป็นสถานที่ปิดไม่น่าจะมีคนเข้าออก น่าจะควบคุมโรคได้ง่าย แต่ว่าในข้อเท็จจริงแล้วในแต่ละวันกรมราชทัณฑ์และเรือนจำมีหน้าที่ต้องควบคุมนักโทษออกไปขึ้นศาล หรือออกไปรักษาที่โรงพยาบาลภายนอกบ้าง เนื่องจากผู้ต้องขังเจ็บป่วยและทำกิจวัตรประจำวันในจำนวนหลายร้อยคนต่อวัน”

ในช่วงแรกทางกรมราชทัณฑ์ได้ใช้นโยบาย 3 ประการในการสกัดกั้นไม่ให้เกิดภาวะการติดเชื้อในเรือนจำ ได้แก่ 1.คนในห้ามออก 2.คนนอกห้ามเข้า และ3.การกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่หรือที่ออกไปภายนอกเรือนจำ เป็นระยะเวลา 21 วัน และต้องมีการ swab เพื่อตรวจเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ก่อนเข้าห้องกักโรค และก่อนพ้นระยะกักตัว จนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อทั้ง 2 ระลอกได้เป็นอย่างดี โดยมีสถิติผู้ติดเชื้อเพียงไม่เกินหลักสิบคน ซึ่งสอดคล้องกับยอดผู้ติดเชื้อภายนอกเรือนจำ จนกระทั่งระลอกปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดกว้างขวาง พบการติดเชื้อในผู้ต้องขังจำนวนที่สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมามาก

“สาเหตุที่มีรายการผู้ติดเชื้ออย่างก้าวกระโดด เพราะเมื่อมีผู้ติดเชื้อต้องรายงานกระทรวงสาธารณสุข และต้องมาตรวจเชิงรุกแบบ 100% ดังนั้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมากในเรือนจำจึงทำให้มีตัวเลขสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ”

ขณะนี้พบว่าเรือนจำทั่วประเทศมีประมาณ 15 แห่งที่มีผู้ต้องหาติดเชื้อโควิดซึ่งกำลังดำเนินการแก้ไข ส่วนอีกร้อยกว่าแห่งที่เหลือกำลังดำเนินการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่

นายอายุตม์ เสริมว่า ขณะนี้กรมราชทัณฑ์ได้ตั้งศูนย์ศบค.รท.ขึ้นเพื่อติดตามตัวเลขผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและรักษาหายแล้ว โดยจะมีการแสดงตัวเลขเป็นแบบสีเขียว เหลือง และแดง นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการดูแลผู้ต้องขังโดยการแจกเจลล้างมือ เพิ่มคลอรีนลงในอ่างอาบน้ำเรือนจำทั่วประเทศ และเปลี่ยนให้ใช้สบู่เหลวแทน รวมทั้งยังกำชับให้ผู้บัญชาการเรือนจำตรวจค้นเชื้อให้เร็ว หากพบผู้ต้องขังติดเชื้อให้มีการจ่ายยาต้านเชื้อและเอกซเรย์ปอดทุกราย ตลอดจนดูแลกลุ่มผู้ต้องขังกลุ่มมีความเสี่ยงสูงก่อน เช่น อายุ 60 ขึ้นไป ผู้มีโรคประจำตัว หรืออาจจะมีน้ำมูก ไอหรือหายใจติดขัดให้แยกออกมาตรวจหาเชื้อ และจะมีการประสานขอวัคซีนเพื่อฉีดให้กับผู้ต้องขังทั่วประเทศให้ครบทุกคน

ทางด้านเจ้าหน้าที่เรือนจำจะต้องตรวจเชื้อทุกคน ทุกๆ 7 วัน และได้รับการสนับสนุนวัคซีนจากกรมควบคุมโรคแจกจ่ายเจ้าหน้าที่ 12,000 คน

“การที่สงสัยว่าติดปกปิดตัวเลขหรือไม่ ผมขอยืนยันว่าไม่มีการปกปิด เพราะว่าการตรวจค้นหรือ swab ต้องเข้าห้องแลปเพื่อที่ยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ เมื่อติดเชื้อแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะต้องคีย์ข้อมูลไปตามระบบของสาธารณสุขอยู่แล้ว กรมราชทัณฑ์จะต้องควบคุมดูแลรักษาผู้ที่ติดเชื้ออย่างดีที่สุดและให้หายได้เร็วที่สุด” นายอายุตม์กล่าว

การปูพรมตรวจหาเชื้อ 100% ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะมีตัวเลขที่สูงขึ้น แต่าพวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการรักษาพยาบาลกันอย่างดี ส่วนการจัดยาซึ่งมีข้อจำกัด แต่กรมราชทัณฑ์ได้รับการสนับสนุนในการจัดซื้อยาให้โรงพยาบาลราชทัณฑ์และเรือนจำที่มีผู้ติดเชื้อได้รับยา

การแถลงข่าวของกรมราชทัณฑ์ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์วันที่ 17 พ.ค. 2564 จากซ้าย นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ นางสาวโศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง

ตรวจหาเชื้อทุก 7 วันในรายที่มีผลลบ

ทางด้าน นพ.วีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ในปี 2563 ที่เริ่มมีการระบาดในประเทศไทย การติดเชื้อในเรือนจำนับว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับการติดเชื้อในเรือนจำระดับนานาชาติ และยังสามารถรักษาสถานะของการที่เป็นเรือนจำที่มีผู้ติดเชื้อต่ำในอันดับ 10 ในปีที่ผ่านมาด้วย เนื่องจากมาตรการที่เข้มงวดพอสมควรในระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของการติดเชื้อที่แพร่ระบาดสัมพันธ์กับสายพันธุ์ของเชื้อโรค จึงเห็นว่าตัวเลขการติดเชื้อในเรือนจำเพิ่มสูงขึ้น

“ตัวเลขที่สูงเกิดจากการที่กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจเชิงรุกในเวลาอันสั้น คือในช่วงไม่ถึง 1 สัปดาห์มีการตรวจปูพรม 100% จึงทำให้ตัวเลขขึ้นมาเป็นหลักพัน เดิมทีเราพบตัวเลขเริ่มต้นมาตั้งแต่ในหลักสิบ พอเจอในหลักสิบเราก็มีการพยากรณ์ว่าในเวลาประมาณ 1 อาทิตย์หรือ 10 วัน ก่อนล่วงหน้าอาจจะขยายวงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากว่าภาวะของเรือนจำเป็นสภาวะที่ค่อนข้างจำกัดในการดำเนินชีวิต ทุกคนไม่มีบ้านไม่มีห้องของตัวเอง ถูกกำหนดจำกัดให้รวมอยู่ด้วยกัน แล้วก็มีกรอบแนวทางที่เราทำไว้คือกักโรค 14 วัน และมีการเตรียมการหาพื้นที่โรงพยาบาลสนาม”

นพ.วีระกิตติ์กล่าวว่า มีเรือนจำเพียง 2 แห่งเท่านั้นที่มีตัวเลขสูงเป็นหลักพันได้แก่ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลาง ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ เป็นเรือนจำพิเศษและเป็นเรือนจำที่รับผู้ต้องขังรับใหม่

เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ลาดยาว เป็นเรือนจำที่ตรวจพบ 100% โดยใช้เวลาช่วงไม่กี่วัน และตัวเลขออกมาสูงจนถึงเกือบ 2,000 คนคือ 1,960 คน ยังมีรอยืนยันอีกจำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีผู้ป่วยรายใดที่เสียชีวิต อย่างไรก็ตามมีการแบ่งประเภทของผู้ป่วยอย่างชัดเจนและเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง

ข้อสังเกตของเรือนจำนี้คือ เป็นเรือนจำที่รับผู้ต้องขังรับใหม่ในเขตกรุงเทพฯ ของเขตอำนาจศาลพื้นที่กรุงเทพฯและเป็นเรือนจำที่มีการรับผู้ต้องขังค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด เนื่องจากปัญหาอาชญากรรมที่มีมากในพื้นที่พระนคร หรือเมืองหลวง รวมทั้งคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ฉะนั้นจึงมีความยากที่จะหลีกเลี่ยงผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ามายังเรือนจำ อย่างไรก็ตามเรือนจำมีการคัดกรองหรือตรวจภายในศูนย์ช่วง 3 วันแรกและช่วง 12-14 วันหลัง

ส่วนอีกแห่งคือทัณฑสถานหญิงกลาง เรือนจำนี้เป็นเรือนจำหลักที่รับผู้ต้องขังจากกรุงเทพฯและมีผู้ต้องขังอยู่ในการดูแลมากที่สุดของทัณฑ สถานหญิงทั่วประเทศ เรือนจำนี้ก็อยู่ในสภาพจำนนเช่นกัน คือ ต้องรับผู้ต้องขังรายใหม่ทุกวันและก็ต้องมาเข้าระบบกักโรค และห้องกักโรคของเรือนจำมีความแออัด เพราะจำนวนที่เข้ามาผันแปรตามคำสั่งคุมขัง

จากการดำเนินการตรวจคัดกรองไป 100% ภายในเวลา 3-4 วัน ได้ตัวเลขยืนยันรอบแรก 1,039 คนและจากการตรวจในรอบที่ 2 ช่วง 7 วันหลังพบว่าติดเชื้อเพิ่มอีก 145 คน แต่โดยรวมแล้วพบในแดนเก่า แต่จะยังดำเนินการตรวจต่อไปอีก 7 วัน เพราะผู้ต้องขังไม่สามารถที่จะเลือกอยู่บ้านของตัวเองหรือ hospitel ได้ จำเป็นจะต้องอยู่กับกรมราชทัณฑ์ เว้นแต่ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัว

“กรมราชทัณฑ์อยู่ในภาวะจำนน เพราะภายใต้กฎหมายเป็นหน่วยงานสุดท้ายที่ต้องรับผิดชอบในด้านรับตัวผู้ต้องขังรายใหม่ไม่อาจจะปฏิเสธได้”

เรือนจำอีกแห่งหนึ่งที่จัดว่าเป็นเรือนจำพิเศษ คือ เรือนจำพิเศษธนบุรี ซึ่งรับผู้ต้องขังฝั่งธนบุรี เรือนจำนี้นับว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะเป็นเรือนจำที่ติดกับย่านระบาด ที่จัดว่าเป็นพื้นที่สีแดง

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้มีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างรวดเร็ว และตรวจพบเชื้อได้ลำบากกว่าที่ผ่านมา ประกอบกับระยะฟักตัวของเชื้อนานขึ้น แม้จะมีนโยบายให้ผู้ต้องขังทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา แต่ในทางปฏิบัติในเวลาอาบน้ำ หรือรับประทานอาหาร ก็จำเป็นที่จะต้องถอดหน้ากากอนามัย อันเป็นจุดที่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่าน กรมราชทัณฑ์ได้เร่งดำเนินการสอบสวนโรค และเร่งการตรวจหาเชื้อให้ครบ 100% เพื่อเป็นการค้นหาเชิงรุกอย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการเอกซเรย์ปอดในผู้ติดเชื้อทุกราย เพื่อแยกกลุ่มผู้ติดเชื้อตามลักษณะอาการ และเร่งการรักษาอย่างทันท่วงที

สำหรับการรักษาทางกรมราชทัณฑ์ ได้เตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเรือนจำ การจัดหายาต้านไวรัส และในส่วนของผู้ต้องขังที่ตรวจไม่พบเชื้อในครั้งแรก จะต้องทำการตรวจหาเชื้อซ้ำทุกๆ 7 วัน จนกว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะปกติ โดยต่อจากนี้ จะมีการตรวจค้นหาเชิงรุกต่อเนื่อง และอาจจะมียอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น แต่อยากให้มั่นใจว่าเป็นไปเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนได้รับการรักษาที่รวดเร็ว จนสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในที่สุด

ทั้งนี้กรมราชทัณฑ์เองก็อยู่ในสภาวะจำนนจากการระบาดระลอกที่ 3 เนื่องจากไม่สามารถปฏิเสธไม่รับผู้ต้องขังรายใหม่ได้ แม้จะมีความเสี่ยงเมื่อรับเข้ามาแล้วอาจจต้องพบกับการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อไม่สามารถตรวจเจอผลบวกได้ และที่สำคัญเรือนจำต่างจังหวัดก็ได้ประสบปัญหาการส่งตัวผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาลซึ่งทำได้ยาก เนื่องจากโรงพยาบาลต่างๆเตียงเต็ม โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดสีแดง ซึ่งก็สอดคล้องกับในสภาวะของเรือนจำที่อยู่ในพื้นที่สีแดงประชากรก็สีแดงตามประชากรของประเทศ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ

“สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นสิ่งที่เกินกว่าที่กรมราชทัณฑ์จะต้านทานได้เพราะเราไม่สามารถปฏิเสธการรับตัวผู้ต้องขังรายใหม่ได้” นายแพทย์ วีระกิตติ์ กล่าว

นางสาวโศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง กล่าวถึงสถานการณ์ของทัณฑสถานหญิงกลาง ว่า ได้ดำเนินการเร่งด่วนในการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั้งหมดเต็มเป็นจำนวนทั้งสิ้น 4,488 คน ได้แบ่งการควบคุมออกเป็น 2 แดนได้แก่ แดนแรกรับ มีผู้ต้องขังประมาณ 1,500 ราย ซึ่งมีการดำเนินการตรวจคัดกรองผู้ต้องขังแดนนี้ทั้งหมดไปแล้ว 2 ครั้ง ในวันที่ 8 กับ 15 พฤษภาคม และ แดนเด็ดขาด เป็นแดนที่มีจำนวนผู้ต้องขังประมาณ 3,000 คน มีการตรวจคัดกรองและพบผู้ติดเชื้อจำนวน 1,039 ราย

ผู้ต้องขังที่ติดเชื้อ ทัณฑสถานหญิงกลางได้ดำเนินการส่งตัวไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว และปัจจุบันผู้ต้องขังที่ไม่พบการติดเชื้อมีจำนวน 3,400 ราย ได้ถูกควบคุมตัวอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ภายใต้มาตรการ Bubble and Seal เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ และมีการตรวจคัดกรองเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังทุกๆ 7 วัน จนกว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม รวมทั้งได้ปฏิบัติตามมาตรการของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด

“สำหรับการดำเนินการต่อไปจะมีการทำตรวจหาเชื้อทุกๆ 7 วันตามหลักการ เพื่อหาผู้ติดเชื้อไปเรื่อยๆจนกว่าจะไม่พบ ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคนั้นของทัณฑสถานหญิงกลางเริ่มคลี่คลายลงไปแล้ว แต่ทั้งนี้เราก็ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอข้อแนะนำของกรมควบคุมโรคตามหลักการอย่างใกล้ชิด”