ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค. ปรับพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 4 จังหวัด กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ

ศบค. ปรับพื้นที่สีแดงเข้มเหลือ 4 จังหวัด กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ

15 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7113

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานผลการประชุม ศบค. ในการแถลงข่าวจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 หรือ ศบค. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ว่า ศบค.มีมติให้ปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม

โดยปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี และเชียงใหม่ เหลือ 4 จังหวัดคือ กรุงเทพ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ

นอกจากนี้ปรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) จาก 45 จังหวัด เหลือ 17 จังหวัด และในระดับพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ปรับเพิ่มจาก 26 จังหวัดเป็น 56 จังหวัด โดยเตรียมยื่นเสนอให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานศบค.ชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง

“เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด บริโภคในร้านอาหารนั่งได้ 25 % เปิดไม่เกิน 3 ทุ่ม สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 5 ทุ่ม”

วางมาตรการป้องกันในร้านอาหาร

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่าการผ่อนคลายมาตรการอาจเกิดความกังวลใจได้ กรมอนามัย และ สมาคมภัตตาคารไทย จึงได้มีการปรึกษา และมีข้อเสนอในการการวางมาตรการป้องกัน โควิด-19 ในร้านอาหารดังนี้

● จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการเหลือ 25%
● ปฏิบัติตามมาตรการหลักของ ศบค.อย่างเคร่งครัด
● สถานประกอบการต้องประเมินตนเองผ่านระบบ Thai Stop Covid Plus
● พนักงานต้องประเมินตนเองผ่านระบบ Thai save Thai ก่อนออกจากบ้านหรือก่อนปฏิบัติงานทุกวัน
● จัดหาวัคซีนให้แก่ผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงาน
● มีมาตรการควบคุม กำกับ พนักงานทุกวัน อย่างเคร่งครัด
● นั่งทานให้มีระยะห่าง จัดระยะห่างระหว่างโต๊ะ/ที่นั่ง 1-2 เมตร หากมีข้อจำกัดพื้นที่ให้หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าตรงหรือเพิ่มฉากกลั้น
● กำหนดเวลาการใช้บริการ ไม่เกิน 1-2 ชั่วโมง
● พนักงานหน้าและหลังร้าน ต้องสวมหน้ากากอนามัย/ผ้าตลอดเวลา และลดการพูดคุย/การสัมผัส มีการคัดกรองเข้มงวด
● จัดทำป้าย ปชส. ข้อปฏิบัติให้ผู้รับบริการทราบและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
● จัดอุปกรณ์เฉพาะบุคคล และงดให้บริการในรูปแบบบุฟเฟ่ต์ (การตักเอง)


นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า การกำกับมาตรการนี้ให้เข้มข้น ได้มอบอำนาจให้ทางกรมอนามัย คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ส่วนปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดูแล หากพบว่ามีการทำผิดครั้งแรกจะมีการตักเตือน และครั้งที่ 2 สามารถสั่งปิดร้านได้

นอกจากนี้ในมาตรการผ่อนคลายนี้ จะมีการประเมินในระยะยาว ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ติดเชื้ออย่างมากขึ้นอีกจากการผ่อนคลาย ก็จะมีการปรับมาตรการกลับมาเช่นเดิมได้

“มาตรการนี้มีผลบังคับใช้เร็วที่สุดในเที่ยงคืนวันนี้ (15 เมษายน) แต่ทั้งนี้ยังมีเรื่องการเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นำไปสู่การออกประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ซึ่งก็จะพยายามทำให้เร็วที่สุด แต่หากไม่ได้ก็จะเป็นคืนพรุ่งนี้ (16 เมษายน) ”

กทม.เฝ้าระวัง 27 คลัสเตอร์ โดยเฉพาะแคมป์ก่อสร้าง

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ รายงานว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมอยู่ในอันดับที่ 93 จากทั่วโลก โดยวันนี้มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 3,095 ราย จากเรือนจำ 877 ราย และจากต่างประเทศกัมพูชา 3 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในระลอดเดือนเมษายน 70,282 ราย

ส่วนผู้เสียชีวิตมี 17 ราย เป็นชาย 9 หญิง 8 อยู่ในกรุงเทพ 8 ราย สมุทรปราการ 3 สมุทรสาคร 2 และระยอง ชัยภูมิ ปทุมธานี ราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย อายุอยู่ในช่วง 41 – 83 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไตเรื้อรัง ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด และโรคหัวใจรวมถึงมะเร็งด้วยความดันโลหิต 11 เบาหวาน 7 ไขมันในเลือดสูง 3 ไตเรื้อรัง 2 โรคปอดเรื้อรังและติดสุราอย่าละ 1 ราย โดยมีปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่จากครอบครัว เพื่อนร่วมงาน สถานที่แออัด เดินทางในพื้นที่ระบาด และมีอาชีพเสี่ยง

ทางด้านการรักษาทั้งหมด 34,913 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 21,579 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 13,334 ราย มีอาการหนัก 1,234 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหลายใจ 415 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนยอดรวมสะสมอยู่ที่ 2,218,032420 โดส วานนี้มีผู้ที่ได้รับเข็มที่ 1 มีจำนวน 28,996 ราย และผู้ที่ได้รับเข็มที่ 2 อีก 64,692 ราย

สถิติผู้ป่วยกรุงเทพและปริมณฑลวันนี้ 1,779 ราย รวมจังหวัดอื่น ๆ อยู่ที่ 436 ราย และจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดยังอยู่ที่กรุงเทพโดยเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานอยู่ที่ 1,163 ราย รองลงมาได้แก่ปทุมธานี 222 สมุทรปราการ 201 นนทบุรี 126 และสมุทรสาคร 37 ราย

นพ.ทวีศิลป์ รายงานความชุกของผู้ติดเชื้อของกรุงเทพตั้งแต่ 15 เมษายน – 13 พฤษภาคม ต่อประชากร 1,000 คน พบว่าผู้ติดเชื้อกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพชั้นใน โดยปัจจุบันมีคลัสเตอร์ทั้งหมด 27 คลัสเตอร์ไม่รวมคลัสเตอร์จากกรมราชทัณฑ์ โดยอยู่ระหว่างการสอบสวนและควบคุมโรค 20 คลัสเตอร์ และอีก 7 สามารถควบคุมและใกล้ปิดการสอบสวนแล้ว ซึ่งกระจายอยู่ 17 เขตหลัก ได้แก่ ดินแดง วัฒนา คลองเตย หลักสี่ ลาดพร้าว ราชเทวี พระนคร ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย สวนหลวง ปทุมวัน สาทร สัมพันธวงศ์ จตุจักร สีลม ประเวศ และวังทองหลาง

ในคลัสเตอร์กลุ่มเฝ้าระวังสูงสุด จุดที่มีอัตราการติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่ 21.99 % บริเวณแคมป์ก่อสร้าง เขต หลักสี่ เนื่องจากมีทั้งความแออัด และมีหลากหลายเชื้อชาติรวมกันอยู่ รวมทั้งจะเป็นแหล่งระบาดกลุ่มก้อนใหญ่ รองลงมาได้แก่ บริษัทไฟแนนซ์ 17.30 % เขตราชเทวี บริษัทประกัน 7.70 % เขตลาดพร้าว และปากคลองตลาด เขตพระนคร 5.58 %

โดย กทม. ได้รายงานสถานการณ์จำนวนคนงานหรือแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพ เมื่อปลายปี 2563 มีจำนวน 59,757 คน หรือ 393 แคมป์ใน 50 เขต เป็นคนไทย 24,612 คน และต่างชาติ 34,600 คน

“แจ้งให้กับผู้เป็นผู้ประกอบการและแรงงานให้ได้มีการเข้มงวดกวดขันในการดูแลคน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ สถานที่ โครงสร้าง และพฤติกรรมโดยส่วนตัว เนื่องจากการดื่ม กิน อยู่ นอน ในพื้นที่ที่จำกัด การกระจายเชื้อเกิดขึ้นได้”