ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค.ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน พบคนงานติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย

ศบค.ขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 2 เดือน พบคนงานติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย

21 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7139

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้อนุมัติขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร คราวที่ 12 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคม 2564

เพื่อให้สามารถติดตาม กำกับดูแลกิจการ และกิจกรรมต่างๆ ในการดำเนินมาตรการป้องกันโควิด – 19 ให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพ และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว เท่าทันต่อสถานการณ์ หากเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 นพ.ทวีศิลป์ รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 3,481 ราย ทำให้มีผู้ป่วยยืนยันสะสมในระลอกเมษายน 94,203 ราย โดยจากเรือนจำ / ที่ต้องขัง 951 ราย จากต่างประเทศ 12 ราย จากอียิปต์ 1 ราย และ กัมพูชา 11 ราย และมีผู้เสียชีวิต 32 ราย

ผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย 17 ราย หญิง 15 ราย อายุ 21-93 ปี ส่วนมากมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 15 เบาหวาน 10 ไขมันสูง 5 หัวใจ 4 และมีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากครอบครัว 15 ราย จากคนอื่น ๆ 6 ราย เดินทางในพื้นที่ระบาด 7 ราย และอาชีพเสี่ยง 4 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกฯ ได้แสดงความเป็นห่วงถึงจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น และขอให้หน่วยงานทางการแพทย์ทุกหน่วยงานได้ร่วมมือวางยุทธศาสตร์ในการดูแล รักษาผู้ป่วย และแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ รวมทั้งแบ่งปันใช้ทรัพยากร

“ท่านนายกได้กล่าวเป็นห่วงที่สุดก็คือจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกิดขึ้นรายวันมีจำนวนสูงขึ้นท่านก็แจ้งว่าแม้แต่รายเดียวก็เป็นความสูญเสียที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น”

ทางด้านผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลขณะนี้มีทั้งหมด 42,827 ราย อยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 17,892 ราย และโรงพยาบาลสนาม 24,935 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,248 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 408 ราย และรักษาหายแล้ววันนี้ 2,868 ราย

ยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพและปริมณฑลวันนี้ 1,874 ราย และจังหวัดอื่น ๆ 644 ราย ในส่วนของรายจังหวัดสูงสุด พบว่าผู้ติดเชื้อในกรุงเทพ 1,036 ราย รองลงมาคือ สมุทรปราการ 457 ราย นนทบุรี 163 ราย ปทุมธานี 162 ราย และชลบุรี 127 ราย

พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย 15 รายในแคมป์คนงาน

นพ.ทวีศิลป์ รายงานว่า ขณะนี้มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อจากแคมป์คนงานในเขตหลักสี่ 15 รายติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย B1.617.2 ซึ่งตอนนี้อยู่ในการดูแลในโรงพยาบาล และจะมีการส่งทีมสอบสวนโรค เพื่อเข้าไปควบคุมดูแล และป้องกันการติดเชื้อต่อไป

“ สายพันธุ์อินเดียก็เป็นเรื่องที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นมาได้เป็นจำนวนมาก ๆ และขณะเดียวกันก็มีการรายงานอยู่ในหลายประเทศ ของเราเองก็เริ่มมีเข้ามาแล้ว ”

“ สถานการณ์ต่างๆ นายกฯ ก็ได้รับทราบและกำชับให้กับทางกระทรวงสาธารณสุขให้ทำงานทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ”

นพ.ทวีศิลป์ เสริมว่า นายกฯ ได้มอบหมายให้ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑล ได้ประสานงานกับทุกภาคส่วนตรวจสอบและเน้นให้ปฏิบัติ ดังนี้

    1.ตรวจสุขอนามัยภายในแคมป์คนงานที่ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ และควบคุมไม่ให้มีการเดินทางข้ามเขตระหว่างแคมป์คนงาน
    2.จัดระเบียบตลาดนัด ร้านค้า ในชุมชน
    3.ดูแลสุขอนามัยของผู้ประกอบการร้านอาหารและพนักงานส่งอาหารตามบ้าน
    4.จัดระเบียบการเดินทางของระบบขนส่งทุกประเภท
    5.เน้นย้ำมาตรการของการทำงาน Work From Home และกำกับติดตามว่ามีการปฏิบัติอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้ยกถึงมาตรการในประเทศจีน และสรุปยุทธศาสตร์ทั้งหมด 4 ข้อ แบ่งตามสภาวะความเสี่ยงและปัญหา ซึ่งประเทศ ไทยเคยนำมาปรับใช้และประสบความสำเร็จในการแพร่ระบาดทั้ง 2 ระลอกที่ผ่านมา ได้แก่

    1.พื้นที่ที่ยังไม่มีการระบาด ให้มีการป้องกันอย่างเข้มงวดและดูแลเป็นพิเศษไม่ให้เชื้อเข้ามาในพื้นที่
    2.พื้นที่ที่เริ่มมีผู้ติดเชื้อ ให้ใช้มาตรการการค้นหาและควบคุมการระบาดในพื้นที่ ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อไป
    3.พื้นที่ที่มีการระบาดเป็นกลุ่ม ต้องมีการควบคุมการแพร่ระบาด และป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อไปที่อื่น โดยมีการให้การรักษาผู้ป่วยอย่างดีที่สุด
    4.พื้นที่ที่มีการระบาดอย่างมาก ให้ใช้ยุทธศาสตร์ของการดูแลผู้ป่วยเป็นหลัก ควบคุมการแพร่เชื้อ และควบคุมการเดินทาง โดยเน้นให้อยู่แต่บ้าน

มาตรการป้องกันโควิด-19 ในการประชุมรัฐสภา

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่าในที่ประชุม ศปก.ศบค. ได้มีมติเห็นชอบในมาตรการป้องกันโรคในการจัดประชุมรัฐสภา ตามที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนจากกทม. และกรมควบคุมโรค เสนอโดยมีมาตรการที่สำคัญ ดังนี้

    1.สวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้องตลอดเวลา ยกเว้นผู้ควบคุมการประชุมผ่อนผันในช่วงเวลาการอภิปรายหรือแสดงความเห็นในที่ประชุมตามความเหมาะสม
    2.การนั่งในห้องประชุมเว้นระยะห่าง 2 เมตร
    3.ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา มีผู้ติดตามได้ 1 คน เท่านั้น
    4. ให้ตำรวจสภากำกับการใช้ลิฟต์ไม่เกินครั้งละ 6 คน
    5. จัดอาหารให้สมาชิกเฉพาะบุคคล งดทานอาหารร่วมกัน
    6. งดการประชุมกรรมาธิการทุกคณะ จนกว่าจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
    7. ให้สำนักงานที่จัด WFH ได้ดำเนินการ 100%
    8. ให้ปรับแผนการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัด ตามสถานการณ์โควิด 19
    9. ขอความร่วมมือให้ ข้าราชการรัฐสภา ฉีดวัดซีนทุกคน 100% โดยหากผู้ใดไม่ฉีดวัดซีนจะไม่อนุญาตให้เข้าห้องประชุม (เว้นแต่มีเหตุจำเป็น)

โดยมอบหมายให้กรุงเทพมหานคร สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นหน่วยกำกับและติดตามมาตรการด้านสาธารณสุขตามที่กทม.และกรมควบคุมโรคกำหนด

นอกจากนี้ได้มีการมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข จัดสรรวัคซีน 2,000 โดส เพื่อฉีดให้กลับกลุ่มผู้ที่ทำงานในรัฐสภา ช่วงก่อนและระหว่างจัดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 21-25 พฤษภาคมนี้

เลื่อนเปิดเทอมเป็น 14 มิถุนายนพื้นที่เข้มงวดห้ามเรียนแบบ On Site

นพ.ทวีศิลป์ รายงานมาตรการรองรับการเปิดเทอมว่า ในmujประชุมศปก.ศบค ได้อนุมัติให้เลื่อนเปิดเทอมไปในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 โดย 4 จังหวัดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดยังมีการห้ามใช้อาคาร และห้ามมีการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน ทางด้านในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้ง 17 จังหวัดสามารถใช้อาคารในโรงเรียนได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และส่วนของเขตพื้นที่ควบคุม 56 จังหวัดสามารถใช้อาคารในการจัดการเรียนการสอนได้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่

แต่ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีการวางแผนมาตรการแนวปฏิบัติเพื่อดำเนินการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 โดยสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดทั้ง 4 จังหวัด ยังไม่อนุญาตให้มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Site

ส่วนในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและพื้นที่ควบคุม โรงเรียนจะต้องมีการประเมินความพร้อมด้วย Thai Stop Covid โดยต้องผ่านการประเมินทั้ง 44 ข้อ และเมื่อประเมินแล้ว จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเพื่อเปิดเรียนแบบ On Site

แผนการจัดสรรวัคซีน

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงแผนการให้บริการวัคซีนโดยจะเริ่มฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน โดยมีแผนกระจาย 3 ช่องทางได้แก่

    1. หมอพร้อม
    2. ลงทะเบียน ณ จุดบริการ โดยถ้ามีวัคซีนเพียงพอจะสามารถให้บริการในวันนั้นเลย แต่หากไม่มีจะมีการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนภายหลัง
    3. การกระจายเฉพาะกลุ่ม อาทิ แพทย์ พยาบาล อสม. ครู หรือกลุ่มที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิต เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

โดยแบ่งเป็นระยะในการลงทะเบียนและวัคซีนได้แก่ ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันนี้ – 6 มิถุนายน จะมีการทยอยฉีดกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมีการเตรียมพร้อมเพื่อการลงทะเบียน รวมทั้งทดสอบระบบ ส่วนระยะที่ 2 ตั้งแต่ 7 มิถุนายนเป็นต้นไป จะเริ่มฉีดวัคซีนทั้งระบบ เป็นวาระแห่งชาติ โดยจะมีการฉีดให้กับประชาชนทุกกลุ่มตามการจองฉีดวัคซีน

สธ.แถลงรายละเอียดคนงานติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย

นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ชี้แจงรายละเอียด การพบเชื้อกลายพันธุ์ในคลัสเตอร์หลักสี่ ว่า จากการตรวจสอบสายพันธุ์โควิด-19ในคนงานจำนวน 61 ราย พบสายพันธุ์อินเดีย 15 ราย เป็นชาย 7 รายและหญิง 8 ราย อายุเฉลี่ย 46 ปี เป็นคนงาน 12 คน และอยู่ร่วมบ้านกัน 3 ราย โดยขณะนี้ส่วนใหญ่ยังมีอาการไม่รุนแรงและรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล

สายพันธุ์อินเดียขณะนี้มีการแพร่ระบาดมากในหลายประเทศอาทิ อินเดีย หรืออังกฤษ นอกจากนี้ในละแวกประเทศไทยได้แก่ ประเทศมาเลเซีย หรือสิงคโปร์ ส่วนประเทศเมียนมา หรือกัมพูชา ขณะนี้ยังมีการถอดรหัสพันธุกรรมโควิด-19 ที่ค่อนข้างจำกัด ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าอาจจะมีสายพันธุ์อินเดียอยู่ได้

“ ประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะมีสายพันธุ์อินเดียหลุดลอดเข้ามา และแพร่ระบาดในประเทศไทยได้ ก็จะมีการจับตาอย่างใกล้ชิด ”

จากข้อมูลจากหน่วยงานประเทศอังกฤษ(Public Health England) ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมโรคในประเทศอังกฤษ รายงานข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์อินเดียว่า

  • โควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษและอินเดีย มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อไม่ค่อยต่างกันมาก
  • ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียมีความรุนแรงมากกว่าอังกฤษ
  • โควิด-19 สายพันธุ์อินเดียยังมีการตอบสนองต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังสามารถป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษและอินเดียได้
    นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ที่มาภาพ:https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/158708/

    นพ. โอภาส รายงานว่า สถานการณ์โควิดในประเทศไทยขณะนี้ส่วนมากเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งแพร่เชื้อรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิม

    นอกจากนี้ประเทศไทยได้มีการเฝ้าระวังโควิด-19 ที่ระบาดในทั่วโลกแล้ว 4 สายพันธุ์ได้แก่ สายพันธุ์อังกฤษ บราซิล อินเดีย และแอฟริกาใต้ โดยกระทรวงสาธรณสุขร่วมกับมหาวิทยาลัยในการถอดรหัสสายพันธุ์เหล่านี้ เพื่อรวบรวมข้อมูลไว้

    ด้านการฉีดวัคซีน นพ. โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้นายกฯ ได้เห็นชอบการกระจายวัคซีนไปยังจังหวัดต่างๆ แล้ว ซึ่งวัคซีนหลักได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า จะเริ่มมีการกระจายฉีดในเดือนมิถุนายน ร่วมกับวัคซีนอื่น ๆ ที่ขณะนี้กำลังจัดหาเพิ่มเติม โดยในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2.5 ล้านโดส

    ภาคเอกชนเองก็สามารถจัดซื้อ-จัดหาวัคซีนที่มีการขึ้นทะเบียนแล้วเข้ามาเพิ่มเติมได้ แต่ที่ผ่านมา โดยภาครัฐบาลได้มอบหมายให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ช่วยอำนวยความสะดวกในการเจรจาต่อรองนำเข้าวัคซีนทางเลือกมาจำหน่ายให้ประชาชนในประเทศ

    “รัฐบาลไม่เคยปิดกั้นภาคเอกชนในการนำวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้วมาขายให้พี่น้องประชาชนในประเทศไทย รวมทั้งยังมอบหมายให้อภ.อำนวยความสะดวกในการจัดหามาเพิ่มเติม”

    นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า วัคซีนในอีกหลายบริษัท นอกเหนือจากซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้าจะสามารถส่งมอบวัคซีนให้ได้ช่วงไตรมาสที่ 4 หรือประมาณเดือนตุลาคม 2564 แต่ได้จากการเจรจา หลายบริษัทจะเริ่มนำวัคซีนจากแหล่งอื่นมาให้กับประเทศไทยได้