ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค.รายงานโควิดรอบใหม่ 1 เม.ย.-10 พ.ค. กทม.เสียชีวิตมากสุด ปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว

ศบค.รายงานโควิดรอบใหม่ 1 เม.ย.-10 พ.ค. กทม.เสียชีวิตมากสุด ปัจจัยเสี่ยงโรคประจำตัว

11 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7093

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 1,919 ราย และจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 86,924 ราย อยู่ในอันดับที่ 99 ของโลก มีผู้ป่วยจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 17 ราย โดย 11 ราย เป็นคนไทยที่มาจากอินเดียในเที่ยวบินวันที่ 8 พฤษภาคม นอกจานี้มาจากกัมพูชา 3 ราย แอฟริกา ฟิลิปปินส์ และปากีสถาน ประเทศละ 1 ราย

ในส่วนของกรุงเทพและปริมณฑล พบผู้ติดเชื้อ 1,281 ราย จังหวัดอื่น ๆ 621 ราย ในส่วนของรายจังหวัดพบผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพมีจำนวน 855 ราย และมีผู้ป่วยสะสมในระลอกใหม่ 20,429 ราย รองลงมาคือปทุมธานี 160 ราย นนทบุรี 141 ราย จันทบุรี 89 ราย และชลบุรี 73 ราย

ทางด้านผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลตอนนี้มีทั้งหมด 29,435 ราย อยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 20,005 ราย และโรงพยาบาลสนาม 9,430 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 1,207 ราย ส่วนหนึ่งต้องต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 390 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มีจำนวนเพิ่มขึ้น 69,552 ราย สะสมอยู่ที่ 1,365,992 ราย และเข็มที่ 2 อีก 19,008 ราย สะสมแล้ว 532,462 ราย

วันนี้มียอดผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 31 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ระลอกแรกทั้งหมด 452 ราย ผู้เสียชีวิตวันนี้เป็นเพศชาย 15 ราย หญิง 16 ราย อายุ 34-94 ปี เป็นผู้เสียชีวิตในกรุงเทพ 17 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัวเป็นความดันโลหิตสูง 13 ราย เบาหวาน 10 ราย ไขมันในเลือดสูง 7 ราย ไตเรื้อรัง 4 ราย โวคอ้วน 3 ราย และโรคหัวใจ 2 ราย มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากครอบครัว 17 ราย จากเพื่อน 4 ไปสถานที่แออัด 2 มาจากจังหวัดเสี่ยง 1 สัมผัสผู้ติดเชื้อยืนยัน 3 ทำงานในสถานบันเทิง 1 และระบุไม่ได้ 4 ราย

นพ.ทวีศิลป์ รายงาน ลักษณะทางระบาดวิทยาของผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 พบว่า ในระลอกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 10 พฤษภาคม 2564 มีจำนวน 327 ราย อายุตั้งแต่ 24 – 100 ปี ซึ่งมีอัตราเพศชายต่อเพศหญิงอยู่ที่ 1.3 ต่อ 1 เป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวถึง 86 % และไม่มีโรคประจำตัว 14 %

โดยสถิติผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 พบว่า 73 % มีโรคความดันโลหิตสูง รองลงมาเป็นโรคเบาหวาน 55 % ไขมันในเลือดสูง 30 % ไตเรื้อรัง 17 % โรคหัวใจ13 % โรคอ้วนและโรคปอด อย่างละ 8 %

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด พบในกรุงเทพ 151 ราย คิดเป็น 46 % รองลงมาได้แก่ สมุทรปราการ 24 ราย(7%) นนทบุรี 23 ราย(7%) ปทุมธานี 12 ราย(4%) และเชียงใหม่ 10 ราย(3%) ตามลำดับ

ด้านจำนวนผู้ติดเชื้อในกรุงเทพและปริมณฑลที่มีอาการหนักตั้งแต่ 1 – 10 พฤษภาคม 2564 มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน เฉพาะในกรุงเทพล่าสุดมีจำนวนผู้ป่วย 527 ราย และการใช้เครื่องช่วยหายใจแนวโน้มของกรุงเทพและปริมณฑลยังคงเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ต่างจังหวัดเริ่มมีการทรงตัว ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมีการสร้างโรงพยาบาลบุษราคัม เพราะว่าความเข้มข้นของผู้ป่วยอาการหนัก ต้องใช้พื้นที่ของเตียง บุคลากร และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เยอะมากขึ้น

“ผู้ป่วยหนักก็เป็นคีย์สำคัญที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตมากน้อยอย่างไร”