ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค. แจงทั่วประเทศเหลือ 1,000 เตียง รับผู้ป่วยได้อีก 19 วัน ยอมรับติดเชื้อเพิ่มกระทบระบบสาธารณสุข

ศบค. แจงทั่วประเทศเหลือ 1,000 เตียง รับผู้ป่วยได้อีก 19 วัน ยอมรับติดเชื้อเพิ่มกระทบระบบสาธารณสุข

23 เมษายน 2021


ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7036

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 23 เมษายน 2564 ว่า มีผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ 2,070 ราย ซึ่งเป็นสถิติสูงที่สุดของประเทศไทย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 50,183 ราย และมีผู้เสียชีวิต 4 ราย

ทางด้านผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลมีจำนวนทั้งหมด 19,873 ราย โดยอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 15,642 ราย และโรงพยาบาลสนาม 4,231 ราย ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 มีจำนวน 87,465 ราย และเข็มที่ 2 อีก 12,520 ราย รวมผู้รับวัคซีนสะสมอยู่ที่ 964,825 ราย

สำหรับรายจังหวัด ผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯพุ่งขึ้นมาที่ 740 รายจากเมื่อวานนี้ที่มี 446 ราย ที่เชียงใหม่เพิ่ม 237 ราย ที่ชลบุรีมีผู้ติดเชื้อ 125 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 44 ราย นครราชสีมา 69 ราย พระนครศรีอยุธยา 31 นนทบุรีลดลงเหลือ 29 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ศบค.มีการประเมินสถานการณ์และจำนวนเตียงที่จะรองรับ โดยประเมินว่าหากเกิดการติดเชื้อประมาณ 1,500 รายต่อวัน จะต้องใช้เตียงประมาณ 52 เตียงทั่วประเทศ และในกรุงเทพฯ จะใช้เตียงวันละ 10 – 13 เตียง ซึ่งคาดว่า จะใช้ได้เต็มที่ประมาณ 6 – 8 วัน โดยทั่วประเทศขณะนี้เหลือเตียงประมาณ 1,000 เตียง หากใช้วันละ 52 เตียง จะรองรับผู้ป่วยได้อีก 19 วันหรือเกือบๆ 3 สัปดาห์ของทั้งประเทศ

สำหรับ เตียงไอซียูของกรุงเทพมหานคร มีจำนวนว่างอยู่ 69 เตียง

“นี่คือสิ่งที่เป็นภาวะจำเป็นที่เร่งด่วนของกทมฯ ตัวเลขเหล่านี้กระทรวงสาธารณสุขก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตอนนี้พยายามบูรณาการเตียงและบูรณาการทรัพยากรคน รวมทั้งมีการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่ดูแลใกล้ชิดกับผู้ป่วย”

สำหรับกรณีที่กังวลว่าตัวเลขการติดเชื้อโควิค 19 ทะลุ 2,000 คนแล้ว จะกระทบกับระบบสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นยา บุคลากรทางการแพทย์ หรือแม้แต่เตียงที่จะรองรับผู้ป่วย ศบค.จะต้องมีแผนการรองรับสถานการณ์ตรงนี้อย่างไร นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าวว่า
“มีผลกระทบแน่นอน ก็เรายังไม่รู้ว่าจุดที่จะเป็นปลายทางนั้นจะเป็นอะไรอย่างไร”

“นี่คือสิ่งที่การประเมินสถานการณ์แล้ว ที่เรามองว่าประเมินในเชิง worst case scenario (กรณีเลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้) หรือในภาพภาวะที่มีวิกฤตรุนแรงมากๆจะต้องทำอย่างไร ตอนนี้ถ้ามีเตียงใน ICU ที่อยู่ในระยะของ 1 สัปดาห์ ก็ถือว่าเป็นการที่ไม่เพียงพอ ต้องมีการเพิ่มตรงนี้มากขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ส่วน โดยเฉพาะ กทม.ก็เหลือเวลาที่สั้นมาก”

โดยแนวทางจัดการปัญหาเตียงแล้ว ในส่วนของการรองรับผู้ป่วยที่มีสถานการณ์ที่รุนแรงโดยใช้ห้อง ICU ซึ่งในระยะเวลา 1 สัปดาห์ก็ถือว่ายังไม่เพียงพอ ดังนั้น สธ. จึงได้มีเพิ่มมาตราการการจัดเตรียมเตียง 3 วิธี
1)มีการเบ่ง หรือ การเพิ่มจำนวนเตียงในสถานที่เดิม เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะต้องได้รับการดูแลในพื้นที่ที่เหมาะสม ทั้งบรรยากาศ การดูดอากาศ การใช้เครื่องปรับอากาศ ที่ถูกควบคุมดูแลให้เหมาะสม
2)อาจจะต้องเกิดการใช้พื้นที่ของไอซียูที่กว้างขึ้น โดยนำพื้นที่วอร์ดมาปรับปรุงขึ้นมาให้เหมาะสมเพื่อดูแลคนไข้ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ และย้ายผู้ป่วยรายอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวออกไป
3) อาจจะมีการทำไอซียูสนาม ซึ่งวิธีนี้อยู่ในกระบวนการพูดคุยอยู่

อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลราชวิถีซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักของกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นผู้ต้องขยายเตียงตรงนี้เพิ่มขึ้นมาก่อน รองรับเตียง

นอกจากนี้ยังได้ชี้แจงถึงเหตุขัดข้องและปัญหาที่ประชาชนไม่สามารถติดต่อเพื่อขอรับเข้าสู่ระบบการรักษา โดย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่าเนื่องจากมีประชาชนติดต่อเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้การติดต่อรับสาย หรือแม้แต่แชทบอทยังไม่สามารถรองรับได้เพียงพอ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) จึงได้เข้ามาเป็นผู้บูรณาการเรื่องของการติดต่อสายด่วน โดยมีการปรับระบบรองรับข้อมูลของสายด่วนโดยเพิ่มทีมงานเป็น 2 กลุ่ม

  • กลุ่มแรกเมื่อประชาชนโทรเข้ามาให้ฝากเบอร์ติดต่อและผลยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 และข้อมูลสำคัญต่าง ๆ ไว้
  • กลุ่มที่ 2 เจ้าหน้าที่จะรับข้อมูลจากกลุ่มแรกและติดต่อกลับไปเพื่อสอบถามหาการและจัดหาเตียง
  • นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงว่า วานนี้มีผู้รอเตียง 1,423 ราย และเพิ่มขึ้นในรอบ 24 ชั่วโมงอีก 264 ราย ซึ่งสามารถจัดสรรรับการรักษาแล้ว 474 ราย และในส่วนของ พล.อ.ณัฐพล เลขาฯ สมช. จะขอรับทราบผู้ป่วยในกลุ่มของสีเขียวก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปริมาณมากที่สุดกว่า 80 % เพื่อที่จะสามารถเข้ารับการรักษาและไม่แพร่เชื้อต่อให้กับผู้อื่น ส่วนปัญหาในขณะนี้คือกลุ่มผู้ป่วยระดับสีเหลืองและแดงที่มีเตียงไม่เพียงพอ ซึ่งทางศคบ.ก็กำลังขยายเตียงอย่างเต็มที่