ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค.เตรียมผ่อนปรนพื้นที่เข้มงวด “ขยายเวลาปิดร้านอาหาร-นั่งทานในร้านได้”

ศบค.เตรียมผ่อนปรนพื้นที่เข้มงวด “ขยายเวลาปิดร้านอาหาร-นั่งทานในร้านได้”

14 พฤษภาคม 2021


รายงานโดย ปารณีย์ สิงหเสนี นักศึกษาฝึกงาน สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7113

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยผ่านการแถลงข่าวจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด19 หรือ ศบค. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ว่า ที่ประชุม ศบค. กำลังพิจารณาการผ่อนคลายมาตรการตามระดับพื้นที่ และการปรับระดับพื้นที่ให้สอดคล้องการสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในการแบ่งระดับของจังหวัด ยังมีข้อพิจารณาเพิ่มเติม และจะมีการประกาศรายชื่อจังหวัดในวันที่ 15 พฤษภาคม

“นายกรัฐมนตรีในฐานะผอ.ศบค. สั่งการไปเพราะเห็นถึงผู้ประกอบการบางพื้นที่ส่วนไหนควรจะผ่อนปรนได้บ้าง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยและรายเล็กและผู้ที่ค้าขายอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ของคนไทย ”

“ส่วนในเรื่องของจังหวัดนั้นๆ จะอยู่ในพื้นที่อะไร วันนี้ยังมีข้อที่จะต้องสรุปให้ชัดเจนสุดท้าย และนำเสนอนายกรัฐมนตรี พรุ่งนี้จะนำมาเรียนให้พี่น้องประชาชนให้ทราบต่อไป ”

หลักเกณฑ์ในการปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วประเทศ มีดังนี้
1. ลักษณะการระบาดในชุมชน โดยพิจารณาจากจำนวน ความต่อเนื่อง โดย
●พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มีผู้ป่วยมากกว่า 100 คน อย่างน้อยหนึ่งวันในสัปดาห์ หรือเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์มากกว่า 50 คนต่อวัน
●พื้นที่ควบคุมสูงสุด มีผู้ป่วยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ 20-50 คนต่อวัน
●พื้นที่ควบคุม มีผู้ป่วยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 20 คนต่อวัน
●พื้นที่เฝ้าระวังสูง มีผู้ป่วยเฉลี่ยใน 1 สัปดาห์ น้อยกว่า 10 คนต่อวัน
●พื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่ไม่มีผู้ป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์

2. จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับพื้นที่ที่พบการระบาดต่อเนื่องและเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ

3. จังหวัดที่มีการระบาดในกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสแพร่เชื้อได้ง่าย

4. จังหวัดที่ติดกับชายแดน หรือเคยมีผู้เดินทางเข้าไปในพื้นที่ติดเชื้อ

5. สัดส่วนการได้รับวัคซีนของประชากรในพื้นที่ (ปรับลดระดับลงกรณีได้รับวัคซีนมาก)

โดยร่างมาตรการขณะนี้ ได้แก่

  • พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้ผ่อนปรนให้ประชาชนสามารถรับประทานในร้านได้โดยนั่งไม่เกิน 25% ของจำนวนที่นั่งเดิมที่มีภายในร้าน และนั่งได้ไม่เกิน 21.00 น. สั่งกลับบ้านได้ไม่เกิน 23.00 น.ส่วนของการรวมกลุ่มหรือการใช้อาคารในสถานศึกษายังไม่อนุญาต ยกเว้น มีการขออนุญาตในบางเรื่อง อาทิ การสอบเข้าสถานศึกษา
  • สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด สามารถรับประทานในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. และสามารถใช้อาคารสำหรับสถานศึกษาได้โดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
  • พื้นที่ควบคุมสามารถรับประทานในร้านได้ตามปกติ แต่ทั้งหมดนี้ต้องงดการจำหน่ายและดื่มสุรา
  • ผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นมาอยู่อันดับ 94 จากทั่วโลก

    นพ.ทวีศิลป์ รายงาน สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศมี 2,256 ราย เป็นผู้ต้องขังในเรือนจำ 183 ราย และมาจากต่างประเทศ 5 ราย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในระลอกเดือนเมษายน 67,187 ราย และสะสมทั้งหมด 96,050 ราย โดยการจัดอันดับทั่วโลกอยู่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 94

    ผู้ป่วยรักษาอยู่ทั้งหมด 33,186 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 20,669 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 12,517 ราย มีอาการหนัก 12,517 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหลายใจ 408 ราย สำหรับการฉีดวัคซีนวันนี้ เข็มที่ 1 จำนวน 21,302 ราย และเข็มที่ 2 อีก 63,067 ราย

    จำนวนผู้เสียชีวิตในระลอกนี้สะสมแล้ว 454 ราย และสะสมทั้งหมด 548 ราย ในวันนี้มีจำนวนผู้เสียชีวิต 30 ราย เป็นชาย 16 หญิง 14 ราย สูงสุดอยู่ในกรุงเทพ 11 ราย ในช่วงอายุ 15 – 85 ปี ส่วนมากพบว่ามีโรคประจำตัวเป็น ความดันโลหิตสูง 19 ราย เบาหวาน 9 ราย ไขมันในเลือดสูง 7 ราย ไตเรื้อรัง 5 ราย และโรคหัวใจ 5 ราย ซึ่งปัจจัยความเสี่ยงพบว่ามีประวัติใกล้ชิดสมาชิกในครอบครัวที่ติดเชื้อ 13 ราย และมาจากจังหวัดเสี่ยง 10 ราย

    โดยมีข้อสังเกตพบว่าผู้เสียเข้ารับการรักษามากกว่า 2 สัปดาห์ ทำให้อัตราครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการไม่มากจากเดิมเข้าพัก 14 วันก็สามารถออกไป แต่เมื่ออาการหนักขึ้นตลอดจนเสียชีวิต จากการตรวจสอบข้อมูลสะสมพบว่าเข้ารับการรักษายาวนานถึงเดือนกว่า ดังนั้นจึงจะต้องหาเตียงเพื่อเข้ามารองรับกลู่มผู้ป่วยหนัก

    “รายที่เสียชีวิตจากการดูข้อมูลสะสมแล้วพบว่าใช้ เวลาการนอนอยู่ในโรงพยาบาลยาวนานสูงสุดถึงประมาณเดือนกว่า ๆ นี่คือสิ่งที่เราจะต้องคิดเผื่อไว้ล่วงหน้าเพื่อหาเตียงในการที่จะรองรับผู้ป่วยในกรณีอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ”

    สถิติผู้ป่วยกรุงเทพและปริมณฑลวันนี้ 1,563 ราย และจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดยังอยู่ที่กรุงเทพ 1,087 ราย รองลงมาได้แก่ปทุมธานี 157 นนทบุรี 131 สมุทรปราการ 121 และ ชลบุรี 64 ราย