ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค. แจง 7 สาเหตุการติดเชื้อ กทม.ทะลุ 1,500 ราย

ศบค. แจง 7 สาเหตุการติดเชื้อ กทม.ทะลุ 1,500 ราย

24 เมษายน 2021


ที่มาภาพ:https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/7038

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิค-19 ประจำวันที่ 24 เมษายน 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศ 2,839 ราย ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่จำนวนผู้ป่วยสะสมภายในวันเดียว แต่เกิดการจัดการข้อมูลผู้ป่วยตกค้างในระบบตลอดหลายวัน ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมเพิ่มเป็น 53,022 รายและวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 8 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 129 ราย

สำหรับผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 22,327 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 17,924 ราย และโรงพยาบาลสนาม 4,403 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 418 ราย และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 113 ราย

สถิติผู้ป่วยรายจังหวัดวันนี้ พบว่าผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพ 1,582 รายจากเพิ่มจากวานนี้ 740 ราย รองลงมาได้แก่เชียงใหม่ 151 ราย ชลบุรี 119 นนทบุรี 96 สมุทรปราการ 84 ราย

นพ.ทวีศิลป์ ระบุสาเหตุของการติดเชื้อได้แก่
1) การติดเชื้อจากที่ทำงานทั้งทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและเอกชน
2) การพบปะสังสรรค์หรือรับประทานอาหารร่วมกัน
3) การติดเชื้อในภายในครอบครัว
4) การมั่วสุม การรวมกลุ่มและไม่เว้นระยะห่าง หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยง
5) การมีกิจกรรม กิจการ การรวมกลุ่มกันของผู้สูงอายุ
6) ผู้ติดเชื้อให้ข้อมูลรายละเอียดคลาดเคลื่อน ทำให้กระบวนการสอบสวนล่าช้า รวมถึงการควบคุมโรคก็ล่าช้าไปด้วย
7) อาจจะเกิดจากการเดินทางโดยรถขนส่งสาธารณะ

นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงถึงกรณีที่เตียง ICU อาจจะไม่เพียงพอ ว่า กรณีข้างต้นนั้นเป็นภาพรวมของกรุงเทพและปริมณฑลเท่านั้น ณ วันนี้มีเตียงทุกประเภททั่วประเทศทั้งหมด 40,524 เตียง มีเหลือว่าง 21,138 เตียง และครองเตียงไปแล้ว 19,386 เตียง หรือ 47.8% สำหรับ Cohort ICU ที่จะต้องรองรับผู้ป่วยหนัก มีทั้งหมด 6,333 เตียง เหลือว่าง 3,204 เตียง และถือครองเตียง 3,129 เตียง หรือ 49.4% ดังนั้นในทั่วประเทศยังมีเตียงว่างเพื่อรองรับผู้ป่วย

ในกรณีของกรุงเทพและปริมณฑลมีการมีการบริหารจัดการเตียงแบบพลวัตหมุนกันไป คือการจัดการเตียงบางครั้ง อาจจะต้องดึงคนไข้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรืออาการน้อยออกไป ปริมาณเตียงจึงมีการขขยับขึ้นลงในทุก ๆ วัน โดยภาพรวมของเตียงทั้งหมดมี 16,422 เตียง มีเหลือว่าง 5,347 เตียงและครองเตียงไปแล้ว 11,075 เตียง หรือ 67.4% สำหรับ Cohort ICU มีทั้งหมด 69 เตียง ซึ่งขณะะนี้ยังไม่มีผู้ป่วยครองเตียงอยู่

และยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กระทรวงกลาโหม กรุงเทพฯ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลสนาม โรงเรียนแพทย์ และเอกชน ในการให้ความรวมมือจัดการเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยในกรุงเทพพมหานคร โดยเฉพาะเอกชนซึ่งในตอนนี้มีเตียงค่อนข้างมาก มีเตียงรวมทั้งหมด 5,492 ครองเตียงแล้ว 3,673 เตียง และมีเตียงว่างอยู่ 1,819 เตียง

“โดยรวมแล้วของกรุงเทพจะมีประเด็นอยู่พอสมควร แต่ว่าข้อดีคือมีหลายหน่วยงานและมีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ในกรุงเทพกระจุกตัวสูงมาก เพราะอย่างนั้นจะเป็นการบริหารจัดการเพื่อที่จะทำให้ผู้ที่รอเตรียมอยู่ในกรุงเทพได้เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลให้ได้มาก”

โดย นพ.ทวีศิลป์ เสริมอีกว่า ตอนนี้มีผู้ที่รอเข้ารับการรักษาในกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด 2,013 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 590 ราย โดย สธ. จะจัดพื้นที่ในโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel จำนวน 4 แห่งในกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อส่งมอบเตียงให้กับผู้รอเตียงกว่า 2 พันรายภายใน 2-3 วัน โดยจะมีการโทรศัพท์เข้าไปสอบถามอาการ หากไม่รุนแรงจะเข้านำเข้า Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม แต่หากมีอาการรุนแรงก็จะมีการซักถามประวัติ และนำส่งโรงพยาบาลที่รองรับคู่กันกับโรงพยาบาลสนาม และขณะนี้ได้มีการจัดเตรียมระบบโลจิสติกส์โดยทาง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เพื่อเข้ารับผู้ป่วยโดยเจ้าหน้าที่จะมีการใส่ชุด PPE ป้องกัน

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ ให้สำทับอีกว่าว่า การยกระดับมาตรการการป้องกันต่าง ๆ ทีมยุทธศาสตร์จะต้องคิดวิเคราะห์อย่างละเอียด และพิจารณาไปทีละพื้นที่เพื่อไม่ให้ประชาชนในพื้นที่ไม่เสี่ยงได้รับผลกระทบ

“มาตรการที่เข้มไปกว่านี้ก็จะไม่เกิดขึ้นถ้าเราร่วมมือกัน”