ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ศบค. ประกาศ ยกระดับ 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด 1 พ.ค. งดกินข้าวในร้าน

ศบค. ประกาศ ยกระดับ 6 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด 1 พ.ค. งดกินข้าวในร้าน

29 เมษายน 2021


ศบค.ยกระดับพื้นที่ควบคุม ประกาศพื้นที่เข้มงวด 6 จังหวัด ‘ไม่รวมกลุ่มเกิน 20 คน-ห้ามทานอาหารในร้าน-ขอความร่วมมืองดเดินทาง’ พร้อมเพิ่มระยะเวลากักตัวจากต่างประเทศเป็น 14 วัน

การประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 6/2564 โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. และเป็นประธานในการประชุม มีมติยกระดับมาตราการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด-19 พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด พื้นที่ควบคุมสูงสุด 45 จังหวัด และพื้นที่ควบคุม 26 จังหวัด และเน้นย้ำว่ายังไม่มีการจำกัดเวลาออกจากเคหสถานะของบุคคลหรือเคอร์ฟิว และไม่มีการล็อกดาวน์ โดยจะมีการประกาศผ่านราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 พฤษภาคม เวลา 00.00 น.

โดยนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อโควิด 2 ข้อ ได้แก่ 1) การปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร 2) การปรับระยะกักตัวเป็น 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

การปรับระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร

ในวันที่ 1 พฤษภาคม เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป จะมีการปรับเกณฑ์พื้นที่สถานการณ์ โดยมี 6 จังหวัดที่จัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด(สีแดงเข้ม) คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่, นนทบุรีปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยมาตรการสำคัญได้แก่

  • ห้ามจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 20 คน
  • ร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มให้จำหน่ายได้ในลักษณะของการนำกลับไปบริโภคที่อื่นเท่านั้น และงดการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม สุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน และเปิดให้บริการได้จนถึงเวลา 21.00 น. เท่านั้น
  • สถานกีฬา สถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนสให้ปิดให้บริการ ยกเว้นสถานที่ที่ใช้เป็นเอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ส่วนสนามกีฬาหรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกายประเภทกลางแจ้ง หรือที่ตั้งอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. เท่านั้น และสามารถให้มีการจัดแข่งกีฬาได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ จนถึงเวลา 21.00 น. แต่ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ งดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดให้บริการ
  • ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. และสำหรับร้านที่ตามปกติเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.
  • งดการเดินทางออกนอกพื้นที่ ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด งดการออกเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค ซึ่งมาตราการนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือ และหากท่านมีเหตุจำเป็นก็สามารถขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่ได้
  • จากมาตรการนี้ส่งผลให้พื้นที่ควบคุมสูงสุด(สีแดง)เพิ่มขึ้นจากเดิม 18 จังหวัดเป็น 45 จังหวัด พื้นที่ควบคุมจาก(สีส้ม) 59 จังหวัดเป็น 26 จังหวัดส่วนสีเหลืองคือพื้นที่เฝ้าระวังสูงและพื้นที่เฝ้าระวัง

    มาตรการบังคับใช้ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด(สีแดง) 45 จังหวัด ได้แก่

  • ห้ามจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 50 คน
  • การจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มให้บริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้จนถึงเวลา 23.00 น.
  • ห้ามการบริโภค สุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ จนถึงเวลา 21.00 น. แต่ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ งดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดให้บริการ
  • ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เกต ตลาดนัดกลางคืน ตลาดโต้รุ่ง ถนนคนเดิน ให้เปิดบริการได้ตามเวลาปกติ แต่ไม่เกินเวลา 23.00 น. และสำหรับร้านที่ตามปกติเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ในเวลา 04.00 น.
  • สนามกีฬา สถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส สามารถเปิดให้บริการได้ไม่เกินเวลา 21.00 น. และสามารถจัดการแข่งขันโดยจำกัดจำนวนผู้ชมในสนาม
  • มาตรการที่ใช้ในพื้นที่ควบคุม(สีส้ม) 26 จังหวัด

  • ห้ามจัดกิจกรรม ซึ่งมีการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่า 50 คน
  • การจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่มให้บริโภคในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00 น.และให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มได้ไม่เกิน 23.00 น.
  • ห้ามการบริโภค สุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน
  • ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ให้เปิดดำเนินการได้ตามเวลาปกติ จนถึงเวลา 21.00 น. แต่ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ งดการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และยกเว้นส่วนที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม และสวนสนุก ที่งดให้บริการ
  • การปรับระยะกักตัวเป็น 14 วัน สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

    ที่ประชุมได้มีมติปรับระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรจาก 7 10 วันเป็น 14 วัน พร้อมทั้งไม่อนุญาตให้ออกจากห้องพัก State Quarantine ยกเว้นทำการตรวจหาเชื้อและรักษาพยาบาล และผู้ที่ได้รับอนุมัติตั้งแต่ 1 พฤษภาคมหรือผู้ที่ได้รับอนุมัติก่อนวันที่ 1 พฤษภาคมและเดินทางถึงราชอาณาจักรนับตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคมเป็นต้นไป จะต้องมีการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง

    มาตรการควบคุมทุกพื้นที่/จังหวัด

  • กำหนดแนวปฏิบัติสำหรับการบังคับใช้และการขอให้ประชาชนส่วมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า เพื่อป้องกันโรค ให้มีความเหมาะสมสามารถบังคับใช้ได้อย่างสอดคล้องและกับสภาพความเป็นจริงของสังคม ไม่สร้างภาระให้กับประชาชน
  • ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการหรือผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินการ Work from Home มาตรการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการรวมกลุ่มของบุคคล ลดจำนวนการเดินทางอันจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดการแพร่เชื้อได้
  • งดจัดกิจกรรมงานสังสรรค์ ให้ประชาชนงดจัดงานทางสังคมในลักษณะการสังสรรค์ งานเลี้ยง งานรื่นเริง ยกเว้นงานตามประเพณีนิยม หรือจัดภายในครอบครัวที่มีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ห้ามใช้อาคาร สถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภท เพื่อจัดการเรียน การสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่โรค
  • นอกจากนี้ขอให้ ศปศ. พิจารณามาตรการเยียวยา เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการยกระดับมาตรการในครั้งนี้โดยเร่งด่วน
    ส่วนมท. , พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับภาคประชาสังคม เร่งรัดให้การช่วยเหลือดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย และประชาชนกลุ่มเปราะบาง และให้ ศปก. ศบค. ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการจัดให้มีระบบประกันสุขภาพให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องกับการติดเชื้อ

    หาซื้อวัคซีนทุกยี่ห้อ

    ในส่วนของเรื่องวัคซีน นพ.ทวีศิลป์ ได้ชี้แจงถึงมติที่ประชุมว่า ได้ขออนุมัติหลักการการจัดหาซื้อวัคซีนโควิด-19 ให้มีความหลากหลายทั้งชนิดและราคา เพื่อให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 คิดเป็น 50 ล้านคนโดยเร็วที่สุด โดยภาครัฐมีการจัดหาวัค ซีน ทั้ง Pizer/ BioNtech จำนวน 5-20 ล้านโดส, Sputnik V จำนวน 5-10 ล้านโดส ,Johnson & Johnson จำนวน 5-10 ล้านโดส และ Sinovac จำนวน 5-10 ล้านโดส และวัดซีนอื่น เช่น Moderna หรือ Sinopharm หรือ Bharat หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการ
    ขึ้นทะเบียนในอนาดต และในส่วนของเอกชนสามารถจัดซื้อวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติมได้เช่นกัน

    ขณะนี้ประเทศไทยจัดหาได้แล้ว 63 ล้านโดสและจะต้องจัดหาเพิ่มเติมอีก 37 ล้านโดส กรณีที่สามารถจัดการวัคซีนได้เพียงพอและทันเวลา จะฉีดเข็มที่สองเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2564 และหากสามารถหาวัคซีนได้ 20 ล้านโดสต่อเดือนจะทำให้การฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมเร็วขึ้น

    แผนการฉีดวัคซีนได้จัดทำไว้แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ข้อมูลว่า จุดบริการวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาลทั่วประเทศมีจำนวน 1,000 แห่งแต่ละแห่งสามารถฉีดได้ 500 ถึง 1,000 โดสต่อวัน

    โดยเฉลี่ยแล้วจะสามารถฉีดได้ 5 แสนถึง 1 ล้านโดสต่อวัน เพราะฉะนั้นภายในระยะเวลา 30 วันก็จะทำได้ 15-30 ล้านโดสต่อเดือน และจะฉีดครบได้ 100 ล้านโดสภายใน 4-7 เดือนคือกันยายนถึงธันวาคม

    สำหรับยอดผู้ติดเชื้อผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศวันนี้ลดลงมาอยู่ที่ 1,871 ราย มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 63,570 รายและวันนี้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย โดยเป็นเพศชาย 8 รายและหญิง 2 ราย เสียชีวิตในกรุงเทพ 6 ราย และจังหวัดนครสวรรค์ สมุทรปราการ ยโสธร อยุทยาอีกจังหวัดละ 1 ราย ส่วนมากมีโรคประจำตัวได้แก่ เบาหวาน 5 ราย ความดันโลหิตสูง 4 ราย

    สำหรับผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ทั้งหมด 27,988 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 21,306 ราย และโรงพยาบาลสนาม 6,682 ราย มีผู้ป่วยที่อาการหนัก 786 ราย และผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 230 ราย ซึ่งจำนวนผู้ป่วยอาการหนักและต้องใส่เครื่องช่วยหายใจยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน และมีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วทั้งหมด 1,344,646 โดส ผู้ที่ได้เข็มที่ 1 จำนวน 1,059,721 ราย และรับเข็มที่ 2 แล้ว 284,925 ราย

    สถิติผู้ป่วยรายจังหวัดวันนี้ พบว่าผู้ติดเชื้อสูงสุดอยู่ที่กรุงเทพ 689 รายแต่ลดลงมาจากวานนี้ รองลงมาได้แก่สมุทรปราการ 151 ราย ชลบุรี 112 เชียงใหม่ 89 ปทุมธานี 81 ราย โดยขณะนี้ได้มีจังหวัดที่ขอความร่วมมือประชาชนงดออกจากเคหสถานนอกเหนือจากการยกระดับมาตราการแล้ว 12 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม นครนายก ชัยนาท บึงกาฬ สุราษฎร์ธานี ตรัง สงขลา และยะลา และมีจังหวัดที่มีบทลงโทษ กรณีที่ประชาชนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่นอกเคหสถานรวม 73 จังหวัด