ThaiPublica > เกาะกระแส > “ศิริกัญญา” ห่วงรัฐบาลถังแตก ครึ่งแรกของปี’64 ก่อนโควิดฯรอบ 3 คลังเก็บรายได้หลุดเป้า 1.2 แสนล้าน

“ศิริกัญญา” ห่วงรัฐบาลถังแตก ครึ่งแรกของปี’64 ก่อนโควิดฯรอบ 3 คลังเก็บรายได้หลุดเป้า 1.2 แสนล้าน

9 พฤษภาคม 2021


น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย

“ศิริกัญญา” ห่วงรัฐบาลถังแตก ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2564 ก่อนโควิดฯรอบ 3 ระบาด คลังเก็บรายได้หลุดเป้ากว่า 1.2 แสนล้านบาท แนะรัฐบาลออก พ.ร.บ.กู้เงิน โปะรายได้ส่วนที่ขาด – ตัดงบฯโครงการที่ไม่จำเป็น

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Sirikanya Tansakun แสดงความคิดเห็นต่อกรณีที่กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้ครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2564 ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ในเอกสารงบประมาณว่าจากแถลงข่าวของกระทรวงการคลังในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม 63 – มีนาคม 64) รัฐบาลมีรายได้สุทธิ 1,018,711 ล้านบาท ต่ำกว่าที่ประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 122,545 ล้านบาท โดยกรมที่จัดเก็บรายได้หลักอย่างกรมสรรพากรและกรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้พลาดเป้าถึง 10% คิดเป็นรายได้ที่หายไปกว่า 100,000 ล้านบาท มีแค่กรมศุลกากรที่จัดเก็บรายได้พลาดเป้าไม่มาก แต่ก็ต่ำกว่าเป้าหมายไป 2.5% ทั้งที่ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกค่อนข้างดี

“แต่ที่เป็นห่วง คือ รายได้รัฐวิสาหกิจที่ต้องนำส่งรัฐต่ำกว่าที่ประมาณการกว่า 35,000 ล้านบาท พลาดเป้ากว่า 40% ซึ่งส่วนหนึ่งคงมาจากรายได้ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ที่ไม่มีผู้โดยสารนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย และได้ประกาศมาตรการเยียวยาลดค่าเช่าให้กับผู้เช่า และลดรายได้จากรับสัมปทานเจ้าใหญ่อย่างคิง เพาเวอร์อย่างมหาศาล น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

  • AOT รื้อสัมปทานดิวตี้ฟรี (4) : “อดีต รมว.คลัง” โต้ AOT กาง “เหตุ-ผล” แก้สัญญาดิวตี้ฟรี ทำไมต้องขอครม.อนุมัติ
  • น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ถ้ามองอย่างผิวเผิน เราคงคิดว่านี่คือผลกระทบจากโควิด ทำให้รัฐเก็บรายได้ได้ลดลง แต่ความเป็นจริง กล่าวคือตัวเลขประมาณการรายได้ของปีงบประมาณ 2564 จัดทำในช่วงต้นปี 2563 ก่อนจะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 แถมยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะโตถึง 5% จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายเดิม ซึ่งดิฉันได้เตือนในสภาไปแล้วในการอภิปรายงบประมาณ วาระที่ 2 และก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ หากเราใช้ตัวเลข GDP ล่าสุดที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะโตประมาณ 2% ดังนั้น รายได้ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ในช่วงเวลานั้น น่าจะสูงเกินจริงไป 2-3 แสนล้านบาท
    .
    นางสาวศิริกัญญากล่าวย้ำว่า นี่คือตัวเลขรายได้ของรัฐในช่วงเวลาที่มีการระบาดรอบที่ 2 ก่อนที่การระบาดรอบที่ 3 จะเริ่มขึ้น น่าเป็นห่วงว่าการจัดเก็บรายได้ในเดือน เมษายน-มิถุนายน 2564 จะยิ่งต่ำกว่าเป้าหมายลงไปอีก ปัญหาที่จะตามมาก็คือ ถ้ารัฐบาลจะใช้งบประมาณตามที่ขอจากสภาประมาณ 3.28 ล้านล้านบาท เราจะต้องกู้เพิ่มเพื่อมาชดเชยการขาดดุลมากขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท แต่เพดานเงินกู้ที่ระบุไว้ในกฎหมายอนุญาตให้กู้เพิ่มแค่ 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ผลที่จะเกิดขึ้นคือรัฐบาลอาจไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ในทุกโครงการที่ตั้งไว้ในงบประมาณปี 2564 แต่เราคงไม่อยากเห็นภาพที่หน่วยราชการต้องไปลุ้นกันในปลายปีว่า โครงการไหนจะได้-ไม่ได้งบประมาณ

    “ตาม พ.ร.บ. หนี้สาธารณะฯ กำหนดว่ารัฐบาลจะกู้เพื่อชดเชยขาดดุลได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับ 80% ของเงินชำระคืนต้นเงินกู้”

    นางสาวศิริกัญญา กล่าวถึงทางออกรัฐบาลว่าในตอนนี้รัฐบาลมีทางเลือก 2 ทาง คือ ถ้าไม่กู้เงินเพิ่ม ก็ต้องจัดลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณปี 2564

    ทางเลือกแรก คือ รัฐบาลอาจกู้เพิ่มสภาพคล่องไม่เกิน 3% ของงบประมาณรายจ่าย ตามที่กฎหมายบริหารหนี้สาธารณะเปิดช่องไว้ ซึ่งน่าจะทำให้ได้เงินเพิ่มประมาณ 98,600 ล้านบาท แต่ต้องชำระคืนภายใน 120 วัน ซึ่งไม่พอชดเชยรายได้ที่พลาดเป้า หรือ ถ้าจะออก พ.ร.บ.กู้เงินก้อนใหม่มาโปะรายได้ส่วนที่ขาด ก็อาจจะขาดแรงสนับสนุนจากประชาชนที่ไม่ไว้วางใจกับการใช้เงินของรัฐบาลในปัจจุบัน

    ทางเลือกที่ 2 คือ ให้รัฐบาลทบทวนโครงการทั้งหมดที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2564 แล้วจัดลำดับความสำคัญกันใหม่ว่าโครงการใดบ้างที่จำเป็นในการพาประเทศผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้ และตัดโครงการที่ยังไม่จำเป็นทิ้งไปก่อน เพื่อเป็นการทบทวนกรอบงบประมาณรายจ่ายใหม่ให้สอดคล้องกับรายได้ที่คาดว่าน่าจะหายไป