ThaiPublica > คอลัมน์ > หนี้ 3 กองของคนไทย

หนี้ 3 กองของคนไทย

30 มิถุนายน 2021


จิตติศักดิ์ นันทพานิช

หลังการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาพูดเรื่อง ปัญหาหนี้ของประชาชนรวมถึงคนรุ่นใหม่ และนี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่นายกฯ ออกมาพูดเรื่องหนี้เป็นเรื่องเป็นราวนับจากวิกฤติโควิดอุบัติเมื่อต้นปี 2563 โดยนายกฯ ได้แจกแจงไล่เรียงจากหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 3.6 ล้านคน มีผู้ค้ำประกันอีก 2.6 ล้านคน หนี้ครู/ข้าราชการ 2.8 ล้านบัญชี หนี้เช่าซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซด์ 27.7 ล้านบัญชี หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 49.9 ล้านบัญชี และปัญหาหนี้สินอื่นๆ อีก 51.2 ล้านบัญชี

นายกฯ ยังบอกด้วยว่าได้กำหนดมาตรการระยะสั้นที่จะทำให้เกิดผลใน 6 เดือน ทั้งเรื่องการลดภาระดอกเบี้ยของประชาชน สินเชื่อรายย่อย สินเชื่อพิโก (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด) และสินเชื่อนาโน (สินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท) ปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ของครูและข้าราชการ รวมถึงสหกรณ์ ปรับรูปแบบการชำระหนี้ คุ้มครองความเป็นธรรมให้ประชาชนที่เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และขอให้แบงก์ชาติทบทวนเพดานสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนอีกด้วย (มติชน 16 มิ.ย. 2564)

นอกจากนี้ยังมีรายงานข่าวด้วยว่า การประชุมระหว่างนายกฯ กับผู้เกี่ยวข้องก่อนหน้าการประชุม ครม. มีการกล่าวถึงการขอให้แบงก์ชาติปล่อยกู้เอสเอ็มอีที่เป็นเอ็นพีแอล (ค้างชำระหนี้ 3 เดือน) และเพิ่มจำนวนโรงรับจำนำอีกด้วย

การออกมาพูดเรื่องหนี้ของนายกฯ เป็นลีลาที่ไม่เห็นบ่อยนัก และคล้ายๆ กับนายกฯ พยามยามกำหนดวาระข่าวทางเศรษฐกิจ หลังประกาศ ผลักดันจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ปีนี้ 4% (ฝ่อไปแล้ว) วาระวัคซีนแห่งชาติ ตามด้วยเป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วัน (มีเสียงสะท้อนก้องไปทั่ว) แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะทั้งระดับประเทศ ภาคธุรกิจ ลงถึงระดับครัวเรือน มีความเสี่ยงที่จะติดกับดักหนี้ หาเท่าไหร่ไม่พอใช้คืนหนี้จนไร้ทางออก

โดยหนี้ที่นายกฯ ประกาศลั่นว่า “จะต้องเห็นผลใน 6 เดือน” นั้น ส่วนใหญ่เป็นหนี้ครัวเรือนที่รวมหนี้จากการผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ หนี้บัตรเครดิต ฯลฯ

ข้อมูลแบงก์ชาติระบุว่า ณ ไตรมาส 4 ปี 2563 ยอดหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14,020,730 ล้านล้านบาท หรือ 89.3 % ของจีดีพี เพิ่มจากไตรมาสที่ 3 ปีเดียวกัน 245,558 ล้านบาท ถือว่าสูงสุดในรอบ 18 ปี การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนถูกกล่าวถึงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีก่อนหน้า ที่มาหลักๆ ของหนี้ก้อนนี้คือการกู้ซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้าน รถยนต์ และกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง แต่เมื่อวิกฤติโควิดแวะมาทักทาย หลายคนรายได้ลดและอีกหลายคนกลายเป็นคนว่างงาน ซึ่งส่งผลถึงความสามารถในการชำระหนี้ จนลามกลายเป็นปัญหาครอบครัวและสังคม ข่าวการฆ่าตัวตายที่ปรากฏตามสื่อเป็นระยะๆ ในช่วงที่ผ่านมา หลายกรณีโยงสาเหตุไปถึงปัญหาหนี้สินที่คิดไม่ตก

ในมุมของสภาพัฒน์ฯ มองว่า หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกจากปัญหาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า และตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัว อันเป็นผลผูกโยงจากวิกฤติโควิด

หนี้อีกก้อนเป็นหนี้ระดับประเทศ หนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่า ณ สิ้นเดือน กันยายนนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะขยับขึ้นไปอยู่ที่ 58.56% ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุดใหม่ของหนี้สาธารณะไทย อันเป็นผลสืบเนื่องจากการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิดของรัฐบาล สัดส่วนหนี้สาธารณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่าวก้าวกระโดด เมื่อย้อนกลับไปเทียบกับสัดส่วน 41.27% ต่อจีดีพี ณ เดือน มกราคม 2563 ที่ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 คนแรก

แม้กระทรวงการคลังยืนยันว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะไม่เกิน 60% ตามเกณฑ์วัดกรอบวินัยการคลังแน่นอน และยังอ้างถึง บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ที่คงอันดับความน่าเชื้อถือไว้ที่ BBB+ รวมทั้งคงมุมมองความน่าเชื่อถือที่ระดับเสถียรภาพ เพื่อยืนยันฐานะการคลัง แต่ถึงกระนั้น สัดส่วนหนี้สาธารณะที่พรวดพราดขึ้นมาจนประชิด เส้นสีแดง สามารถสร้างความอึดอัดทางการคลังในอนาคตได้ไม่น้อย

ส่วนหนี้ก้อนที่สาม คือหนี้ภาคธุรกิจ แม้หนี้ของคนทำธุรกิจในวิกฤติรอบนี้จะไม่มหึมาเหมือนตอนวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ผู้ประกอบการหลายรายหนี้เพิ่มฉับพลันกว่าเท่าตัวในชั่วข้ามคืน เมื่อค่าบาทอ่อนยวบหลังแบงก์ประกาศลดค่าเงินบาท (2 ก.ค. 2540) จนล้มทั้งยืน แค่คนทำธุรกิจในยุควิกฤติโควิด ส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาวะรายได้หาย และโรคหนี้เสียเริ่มลามจนคุกคามสถานธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประมาณว่ามีอยู่ราว 3 ล้านรายในประเทศ

แสงชัย ธีรกุลวาณิช สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย บอกกับสื่อในวันเข้าร่วมประชุมกับนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลมื่อปลายเดือนที่แล้วว่า เอสเอ็มอีทั้งระบบกู้เงินจากสถาบันการเงิน 3.5 ล้านล้านบาท ประมาณ 2.4 แสนล้านบาทกลายเป็นเอ็นพีแอล และอีก 4.4 แสนล้านบาทเตรียมตัวเป็นเอ็นพีแอล รวม 2 ส่วนนี้ประมาณ 20 % ของยอดสินเชื่อเอสเอ็มอี ชาวเอสเอ็มอีเรียกร้องให้แบงก์ชาติผ่อนปรนเงื่อนไขในการเข้าถึงเงินกู้ซอฟต์โลน เพื่อนำทุนมาหยุดการระบาดของเอ็นพีแอล

ตลอดปีเศษๆ ที่ผ่านมา แม้แบงก์ชาติขับเคลื่อนมาตรการดูแลเอสเอ็มอีและผู้กู้รายย่อยออกมา และต่ออายุมาตรการยืดหนี้ พักหนี้ ต่อเนื่อง ดำเนินมาตรการดอกเบี้ยต่ำ รวมทั้งออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาท เพื่อเป็นกลไกหลักในการสกัดหนี้เสียลุกลาม โดยแบงก์ชาติจัดสรรสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยต่ำมาก 0.01% ผ่าน พ.รก. ดังกล่าวให้แบงก์พาณิชย์ จากนั้นแบงก์พาณิชย์จะนำไปปล่อยกู้ต่อให้เอสเอ็มอีในอัตราดอกเบี้ยต่ำ แบบสินเชื่อซอฟต์โลน 2%

ต้นปีที่ผ่านมา พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านถูกรีโนเวตใหม่ แบงก์ชาตินำวงเงินที่เหลือ 3.5 แสนล้านบาทมาแปลงเป็น พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 หรือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการ หลังเสียงบ่นจากผู้ประกอบการเรื่องเข้าถึงซอฟต์โลนยากไม่ทีท่าว่าจะเบาลง ผนวกกับการเกิดการระบาดระลอก 2 และ 3 ตามมาติดๆ ความต้องการทุนเพื่อประคองกิจการฝ่าคลื่นเศรษฐกิจมีมากขึ้น โดยแบงก์ชาติแบ่งซอฟต์โลนก้อนดังกล่าวออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก 2.5 แสนล้านบาท จัดสรรสำหรับฟื้นฟูเอสเอ็มอี และอีก 1 แสนล้านบาท จัดสรรให้โครงการพักทรัพย์พักหนี้ เพื่อบรรเทาความเสียหายให้กับผู้ประกอบการโรงแรมเป็นหลัก

แม้แบงก์ชาติยืนยันว่า พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ฉบับปรับปรุงใหม่ ยืดหยุ่นกว่าของเดิม ทั้งขยายวงกลุ่มผู้มีสิทธิขอกู้ให้กว้างขึ้น เพิ่มระยะเวลากู้จาก 2 ปีเป็น 5 ปี ยืดเวลาค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จาก 5 ปีเป็น 10 ปี เป็นต้น แต่ชาวเอสเอ็มอีก็ยังไม่ยิ้ม ในการประชุมผ่านจอระหว่างหอการค้าไทยที่สุพัฒนพงษ์ พันธุมีเชาว์ รองนายกฯ และ รมว.พลังงานร่วมด้วยเมื่อเร็วๆ นี้

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนของเอกชน เรียกร้องแบงก์ชาติให้สถาบันการเงินมีอิสระในการใช้ดุลพินิจมากขึ้น แทนพิจารณา (คำขอสินเชื่อ) ผ่านเครดิตบูโรอย่างเดียว และปลดล็อกให้ลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลสามารถกู้ได้ โดยอ้างว่าในสถานการณ์โควิดเช่นนี้ยิ่งต้องมีการผ่อนผัน เพื่อให้ธุรกิจสามารถฟื้นตัวกลับมาโดยเร็ว ข้อเสนอดังกล่าว แบงก์ชาติและแบงก์พาณิชย์ยังไม่แสดงท่าทีอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่การเสนอให้ผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อให้เข้าถึงซอฟต์โลนยืนยันว่าคนทำธุรกิจต้องการเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำๆ เพื่อเยียวยาและรักษาธุรกิจของตนเอาไว้

สถานะของหนี้ทั้ง 3 ก้อนที่กล่าวมาสะท้อนว่า หนี้ยังอยู่ในสภาวะขาขึ้น และจะเป็นปัจจัยกดดันทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงครัวเรือน และอาจถึงขั้นฉุดไปติดกับดักหนี้ได้หากไม่มีการจัดการอย่างจริงๆ จังๆ