ThaiPublica > เกาะกระแส > ชวนสำรวจสถานะ นปช.ในพื้นที่ภาคเหนือ

ชวนสำรวจสถานะ นปช.ในพื้นที่ภาคเหนือ

8 เมษายน 2021


รายงานโดย ศรีนาคา เชียงแสน

การชุมนุม “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/peacetv.thai.udd/

นับหนึ่ง ไทยไม่ทน

ในวันที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้ออกมาประกาศนัดรวมตัวชุมนุมใหญ่ “ไทยไม่ทน สามัคคีประชาชน เพื่อประเทศไทย” ณ อนุสรณ์สถานพฤษภา 35 สวนสันติพร เขตพระนคร โดยนัดดีเดย์เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 ก็ได้จุดให้เกิดกระแสความร้อนแรงทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง หลังจากในช่วงที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวของกลุ่มเห็นต่างหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ที่เคยเป็นความหวังของผู้ต้องการเห็นการเปี่ยนแปลงในสังคมไทยเริ่มแผ่วแรงลง เนื่องจากแกนนำคนสำคัญๆ ของกลุ่มถูกดำเนินคดี

การเปิดเวทีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ครั้งแรกในรอบหลายปี มีนัยน่าสนใจตรงที่ ครั้งนี้เป็นการรวมตัวของกลุ่มคน “ไม่เอาลุงตู่” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเฉพาะ ที่เกิดมาจากแกนนำของคนหลายกลุ่มก้อนและหลากสีเสื้อ ที่มองเห็นทางออกร่วมกันว่า อุปสรรคที่ขัดขวางประชาธิปไตยของประเทศนี้คือรัฐบาลของลุงตู่ หากโค่นรัฐบาลนี้ลงได้ก็จะเปิดทางไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในบ้านเมืองในเรื่องอื่นๆ ได้ทั้งหมด แต่มีวงเล็บไว้ว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มจะไม่แตะต้องประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูงเลย

ผสานพลังแกนนำรุ่นพ่อ

ในโลกออน์ไลน์มีการออกมาแซวว่า แกนนำสำคัญที่ไปขึ้นเวทีที่สวนสันติพร อายุรวมกันแล้วหลายร้อยปี แต่สิ่งนี้มิอาจดูแคลนอุดมการณ์และความตั้งใจที่มีต่อความพยายามเข้ามามีส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองของพวกเขาได้ ซึ่งจะถูกผิด คิดต่างกันไปได้ ผู้เขียนขอไปไม่ตัดสิน หากใครที่มีอายุเลยรุ่นกลางคนไปแล้ว และเคยสนใจติดตามข่าวสารบ้านเมืองมาบ้างจะเห็นได้ว่าคนเหล่านี้ล้วนแต่เป็นนักสู้ และมีบทบาทในการเคลื่อนไหวในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของบ้านเมืองมากมาย หลายห้วง หลายเวที แพ้บ้าง ชนะบ้าง ส่วนใหญ่จะล้มเหลวหากจะวัดในเชิงความสำเร็จจากการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ในเชิงคุณภาพพวกเขาก็ไม่แพ้ใคร อีกทั้งหัวจิตหัวใจของคนเหล่านี้ก็ไม่ธรรมดา ยังยืนหยัดเดินหน้าสู้มาโดยตลอด อย่างเช่น นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานกลุ่มญาติวีรชนพฤษภา 35, นางพะเยาว์ อัคฮาด, นายวีระ สมความคิด, พันโท แพทย์หญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี, นายสุวิทย์ สุมานนท์, นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ, นายยศวริศ ชูกล่อม ฯลฯ หากแยกตามที่ไปที่มาของแกนนำเหล่านี้ ก็สามารถสรุปได้ว่า มาจากทั้งส่วนของอดีตเสื้อแดง นปช., เสื้อเหลืองสายพลังงาน, เสื้อเหลืองสายสหภาพแรงงาน และจากสายเอ็นจีโอที่ทำงานตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมมาทั้งสิ้น

ส่วนมวลชนที่เข้าร่วมในเวทีนี้ นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน เรื่อยมา หลักๆ ยืนพื้นอยู่ประมาณ 400–1,000 คน ถึงแม้จำนวนมวลชนที่เข้าร่วมจะต่ำกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้มาก และมีแนวโน้มว่าจะลดลงเรื่อยๆ เพราะมีการนัดหมายชุมนุมกันต่อเนื่องทุกเย็น แต่ทั้งนี้ ก็ไม่อาจดูแคลนมือจัดตั้งม็อบขั้นเทพอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้ คงต้องติดตามรอดูเหตุปัจจัยและสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ

แล้วมวลชนเสื้อแดงหายไปไหน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/peacetv.thai.udd/photos/pcb.3890020927779728/3890020051113149

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมานายจตุพร พรหมพันธุ์ คือสัญลักษณ์หลักของคนเสื้อแดง เมื่อเอ่ยถึงจตุพร ก็ต้องผูกโยงกับคนเสื้อแดง ดังนั้น นับจากการประกาศตัวนัดหมายชุมนุม ในวันที่ 4 เมษายน 2564 หน่วยงานด้านความมั่นคงต่างๆ ได้ตรวจสอบ ประเมินกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะเข้าร่วม โดยมีสมมุติฐานว่า มวลชนหลักของเวทีนี้คือกลุ่มคนเสื้อแดงจากพื้นที่ต่างๆ ซึ่งฐานมวลชนอยู่ทั้งในส่วนกลาง ปริมณฑล ภาคเหนือ และภาคอีสาน

เฉพาะในภาคเหนือ ที่ผู้เขียนเฝ้าสังเกตการณ์มานาน พบว่า ในอดีตยุคที่คนเสื้อแดงตื่นตัว ตาสว่างทั้งแผ่นดินนั้น พื้นที่ภาคเหนือเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของกลุ่ม นปช. ถึงขั้นจะเป็นเมืองหลวงของคนเสื้อแดงก็ว่าได้ จนเกิดเป็นความคิดฝัน จากความมั่นใจไปไกลถึงขั้นตั้งเป็น “สหพันธรัฐล้านนา”

หากพิจารณาจากตัวเลข ที่มีการสำรวจกันเอาไว้ ทั้งจากตัวเลขของส่วนราชการ นักวิชาการ แล้วนำมาสังเคราะห์รวมกัน จะพบว่า มีกลุ่ม นปช. กระจายอยู่ทุกจังหวัด ทั้งนี้ใน 17 จังหวัดภาคเหนือมียอดมวลชนอย่างต่ำประมาณ 10,000 คน (แน่นอนว่าถ้าเป็นข้อมูลของกลุ่ม นปช. เอง ยอดจะเพิ่มมากกว่านี้หลายเท่า)

ที่น่าสนใจ คือ ในยุคบูมของ นปช. บางพื้นที่ บางจังหวัด ที่เป็นเมืองหลวงของ นปช. มีกลุ่ม นปช. จำนวนหลายกลุ่ม เช่น เชียงราย 7 กลุ่ม เชียงใหม่ 5 กลุ่ม หรือแม้แต่จังหวัดเล็กๆ อย่างพะเยายังมี นปช. ถึง 4 กลุ่ม คำถามคือ แล้วแกนนำและมวลชนเหล่านี้หายไปไหนหมด หรือพวกเขาเลิกเป็น นปช. ไปแล้ว

เมื่อเสื้อแดงจากภาคเหนือเข้าร่วมเวทีน้อยมาก

จากการตรวจสอบพบว่า ในการจัดเวทีของนายจตุพร พรหมพันธุ์ ครั้งนี้ มีคนเสื้อแดงจากพื้นที่ภาคเหนือเข้าร่วมน้อยมาก นับหัวได้ไม่ถึง 10 คน มีหลายสำนักวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่มีมวลชนเสื้อแดงจากส่วนภูมิภาคเดินทางมาเข้าร่วมม็อบของนายจตุพร พรหมพันธุ์ น้อยมากด้วยหลายสาเหตุ หลักๆ คือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ภายในของระดับแกนนำ นปช. เองที่ไม่มีเอกภาพเหมือนก่อน และที่สำคัญการเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่มีท่อน้ำเลี้ยงจากนักการเมืองและพรรคการเมืองที่เคยให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของมวลชนเหล่านี้ส่งไปในระดับพื้นที่ ซึ่งผู้เขียนขอละไว้ ไม่กล่าวถึงในที่นี้อีก แต่จะขอเชิญชวนมาสำรวจสถานะปัจจุบันของ นปช. ในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อจะตอบคำถามว่า พวกเขายังมีตัวตนอยู่ไหมแทน (ดูรายละเอียดในตารางเปรียบเทียบ)

แดงยังอยู่ในสายเลือด

นักวิเคราะห์และนักสังเกตการณ์ทางการเมือง ได้พยายามอธิบายประเด็นการหายตัวไปของ นปช. ไว้น่าสนใจ สรุปใจความได้ว่า การปรากฏตัวของกลุ่มมวลชนทางการเมืองทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือ เสื้อแดง ล้วนก่อร่างสร้างรูปแบบตัวตนขึ้นมาจากสถานการณ์ของบ้านเมืองในห้วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก ประเด็นสำคัญคือมีตัวกระตุ้นและสนับสนุนที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม ก็คือ พรรคการเมืองที่ให้การสนับสนุนในยุคสมัยนั้นๆ พรรคการเมืองเหล่านี้เป็นแบ็คให้กลุ่มมวลชนทุกอย่าง ทั้งเรื่องเงินงบประมาณ การจัดตั้ง การจัดองค์กร การสนับสนุน และการติดต่อประสานงาน ฯลฯ ทุกๆ อย่างที่การเคลื่อนไหวมวลชนต้องมีต้องใช้เงิน และต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

แม้ว่าในยุคนั้นการรับรู้ข้อมูลและการติดต่อสื่อสารยังไม่ทันสมัยเท่าปัจจุบัน แต่ก็มีการจัดตั้งโรงเรียน นปช. ตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง และการจัดตั้งมวลชนผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวสารพัด โดยมีนักการเมืองและพรรคการเมืองเข้าร่วม และให้การสนับสนุน ประกอบกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เป็นใจ มวลชนสามารถสร้างการรับรู้ (cognitive) และมีอารมณ์ความรู้สึกร่วม (affective) ไปในแนวทางเดียวกันกับพรรคการเมือง การขับเคลื่อนมวลชนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปะทะกับศัตรูทางการเมืองร่วมกันย่อมกระทำได้อย่างง่ายดาย

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป พรรคการเมืองและนักการเมืองเหล่านั้นวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ใหม่ เลือกเล่นเกมทางการเมืองในวิถีใหม่ ถอนการให้การสนับสนุนต่อมวลชนเสื้อแดง บทบาทการเคลื่อนไหวในนามกลุ่มมวลชนที่ทรงพลังแห่งยุคสมัยก็ต้องถดถอยลง

วันเวลาเปลี่ยนแต่ใจคนไม่ได้เปลี่ยนไปทั้งหมด เพียงแต่แปรรูปแบบแผน และกิจกรรมการเคลื่อนไหวไปตามสถาการณ์จริงๆ ในชีวิต เมื่อ นปช. เริ่มลดบทบาทลง พรรคการเมืองและนักการเมืองเริ่มถอยห่าง อดีตคนเสื้อแดงหรือ นปช. เหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน เพียงแต่ปรับรูปแบบจากมวลชนที่เคยเป็นผู้เคลื่อนไหวลงไปเล่นบทขับเคลื่อนบนท้องถนนโดยตรง (active citizen) กลายมาเป็นผู้สนับสนุน เฝ้าดู และเข้าร่วมในกิจกรรมในฐานะและบทบาทที่ต่างออกไป ดังที่เราเห็นได้จากการติดตามความเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่น Gen Z ก็จะพบเห็นมีคนรุ่นพ่อ รุ่นแม่ เข้าไปร่วมเป็นสีสันให้ได้พบเห็นอยู่เสมอๆ

และจากการพูดคุยเก็บข้อมูลทั้งจากแกนนำมวลชน และตัวมวลชนรากหญ้า ขอยืนยันว่า ความคิดและอุดมการณ์ ที่ต้องการเห็นชาติบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความยุติธรรม และผู้คนในบ้านเมืองมีความเท่าเทียมในชีวิตความเป็นอยู่กันมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่เคยจางหายไปจากใจของพวกเขาเลย แต่มันซึมลึกกลายเป็นเลือดเนื้อและชีวิตของพวกเขาแล้ว สีแดงมันกลายเป็นเลือดเนื้อและชีวติของพวกเขา ไม่มีทางจะกลับไปเป็นนาย ก นาย ข ที่ไร้ตัวตนเหมือนในอดีตก่อนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวได้อีกแล้ว

แน่นอนว่ามีอดีตคนเสื้อแดงจำนวนมากรู้สึกผิดหวังกับแกนนำและแนวทางของพรรคการเมืองที่พวกเขาเคยยึดมั่นศรัทธา แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน และวุฒิภาวะทางความคิดที่เติบโตขึ้น พวกเขาหลายคนเลือกที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการต่อสู้แบบใหม่ๆ รู้จักอดทน และรอเวลาที่สุกงอมได้เสมอ

บางคนเลือกจะไปลงมือสร้างบ้านเมืองเองในการเข้าเป็นนักการเมืองในระดับท้องถิ่น บางคนเลือกจะเข้าร่วมกับพรรคการเมืองใหม่ๆ ที่ดูมีทิศทางการต่อสู้และมีความหวังมากกว่า บางคนเลือกจะเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับลูกหลาน เด็กๆ และเยาวชนรุ่นใหม่ บางคนมีพลังและกำลังในชีวิตน้อยกว่า ด้วยชีวิตที่ยังมิอาจลืมตาอ้าปากได้มากนัก พวกเขาก็ทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่แข็งขันในการติดตามสถานการณ์ของบ้านเมืองไปก่อน แต่ไม่ได้นิ่งเฉยไร้ตัวตน ไร้แรงต้านใดๆ เหมือนในอดีต และไม่ว่าพวกเขาจะเป็นอย่างไร อยู่ในบทบาทไหน ชีวิตของพวกเขาล้วนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…