ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่” นั่งนายกฯต่อ ศาลรธน. ลงมติเอกฉันท์ “หัวหน้า คสช.” ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

“บิ๊กตู่” นั่งนายกฯต่อ ศาลรธน. ลงมติเอกฉันท์ “หัวหน้า คสช.” ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

18 กันยายน 2019


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

“บิ๊กตู่” นั่งนายกฯต่อ ศาลรธน. ลงมติเอกฉันท์ “หัวหน้า คสช.” ไม่ใช่ “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ”

เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังผลการวินิจฉัย ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 3 ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่นั้น

ในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์โดยวินิจฉัยว่า “ความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือ ลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15)”

โดยองค์ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนได้ทำความเห็นส่วนตนเป็นหนังสือพร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุม และที่ประชุมได้ปรึกษาหารือร่วมกันแล้วได้ลงมติในประเด็นความเป็นรัฐมนตรีของพลอกประยุทธ์ ได้สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เนื่องจากเป็น “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่

ประเด็นนี้ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 สรุปได้ว่า การพิจารณาความหมายของคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ในมาตรา 109 (11) เป็นการตีความบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำที่มีลักษณะนี้ ควรถือว่าคำทั่วไปที่ต่อมาจากคำเฉพาะหลายคำที่มาก่อนนั้น ย่อมมีความหมายในแนวเดียวกันกับคำเฉพาะที่นำมาข้างหน้า การตีความคำว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ซึ่งเป็นคำทั่วไป จึงต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกัน หรือ ในแนวทางเดียวกันกับคำว่า “พนักงาน หรือลูกจ้างหน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น” โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ได้สรุปลักษณะของเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ดังนี้

    1.ได้รับการแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย

    2.มีอำนาจหน้าทีดำเนินการหรือหน้าที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมายและปฏิบัติงานประจำ

    3.อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐ และ

    4.มีเงินเดือน ค่าจ้าง หรือ ค่าตอบแทน ตามกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นว่า “เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) เป็นถ้อยคำที่บัญญัติ เพื่อให้ครอบคลุมถึงบุคคลผู้มีคุณสมบัติและสถานะเช่นเดียวกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจมีชื่อเรียกอย่างอื่น ประกอบกับลักษณะต้องห้ามเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ ตามแนวคำวินิจฉัยดังกล่าว

สำหรับตำแหน่ง “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ “หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชา หรือกำกับดูแลของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐใด ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดกระบวนวิธีการได้มา หรือ การเข้าสู่การดำรงตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของประเทศและประชาชน ตำแหน่ง“หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ” จึงไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือ ลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงาน หรือ ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจ และมิใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (15) ดังนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15)

ศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัว เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรค 1 (4) ประกอบมาตรา 160 (6) มาตรา 98 (15)