ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯให้กำลังใจ “อนุทิน” วอนหมอเข้าใจระบบราชการ-มติ ครม.โอนอำนาจ กม. 31 ฉบับให้“บิ๊กตู่”แก้โควิดฯ

นายกฯให้กำลังใจ “อนุทิน” วอนหมอเข้าใจระบบราชการ-มติ ครม.โอนอำนาจ กม. 31 ฉบับให้“บิ๊กตู่”แก้โควิดฯ

27 เมษายน 2021


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายก ฯยอม “ถูกปรับ” ไม่สวมหน้ากากอนามัยเข้าที่ประชุม-ให้กำลังใจ “อนุทิน” วอนแพทย์เข้าใจการบริหารราชการ-มติ ครม.โอนอำนาจตาม กม. 31 ฉบับให้ “บิ๊กตู่” แก้โควิด ฯ-รับทราบงบ ฯแผ่นดินปี 63 รัฐบาลมีหนี้สิน 7.43 ล้านล้าน -สั่งซื้อ “ซิโนแวก” เพิ่ม 5 แสนโดส 321 ล้าน

เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

ชี้กำลังซื้อยังดี-ในวิกฤตมีโอกาสส่งออกสินค้าเกษตร

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องความเข้มแข็งของพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยในสถานการณ์โควิดฯ ว่า โดยยอมรับว่าหากมองในแง่ของเศรษฐกิจรายครัวเรือนก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ถ้ามองในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังมีการขยายตัว และวันนี้ก็ได้รับรายงานว่าสูงสุดในรอบหลายเดือน ทางด้านอุตสาหกรรม ด้านพาณิชย์มีแนวโน้ม กำลังซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น

“มันก็เป็นวิกฤติที่เป็นโอกาส มีวิกฤติโควิดฯ และก็มีโอกาสที่เราจะส่งสินค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารพืชผลทางการเกษตรเหล่านี้ ซึ่งหลายอย่างก็มีปัญหาอยู่ในโลกเรื่องอาหารการกินต่างๆ เหล่านี้เราก็ต้องหาศักยภาพของเราให้เต็มที่ และใช้นโยบายของรัฐบาลในการดำเนินการต่อไปในการติดต่อกับประเทศต่างๆ ทั้งทวิภาคีและพหุภาคี”

นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. มีเรื่องสำคัญก็คือ การออกมาตรการการแพร่ระบาดโควิด-19 เพิ่มเติมรวมถึงหารือในเรื่องมาตรการทางเศรษฐกิจที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะต้องทำทั้งสองอย่างคู่ขนานกันไป ในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณอะไรต่างๆ การดูแลก็ต้องพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ว่าจะมากน้อยแค่ไหนอย่างไรตามงบประมาณที่มีอยู่แล้วก็กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบ

“ที่สำคัญก็คือ ครม.อนุมัติร่างประกาศขยายเวลาและยกเว้นภาษีขาเข้าสำหรับของที่นำมาใช้รักษาวินิจฉัยหรือป้องกันโรคโควิดฯ ออกไปอีก 1 ปีจนถึงเดือนมีนาคม 2565 สองคือประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์ค่าช่วยรักษาพยาบาลเกี่ยวกับการติดเชื้อ ให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น การฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียง การดูแลเรื่องค่ายานพาหนะส่งต่อผู้ป่วย เป็นต้น รัฐบาลก็นำมาบริหารจัดการให้จัดงบประมาณเพิ่มเติมให้ให้ทุกคนได้สบายใจ”

ยันไม่เปลี่ยนคำสั่งแบ่งโซน พท. ชี้ “วันนี้ไม่ใช่เวลาการเมือง”

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกระแสข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจคำสั่งนายกฯ ที่ 85/2557 เรื่องการมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบแนวคิดการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ในระดับพื้นที่จังหวัด ที่ถูกมองว่า ยกพื้นที่ภาคใต้ให้กับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า การมอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบนั้นตนยืนยันว่าตอนนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้น ยังเป็นคำสั่งเดิม ตนเพียงแค่ให้แนวทางการทำงานให้ได้มีประสิทธิภาพมีประสิทธิผลไปเท่านั้น

“วันนี้ยังไม่ได้ตกลงอะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นอย่าไปให้เป็นข่าวจนเสียหาย วันนี้ไม่ใช่เวลาการเมือง แต่เป็นเวลาของการทำงาน แล้วก็ไม่ได้มุ่งหมายว่าจะให้พรรคใครได้ประโยชน์ ทุกพรรคนั่นแหละอยู่ร่วมกับผม พรรคร่วมก็อยู่กับผมผมก็รับผิดชอบให้ท่านอยู่แล้วทำให้มันถูกต้องขึ้นมา ผมก็ยินดีแม้กระทั่งในบางพื้นที่ที่เป็นของ ส.ส. ฝ่ายค้านผมก็ดูแล ผมก็ดูแลทุกจังหวัด”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้การทำงานก็มีทั้ง top-down ลงไปโดย ครม. เป็นโครงการที่คิดในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในทุกกรณีลงไปและจัดทำแผนงานโครงการอนุมัติงบประมาณลงไปนี่คือการจัดทำของรัฐบาล อีกส่วนคือ bottom-up คือผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้พิจารณาแผนงานโครงการในพื้นที่

ฉะนั้น รัฐมนตรีว่าการใดที่ตั้งเข้าไปดูแลในพื้นที่จังหวัดให้ไปติดตามแผนงานโครงการที่อนุมัติไปแล้วว่าดำเนินการดีหรือไม่ดีได้ผลหรือไม่ได้ผล แต่ถ้าหากว่ายังเห็นว่าอะไรขาดเหลือต่างๆ ก็สามารถนำมาเสนอใน ครม. เพื่อจัดสรรโครงการลงไปใหม่เพิ่มเติมได้ ไม่ใช่ทุกอย่างไปรวมที่ผู้ว่าฯ

“ผมสอบถามแล้วว่าไม่ได้มีเหตุการณ์อย่างนั้น ถ้ามีหลายคนก็ปล่อยข่าวออกมาอย่างนี้ก็ขอให้เคลียร์ด้วยแล้วกัน ทุกคนทุกกระทรวงให้เข้าใจตรงกันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องบริหารทั้ง 2 ทางแล้วก็ไม่ได้ไปปิดกั้นรัฐมนตรีคนใดทั้งสิ้น ไม่ได้ทำตามคะแนนเสียงของการเมืองเราเอาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลักในทุกพื้นที่และทุกคนก็คือ ครม. คือรัฐบาลด้วยกัน”

ยอมรับเชื่อมข้อมูลผู้ป่วยกับเอกชนยังบกพร่อง–แนะผู้ป่วยสีเขียวแจ้ง รพ.สนามเองได้

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามยอดผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มสูงถึง 15 คน ในวันนี้ จนประชาชนมีความกังวลว่ายังมีผู้ตกค้างที่ยังไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงยาบาล และเกิดความสูญเสียขึ้นก่อนได้รับการรักษา ว่า ตนได้สั่งการให้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้แล้ว ซึ่งผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่นอกโรงพยาบาลประมาณ 1,400 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยตกค้างมาตั้งแต่ก่อนสงกรานต์ วันนี้ก็ได้รับการแอดมิตแล้ว โดยใช้เวลาเพียง 3 วัน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่าว่า อย่างที่ทราบดีอยู่แล้วว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นผมได้ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนาม ที่บางกอกอารีน่า ขอชมเชย ก็มีการจัดระบบการรองรับผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีได้มาตรฐาน ซึ่งมีการแบ่งระดับผู้ป่วยออกเป็น 3 สีด้วยกัน ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว

  • สีเขียวก็คือผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลสนามหรือ hospitel
  • สีเหลืองหรือผู้ที่มีอาการปานกลางจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลทั่วไปซึ่งจำเป็นต้องจัดหาเตียงว่าง
  • โดยเฉพาะอย่างยิ่งสีแดง ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงต้องได้รับการรับตัวและส่งไปยังโรงพยาบาลเฉพาะทางอย่างเร็วที่สุด

วันนี้กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการบูรณาการในเรื่องของระบบข้อมูลในการให้บริการทางการแพทย์ผ่านสายด่วนต่างๆ ได้อาสาสมัครมาช่วยกันรับสายเพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนได้อย่างดีที่สุด ขณะนี้ก็ได้สั่งการให้จัดเตรียมสถานที่คัดกรองให้มากยิ่งขึ้นเพราะไม่อยากให้ไปอัดที่โรงพยาบาลต่างๆ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่มี “เคสสีเขียว” จำนวนมากไม่ได้ถูกส่งไปโรงพยาบาลสนามทั้งที่โรงพยาบาลสนามว่างอยู่ ว่า ได้มีการติดต่อไปยังเคสต่างๆ แล้ว ซึ่งต้องมีการคัดกรองให้แน่ใจว่าอยู่ในเกณฑ์สีเขียวจึงจะสามารถนำเข้าโรงพยาบาลสนามได้ ยอมรับว่าบางครั้งการติดต่อสอบถามทางออนไลน์หรือทางโทรศัพท์อาจจะยังไม่ทั่วถึง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถไปตรวจสอบเองได้เลยว่าโรงพยาบาลสนามอยู่ที่ไหน

ทั้งนี้เนื่องจากผู้ที่เข้ารับการตรวจจากภาคเอกชน ซึ่งไม่มีการรายงานเข้ามาในระบบทำให้ขาดความต่อเนื่องไป จึงขอความร่วมมือจากภาคเอกชนสถานที่ตรวจสอบของภาคเอกชนให้แจ้งข้อมูลผู้ติดเชื้อเข้ามาสู่ระบบของกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งตนได้กำชับกับกระสาธารณสุขให้ไปพิจารณาแก้ไขปัญหานี้แล้ว

“ขอบคุณภาคเอกชนภาคธุรกิจต่างๆ บรรดาหมอต่างๆ ที่อยากจะมีส่วนร่วมในการทำงาน ผมก็ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขได้ไปดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้น เราไม่ได้ปิดกั้นใคร แต่ก็จะต้องหาช่องทางที่สามารถดำเนินการร่วมกันได้ในหลักการสำคัญ ก็คือรัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทุกอย่างในเรื่องของผลกระทบข้างเคียงที่จะเกิดจากการฉีดวัคซีน”

สั่งเพิ่มรถลำเลียงผู้ป่วย-ประสาน “เสนารักษ์” ส่งทหารช่วยหมอ

ต่อคำถามถึงปัญหาในระบบการลำเลียงผู้ป่วยจากบ้าน ไปสู่โรงพยาบาล ซึ่งเมื่อมีภาคเอกชน-ประชาชนเข้ามาช่วยเรื่องรถเพิ่มเติมแล้วแต่ไม่รู้จะไปส่งที่ไหน ว่า เรื่องรถไม่พอนั้นตนได้สั่งการเพิ่มจำนวนรถไปแล้ว พร้อมขอบคุณภาคเอกชนต่างๆ เที่เช้ามาช่วยแก้ปัญหานี้ รวมถึงการช่วยแก้ไขปัญหาสายด่วนไม่พอด้วย

พร้อมกันนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณองค์กรมูลนิธิและบุคคลต่างๆ ที่เป็นจิตอาสาได้แสดงน้ำใจเสนอตัวเข้ามาช่วยเหลือ ทั้งการดำเนินงานของภาครัฐหรือการช่วยเหลือเป็นการส่วนตัว โดยรัฐบาลรับทุกเรื่องไว้พิจารณาขอบคุณข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และจะนำใช้ในการบริหารงานด้วย

“วันนี้ปัญหาเราก็ต้องเคลียร์ 3 ที่ของเราให้ได้ คือ แดง เหลือง เขียว จะได้รู้ว่ามีความต้องการใช้ยานพาหนะมากเท่าไหร่ วันนี้เราก็เพิ่มเติมในส่วนของกระทรวงกลาโหมไปให้แล้วส่วนหนึ่ง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ถ้าไม่พอกระทรวงกลาโหมเราก็มีเหล่าทหารเสนารักษ์ (หน่วยทหารแพทย์) อยู่เป็นจำนวนมาก ผมก็ได้สั่งการให้กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานงานไปแล้วว่ามีความต้องการมาช่วยเหลืออะไรอย่างไรได้อีกกระทรวงกลาโหมก็ยินดี ทุกปัญหานำไปสู่การแก้ไขทุกปัญหานำไปสู่การพิจารณาหารือทุกปัญหาพิจารณาแล้วดำเนินการทำงานแบบนี้”

“ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่เราต้องรวมหัวใจของพวกเราไว้ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทำในสิ่งที่ทุกคนทำได้หาช่องทางให้ร่วมมือกันให้ได้ทำอย่างไรไม่ให้ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อตนเองและผู้อื่น นี่แหละครับน้ำใจของคนไทย ก็ขอให้ช่วยกันเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรด่านหน้า ทุกคนและทีมประเทศไทยได้รวมพลังกันสู้เพื่อร่วมผ่านวิกฤติการณ์ดังกล่าวนี้ไปให้ได้โดยเร็วที่สุด”

ยันไม่นิ่งนอนใจ ตั้งเป้าหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแผนการจัดหา และกระจายวัคซีนร่วมกับภาคเอกชน แนวทางจะเป็นอย่างไรว่า ตนได้พยายามที่จะให้กระทรวงการต่างประเทศติดต่อกับรัฐบาลของประเทศผู้ผลิตวัคซีน ส่วนฝ่ายภาคธุรกิจเอกชนก็ติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตทั้งหมดมันเป็นมาตรฐานสำคัญถ้าทำได้ก็จะได้วัคซีนมากขึ้น จากการที่ได้สั่งไปแล้ว

ต่อคำถามถึงการดมบุคลากรฉีดวัคซีนให้ตรงเป้าหมายอย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้ทุกภาคส่วน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า การให้บริการฉีดวัคซีน ที่ได้รับมาเพิ่มเติมในช่วงนี้จากการเร่งรัดของกระทรวงสาธารณสุข วันนี้ก็มีผู้ได้รับการฉีดครบ 2 โดสไปแล้วกว่า 2 แสนคน ที่เหลือก็ฉีดไปมากกว่า 1 ล้านโดสแล้ว ยืนยันว่าจะเร่งดำเนินการต่อไปให้เร็วที่สุดตามปริมาณวัคซีนที่มีอยู่ และหากได้วัคซีนเพิ่มขึ้นก็จะมีการกระจายวัคซีนของรัฐไปยังสถานพยาบาลของเอกชนให้ช่วยฉีดด้วย และพรุ่งนี้ (28 เมษายน 2564) จะประชุมรับฟังข้อเสนอแนะจากภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น

“เราตั้งเป้าเรื่องนี้ไว้ว่าเราจะหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อจะฉีดให้กับประชาชนคนไทย 50 ล้านคน ภายในปี 2564 นี้ มันก็ขึ้นอยู่กับวัคซีนที่เราติดต่อเพิ่มเติมจะได้มาอย่างไร ไม่ใช่ว่าเรานิ่งนอนใจนะครับ เราทำงานเรื่องนี้มาโดยตลอด แต่มีปัญหาสำคัญอย่างที่ว่า ประเทศของเขา รัฐของเขา บริษัทของเขา วันนี้ก็เป็นสินค้าที่ถูกแย่งกันในทุกภูมิภาค และขณะนี้กำลังติดต่อบางประเทศที่เขามีเหลืออยู่จะทำอย่างไรจะขอความร่วมมือได้ไหมก็ต้องประสานรัฐบาลของเขา”

“ในวันนี้ทุกคนทำงานเต็มขีดความสามารถแล้วผมคิดว่านะ บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่ด่านหน้าไม่ว่าจะแพร่พยาบาลภาครัฐ ภาคเอกชน อสม. ที่เสียสละทำงานหนักเพื่อเราทุกคนในเวลานี้ ผมได้สั่งการให้เน้นย้ำไปแล้วให้ติดตามในเรื่องเหล่านี้และเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด และผมได้หารือกับท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว”

ให้กำลังใจ “อนุทิน” วอนแพทย์เข้าใจการบริหารราชการ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่มีกลุ่มแพทย์รวมตัวกันเรียกร้องให้นายอนุทินลาออก เพราะความล้มเหลวในการบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุข ว่า ตนได้ให้กำลังใจกับนายอนุทิน รวมถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรง ไปแล้ว เพราะถือว่าบุคคลเหล่านี้เป็นด่านหน้า เป็นหลักของรัฐบาล ทั้งนี้ตนขอความร่วมมือกับกลุ่มแพทย์ให้เข้าใจการบริหารราชการของรัฐบาลด้วย พร้อมทั้งยืนยันว่าไม่มีปัญหาในกระทรวงสาธารณะสุข

“ผมขอความร่วมมือกับกลุ่มแพทย์ต่างๆ ว่าต้องเข้าใจว่าเราบริหารงานราชการกันอย่างไร เราน่าจะส่งเสริมกันมากกว่าที่จะขัดแย้งกัน ผมเคารพท่านทุกท่านไม่ว่าจะคุณหมอจากที่ไหนก็ตาม ไม่อย่างนั้นจะทำให้เราถูกมองว่าบริหารไม่ได้หรืออย่างไร ผมยืนยันว่าบริหารได้ทุกอย่างเวลานี้ไม่มีปัญหาอะไรในกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น”

นายก ฯยอม “ถูกปรับ” ไม่สวมหน้ากากเข้าที่ประชุม

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีถูกเปรียบเทียบปรับเนื่องจากไม่สวมใส่หน้ากากอนามัยระหว่างการประชุม ว่า เรื่องดังกล่าวตนเห็นข่าวในโทรทัศน์ ในเฟซบุ๊ก ซึ่งตนไม่สบายใจจึงปรึกษาฝ่ายกฎหมายยินดีให้มีการเข้ามาปรับ

“ผมก็ยอมรับว่าผมบกพร่องก็จบไปแล้วเรื่องอะไรจบก็จบไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดต้องเข้าใจกันว่ามีกฎหมายอยู่หลายตัวเหมือนกัน ของตำรวจ ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องตรงนี้ในมาตรการต่างๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็ขอให้ยืนยันว่าหลักการคืออะไรทำอย่างไรจะไม่ถูกปรับ เมื่อออกนอกเคหสถาน ที่สำคัญก็คือการสวมหน้ากาก”

ทั้งนี้ ในพื้นที่สาธารณะแม้จะอยู่คนเดียวก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย ในวัดหากมีมากกว่า 1 คนก็ต้องสวมหน้ากากอนามัยเช่นกัน การจัดรายการในสตูดิโอก็สวมหน้ากากทุกคน เว้นแต่เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบได้รับอนุโลมไม่ต้องสวมหน้ากาก เหล่านี้คือพื้นฐาน ซึ่งก็ต้องไปทำความเข้าใจกับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วยนะว่าต้องใส่หน้ากากกันอย่างไร

“มีหลายคนถามว่าขับรถต้องใส่หน้ากากหรือเปล่าถ้าหากนั่งกันหลายคนมันก็ต้องใส่ผมก็ต้องใส่ในรถผมก็ใส่มาตลอดทาง เพราะว่าเราก็ไม่ต้องการแพร่เชื้อให้กับคนอื่นให้กับคนในครอบครัวเหมือนกัน ต้องระมัดระวังทั้งหมด”

ชี้ทุกคลัสเตอร์อยู่ระหว่างสอบสวน

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงความคืบหน้าติดตามเอาผิด กรณี ‘คลัสเตอร์ทองหล่อ’ หลังมีรายงานข่าวว่า พล.ต.ต. พันธนะ นุชนารถ เป็นหุ้นส่วนและรู้จักกับ ‘อ๊อด มิยาบิ’ และ กรณี พ.ต.อ. ดวงโชติ แม้ถูกย้ายออกจาก ผู้กำกับ สน.ทองหล่อ แต่คำสั่งไม่พ้นตำแหน่งเดิม และล่าสุดมีรายงานข่าวว่า 1 ในไฮโซที่ติดเชื้อแล้วไปเที่ยวทองหล่อ เป็นทายาท ‘บิ๊กอสังหาริมทรัพย์’ ชื่อบริษัทตัวย่อ อ. ว่า เรื่องของความผิดอะไรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาทุกอย่างอยู่ในกระบวนการสอบสวนทั้งสิ้น ทั้งสถานประกอบการ และธรุกิจต่างๆ

ให้กำลังใจอินเดีย – ยันรัฐบาลมีมาตรการดูแลต่างชาติเข้า ปท.

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีการระบาดโควิดฯ ที่อินเดียมีการกลายพันธุ์ที่รุนแรง แม้จะไม่แน่ชัดในตอนนี้ แต่ไทยจะมีมาตรการป้องกันกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านี้อย่างไรบ้าง ว่า ในเรื่องของโควิดฯ อินเดีย ตนขอให้กำลังใจและในทุกประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงขึ้นรายวัน ยืนยันว่ารัฐบาลมีมาตรการรับความเสี่ยงตรงนี้อยู่แล้ว มีการระงับเป็นการชั่วคราว รวมถึงผู้ที่เข้ามาแล้วก็ต้องอยู่ในเกณฑ์ เช่น การกักตัว ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการอย่างระมัดระวังที่สุด

“เราต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เรารังเกียจรังงอนไม่ได้ เพราะทุกคนคือเราอยู่ในโลกใบเดียวกันในภูมิภาคเดียวกัน แต่เราต้องมีมาตรการเฉพาะ การบริหารสถานการณ์นี้มันเกี่ยวข้องกับต่างประเทศซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำอย่างไรเราก็ต้องเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่าเห็นเขาป่วยมากๆ แล้วดี ไม่ใช่ ผมไม่อยากให้มีใครป่วยสักคนในโลกใบนี้ เพราะฉะนั้นอยู่ที่พวกเราทุกคนต้องเข้าใจกัน อย่าใช้ความเกลียดความไม่ชอบเป็นการส่วนตัวออกมาทำร้ายซึ่งกันและกัน วันนี้ไม่ใช่เวลาใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเวลาแห่งความรักความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติเราถึงจะชนะไปด้วยกัน”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

สั่งซื้อ “ซิโนแวก” เพิ่ม 5 แสนโดส 321 ล้าน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติ กรอบวงเงินจำนวน 321,604,000 บาท ในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สำหรับบริการประชากรในประเทศไทยเพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด ตามแผนกลยุทธ์การบริหารจัดการให้วัคซีนโควิด-19 เพื่อให้คนไทยทุกคนเข้าถึงวัคซีน

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน 5 แสนโดส ประกอบด้วย เป็นค่าวัคซีนโควิด-19 จำนวน 271.25 ล้านบาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 18.99 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในบริหารจัดการวัคซีนในการเตรียมความพร้อมในระดับพื้นที่ เพื่อรองรับการฉีดวัคซีน จำนวน 31.36 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 321,604,000 บาท โดยดำเนินงานในเดือนพฤษภาคม 2564 นี้

สำหรับโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับบริการประชากรในประเทศไทย เพิ่มเติม จำนวน 5 แสนโดส นี้ เพื่อบริการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า เจ้าหน้าที่ผู้สนับสนุนผู้ป่วย ผู้ที่มีโรคประจำตัว ประชาชนทั่วไป และแรงงานในพื้นที่ควบคุมสูงสุด รวมไปถึงพื้นที่การระบาดของโรคด้วย เพื่อลดอัตราป่วย การเสียชีวิตและค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย

รับทราบงบ ฯแผ่นดินปี 63 รัฐบาลมีหนี้สิน 7.43 ล้านล้าน

นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบ รายงานการเงินแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแล้ว โดยรัฐบาลมีสินทรัพย์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 7,951,674.99 ล้านบาท หนี้สินและภาระผูกพัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 7,434,034.96 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลมีสินทรัพย์สุทธิ จำนวนทั้งสิ้น 517,640.03 ล้านบาท

รัฐบาลมีรายได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,564,392.65 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน จำนวน 111,833.72 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.18 ประกอบด้วย รายได้แผ่นดินจากหน่วยงาน เงินนำส่งจากหน่วยงาน และเงินปันผลของแผ่นดิน ส่วนเกินมูลค่าพันธบัตรตัดจำหน่าย กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และรายได้อื่น

รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,502,819.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จำนวน 481,585.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.94 ประกอบด้วย รายจ่ายจากเงินงบประมาณจากหน่วยงาน ค่าใช้จ่ายตามมาตรการของรัฐ ค่าใช้จ่ายอุดหนุนหน่วยงานภาครัฐ และค่าใช้จ่ายอื่น

ผลจากการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ จำนวน 938,427.08 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดคงเหลือ ณ วันปลายงวด 30 กันยายน จำนวน 611,381.32 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 73,956.64 ล้านบาท และ เงินคงคลังในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีรายรับสูงกว่ารายจ่าย จำนวน 58,149.24 เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 179,630.56 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม. ยังรับทราบรายงานการเงินรวมภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน และงบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงินของรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และ อปท.สิ้นสุด ณ 30 กันยายน 2563 กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังสรุป

งบแสดงฐานะการเงิน

  • สินทรัพย์รวมทั้งสิ้น จำนวน 31,334,122.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,720,311.51 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.81 ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปของที่ดินราชพัสดุ เงินลงทุนระยะยาวภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และสินทรัพย์ของสถาบันการเงินของรัฐ
  • หนี้สินรวมทั้งสิ้น จำนวน 21,742,324.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,156,675.61 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.62 ประกอบด้วย รายการที่สำคัญคือ หนี้สินไม่หมุนเวียน จำนวน 10,365,395.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 521,235.03 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.29 เนื่องจากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รัฐบาลจึงมีมาตรการในการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบตามแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563

งบแสดงผลการดำเนินงานการเงิน

  • รายได้รวมทั้งสิ้น จำนวน 7,080,230.85 ล้านบาท ลดลง 953,688.67 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.87 ประกอบด้วยรายการที่สำคัญ คือ รายได้แผ่นดิน จำนวน 2,142,257.85 ล้านบาท ลดลง 210,685.63 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.95 จากเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหดตัว ส่งผลกระทบให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการและภาษีจากสินค้าและบริการลดลง
  • ค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 7,119,460.17 ล้านบาท ลดลง 499,113.86 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.55 จากรัฐวิสาหกิจมีการขายสินค้าและการให้บริการลดลงจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน้า 2019 ส่งผลให้ต้นทุนขายสินค้าและบริการลดลง

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินงานทางการเงินในภาพรวมของรัฐ ลดลงจากปีก่อนเนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เมื่อนำผลการดำเนินงานทางการเงินของหน่วยงานของรัฐอื่นๆ มารวมกับผลการดำเนินงานของรัฐบาล (รายงานการเงินแผ่นดิน) จะมีผลการดำเนินงานทางการเงินสุทธิดีขึ้น เนื่องจากหน่วยงานของรัฐมีการจัดเก็บรายได้อื่นที่ไม่ต้องส่งคลัง เช่น กองทุน มหาวิทยาลัยและองค์กรมหาชน เป็นต้น รวมทั้งผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ที่มีผลประกอบการที่ดีเป็นบวก เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ยังมีผลการดำเนินงานทางการเงินเป็นบวกจากที่ยังคงได้รับรายได้ภาษีจัดสรรและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล จะทำให้ภาพรวมของภาครัฐมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ ทั้งสิ้น 39,229.32 ล้านบาท รวมทั้งรัฐบาลยังจะได้ให้ความสำคัญในการจัดเก็บรายได้ โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ เพื่อนำสินทรัพย์ของภาครัฐมาสร้างรายได้ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

โอนอำนาจตาม กม. 31 ฉบับให้ นายก ฯแก้โควิด-19

นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมาย หรือที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายหรือที่มีอยู่ตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราวเฉพาะ ในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชน จำนวน 31 ฉบับ เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด -19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่

(1) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 (2) พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 (3) พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 (4) พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พระพุทธศักราช 2456 (5) พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 (6) พระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 (7) พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 (8) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ พ.ศ. 2562 (9) พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 (10) พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 (11) พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 (12) พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ. 2495 (13) พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 (14) พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 (15) พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 (16) พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 (17) พระราชบัญญัติเชื้อโรคและพิษจากสัตว์ พ.ศ. 2558 (18) พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 (19) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 (20) พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ( 21)พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 (22) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 (23) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (24) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ( 25) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 (26) พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 (27) พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541 (28) พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 (29) พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (30) พระราชบัญญัติองค์การเภสัชกรรม พ.ศ. 2509 และ (31) พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522

ทั้งนี้ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศปก.ศบค.) เสนอให้ยกเลิกประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 และให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) นี้

ลดค่าธรรมเนียมส่งออกข้าวไป “ยุโรป-อังกฤษ”

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ รวม 2 ฉบับ เกี่ยวกับการส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษี และการลดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นการดำเนินการตามความตกลงระหว่างประเทศไทยและสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรป และความตกลงระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหราชอาณาจักร ได้แก่

  1. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การส่งออกข้าวภายใต้โควตาภาษีไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ข้าวขาว (พิกัดอัตราศุลกากร 1006.30) และข้าวหัก (พิกัดอัตราศุลกากร 1006.40) ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรับรองการส่งออก (Export Certificate) ที่ออกโดยกรมการค้าต่างประเทศ ไปใช้ประกอบการขอใบอนุญาตนำเข้า (Import License) เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษี และกำหนดให้การส่งออกข้าวขาวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรต้องเสียค่าธรรมเนียมพิเศษ
  2. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมพิเศษในการส่งออกข้าวไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร พ.ศ. …. มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษสำหรับข้าวขาว ข้าวหอม และข้าวนึ่งชนิด 100% (พิกัดอัตราศุลกากร 1006.30) ที่ส่งออกไปสหภาพยุโรป อัตราตันละ 1,500 บาท จากเดิมอัตราตันละ 2,500 บาท กรณีส่งออกไปสหราชอาณาจักรคิดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ ตันละ 1,200 บาท

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันการส่งออกข้าวไทยประสบกับสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งที่ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณภาพและมีความหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการปฏิบัติตามความความตกลงดังกล่าว จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในตลาดโลกได้

“แม้การเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกข้าวในอัตราใหม่นี้ จะทำให้กรมการค้าต่างประเทศ เก็บเงินเข้ากองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศลดลงเหลือปีละประมาณ 31 ล้านบาท จากเดิมที่เคยเก็บได้ปีละ 53 ล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกได้มากขึ้น”

เห็นชอบเข้าร่วม Expo 2025 Osaka Kansai

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai ระหว่างวันที่ 13 เมษายน- 13 ตุลาคม 2568 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้ มีหัวข้อหลัก คือ Designing Future Society for Our Lives ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและการแพทย์ เพื่อเป้าหมายชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี โดยแบ่งเป็น 3 หัวข้อย่อย ได้แก่

  1. Saving Lives การปกป้องชีวิตคนจากโรคต่างๆ และการยืดอายุ
  2. Empowering Lives การพัฒนาศักยภาพคน ทั้งด้านการเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคม โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent: AI) และหุ่นยนต์
  3. Connection Lives ส่งเสริมความเข้าใจในความแตกต่างของวัฒนธรรม โดยการมีส่วนร่วมของคนในทุกระดับของสังคม ตั้งแต่ครอบครัว ที่ทำงาน สังคมท้องถิ่น จนถึงระดับประเทศและสังคมโลก

ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการเข้าร่วมงาน รวมถึงเป็นผู้นำเสนอรายละเอียดแผนงานและแผนการใช้งบประมาณต่อ ครม. อีกครั้ง

“การเข้าร่วม Expo 2025 Osaka Kansai นอกจากจะเป็นการเน้นย้ำความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับญี่ปุ่นแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะแสดงศักยภาพด้านสาธารณสุขในการบริหารจัดการกับความท้าทายในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และส่งเสริมการดำเนินงานตามนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งสอดคล้องกับหัวข้อหลักของงานในครั้งนี้” นางสาวรัชดากล่าว

ผ่านร่าง กม.คุมโรงบรรจุ LNG

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงบรรจุ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบกิจการสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงบรรจุ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการประกอบกิจการในปัจจุบัน โดยมีสาระสำคัญ อาทิ

กำหนดให้การออกแบบ การสร้าง การทดสอบและการตรวจสอบถังเก็บและจ่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว ต้องเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงว่าด้วยภาชนะบรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการควบคุม ต้องเป็นผู้ค้าน้ำมันหรือเป็นตัวแทนค้าต่างจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวของผู้ค้าน้ำมัน และมีหน้าที่ควบคุมดูแลถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้มให้เป็นไปตามที่กำหนด

กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการควบคุม มีหน้าที่ควบคุมดูแลรถยนต์ที่ใช้บรรทุกถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้มที่เข้ามาภายในบริเวณโรงบรรจุ และกำหนดวิธีการวัดระยะห่างของถังเก็บและจ่ายก๊าซ รวมถึงอาคารที่ใช้บรรจุก๊าซ กำหนดลักษณะของแผนผังโดยสังเขป แผนผังบริเวณ แบบก่อสร้างอาคาร แบบก่อสร้างกำแพงกันไฟ แบบก่อสร้างถังเก็บและจ่ายก๊าซ แบบก่อสร้างท่อและรางระบายน้ำ และรายการคำนวณความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร

กำหนดที่ตั้งและลักษณะระยะปลอดภัยของสถานที่บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลว ประเภทโรงบรรจุ ต้องอยู่ห่างจากเขตพระราชฐานไม่น้อยกว่า 1,000 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากสถานีบริการก๊าซปิโตรเลียมเหลวไม่น้อยกว่า 50 เมตร และตั้งอยู่ห่างจากเขตสถานทูต สถานกงสุล สถานศึกษา สถานพยาบาลโรง ศาสนสถาน โบราณสถาน หรือสนามกีฬา ไม่น้อยกว่า 200 เมตร รวมทั้งกำหนดลักษณะและระยะปลอดภัยของอาคารที่ใช้บรรจุก๊าซและอาคารเก็บภาชนะบรรจุก๊าซ

กำหนดลักษณะและระยะปลอดภัย การตั้งถังเก็บและจ่ายก๊าซในโรงบรรจุ การวางระบบท่อก๊าซ และการติดตั้งอุปกรณ์เข้ากับถังเก็บและจ่ายก๊าซ รวมถึงกำหนดลักษณะของหัวจ่ายและสายจ่ายในโรงบรรจุ ตลอดจนวิธีการบรรจุก๊าซลงในถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้ม และกำหนดวิธีป้องกันและระงับอัคคีภัย โดยต้องมีระบบท่อน้ำดับเพลิง ระบบป้องกันและระงับอัคคีภัยแบบหัวจ่ายน้ำดับเพลิง และเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง เป็นต้น

ทั้งนี้ กฎกระทรวงจะมีผลบังคับใช้ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน

เดินหน้าหารือการค้าเสรีอาเซียน-ยุโรป แจงความคืบหน้าสัตยาบัน RCEP

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Economic Ministers (AEM) ครั้งที่27 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รายงานสาระสำคัญของการประชุมฯ สรุปดังนี้

  1. เห็นชอบการขยายรายการสินค้าที่จำเป็นภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี และสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ และความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็ง ในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะไปหารือเพิ่มเติมเพื่อขยายการครอบคลุมสินค้าอาหารและเกษตร โดยเฉพาะอาหารหลักอย่างน้อย 200 รายการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อเอกชน
  2. มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน เร่งหารือการจัดทำความเห็นของอาเซียนต่อร่างกรอบกำหนดขอบเขตความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป เพื่อใช้ประกอบการหารือกับฝ่ายยุโรปต่อไป ทั้งนี้ ยังมีประเด็นที่อาเซียน-สหภาพยุโรป ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พลังงานและวัตถุดิบ และการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน (ซึ่งสถานะล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ ได้ดำเนินการจัดประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว)
  3. รับทราบความคืบหน้าในการให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ของแต่ละประเทศ โดยที่ไทยเป็นประเทศแรกที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบความตกลง ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ย้ำว่าการให้สัตยาบันจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่มีประเทศอาเซียน 6 ประเทศ และประเทศภาคีอื่น 3 ประเทศ ภายใน ต.ค. 2564 เพื่อให้ความตกลงอาเซียนมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2565

สำหรับประเทศไทย รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับข้อตกลง เมื่อประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน และข้อตกลงมีผลบังคับใช้ จะมีสินค้าประมาณ 40,000 รายการ ได้ประโยชน์โดยการลดภาษี ซึ่งจะมีสินค้าจำนวน 29,000 รายการ จากทั้งหมด 40,000 รายการ ได้รับการลดภาษีทันทีเหลือ 0% ในวันที่ 1 ม.ค. 2565 ส่วนสินค้าที่เหลือจะทยอยลดภาษีภายใน 10 – 20 ปี ให้อัตราภาษีเป็น 0% ตามเงื่อนไขของแต่ละประเทศ สำหรับภาคบริการ ไทยจะได้รับสิทธิพิเศษสามารถเข้าไปถือหุ้นได้ถึง 70 – 80% ในสาขาบริการ การก่อสร้าง เป็นต้น

  1. รับทราบประเด็นที่ภาคธุรกิจของอาเซียนให้ความสำคัญและจะดำเนินการในปีนี้ เช่นการสร้างสภาพแวดล้อมและเสริมสร้างความสามารถของแรงงานในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การให้โอกาสนักธุรกิจเดินทางระหว่างประเทศในช่วงนี้ และการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี
  2. ฝ่ายไทยได้มีการหารือทวิภาคีกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของประเทศสิงคโปร์ ที่มีความสนใจหาแหล่งลงทุนเพิ่มเติม และก่อนหน้านี้เคยแสดงความสนใจเรื่องการลงทุนในธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งปัจจุบันการลงทุนในธุรกิจซ่อมบำรุงฯ ไทยเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนและถือหุ้นในธุรกิจได้ถึงร้อยละ 100 ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

เพิ่ม “ค่าใช้จ่าย-ค่าพาหนะ” ส่งต่อผู้ติดเชื้อโควิดฯ

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด 19 (ฉบับที่ 3) โดยมีสาระสำคัญคือ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม นิยามคำว่า “ค่าใช้จ่าย” ให้หมายความว่า “ค่าใช้จ่ายจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาล หรือการส่งต่อผู้ป่วย และให้หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีน หรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ที่ปรากฏตามบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้ายหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขนี้”

ทั้งนี้ ยังแก้ไขนิยาม “ผู้ป่วย” นอกจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดแล้วยังให้หมายรวมไปถึงบุคคลกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับการป้องกันโควิฯ โดยการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลที่ภาครัฐกำหนด และเกิดอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ซึ่งการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งนี้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีนให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มค่าพาหนะส่งต่อผู้ป่วยในอัตราค่าใช้จ่ายตามคู่มือแนวทางปฏิบัติในการขอรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของสำนักงาน และค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะ ส่งต่อผู้ป่วยในบัญชีและอัตราค่าใช้จ่ายแนบท้าย ในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อโควิดฯ เช่น ค่ารถยนต์ส่งต่อผู้ป่วยระยะทางไม่เกิน 50 กิโลเมตร

จ่ายชดเชยตามจริงไม่เกิน 500 บาท ระยะทางไปกลับมากกว่า 50 กิโลเมตร จ่ายชดเชยเริ่มต้น 500 บาท และจ่ายชดเชยเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ค่าเรือหรือแพขนานยนต์ส่งต่อผู้ป่วย จ่ายชดเชยตามระยะทางและชนิดของเรือ เช่นระยะทางไปกลับ 5-15 กิโลเมตร เรือหางยาวเร็ว 1,200 บาท เรือเร็ว 2,000 บาท เรือเร็ว 2 เครื่องยนต์ 5,000 บาท ระยะทางไปกลับ 101 กิโลเมตรเป็นต้นไป เรือเร็ว 35,000 บาท เป็นต้น

ส่วนค่าอากาศยานปีกหมุน หรือเฮลิคอปเตอร์ กรณีเฮลิคอปเตอร์ 1 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 40,000 บาท เฮลิคอปเตอร์ 2 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 80,000บาท เฮลิคอปเตอร์ 3 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 120,000 บาท และเฮลิคอปเตอร์ 4 เครื่องยนต์ ชั่วโมงบินละ 160,000 บาท สำหรับค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล รวมค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อพาหนะจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,700 บาท

ไฟเขียว “ราชทัณฑ์” เบิกจ่ายเงินได้เกินกรอบวงเงินงบฯ 2,256 ล้าน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติให้กรมราชทัณฑ์ก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2,256.14 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ค่าวัสดุอาหารที่ค้างชำระ เนื่องจากจำนวนเฉลี่ยผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ที่กรมราชทัณฑ์ต้องควบคุมดูแลมีจำนวนมากกว่างบประมาณที่กรมราชทัณฑ์ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 4,322.28 ล้านบาท ประกอบกับกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณของรายการอื่นที่คงเหลือเบิกจ่ายสมทบแล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายจริง จึงทำให้ยังคงมีหนี้ค่าวัสดุอาหารค้างจ่ายอีกจำนวน 2,256.14 ล้านบาท

ทั้งนี้พบว่าสถิติจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2553 มีจำนวนผู้ต้องขัง 102,210 ราย ขณะที่ปี 2563 มีจำนวน 357,968 ราย อย่างไรก็ตาม ครม. เคยมีมติเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 ให้กระทรวงยุติธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเมินผลการดำเนินการตามแนวทางต่างๆ ในการลดจำนวนผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ และนำแนวทางที่พบว่ามีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพไปขยายผลในการปฏิบัติให้มากขึ้น รวมทั้งให้พิจารณากำหนดมาตรการการลงโทษในรูปแบบอื่นนอกจากโทษจำคุก หรือปรับปรุงมาตรการเดิมเพื่อให้สามารถลดจำนวนผู้ต้องขัง ผู้ต้องกักขัง และผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ได้มากยิ่งขึ้นและมีความยั่งยืน

ยกเว้นภาษีหนุน “สถาบันการเงินประชาชน”

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน เพื่อลดภาระต้นทุนของสถาบันการเงินประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของสมาชิก พร้อมกับอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่สถาบันการเงินประชาชนและสมาชิกของสถาบันการเงินประชาชนสำหรับการดำเนินการต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันการเงินประชาชน

ขณะเดียวกัน ครม. ยังได้อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน มีสาระสำคัญคือ เป็นการลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีที่มีการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันการเงินประชาชน โดยให้เรียกเก็บค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์และการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 0.01

ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดทำประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากมาตรการนี้ พบว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้จากภาษีที่คาดว่าจะได้รับประมาณปีละ 18 ล้านบาท และสูญเสียรายได้ที่ได้รับจากค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประมาณปีละ 2.6 ล้านบาท แต่จะช่วยให้สถาบันการเงินประชาชนมีภาระต้นทุนในการดำเนินงานที่ลดลง และสามารถดำเนินกิจการตามภารกิจและวัตถุประสงค์ที่ต้องการส่งเสริมการออมทรัพย์และให้บริการทางการเงินแก่สมาชิก รวมทั้งส่งเสริมหรือสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เห็นชอบอนุรักษ์เมืองเก่า “อุทัยธานี-ตรัง-ฉะเชิงเทรา”

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าและแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่าอุทัยธานี เมืองเก่าตรัง และเมืองเก่าฉะเชิงเทรา โดยขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าอุทัยธานี มีเนื้อที่ประมาณ 1.96 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,058 ไร่ มีสถานที่สำคัญเช่น วัดอุโปสถารามหรือวัดโบสถ์ พื้นที่ย่านการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนศรีอุทัยและถนนท่าช้าง ย่านชุมชนชาวจีนตรอกโรงยา และชุมชนชาวแพแม่น้ำสะแกกรัง

ส่วนขอบเขตพื้นที่เมืองเก่าตรัง มีเนื้อที่ประมาณ 1.91 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1,192 ไร่ มีองค์ประกอบเมืองที่สำคัญเช่น หอนาฬิกาจังหวัดตรัง สถานีรถไฟตรัง วิหารคริสตจักรตรัง จวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง พื้นที่ย่านศูนย์กลางการค้าดั้งเดิมบริเวณถนนพระราม6 ถนนวิเศษกุล ถนนกันตัง และถนนราชดำเนิน ซึ่งมีอาคารเรือนแถวและบ้านร้านค้าแบบจีนและแบบผสมผสาน และขอบเขตพื้นที่เมือเก่าฉะเชิงเทรามีเนื้อที่ประมาณ 3.96 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 2,475 ไร่ ครอบคลุมองค์ประกอบเมืองที่สำคัญเช่น ป้อมและกำแพงเมืองตามแนวตะวันออก-ตะวันตกขนานกับแม่น้ำบางปะกง วัดโสธรวรารามวรวิหาร อาคารไปรษณีย์หลังเก่า ศาลหลักเมืองฉะเชิงเทรา พื้นที่ย่านการค้าบริเวณถนนมรุพงษ์ และพื้นที่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง ย่านการค้าตลาดทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

สำหรับแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาเมืองเก่า ประกอบด้วย 1.แนวทางทั่วไป ได้แก่ การมีส่วนร่วมและการประชาสัมพันธ์ การสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน การส่งเสริมกิจกรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น การส่งเสริมคุณภาพชีวิต การป้องกันภัยคุกคามจากมนุษย์และธรรมชาติ การประหยัดพลังงาน ด้านการสัญจรและสภาพแวดล้อม และการดูแลและบำรุงรักษาอาคารและสาธารณูปการ 2. แนวทางสำหรับพื้นที่หลัก ได้แก่ ด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน ด้านอาคารและสภาพแวดล้อม ด้านระบบการจราจรและคมนาคมขนส่ง ด้านการพัฒนาภูมิทัศน์ และด้านการบริหารและการจัดการ

นายก ฯสั่งดูแลผู้ประกอบการหลังราคาเหล็กพุ่ง

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการในการประชุม ครม. ว่า ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปดูแลปัญหาราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลานี้ เพื่อลดกระทบต่อต้นทุนการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีเหล็กเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งหากไม่เร่งดูแลจะกระทบต่อไปยังปัญหาการจ้างงานในระยะต่อไปได้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับรายงานว่า ขณะนี้ราคาเหล็กในประเทศหลายประเภทได้ปรับตัวขึ้นไปในทิศทางเดียวกับราคาเหล็กในตลาดโลก ซึ่งเป็นผลจาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการเตรียมปรับนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศผู้ผลิตขนาดใหญ่ เช่น ประเทศจีน ซึ่งในช่วงเวลาที่ตลาดไม่มีความแน่นอน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปช่วยดูแลภายใต้กฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศที่มี เพื่อดูแลให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้

“พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวระหว่างการประชุม ครม. วันนี้ว่าได้รับรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ราคาเหล็กทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้ได้กระทบต่อผู้ประกอบการหลายอุตสาหกรรม จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การนำเข้า ส่งออกเหล็ก เข้าไปดูแลปัญหาในระยะที่ตลาดมีความผันผวน และให้สื่อสารกับผู้ประกอบการว่าขณะนี้เกิดปัจจัยเสี่ยงใดขึ้นบ้าง ต้องมีการป้องกันความเสี่ยงในระยะสั้น ระยะยาวอย่างไร เพื่อลดผลกระทบต่อผลประกอบการและการจ้างงาน”

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 27 เมษายน 2564เพิ่มเติม