ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > CDC สหรัฐฯ ชี้ไม่มีวัคซีนไหนได้ผล 100% แต่ต้องฉีดเพื่อหยุดการระบาดของโควิด-19

CDC สหรัฐฯ ชี้ไม่มีวัคซีนไหนได้ผล 100% แต่ต้องฉีดเพื่อหยุดการระบาดของโควิด-19

15 เมษายน 2021


วัคซีนโควิด-19 เข็มแรกของโลก ที่มาภาพ: https://www.theguardian.com/world/2020/dec/29/first-person-to-get-covid-jab-receives-follow-up-dose

นับตั้งแต่มีการเริ่มฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาเข็มแรกของโลกให้กับมาร์กาเรต คีแนน ชาวอังกฤษ ขณะที่อยู่ในวัย 90 ปี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 หลังจากที่วัคซีนไฟเซอร์ได้รับอนุมัติจากอังกฤษ และได้รับการฉีดเข็มสองเมื่ออายุครบ 91 ปีใน 3 สัปดาห์หลังจากนั้น ทำให้โลกมีความหวังที่จะต่อสู้เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19

หลายประเทศในโลกได้เริ่มทยอยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตัวเองตั้งแต่นั้น และการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้ามาอย่างต่อเนื่อง แม้การผลิตยังไม่สามารถทำออกในปริมาณมากได้ แต่โดยที่การผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ใช้เวลาในการวิจัยและพัฒนาในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปี นับจากการอุบัติขึ้นในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ของจีน ซึ่งเป็นการพัฒนาวัคซีนที่เร็วที่สุด เทียบกับปกติแล้ววัคซีนจะใช้เวลาวิจัยและค้นคว้านาน 10-15 ปี ทำให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนได้รับผลแตกต่างกัน เนื่องจากประสิทธิภาพวัคซีนแต่ละบริษัทแตกต่างกัน

ประสิทธิภาพของวัคซีนวัดได้จากการทดลอง หรือ efficacy ตามความหมายที่องค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีนและภูมิคุ้มกัน (Global Alliance for Vaccine and Immunization) หรือ GAVI ให้ไว้ ตัวอย่างเช่น วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ 90% ในการทดลองหมายความว่า สามารถลดการติดเชื้อในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนถึง 90% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน (หรือยาหลอก) แต่ประสิทธิภาพในสภาพห้องปฏิบัติการไม่ได้แปลงเป็นประสิทธิผล (effectiveness) เสมอไป ดังนั้น ประสิทธิภาพที่ได้จากการทดลองมักประเมินผลของวัคซีนในทางปฏิบัติสูงเกินไป

ประสิทธิผลของวัคซีนวัดได้จากสิ่งที่นักระบาดวิทยาเรียกว่าการศึกษาเชิงสังเกต เนื่องจากผู้เข้าร่วมการทดลองไม่ได้รับการสุ่มเลือกให้เข้ารับการรักษาเทียบกับกลุ่มยาหลอก ตัวอย่างเช่น การศึกษากรณีควบคุมประเมินประสิทธิผลโดยการเปรียบเทียบสถานะการฉีดวัคซีนของบุคคลที่เป็นโรค (จำนวนราย) กับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีโรค (กลุ่มควบคุม) ซึ่งเป็นตัวแทนของประชากรที่เกิดโรค หากวัคซีนได้ผล ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน

วัคซีนที่มีประโยชน์ไม่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพสูงเป็นพิเศษเสมอไป เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีประสิทธิภาพ 40-60% แต่ช่วยชีวิตคนได้หลายพันคนทุกปี

ปัจจุบันวัคซีนที่ใช้ฉีด ได้แก่ โคโรนาแวคที่ผลิตโดยซิโนแวคของจีน, โมเดอร์นา, จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, แอสตร้าเซนเนก้า, สปุตนิก 5, ไฟเซอร์

อย่างไรก็ตาม ในกลางเดือนมีนาคม หลายประเทศในยุโรปและเอเชีย ทั้งเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สวีเดน โปรตุเกส บัลแกเรีย ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ อินโดนีเซีย รวมทั้งไทย ได้ระงับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวนหนึ่ง ซึ่งสำนักงานยาแห่งสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ในวันที่ 11 เมษายน 64 นายเกาฟู่ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อของจีน ออกมาให้ความเห็นว่า วัคซีนของจีนมีประสิทธิภาพต่ำในการป้องกันไวรัส และอาจจะต้องใช้ร่วมกับวัคซีนอื่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

ในวันที่ 13 เมษายน สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแอฟริกาใต้ ต่างระงับการใช้วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน เนื่องจากมีรายงานพบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในผู้หญิง 6 คนในยุโรปซึ่งมีอายุ 18-48 ปี ซึ่งเป็นกรณีที่พบได้ยาก

ที่มาภาพ:
https://www.astrazeneca.com/media-centre/covid-19-media.html#imagetile

ชี้ไม่มีวัคซีนไหนได้ผล 100% แต่ต้องฉีดวัคซีน

แม้ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA) ของสหรัฐฯ แนะนำให้ระงับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) ชั่วคราว แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) ยังคงแนะนำให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด

CDC ระบุว่า วัคซีนแต่ละรายแตกต่างกัน และวัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือ วัคซีนชนิดแรกที่มีให้ฉีด ฉะนั้นอย่ารอวัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่ง

วัคซีนต้านโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตและแนะนำทั้งหมดในปัจจุบันมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรง

CDC ขยายความว่า วัคซีนที่ปลอดภัยนั้นหมายถึง ปลอดภัยที่จะใช้ โดยคนหลายล้านคนในสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนโควิด-19 ภายใต้การตรวจสอบความปลอดภัยที่เข้มข้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งผลจากการตรวจสอบนั้นทำให้มั่นใจได้ โดยมีรายงานผลข้างเคียงที่พบบ่อยหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 เช่น บวมแดงและปวดบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดหัว เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว เจ็บกล้ามเนื้อ หนาวสั่น และคลื่นไส้

แต่ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวนั้นมีความเป็นไปได้น้อย การตรวจสอบวัคซีนได้แสดงให้เห็นในอดีตว่า หากจะมีผลข้างเคียงโดยทั่วไปก็จะเกิดขึ้นภายใน 6 สัปดาห์หลังจากได้รับวัคซีน ด้วยเหตุนี้สำนักงาน FDA จึงกำหนดให้วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตทำการศึกษาอย่างน้อย 2 เดือน (8 สัปดาห์) หลังจากได้รับโดสสุดท้าย ซึ่งพบว่าคนหลายล้านคนที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ไม่พบผลข้างเคียงในระยะยาว

ด้านประสิทธิผลของวัคซีนนั้น CDC ระบุว่า วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่จำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ดังที่เห็นในการทดลองทางคลินิก การวิจัยมีข้อมูลมากขึ้นว่าวัคซีนประเภท mRNA ให้การป้องกันที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์จริงอย่างมาก

CDC ไม่แนะนำวัคซีนยี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือวัคซีนยี่ห้อไหนดีกว่ายี่ห้ออื่น

สำหรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนของ CDC นั้น ระบุว่า วัคซีนไฟเซอร์เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป โดยต้องฉีด 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 21 วัน และจะมีภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดเข็มที่สองแล้ว 2 สัปดาห์

วัคซีนของโมเดอร์นา เหมาะสำหรับสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องฉีด 2 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 28 วันและจะมีภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดเข็มที่สองแล้ว 2 สัปดาห์

วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเหมาะสำหรับสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ฉีดเพียง 1 เข็มเท่านั้น และจะมีภูมิคุ้มกันหลังจากฉีดแล้ว 2 สัปดาห์

ที่มาภาพ: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/ different-vaccines.html

CDC ระบุว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเครื่องมือสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

การฉีดวัคซีนโควิด-19 ช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยหรือป่วยหนักจากการติดเชื้อโควิด-19 และยังช่วยปกป้องคนรอบข้างได้อีกด้วย เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากที่สุดประชาชนควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ในปริมาณที่แนะนำ

สำหรับบางคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบถ้วน จะยังคงป่วยได้ เนื่องจากไม่มีวัคซีนใดที่ได้ผล 100%ผู้เชี่ยวชาญยังคงติดตามและประเมินว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยเพียงใด อาการรุนแรงแค่ไหน และผู้ที่ได้รับวัคซีนมีแนวโน้มที่จะแพร่เชื้อโควิด-19 ไปยังผู้อื่นได้อย่างไร

นอกจากนี้ CDC แนะนำให้รับวัคซีนโควิด-19 ทันทีที่พร้อม

    ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้จากการทดลอง

    โคโรนาแวค มีประสิทธิภาพ 50.7% จากการทดลองระยะสุดท้ายในอาสาสมัครที่บราซิล ขณะที่ผลการทดลองอีกกลุ่มในบราซิลเช่นกัน ได้ประสิทธิภาพเกือบ 50% ในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

    แอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ 76% ต่อโควิด-19 ที่แสดงอาการ มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันอาการรุนแรง หรือวิกฤติ และการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และมีประสิทธิภาพ 85% ต่อโควิด-19 ที่มีอาการ ในผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

    โมเดอร์นารายงานล่าสุดว่า วัคซีนของบริษัทมีประสิทธิภาพ 90% ในการป้องกันโรคทุกรูปแบบ และมีประสิทธิภาพ 95% ในการป้องกันอาการรุนแรง ซึ่งเป็นผลใหม่มาจากการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ที่ใช้อาสาสมัครกว่า 30,000 คนทั่วสหรัฐอเมริกา และตัวเลขประสิทธิภาพลดลงเล็กน้อยจากตัวเลขก่อนหน้านี้ที่ 94.1% ตามที่ตีพิมพ์ใน New England Journal of Medicine ในเดือนธันวาคม

    ด้านไฟเซอร์ ประกาศในวันที่ 1 เมษายน 2564 ว่า ผลการทดสอบจากการวิเคราะห์ผู้ป่วยที่ยืนยันอาการของโควิด-19 จำนวน 927 รายที่พบในการศึกษาระยะที่ 3 จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2564 แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่พัฒนาร่วมกับไบโอเอ็นเทคได้ผล 91.3% ในการต้านโควิด-19 จากการวัด 7 วันถึง 6 เดือนหลังการฉีดครั้งที่สอง วัคซีนมีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันอาการรุนแรงตามที่กำหนดโดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) และ 95.3% มีผลลดอาการรุนแรงของโควิด-19 ตามที่กำหนดโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA)

    สปุตนิก 5 ของรัสเซีย มีประสิทธิภาพในการทดลอง 92%

    โนวาแวคประกาศว่า วัคซีน NVX-CoV2373 มีประสิทธิภาพ 89.3% จากการทดลองทางคลีนิก 3 ในอังกฤษ

    ด้านจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีประสิทธิภาพโดยรวม 66% ในการป้องอาการของโรคปานกลางถึงรุนแรงใน 28 วันหลังจากการฉีด แต่ประสิทธิภาพแตกต่างกันไปตามที่ตั้งตามภูมิศาสตร์ โดยมีผล 72% กับอาสาสมัครในการทดลองทางคลีนิกในสหรัฐฯ แต่มีประสิทธิภาพ 66% ในลาตินอเมริกา และมีประสิทธิภาพ 57% ในแอฟริกาใต้

การฉีดวัคซีนโควิด -19 จะช่วยป้องกันไม่ให้ติดโควิด-19

วัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่มีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 และวัคซีนทั้งหมดที่อยู่ระหว่างการพัฒนากำลังได้รับการประเมินอย่างรอบคอบในการทดลองทางคลินิกและจะได้รับอนุญาต หรือได้รับการอนุมัติก็ต่อเมื่อได้ผลว่า เมื่อใช้แล้วมีโอกาสน้อยที่จะได้รับเชื้อโควิด-19

จากข้อมูลเบื้องต้นจากการทดลองทางคลินิก ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการได้รับวัคซีนโควิด-19 ยังช่วยป้องกันไม่ให้ป่วยหนักแม้ว่าจะได้รับเชื้อโควิด-19 ก็ตาม

CDC ให้ข้อมูลอีกว่า การฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นวิธีที่ปลอดภัยกว่า ในการช่วยสร้างการป้องกันทั้งภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีน อีกทั้งการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการหยุดยั้งการแพร่ระบาด

การสวมหน้ากากและอยู่ห่างจากคนอื่น 6 ฟุตช่วยลดโอกาสที่จะสัมผัสกับไวรัสหรือแพร่กระจายไปยังผู้อื่น แต่มาตรการเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ เพราะวัคซีนจะทำงานร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันของคน ทำให้ร่างกายพร้อมที่จะต่อสู้กับไวรัสหากติดเชื้อ

ผู้ที่ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วนมีโอกาสน้อยที่จะติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการ และมีโอกาสน้อยที่จะแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องมีการตรวจสอบต่อไปต่อเนื่อง

การหยุดยั้งการแพร่ระบาดต้องใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มี แต่ผู้เชี่ยวชาญเรียนรู้เพิ่มเติมว่าการฉีดวัคซีนอาจช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสที่เป็นสาเหตุของโควิด-19 ได้

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-africa-55975052

อังกฤษขยายการทดลองจับคู่วัคซีน

ด้วยเหตุนี้อังกฤษจึงมีการทดลองที่สำคัญ เพื่อดูว่าวัคซีนโควิดแต่ละประเภทสามารถนำมาใช้ฉีดร่วมกัน สำหรับการฉีดเข็มแรกและเข็มที่สองได้หรือไม่ และได้ขยายโครงการให้ครอบคลุมวัคซีนมากขึ้น

การใช้วัคซีนร่วมกันอาจทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิดและโควิดสายพันธุ์ใหม่ได้กว้างขึ้นและนานขึ้น รวมทั้งมีความยืดหยุ่นในการกระจายวัคซีนมากกว่าเดิม

ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ หรือแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรกไปแล้วสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการการศึกษา Com-Cov นี้ได้

การฉีดวัคซีนเข็มที่สองอาจจะใช้วัคซีนเดิม ใช้วัคซีนโมเดอร์นา หรือโนวาแวคก็ได้

ศาตราจารย์แมททิว สเนป หัวหน้าคณะวิจัยจาก Oxford Vaccine Group กล่าวว่า หวังว่าจะมีอาสาสมัครที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกในช่วง 8-12 สัปดาห์ที่ผ่านมาเข้าร่วมจำนวน 1,050 คน

ขณะนี้มีผู้เข้าร่วมในการวิจัยมากกว่า 800 คนแล้วและได้รับวัคซีนไฟเซอร์หรือแอสตร้าเซนเนก้าทั้งสองเข็ม หรือได้รับทั้งไฟเซอร์และแอสตราเซเนก้าร่วมกันทั้งสองเข็ม และอาจจะสลับกันฉีดเข็มแรกกับเข็มสอง

การวิจัยคาดว่าจะได้ผลลัพธ์ของการทดลองระยะแรกนี้ในเดือนหน้า และการทดลองระยะต่อไปจะสรุปเป็นรายงานได้ภายในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม แม้ว่าการวิจัยมีระยะเวลาการศึกษาหนึ่งปี

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพโดยทั่วไปเห็นพ้องว่า การผสมและการจับคู่วัคซีนน่าจะมีความปลอดภัย การทดลองจะตรวจสอบผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาที่ไม่คาดคิด ส่วนผู้เข้าร่วมจะได้รับการตรวจเลือดเพื่อตรวจสอบว่าวัคซีนกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในรูปของการสร้างภูมิต้านทานหรือ แอนติบอดี และเซลล์เม็ดเลือดขาวหรือ T cell สร้างภูมิคุ้มกันโควิดได้ดีเพียงใด

ศาตราจารย์สเนปกล่าวว่า “หากเราสามารถแสดงให้เห็นว่า โครงการใช้วัคซีนหลายประเภทร่วมกันนี้สามารถทำให้เกิดการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ดีเท่ากับมาตรฐาน และหากไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงจากวัคซีนอย่างมีนัยสำคัญ ก็อาจทำให้มีผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้มากขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ยังระบุถึงข้อดีของการเลือกใช้วัคซีนร่วมกันว่า “จะทำให้เรามีความยืดหยุ่นมากมาย ไม่ใช่แค่ในอังกฤษ ไม่ใช่แค่ในยุโรป ที่กำลังจำกัดการใช้วัคซีนบางชนิดสำหรับบางกลุ่มอายุเท่านั้น แต่สำหรับทั่วโลก

“หวังว่าเราจะสามารถใช้แนวทางนี้เพื่อฉีดวัคซีนสองโดสให้กับผู้คนให้ได้มากที่สุด”