ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > สำรวจใครทำเงินจากวัคซีนโควิด

สำรวจใครทำเงินจากวัคซีนโควิด

10 มีนาคม 2021


ที่มาภาพ : https://www.theguardian.com/business/2021/mar/06/from-pfizer-to-moderna-whos-making-billions-from-covid-vaccines

หนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียน สำรวจ รายได้จากการขายวัคซีนต้านไวรัสโควิดของผู้พัฒนาวัคซีนตั้งแต่ไฟเซอร์ไปจนถึงโมเดอร์นา ว่าใครเป็นคนเงินไว้ในรายงานข่าว From Pfizer to Moderna: who’s making billions from Covid-19 vaccines?

การเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้ชีวิตของผู้คนกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ขณะเดียวกันสร้างยอดขายรายปีให้กับบริษัทยาบางแห่งทั่วโลกมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์

ในบรรดาผู้ที่ทำเงินมากสุดได้แก่ โมเดอร์นา(Moderna) และ ไฟเซอร์(Pfizer) ทั้งสองบริษัททำเงินมากกว่า 30 ดอลลาร์ต่อคนสำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 2 โดส แต่บริษัทยาในสหรัฐอเมริกา 2 รายนี้แตกต่างกันมาก โดยโมเดอร์นาก่อตั้งขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้วไม่เคยทำกำไรได้เลย และจ้างพนักงานเพียง 830 คนก่อนเกิดการระบาด ด้านไฟเซอร์มีฐานธุรกิจตั้งแต่ปี 1849 ในปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 9.6 พันล้านดอลลาร์ และมีพนักงานเกือบ 80,000 คน

ส่วนผู้ผลิตยารายอื่นเช่น แอสตราเซเนก้า(AstraZeneca) ของอังกฤษ – สวีเดน และจอห์นสันแอนด์จอห์นาัน บริษัทยาของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำมั่นที่จะส่งมอบวัคซีนโควิด โดยไม่หวังผลกำไรจนกว่าการระบาดจะยุติลง

กระแสเงินตลาดจะยังสะพัดต่อไปหรือไม่ในอนาคต ขึ้นอยู่กับว่า วัคซีนโควิดจะฉีดเพียงครั้งเดียวเหมือนกับโรคหัด หรือจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิดเป็นประจำเหมือนไข้หวัดใหญ่ อยางไรก็ตามในอนาคตอันใกล้นี้ ก็ยังคว้าผลตอบแทนทางการเงินได้จำนวนมาก

เรามาดูกันว่าใครได้รับผลกำไรที่มากสุด – และผู้ถือหุ้นของบริษัทไหนโกยเงินกันบ้าง

ไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเท็ค(Pfizer/BioNTech)

ผลิตเอ็มอาร์เอเอ็นวัคซีน(mRNA vaccine)
วัคซีนของไฟเซอร์ที่ชื่อว่า Comirnaty พัฒนาโดยไบโอเอ็นเท็ค แห่งเยอรมนี โดยใช้เทคนิค mRNA คือ ฉีดพันธุกรรมโมเลกุลที่เรียกว่า mRNA เข้าไปในร่างกาย แล้วให้ร่างกายเป็นเครื่องจักรผลิตวัคซีนโปรตีนเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน และเป็นวัคซีนแรกที่ได้รับการรับรองให้ใช้แต่ต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิต่ำมาก (-70 องศาเซลเซียส) รัฐบาลหลายประเทศได้สั่งซื้อไปแล้วประมาณ 780 ล้านโดส ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา (200 ล้านโดสในราคา 3.9 พันล้านดอลลาร์) และคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป (300 ล้านโดส) ในขณะที่อีก 40 ล้านโดสจะส่งไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำผ่าน โครงการ Covax

การฉีดวัคซีนนี้สองโดสมีต้นทุนที่ราคา 39 ดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา หรือ 28 ปอนด์ และประมาณ 30 ยูโรในสหภาพยุโรป ทั้งนี้คาดว่าจะมียอดขายในปี 2021 ราว 15-30 พันล้านดอลลาร์

ไฟเซอร์ซึ่งแบ่งต้นทุนและอัตรากำไรเท่ากันกับ BioNTech คาดว่าจะมียอดขาย 15 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 จากข้อตกลงปัจจุบัน ตัวเลขสุดท้ายอาจสูงเป็น 2 เท่า เพราะไฟเซอร์กล่าวว่าสามารถส่งมอบได้ 2 พันล้านโดสในปีนี้ คาร์เตอร์ โกลด์ นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์คาดการณ์ว่าจะมียอดขาย 21.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2021 ส่วนปีหน้าจะมียอดขาย 8.6 พันล้านดอลลาร์และ 1.95 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 บนสมมติฐานในระยะต่อไปจะฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นไฟเซอร์เพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนราคาหุ้นไบโอเอ็นเท็คเพิ่มขึ้น 156%

ผู้ก่อตั้งไบโอเอ็นเท็ค สองสามีภรรยา อูกูร์ ซาฮิน และอุซเล็ม ตุเรซี ซึ่งเป็นดอกเตอร์ทั้งคู่ กลายเป็นเศรษฐีพันล้านในปีที่แล้ว หลังจากการค้นคว้าวิจัยวัคซีนมีความเป็นไปได้และการทำข้อตกลงกับไฟเซอร์ ส่งผลให้ราคาหุ้นสูงขึ้น

ที่มาภาพ : https://www.bangkokpost.com/world/2028395/pfizer-seeks-eu-vaccine-approval-as-oecd-sees-recovery-in-2021

โมเดอร์นา(Moderna)

ผลิตเอ็มอาร์เอเอ็นวัคซีน
วัคซีนที่ผลิตโดย บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของสหรัฐอเมริกาซึ่งตั้งอยู่ในแมสซาชูเซตส์รายนี้ ต้องเก็บไว้ที่อุณหภูมิติดลบ 20C องศา สหราชอาณาจักรได้สั่งซื้อแล้ว 17 ล้านโดสสหภาพยุโรปซื้อ 310 ล้านโดส พร้อมเงื่อนไขให้ซื้อเพิ่มได้อีก 150 ล้านโดสในปี 2022 ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯสั่งซื้อ 300 ล้านโดส ญี่ปุ่นซื้อ 50 ล้านโดส ต้นทุนการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาสองโดสอยู่ที่ 30 ดอลลาร์ในสหรัฐฯและ 36 ยูโรในสหภาพยุโรป

คาดว่าโมเดอร์นาจะมียอดขายในปี 2021 ราว 18-20 พันล้านดอลลาร์

โมเดอร์นาคาดว่าจะมียอดขายในปี 2021 จำนวน 18.4 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่จีนา หวัง นักวิเคราะห์ของบาร์เคลย์ประเมินยอดขายไว้ที่ 19.6 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ และ 12.2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 ส่วนนปี 2คาดยอดขายไว้ที่ 11.4 พันล้านดอลลาร์ บนสมมติว่าต้องฉีดสองเข็ม

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นโมเดอร์นาเพิ่มขึ้น 372%

กลุ่มนักลงทุนที่ให้การสนับสนุน บริษัทเมื่อเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2010 จะได้รับผลตอบแทนเป็นกอบเป็นกำ ผู้บริหารระดับสูงสเตฟาน บันเซล ผู้บริหารชาวฝรั่งเศสวัย 48 ปีถือหุ้น 9% รวมมูลค่าเกือบ 5 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน

ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-europe-guernsey-55828050

จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน(Johnson & Johnson)

ผลิตอะดีโนไวรัสวัคซีน(Adenovirus vaccine)
วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิดที่ใช้เพียงโดสเดียวตัวแรกของโลก ได้รับการพัฒนาโดยแจนเซ่น บริษัทลูกในเบลเยียม โดยใช้อะดีโนไวรัสสายพันธุ์ Ad26 ซึ่งเป็นไวรัสหวัดที่หายาก ได้รับการรับรองในสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์และสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นอุณหภูมิมาตรฐานได้อย่างน้อย 3 เดือน ทั้งนี้คำสั่งซื้อจำนวนมากมาจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักรซึ่งสั่งซื้อ 30 ล้านโดสและซื้อเพิ่มได้อีก 22 ล้านโดส สหภาพยุโรปซึ่งได้สูงสุด 400 ล้านโดสและประเทศสมาชิกโครงการ Covax อีก 500 ล้านโดส ตลอดทั้งปี 2022

คาดยอดขายของปี 2021 ไว้สูงถึง 10 พันล้านดอลลาร์

บริษัทฯตั้งเป้าที่จะส่งมอบอย่างน้อย 1 พันล้านโดสในปี นี้ซึ่งจะสร้างรายได้ 10 พันล้านดอลลาร์ รัฐบาลสหรัฐฯได้สั่งซื้อ 100 ล้านโดส และสามามารถซื้อเพิ่มอีก 200 ล้านโดส โดยจ่ายเงิน 10 ดอลลาร์ต่อการฉีดหนึ่งครั้ง

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเพิ่มขึ้น 7.7%

ที่มาภาพ: https://www.clickorlando.com/news/national/2021/01/14/1-jab-johnson-johnson-covid-19-vaccine-shows-promising-results/

แอสตราเซเนก้า(AstraZeneca)

ผลิตอะดีโนไวรัส เวกเตอร์ วัคซีน(Adenovirus vector vaccine)
วัคซีนที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด โดยใช้ไวรัสหวัดลิงชิมแปนซีและสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิตู้เย็นได้ วัคซีนเวกเตอร์ไวรัสใช้ไวรัสที่ไม่เป็นอันตรายในการส่งรหัสพันธุกรรมไปยังเซลล์ ได้คำสั่งซื้อจำนวนมากมาจากสหราชอาณาจักร 100 ล้านโดส สหภาพยุโรปซึ่งสูงถึง 400 ล้านโดส สหรัฐอเมริกา 300 ล้านโดส และญี่ปุ่น 120 ล้านปอนด์

คาดยอดขายของปี 2021 ไว้ที่ 2-3พันล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์ของ SVB Leerink คาดการณ์ยอดขาย 1.9 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้และ 3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2022 และตัวเลขปี 2021 อาจสูงกว่านี้มากหากแอสตราเซเนก้าบรรลุเป้าหมายซึ่งตั้งไว้สูงที่ 3 พันล้านโดส บริษัทฯได้ให้คำมั่นที่จะส่งมอบวัคซีนโดยไม่แสวงหาผลกำไรในช่วงการระบาด และคิดค่าวัคซีน 4.30-10 ดอลลาร์ สำหรับการฉีดสองโดส

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นแอสตราเซเนก้าลดลง 8.6%

ที่มาภาพ:
https://www.astrazeneca.com/media-centre/covid-19-media.html#imagetile

ซิโนแวค(Sinovac)

ผลิตวัคซีนจากเชื้อตาย(Inactivated virus vaccine)
วัคซีนโคโรนาแวค(CoronaVac) ได้มีการใช้ในกรณีฉุกเฉินในหลายเมืองของจีนตั้งแต่ฤดูร้อนที่แล้ว และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของจีน เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซิโนแวคซึ่งตั้งอยู่ในปักกิ่งได้ทำข้อตกลงกับบราซิล ชิลี สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่ในเดือนมกราคม ตุรกีและอินโดนีเซีย เริ่มรณรงค์การฉีดวัคซีนด้วยการ ซิโนแวคยังวางแผนที่จะส่งมอบวัคซีน 10 ล้านโดสให้กับประเทศสมาชิกโครงการ Covax

คาดยอดขายของปี 2021 ไว้หลายพันล้านดอลลาร์ แต่ยังไม่ชัดเจน

ซิโนแวคระบุว่า สามารถผลิตได้มากกว่า 1 พันล้านโดสในปีนี้ วัคซีนนี้มีราคาอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สำหรับการฉีด 2 ครั้งในบางเมืองของจีน ไบโอ ฟาร์มา(Bio Farma) ซึ่งเป็นพันธมิตรของซิโนแวคในอินโดนีเซียสั่งซื้ออย่างน้อย 40 ล้านโดสระบุว่า ราคาในอินโดนีเซียจะอยู่ที่ 27.20 ดอลลาร์สำหรับการฉีดสองเข็ม

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นซิโนแวคลดลง 21.6%

สถาบันกามาเลย่า/รัสเซีย ไดเร็ค อินเวสเม้นท์ฟันด์(Gamaleya Institute/Russian Direct Investment Fund)

ผลิตอะดีโนไวรัสวัคซีน
แม้ว่าจะยังไม่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรป แต่ฮังการี และสโลวาเกียได้ซื้อวัคซีนสปุตนิก V.(Sputnik V.) ของรัสเซีย โดยรวมแล้วมากกว่า 50 ประเทศรวมถึงอิหร่าน แอลจีเรียและเม็กซิโกที่ได้สั่งซื้อ นอกจากนี้แอสตราเซเนก้ากำลังทดสอบการฉีดวัคซีนแบบ 2 โดสร่วมกับสปุตนิก

คาดยอดขายของปี 2021 ยังไม่ชัดเจน แต่น่าจะหลายพันล้านดอลลาร์

ผู้พัฒนาวัคซีนกำลังเร่งที่จะผลิตสปุตนิกให้มากขึ้นในรัสเซีย แต่ RDIF ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติเปิดเผยกับไฟแนนเชี่ยลไทมส์เมื่อเดือนที่แล้วว่า ได้เซ็นสัญญากับผู้ผลิต 15 รายใน 10 ประเทศเพื่อผลิตวัคซีน 1.4 พันล้านโดส นอกจากนี้ผู้พัฒนาวัคซีนได้ระบุว่า ราคาวัคซีนสองโดสจะอยู่ที่ 20 ดอลลาร์หรือต่ำกว่านั้นสำหรับวัคซีนสองเข็มในต่างประเทศ แต่ให้ฟรีในรัสเซีย

ที่มาภาพ: https://news.cgtn.com/news/2021-02-07/What-is-behind-Russia-s-ambition-to-launch-Sputnik-V-globally–XGLUai9qQE/index.html

โนวาแวกซ์(Novavax)

ผลิตรีคอมบิแนนท์ โปรตีนวัคซีน(Recombinant protein vaccine)
วัคซีนของโนวาแวกซ์ใช้ชิ้นส่วนเล็กๆของสไปก์โปรตีนของไวรัสซาร์ส-โควี-2(Sars-CoV-2) ที่ผลิตในห้องปฏิบัติการ บริษัทสหรัฐฯรายนี้คาดว่าจะได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทได้ทำการวิจัยวัคซีนมากว่า 30 ปีและไม่เคยมีวัคซีนตัวไหนที่ได้รับการรับรองก่อนหน้านี้

บริษัทฯได้ตกลงที่จะส่งมอบวัคซีน 300 ล้านโดส ให้สหราชอาณาจักร (60 ล้านโดส) สหภาพยุโรป แคนาดาและออสเตรเลีย รวมทั้งคาดหวังว่าจะผลิตได้ 150 ล้านโดสต่อเดือน และคาดว่าจะมีราคาถูกกว่าคู่แข่ง ไฟแนนเชี่ยลไทมส์รายงานว่าบริษัทฯได้ตกลงที่คิดเงินเพียง3 ดอลลาร์สำหรับการฉีดวัคซีนในอัฟริกา

คาดยอดขายของปี 2021 หลายพันล้านดอลลาร์

จากข้อตกลงกับประเทศต่างๆ โนวาแวกซ์ระบุว่า “มีศักยภาพที่จะสร้างรายได้หลายพันล้านดอลลาร์ในอีก 12 เดือนข้างหน้า” ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากโนวาแวกซ์คาดว่าจะสามารถผลิตได้ 2 พันล้านโดสต่อปีภายในกลางปี ​​2021 ด้วยความร่วมมือกับสถาบันเซรุ่มอินเดีย (Serum Institute of India)

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นโนวาแวกซ์เพิ่มขึ้น 1,128%

ผลกำไรทางการเงินที่มากที่สุดจะตกเป็นของผู้จัดการกองทุน เช่น แวนการด์(Vanguard) และแบล็คร็อค(BlackRock) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด

ที่มาภาพ: https://www.fiercepharma.com/manufacturing/curevac-ties-up-wacker-to-churn-out-more-than-100m-doses-mrna-coronavirus-vaccine

เคียวร์แวค

ผลิตเอ็มอาร์เอเอ็นวัคซีน
เคียวร์แวค บริษัทจากเยอรมนีคาดว่าจะเผยแพร่ ผลทดสอบระยะสุดท้ายสำหรับวัคซีน CVnCov ในเดือนเมษายน และหวังว่าจะได้รับการอนุมัติจากสหภาพยุโรปภายในเดือนมิถุนายน สหภาพยุโรปได้สั่งซื้อล่วงหน้า 225 ล้านโดสพร้อมซื้อเพิ่มได้อีก 180 ล้านโดส ที่แตกต่างจากวัคซีน mRNA อื่นๆ คือ วัคซีนเคียวร์แวคสามารถเก็บไว้ที่อุณหภูมิตู้เย็นได้ เคียวร์แวคได้ร่วมกับจีเอสเค(GSK) ซึ่งถือหุ้นเกือบ 10% ในบริษัทฯพยายามที่จะพัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสที่กลายพันธ์หลายสายพันธ์ได้ในนึ่งโดส

คาดยอดขายของปี 2021 ยังไม่มีชัดเจน ราคายังไม่เปิดเผย แต่เป็นราคาที่ทำกำไรได้

บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพที่จดทะเบียนในตลาดแนสแด็กรายนี้ ตั้งเป้าที่จะผลิตได้มากถึง 300 ล้านโดสในปีนี้และ 600 ล้านถึง 1 พันล้านโดสในปี 2022 เคียวร์แวคกล่าวว่า วัคซีนของบริษัทฯใช้ส่วนผสมที่สารออกฤทธิ์น้อยกว่าคู่แข่ง แต่ยืนยันว่าไม่สามารถตั้งราคาในราคาทุนได้เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังผลตอบแทน

ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นเคียวร์แวคเพิ่มขึ้น 45.5%

ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดคือมหาเศรษฐีชาวเยอรมัน ดีทมาร์ ฮอปป์ ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัทซอฟต์แวร์ SAP ซึ่งถือหุ้นเคียวร์แวคมากกว่า 80% และตอนนี้มีมูลค่ามากกว่า 12 พันล้านเหรียญ

ที่มาภาพ: https://www.curevac.com/en/newsroom/downloads/