ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งลบโพสต์ธนาธร ‘วัคซีนพระราชทาน’ ” และ “นิวซีแลนด์ระงับสัมพันธ์เมียนมา”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ : “ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งลบโพสต์ธนาธร ‘วัคซีนพระราชทาน’ ” และ “นิวซีแลนด์ระงับสัมพันธ์เมียนมา”

13 กุมภาพันธ์ 2021


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 6-12 ก.พ. 2564

  • ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งให้ลบโพสต์ธนาธร ‘วัคซีนพระราชทาน’ ชี้ ไม่ชัดเจนว่ากระทบความมั่นคง
  • ป.ป.ช. ชี้มูล ‘ปารีณา’ ผิดจริยธรรมร้ายแรงหลายข้อ ส่งศาลฎีกาวินิจฉัย
  • อนุทิน ขอ “คนไม่มีความรู้ทางการแพทย์” สงบปากเรื่องวัคซีน ด้านทวีศิลป์ ชี้ ไทยได้วัคซีนช้าไม่เป็นไร เรามีหน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า
  • นายกฯ ยอมรับ มิน อ่อง หล่าย ส่งจดหมายหา ขอให้สนับสนุน ปชต. เมียนมา
  • นิวซีแลนด์ระงับสัมพันธ์เมียนมา ต้านรัฐประหาร

  • ศาลอาญาเพิกถอนคำสั่งให้ลบโพสต์ธนาธร ‘วัคซีนพระราชทาน’ ชี้ ไม่ชัดเจนว่ากระทบความมั่นคง

    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

    จากกรณีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่นร้องต่อศาลเมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 ขอให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่คลิปเฟซบุ๊กไลฟ์ของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เรื่องวัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย? ซึ่งถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กของธนาธร (เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564) โดยมีเนื้อหาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล และมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทางดีอีเอสจึงเห็นว่าอาจกระทบต่อความมั่นคง จึงยื่นคำร้องให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่

    หลังจากทางดีอีเอสยื่นคำร้องดังกล่าวแล้ว ศาลได้มีคำสั่งในวันที่ร้อง ให้ระงับการทำแพร่หลายซึ่งข้อมูลดังกล่าวในเฟซบุ๊ก ยูทูบ และเว็บไซต์ของคณะก้าวหน้า

    ต่อมาในวันที่ 1 ก.พ. 2564 นายธนาธรก็ได้ยื่นคำร้องคัดค้านและขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ศาลจึงนัดไต่สวนทั้งดีอีเอสและนายธนาธรในวันที่ 4 ก.พ. 2564 และมีคำสั่งอีกครั้งในวันที่ 8 ก.พ. 2564

    เมื่อถึงวันดังกล่าว ศาลมีคำสั่งใหม่ “ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การไต่สวนและมีคำสั่งของศาล ซึ่งย่อมจะมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 ม.ค. เป็นอันสิ้นผล”

    นั่นหมายความว่า นายธนาธรไม่มีความจำเป็นต้องลบคลิปบันทึกการถ่ายทอดสดดังกล่าวที่เผยแพร่ไว้ในช่องทางใดก็ตาม

    ทั้งนี้ การออกคำสั่งมาเพิกถอนคำสั่งเดิมดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากศาลพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนี้

    1. ศาลมีเหตุให้รับคำคัดค้านของผู้คัดค้านไว้พิจารณา เพราะการที่มีผู้ร้องแล้วออกคำสั่งโดยทันทีทั้งที่ไม่ได้มีการไต่สวนทั้งสองฝ่ายถือเป็นกระบวนการที่มิชอบ
    2. ในเมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยตามมาตรา 14(3) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา 20(1) และทำให้ไม่มีเหตุสมควรระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในเรื่องนี้
    3. เรื่องอำนาจของศาลในการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง เป็นคนละเรื่องกับการพิจารณาความรับผิดของบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญาเพราะใช้กระบวนการพิจารณาต่างกัน ซึ่งในชั้นนี้ไม่ต้องดำเนินการถึงขนาดนั้น การวินิจฉัยคดีนี้จึงไม่เป็นการวินิจฉัยว่าผู้ใดจะต้องรับผิดชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้องและศาลที่มีเขตอำนาจจัดได้พิจารณาต่างหากไป และเมื่อมีคำพิพากษาให้บุคคลรับผิดทางอาญาแล้ว จึงมีผลให้ศาลอาจสั่งระงับการทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 20(1)ประกอบมาตรา 14(3)ต่อไป
    4. รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ย่อมมีความหมายว่าห้ามหรือระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลเป็นข้อยกเว้น ในขณะที่การเผยแพร่ข้อมูลโดยเสรีเป็นหลัก การจำกัดสิทธิเสรีภาพต้องได้สัดส่วนกับความจำเป็น โดยต้องใช้มาตรการที่เป็นภาระน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐดังกล่าว และการตีความคำว่า “อาจกระทบต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา” ตามมาตรา 20(2) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามหลักการของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยข้างต้น จึงต้องตีความอย่างเคร่งครัดและเป็นภาวะวิสัย
    5. การพิจารณว่าข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาตอนหนึ่งตอนใด ดังจะเห็นจากข้อความที่ผู้คัดค้าน (ดีอีเอส) นำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นเรื่องการกล่าวหารัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน ในขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้นเป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อย และไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ นอกจากนี้ การกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด
    6. การกล่าวอ้างถึงคำถามของประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งอาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่าการกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่าความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง ด้วยลักษณะการนำพระมหากษัตริย์มาอ้างเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น
    7. การแปลความข้อความที่กล่าวว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงอันเป็นความผิดตามประมวกฎหมายอาญามาตรา 112 ต้องแปลความตามความหมายเท่าที่ปรากฏตามอักษรทั้งหมด ไม่พึงนำข้อมูลเฉพาะตัวของผู้คัดค้านซึ่งรวมถึงประวัติหรือแนวทางทางการเมืองมาพิจารณา เพราะคดีนี้มิใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน และจักต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด คือข้อความที่สมควรถูกห้ามนั้นต้องมีความชัดแจ้งที่จะเป็นความผิด

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — วัคซีนโควิด: ศาลเพิกถอนคำสั่งให้ลบโพสต์ธนาธรวิจารณ์เรื่องวัคซีนโควิด
    เว็บไซต์บีบีซีไทย — วัคซีนโควิด: เปิดคำสั่งศาลอาญา ทำไมจึงให้เพิกถอนคำสั่งลบโพสต์ธนาธรเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน”

    ป.ป.ช. ชี้มูล ‘ปารีณา’ ผิดจริยธรรมร้ายแรงหลายข้อ ส่งศาลฎีกาวินิจฉัย

    วันที่ 10 ก.พ. 2564 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงข่าวชี้มูลความผิด น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคพลังประชารัฐ กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณียึดถือ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบ

    โดย ป.ป.ช. ได้พิจารณาไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของปารีณาถือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรง และกรณีเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์ของการดำรงตำแหน่ง อันถือว่ามีลักษณะร้ายแรงตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 ข้อ 11 ข้อ 17 ประกอบ ข้อ 27 วรรคสอง ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยต่อไป

    ทั้งนี้ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องไปยัง ศาลฎีกาโดยตรง ไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุด

    และหากศาลฎีกาประทับรับฟ้อง ก็จะเป็นเหตุให้ปารีณาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทันที เว้นแต่ศาลจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่น

    นอกจากนี้ กรณีนี้ยังเป็นสำนวนแรกภายใต้กฎหมายใหม่ ตามมาตรา 235 ของรัฐธรรมนูญ และจะเป็นมาตรฐานใหม่ สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง

    #จริยธรรม
    เมื่อปปช ชี้มูลความผิด จริยธรรมร้ายแรง กรณีปารีณาถือครอง ภบท.5 ที่ดินประเภท สปก โดยแสดงไว้ในบัญชีทรัพย์สิน

    Posted by ปารีณา ไกรคุปต์ on Wednesday, February 10, 2021

    วันที่ 11 ก.พ. 2564 น.ส.ปารีณาได้โพสต์เฟซบุ๊กระบุเป็นความว่า ที่ดินอันเป็นเหตุให้ถูกชี้มูลนี้ ตนซื้อมาจากเกษตรกรรายอื่น โดยใช้ประกอบอาชีพสุจริตรวมทั้งเสียภาษีอย่างเปิดเผยและถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น ในเมื่อตนโดนชี้มูลเช่นนี้ หากมีนักการเมืองและข้าราชการคนใดเคยเสียภาษีประเภทเดียวกับตน ผู้นั้นก็ควรมีความผิดทางจริยธรรมเช่นกัน

    โดยน.ส.ปารีณาอ้างว่า เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าเช่นกัน ก็ควรถูกชี้มูลว่าทำผิดจริยธรรมร้ายแรงด้วย

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — ป.ป.ช.แถลงฟัน “ปารีณา” เปิดข้อมูลรุกป่ากว่า 700 ไร่ ผิดจริยธรรมร้ายแรง!
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — “ปารีณา” ยัน ที่ดินซื้อต่อมาจากเกษตรกร ชี้ “เสรีพิศุทธ์” ก็ควรถูกชี้มูลฯด้วย
    เว็บไซต์ข่าวสดออนไลน์ — เสรีพิศุทธ์ โดนแล้ว! ป่าไม้ ลุยแจ้งความ ท่าเทียบเรือบ้านพัก รุกล้ำลำน้ำ

    อนุทิน ขอ “คนไม่มีความรู้ทางการแพทย์” สงบปากเรื่องวัคซีน ด้านทวีศิลป์ ชี้ ไทยได้วัคซีนช้าไม่เป็นไร เรามีหน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า

    วันที่ 8 ก.พ. 2564 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงสถานการณ์การได้มาซึ่งวัคซีนโควิด-19 ของไทย โดยยืนยันเป็นความว่าการจัดหาวัคซีนของไทยนั้นไม่ได้ล่าช้า และคณะทำงานนั้นล้วนเป็นหมอ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่เอาคนใกล้ชิดนักการเมืองมาทำ และอะไรที่คณะกรรมการตัดสินใจไปนั้น ไม่ว่านายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีก็มาเปลี่ยนแปลงไม่ได้

    นอกจากนี้ อนุทินยังได้ตอบโต้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ด้วย โดยกล่าวช่วงหนึ่งว่า

    “คนที่ไม่ใช่แพทย์ ไม่ได้มีความรู้ทางการแพทย์ นะครับ อ่านข่าวนู้นทีอ่านข่าวนี้ทีแล้วก็มาประมวลแล้วก็มาทำเป็น ผู้ชำนาญ ผู้เชี่ยวชาญ มาบอกให้ทำนั่นทำนี่เนี่ย สงบปากสงบคำหน่อยครับ ไม่ได้ช่วยอะไรให้ประเทศนี้ดีขึ้นเลย ประเทศไทยผิดพลาดตรงไหน ไอ้ที่บอกว่าเชื่อผมเถอะครับต้องทำอย่างนู้น[ดูดเสียง]เป็นแพทย์รึเปล่า นะครับ ไปเชื่อ[ดูดเสียง]ได้ยังไง”

    อนุทิน ชาญวีรกูล
    รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
    ที่มา: “อนุทิน” จัดหนัก ขอคนวิจารณ์วัคซีน”สงบปาก” | เข้มข่าวค่ำ

    ขณะเดียวกัน นอกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว อีกคนหนึ่งที่กล่าวถึงเรื่องกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความล่าช้าของวัคซีนโควิด-19 ก็คือ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ที่ระบุในช่วงหนึ่งของการแถลงการณ์สถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า

    “วัคซีนจะมาช้าหรือเร็วแทบไม่ได้มีผลกับคนไทย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เรามีหน้ากากอนามัยและหน้ากากผ้าในการป้องกันอนามัยส่วนตัว ไม่ต้องเจ็บจากการฉีควัคซีน ใช้เงินน้อย ขอให้ใส่หน้ากากตลอดเวลาอยู่ในพื้นที่ชุมชน”

    ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน
    โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
    ที่มา: ‘หมอทวีศิลป์’ เผยโควิดทั่วโลกชะลอตัว แม่ค้าหมูติดเชื้อกลุ่มตลาดรถไฟ ยัน ‘อัมพวา’ ไม่น่าห่วง

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ PPTVHD36 — “อนุทิน” จัดหนัก ขอคนวิจารณ์วัคซีน”สงบปาก”
    เว็บไซต์ไทยโพสต์ — ‘หมอทวีศิลป์’ เผยโควิดทั่วโลกชะลอตัว แม่ค้าหมูติดเชื้อกลุ่มตลาดรถไฟ ยัน ‘อัมพวา’ ไม่น่าห่วง

    นายกฯ ยอมรับ มิน อ่อง หล่าย ส่งจดหมายหา ขอให้สนับสนุน ปชต. เมียนมา

    “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ส่งจดหมายส่วนตัวถึงผู้นำประเทศ โดยส่งมาให้ผมในนาม รมว.กลาโหม โดยขอให้ไทยสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา ซึ่งผมสนับสนุนอยู่แล้ว ในเรื่องบริหารและจัดการภายในก็เป็นเรื่องของท่าน ก็ยึดตามหลักอาเซียน”

    พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา
    นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
    ที่มา: “มิน อ่อง หล่าย” ส่ง จม.ถึงนายกฯ ขอไทยสนับสนุน ปชต.ในเมียนมา

    วันที่ 10 ก.พ. 2564 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยอมรับว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่อง หล่าย ผ้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ผู้ก่อการรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 ได้ส่งจดหมายหาตนจริง

    ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุว่าจดหมายดังกล่าวเป็นการส่งถึงตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเนื้อหาโดยสรุปคือขอให้ไทยสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา และไม่ได้มีการตอบจดหมายแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นจดหมายชี้แจงกระบวนการประชาธิปไตยของทางเมียนมา ซึ่งนายกฯ ระบุว่าตนก็สนับสนุนอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการบริหารจัดการภายในนั้นก็เป็นเรื่องของทางเมียนมา

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซไทยพีบีเอส — “มิน อ่อง หล่าย” ส่ง จม.ถึงนายกฯ ขอไทยสนับสนุน ปชต.ในเมียนมา

    นิวซีแลนด์ระงับสัมพันธ์เมียนมา ต้านรัฐประหาร

    “จาซินดา อาร์เดิร์น” นายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์ ได้ประกาศระงับความสัมพันธ์ทางการทูตระดับสูงกับรัฐบาลทหารเมียนมา ทำให้นิวซีแลนด์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ตัดสัมพันธ์กับเมียนมา เพื่อต่อต้านการรัฐประหารครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น

    “การส่งสารของเราในสิ่งที่เราสามารถทำได้ และหนึ่งในเรื่องที่เราจะทำ คือการระงับการเจรจาระดับสูง และสร้างความมั่นใจว่างบประมาณทุกๆ อย่างของเราที่ให้กับเมียนมาจะไม่ใช่เป็นการส่งเสริมหรือให้ประโยชน์กับรัฐบาลทหารเมียนมา”

    จาซินดา อาร์เดิร์น
    นายกรัฐมนตรีประเทศนิวซีแลนด์
    ที่มา: นิวซีแลนด์ ไม่เอารัฐประหาร ประกาศระงับสัมพันธ์กับ รบ.ทหารเมียนมาแล้ว

    ที่มาภาพ: Av New Zealand Government, Office of the Governor-General – https://gg.govt.nz/image-galleries/8892/media?page=8, CC BY 4.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=95954418

    นอกจากนี้ รัฐบาลนิวซีแลนด์ยังเห็นพ้องที่จะสั่งห้ามการเดินทางเข้ามาในนิวซีแลนด์ของคณะผู้นำทางทหารเมียนมา แต่เรื่องนี้จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในสัปดาห์ต่อไป

    อ่านเพิ่มเติม
    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ — นิวซีแลนด์ ไม่เอารัฐประหาร ประกาศระงับสัมพันธ์กับ รบ.ทหารเมียนมาแล้ว