ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup มาเลเซียปฏิรูปนโยบายมุ่งเป้าศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค

ASEAN Roundup มาเลเซียปฏิรูปนโยบายมุ่งเป้าศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค

25 เมษายน 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 18-24 เมษายน 2564

  • มาเลเซียปฏิรูปนโยบายลงทุนมุ่งเป้าศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค
  • มาเลเซียจับมือไมโครซอฟท์ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ภูมิภาคแห่งแรก
  • เวียดนามจ่อขึ้นมหาอำนาจด้านพลังงานหมุนเวียน
  • เวียดนามจะเก็บภาษีอะลูมิเนียมจีนตอบโต้การทุ่มตลาด
  • โฮจิมินห์ค่าครองชีพถูกกว่าเมืองอื่นในอาเซียน
  • ไทยอนุมัติสัมปทานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ 15 ปี
  • มาเลเซียปฏิรูปนโยบายลงทุนตั้งเป้าศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาค

    ที่มาภาพ: FB เพจกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม มาเลเซีย (https://www.facebook.com/MITIMalaysia/photos/a.787238944624021/4449125478435331/)

    ในวันที่ 21 เมษายน 2564 คณะรัฐมนตรีมาเลเซียได้ให้ความเห็นชอบกับความริเริ่มการลงทุนของประเทศ หรือ National Investment Aspirations (NIA) ซึ่งเป็นกรอบการมองไปข้างหน้าเพื่อการเติบโตที่จะเป็นพื้นฐานสำหรับการปฏิรูปนโยบายการลงทุนของมาเลเซียอย่างครอบคลุม ที่สำคัญคือ NIA จะมุ่งเน้นไปที่การเชื่อมโยงกันและความสอดคล้อง โดย NIA เป็นไปตามที่ระบุไว้ในนโยบายระดับชาติทั้งหมดที่จัดทำไว้ และ NIA เกี่ยวข้องกับการลงทุนรวมถึงแผนแม่บทอุตสาหกรรมฉบับที่ 4 และแผนมาเลเซียฉบับที่ 12

    ในการติดตามทบทวนและการปฏิรูปนโยบายการลงทุน NIA ยังได้รับการกำหนดทิศทางจากวิสัยทัศน์ Shared Prosperity Vision (SPV) 2030 อีกด้วย NIA จัดทำขึ้นจากการให้ความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ครบถ้วน และได้คำนึงถึงมุมมองและข้อเสนอแนะจากกระทรวงและหน่วยงานรัฐบาล บริษัทที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล (GLCs) และบริษัทการลงทุนที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล (GLICs) ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรวิจัยและนักวิชาการ

    รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (MITI) ดาโต๊ะ สรี โมฮัมหมัด อัสมีน อาลี ย้ำในแถลงการณ์ว่า NIA จะเป็นศูนย์กลางในการฟื้นฟูบรรยากาศการลงทุนของมาเลเซีย ดึงดูดการลงทุนคุณภาพสูงเข้ามาในประเทศ และสร้างงานที่มีรายได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังโควิด นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงบทบาทผู้นำของ MITI ที่ถือว่าเป็นหัวหอกในการดำเนินการระดับชาติเพื่อทบทวนนโยบายและปรับโครงสร้างกลยุทธ์การลงทุนของประเทศ ตามเป้าหมายของ NIA โดยตัวชี้วัด 5 ข้อที่กำหนดกรอบ NIA จะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และทำให้แน่ใจว่า มาเลเซียยังคงเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนซึ่งเป็นที่ต้องการ

    NIA จะเป็นรากฐานให้มาเลเซียกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนในภูมิภาคซึ่งจะ

    1) เพิ่มความหลากหลายและความซับซ้อนทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ซับซ้อน ด้วยการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมระดับสูงในประเทศ
    2) สร้างงานที่มีทักษะสูงเพื่อสร้างรายได้ที่ดีขึ้นให้กับประชาชน
    3) ขยายและผนวกการเชื่อมโยงภายในประเทศเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและระดับโลกและเสริมความสามารถในการปรับตัว
    4) พัฒนาคลัสเตอร์ใหม่และที่มีอยู่ โดยมุ่งเน้นไปที่ภาคการผลิตสูงรวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการในท้องถิ่น
    5) ยกระดับการเข้าถึงเพื่อนำไปสู่วาระการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    ในอนาคตมาเลเซียจะต้องใช้แนวทางที่ครอบคลุมในการเสริมสร้างระบบนิเวศการลงทุน และตอบสนองอย่างเพียงพอต่อกระแสเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นใหม่ ตลอดจนความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของนักลงทุนของเรา รัฐมนตรีอาวุโสกล่าวเพิ่มเติม “มาเลเซียต้องก้าวขึ้นสู่ความท้าทายนี้ โดยการตอกย้ำคุณค่าที่เป็นเอกลักษณ์ของเราอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมองค์ประกอบต่างๆ มากมาย เช่น สิ่งจูงใจ การอำนวยความสะดวกความสามารถ โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนกลไกทางกฎหมาย กฎระเบียบ ขั้นตอนและกลไกของสถาบัน”

    “เพื่อให้เกิดการกระจายและการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ซับซ้อนมากขึ้น ควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมระบบภาษีและสิ่งจูงใจที่แข็งแกร่งและมีพลวัต การพัฒนากลุ่มคนที่มีความสามารถของเรา โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงกรอบการออกใบอนุญาตและกฎระเบียบ และการเพิ่มองค์ประกอบด้านการอำนวยความสะดวก เช่น พิธีการศุลกากร” รัฐมนตรีอาวุโสและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศกล่าว

    NIA ยังตระหนักถึงบทบาทสำคัญของกลยุทธ์การส่งเสริมการลงทุนในการดึงดูดการลงทุนที่มีคุณภาพ NIA จะวางนโยบายและข้อกำหนดที่ไม่ใช่นโยบาย ที่ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การส่งเสริมการลงทุนและการอำนวยความสะดวกที่ตรงเป้าหมายและที่เกี่ยวข้อง และมีประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งเป็นหลักสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่า การลงทุนในภาคธุรกิจที่มีลำดับความสำคัญที่กำหนดไว้ จะสามารถไหลเข้าสู่ประเทศได้และส่งผลให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจเชิงบวก

    NIA มุ่งเน้นไปที่ความทั่วถึงและความยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เนื่องจากการลงทุนใหม่ที่ยึดโยงกับองค์ประกอบเหล่านี้ จะขับเคลื่อนการเติบโตในภาคส่วนที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี รวมทั้งเสริมสร้างการเชื่อมโยงไปข้างหน้าและข้างหลัง นอกจากนี้ยังเป็นช่องทางให้นักลงทุนเข้าถึงโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วซึ่งยึดความยั่งยืนเป็นหลักตลอดห่วงโซ่คุณค่า

    NIA จึงคำนึงถึงความสนใจของทั่วโลกที่มีศูนย์กลางที่ความเป็นกลางของคาร์บอน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินต์

    นอกจากนี้ NIA จะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนสถาบันที่มีอยู่ เนื่องจากมีการกำหนดให้มีการจัดตั้งสภาการลงทุนแห่งชาติ (National Investment Council) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน สมาชิกของสภาการลงทุนแห่งชาติจะรวมถึงกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจน GLC และ GLIC ที่นำโดย Khazanah Nasional (กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ) และยังอาจขยายการเป็นสมาชิกไปยังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง สภานี้จะรับผิดชอบในการกำหนดนโยบายการลงทุนที่ครอบคลุม และการแก้ไขปัญหาการดำเนินการที่สำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการทั้งหมดของรัฐบาลเกี่ยวข้องกับการลงทุน เพื่อการลงทุน

    ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปสถาบันและเพื่อให้สอดคล้องกับหน้าที่ของ NIA เพื่อให้นโยบายมีความสอดคล้องกันมากขึ้น ดังนั้นจะมีการเสริมบทบาทของหน่วยงานพัฒนาการลงทุนแห่งมาเลเซีย (Malaysia Investment Development Authority: MIDA) ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยจะมีบทบาทในฐานะหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนกลางที่ประสานงานและเป็นศูนย์กลางครบวงจรสำหรับการลงทุนที่มีศักยภาพ MIDA จะทำงานร่วมกับหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมจุดแข็งในการแข่งขันของแต่ละรัฐในมาเลเซีย

    ในระยะยาว NIA จะสนับสนุนการลงทุนที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเติบโตใหม่ที่อาจซับซ้อน ส่งเสริมนวัตกรรมและความซับซ้อน สร้างโอกาสในการทำงานที่มากขึ้น และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและธุรกิจในมาเลเซีย เนื่องจากเรายังคงสามารถแข่งขันได้ และเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจในภูมิภาค

    มาเลเซียจับมือไมโครซอฟท์ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ภูมิภาคแห่งแรก

    ที่มาภาพ: https://www.propertyhunter.com.my/news/2014/11/1217/west-malaysia/talks-on-setting-up-microsoft-data-centre-in-johor-ongoing
    รัฐบาลได้ ประกาศความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ภายใต้โครงการ Bersama Malaysia ซึ่งจะทำให้เกิดการก่อตั้งศูนย์ข้อมูล (data center) แห่งแรกของไมโครซอฟท์ประจำภูมิภาคในมาเลเซีย และเป็นศูนย์ที่สามารถขยายได้อย่างไม่จำกัด

    ในแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี ตัน สรี มุห์ยิดดิน ยัสซิน กล่าวว่า โครงการริเริ่มนี้จะเห็นการลงทุนจำนวน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (4 พันล้านริงกิต) ในช่วง 5 ปีข้างหน้า

    โดยดาต้า เซ็นเตอร์ภูมิภาคของไมโครซอฟท์จะประกอบด้วยดาต้าเซ็นเตอร์หลายแห่งที่มีประสิทธิภาพในการจัดการข้อมูลจากประเทศต่างๆ

    “จากข้อมูลของ International Data Corporation การลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ประจำภูมิภาคที่สร้างแรงกระเพื่อมในวันนี้สามารถเแปลงเป็นรายได้ 6.90 ดอลลาร์สหรัฐในระบบคลาวด์ในประเทศสำหรับทุกๆ 1 ดอลลาร์สหรัฐของรายได้ธุรกิจคลาวด์ของมาเลเซียภายในปี 2567

    “และคาดว่าจะช่วยสร้างงาน 19,000 ตำแหน่ง รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับไอที 4,000 ตำแหน่งในกลุ่มผู้ใช้ระบบคลาวด์” นายกรัฐมนตรีกล่าว

    นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังแสดงความยินดีที่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเกิดขึ้นจากไมโครซอฟท์และพันธมิตร ซึ่งรวมถึง Malaysian Administrative Modernisation and Management Planning Unit ของมาเลเซีย, กองทุนพัฒนาทรัพยากรบุคคล (HRDF), ปิโตรนาส, เซลคอม และ Grab

    ความร่วมมือของพันธมิตรเหล่านี้คาดว่าจะสามารถช่วยยกระดับทักษะชาวมาเลเซียได้มากถึงหนึ่งล้านคนภายในปี 2566 Muhyiddin กล่าว

    ไมโครซอฟท์และมาเลเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในวันที่ 19 เมษายน

    “การลงทุนครั้งสำคัญจากไมโครซอฟท์นี้ช่วยเสริมสถานะของมาเลเซียในฐานะศูนย์กลางของดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคที่มีศักยภาพ และเราพร้อมที่จะต้อนรับความร่วมมือดังกล่าวมากขึ้น เพราะเราทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา เพื่อยกระดับคุณค่าของมาเลเซียในตลาดบิ๊กดาต้าอย่างต่อเนื่อง” เขากล่าว

    ความร่วมมือนี้สอดคล้องกับโครงการริเริ่ม MyDigital ของมาเลเซียและแผนแม่บทเซราฐกิจดิจิทัล (Malaysia Digital Economy Blueprint) ซึ่งประกาศในเดือนกุมภาพันธ์ 2564

    ภายใต้แผน รัฐบาลได้ระบุว่า ได้ให้การอนุมัติแบบมีเงื่อนไขแก่ผู้ให้บริการคลาวด์ 4 ราย คือ ไมโครซอฟท์ แอมะซอน กูเกิล และเทเลคอมมาเลเซีย บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของประเทศ

    ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้ให้บริการคลาวด์เหล่านี้จะลงทุนระหว่าง 12 พันล้านริงกิตถึง 15,000 ล้านริงกิตในอีก 5 ปีข้างหน้า

    เวียดนามจ่อขึ้นมหาอำนาจด้านพลังงานหมุนเวียน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-can-become-renewable-energy-superpower-4267285.html

    เวียดนามลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 7.4 พันล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว ส่งผลให้ติดอันดับที่ 8 ของประเทศที่มีการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนทั่วโลก

    Weert Börner รองเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำเวียดนามกล่าว ในงานสัมมนา “Energy in Transition — Powering Tomorrow” ซึ่งจัดโดยสถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและหน่วยงานพัฒนาของเยอรมัน Deutsche Gesellschaft für Internationale Zusammenarbeit (GIZ) ว่า เวียดนามมีศักยภาพที่จะเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานหมุนเวียน

    Börnerกล่าวว่า จีนเป็นประเทศผู้นำในการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนในปี 2563 โดยมีมูลค่า 83,600 ล้านดอลลาร์ ตามมาด้วยสหรัฐฯ ที่มีมูลค่า 49.3 พันล้านดอลลาร์

    เวียดนามติดอันดับที่ 8 ด้วยมูลค่าลงทุน 7.4 พันล้านดอลลาร์ นำหน้าฝรั่งเศส และเยอรมนี

    Börner กล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเวียดนามจะกลายเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานหมุนเวียนในอนาคต โดยผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ลมและพลังงานชีวมวล

    เหงียน ดุ๊ก เฮียน รองประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจกลาง (Central Economic Committee) ยืนยันว่า เวียดนามมีเป้าหมายการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนและการปกป้องสิ่งแวดล้อมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    เวียดนามมีแผนที่จะมีพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 25-30% ของการผลิตพลังงานทั้งหมดภายในปี 2588

    ผู้เชี่ยวชาญชาวเยอรมันระบุ 6 ข้อดีของการเปลี่ยนการผลิตพลังงานไปยังแหล่งพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ ทำให้มั่นใจได้ถึงความมั่นคงด้านพลังงานเนื่องจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนจะไม่หมดลง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ สร้างงาน ส่งเสริมนวัตกรรมและการสร้างในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่า

    การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของเวียดนามในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 181% เมื่อเทียบเป็นรายปีเป็น 7.79 พันล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง คิดเป็น 13% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด รองจากพลังงานถ่านหินเกือบ 50% และไฟฟ้าพลังน้ำ 23% ตามรายงานล่าสุดของการไฟฟ้าแห่งชาติเวียดนาม

    เวียดนามจะเก็บภาษีอะลูมิเนียมจีนตอบโต้การทุ่มตลาด

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/vietnam-ups-anti-dumping-duties-on-chinese-aluminium-4267190.html

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระบุว่า เวียดนามจะเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด 4.39-35.58% สำหรับผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมที่นำเข้าจากจีน เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ 25 เมษายน 2564 โดยจะใช้ภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด กับอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัดบางชนิดที่ผลิตโดยบริษัทจีน 18 แห่ง ทั้งนี้ อัตราภาษีที่จะเก็บขึ้นอยู่กับผู้ผลิตจีนแต่ละราย

    ในเดือนตุลาคม 2562 กระทรวงได้เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด 2.49-35.58% สำหรับผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมของ บริษัทจีน 16 แห่ง

    ข้อมูลของกระทรวงระบุว่า การทุ่มตลาดของบริษัทจีนได้ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตอะลูมิเนียมในประเทศอย่างมาก ซึ่งบางรายต้องหยุดการผลิตและเลิกจ้างคนงานจำนวนมาก

    ในบางกรณีอะลูมิเนียมซึ่งถูกประเทศอื่นๆ กีดกันด้วยมาตรการกีดกันทางการค้า หรือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดถูกขายในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

    ปริมาณอะลูมิเนียมเส้นหน้าตัดของจีนที่นำเข้ามาในเวียดนาม ไม่รวมปริมาณที่นำเข้าสู่เขตเศรษฐกิจเพื่อแปรรูปเพื่อการส่งออกสูงถึง 62,000 ตันในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของปี 2560

    ก่อนหน้านี้กระทรวงฯ ได้เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมจากจีนเป็นเวลาหนึ่งปี และได้เริ่มทบทวนมาตรการดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน 2563 และตัดสินใจแก้ไขเพิ่มเติมในเดือนนี้

    โฮจิมินห์ค่าครองชีพถูกกว่าเมืองอื่นในอาเซียน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/travel/places/hcmc-living-costs-cheaper-than-many-southeast-asia-peers-4267246.html

    โฮจิมินห์ซิตี้ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามมีค่าครองชีพที่ถูกที่สุดเป็นอันดับสองในบรรดา 6 เมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากที่รวบรวมโดย iPrice Group

    ค่าครองชีพเฉลี่ยต่อเดือนรวมถึงค่าเช่า อาหาร ค่าเดินทางและสาธารณูปโภคอื่นๆ สำหรับคนโสดในโฮจิมินห์อยู่ที่ 39,608 เปโซฟิลิปปินส์หรือ 819 ดอลลาร์ ตามข้อมูลที่รวบรวมใน 6 เมืองภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับความนิยม

    กัวลาลัมเปอร์เป็นจุดหมายปลายทางที่ถูกที่สุดโดยมีค่าครองชีพรายเดือนอยู่ที่ 38,314 เปโซ หรือ 792 ดอลลาร์

    สิงคโปร์มีค่าครองชีพแพงที่สุดอยู่ที่ 119,732 เปโซ หรือ 2,474 ดอลลาร์ ตามมาด้วยกรุงเทพฯ มะนิลา และจาการ์ตา

    “มีช่องว่างอยู่มาก ของค่าใช้จ่ายโดยรวมของชาวฟิลิปปินส์ที่อาศัยอยู่ในมะนิลาและเพื่อนบ้านในอาเซียนกับ” สภาพเศรษฐกิจที่เทียบเคียงกันได้ “รายงานระบุ

    โฮจิมินห์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คน 13 ล้านคน รวมถึงผู้ที่โยกย้ายมา และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเวียดนาม โดยมีตึกระฟ้าที่ทันสมัย มีอาคารยุคอาณานิคมของฝรั่งเศส และโบราณวัตถุจากสงคราม

    ในปีที่แล้วจากข้อมูลของทางการ มีชาวต่างชาติราว 90,000 คนอาศัยและทำงานในเวียดนาม โดยส่วนใหญ่อยู่ในฮานอยและโฮจิมินห์เมื่อปีที่แล้วตามข้อมูลของทางการ

    โฮจิมินห์ซิตีติดอันดับ 10 จุดหมายปลายทางราคาประหยัดที่สุด สำหรับชาวต่างชาติชาวอเมริกัน โดยมีค่าใช้จ่ายรายเดือนโดยทั่วไปอยู่ที่ 462.62 ดอลลาร์ต่อคน จากการสำรวจของ InterNations ที่เผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว

    อนุมัติสัมปทานศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ 15 ปี

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
    ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

    นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 20 เมษายน ได้อนุมัติหลักการโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย พร้อมให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost เฉพาะในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) ทั้งหมด และมีการให้สิทธิในทรัพย์สินของโครงการฯ ในรูปแบบ Build-Operate-Transfer (BOT) เพื่อให้ภาคเอกชนเปิดให้บริการโครงการฯ อย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2565 ระยะเวลาสัมปทาน 15 ปี รวมทั้งอนุมัติค่างานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระยะที่ 2 วงเงิน 660.43 ล้านบาท

    ซึ่งเป็นการก่อสร้างขยายในส่วนพื้นที่ปฏิบัติงาน เช่น อาคารเปลี่ยนถ่ายและบรรจุสินค้า และลานกองเก็บตู้สินค้า เป็นต้น เพื่อรองรับเส้นทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568 และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจำนวนเงิน 34.22 ล้านบาท และวงเงินหลักประกันตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้อง จำนวน 200,000 บาท

    ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 อนุมัติในหลักการให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ดำเนินโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นสถานีปรับเปลี่ยนการขนส่งระหว่างประเทศไปสู่ภายในประเทศ รวมถึงเชื่อมต่อระบบการขนส่งจากถนนไปสู่ทางรถไฟ โดยเป็นศูนย์ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ที่สามารถดำเนินพิธีการที่เกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกได้ในจุดเดียว โดยตั้งอยู่บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (ข้ามแม่น้ำโขง) แห่งที่ 4 ประชิดด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงรายฝั่งเหนือ เนื้อที่รวมประมาณ 335 ไร่

    โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 ได้ดำเนินการเสร็จแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ซึ่ง จะเปิดให้บริการภายในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยกรมการขนส่งทางบกจะเป็นผู้ดำเนินการไปก่อนในระหว่างรอการคัดเลือกเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน เพื่อเปิดให้บริการอย่าเต็มรูปแบบโดยภาคเอกชนในช่วงปี 2565 สำหรับการก่อสร้างระยะที่ 2 จะเริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566 และเปิดให้บริการในปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการเปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ต่อไป