ThaiPublica > บล็อก > หนึ่งวันในห้องข่าว ProPublica

หนึ่งวันในห้องข่าว ProPublica

28 ตุลาคม 2013


สฤณี อาชวานันทกุล รายงานจากนิวยอร์ก ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา 7 สัปดาห์ในโครงการ Eisenhower Fellowships : 2013 Southeast Asia Regional Program

นิวยอร์ก ซิตี้ : 15/10/2013
วันที่สิบเจ็ด

วันนี้นับว่าเป็นไฮไลท์วันหนึ่งในทั้งโปรแกรม เพราะมาพบกับทีมงาน ProPublica เว็บข่าวเจาะในดวงใจ และแรงบันดาลใจเบื้องหลังการก่อตั้ง ThaiPublica

ผู้เขียนใช้เวลาเกือบห้าชั่วโมงที่นี่ พูดง่ายๆ ว่ามาขลุกอยู่กับเขาเลยทีเดียว ได้คุยกับทีมงานหลายคน ตั้งแต่ผู้ก่อตั้งไปจนถึงทีมงาน ได้คุยกับประธานกรรมการ ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุน จนถึง “นักข่าวข้อมูล” (data journalists) ในดวงใจอย่าง สก็อตต์ ไคลน์ (Scott Klein) กับ ซิซี เหว่ย (Sisi Wei)

ต้องขอบคุณ มาร์ค ชูฟ (Mark Schoof) บรรณาธิการอาวุโสของที่นี่เป็นอย่างสูง นอกจากเขาจะพาผู้เขียนไปแนะนำทุกคนในห้องข่าวและพาไปกินอาหารกลางวันอร่อยๆ (ที่ร้านแซนด์วิชแถวนั้น ชื่อ FIKA Espresso Bar ซึ่งขายดีจนมีหลายสาขาแล้ว) ยังให้เกียรติให้ผู้เขียนเข้าร่วมประชุมห้องข่าวของ ProPublica ซึ่งที่นี่มีทุกวันอังคารเช้า

ผู้เขียนรายงานไม่ได้ว่าในการประชุมทีมเขาคุยอะไรกันบ้าง เพราะเขาถกกันเรื่องแผนการตีพิมพ์ซีรีส์ข่าวในอนาคต ฉะนั้นเขาขอให้เก็บเป็นความลับ แต่มีข้อสังเกตกระบวนการทำงานดังต่อไปนี้ –

1. การประชุมนี้ทุกคนเข้าร่วม ไม่เกี่ยงว่าเป็นนักข่าว นักข้อมูล กราฟฟิกดีไซเนอร์ หรือทำหน้าที่อื่น หลังจบการประชุม ซิซีเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า ที่นี่เขาถือว่าทุกคนเป็น “นักข่าว” หมด แม้เป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ก็ต้องเข้าร่วมประชุมทีมด้วย จะได้เข้าใจประเด็นและแนะวิธีนำเสนอประเด็นได้เลย ผู้เขียนถามว่าหน้าที่ของ “นักข่าวข้อมูล” (ซิซีเขียนโค้ดเป็นด้วย ไม่ใช่เขียนหนังสือเป็นอย่างเดียว) อย่างเธอคืออะไร ซิซีตอบว่าเธอทำตั้งแต่รายงานข่าว เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล ออกแบบและโค้ดแอพ ซีรีส์ส่วนใหญ่ของที่นี่ทำกันเป็นทีม ตัวอย่างเช่น Dollars for Docs ทำงานร่วมกัน 5 คน ในฐานะนักข่าวเธอสามารถเสนอประเด็นที่อยากเจาะต่อกองบรรณาธิการได้ ส่วนในฐานะนักข้อมูลเธอช่วยนักข่าวคนอื่นวิเคราะห์ข้อมูล พัฒนาแอพ หรืออินเทอร์แอคทีฟประกอบข่าว

2. ทุกคนในห้องได้รับแจกชีท สรุปซีรีส์ข่าวที่แต่ละทีมกำลังทำ เรียงลำดับจากก่อน (“สัปดาห์นี้”) ไปหลัง (“เดือนหน้า”) แต่ละซีรีส์แสดงข้อมูลในตาราง แบ่งข้อมูลเป็นช่อง “ประเภท” (“แอพพลิเคชั่น” หรือ “อินเทอร์แอ็กทีฟ” – และใส่ชื่อนักข่าวข้อมูลที่รับผิดชอบ บางซีรีส์ก็ไม่มีทั้งแอพหรืออินเทอร์แอ็กทีฟ แสดงบนเว็บอย่างเดียว) “พันธมิตร” (ใส่ชื่อสื่อกระแสหลัก เช่น New York Times ที่ตกลงจะตีพิมพ์ซีรีส์นี้พร้อมกับ ProPublica) และ “คอมเม้นท์” (ตรงนี้ใส่ข้อควรระวัง เช่น รอเช็คข้อมูลเพิ่มเติมกับหน่วยงานราชการ ฯลฯ)

3. การประชุมของเขามีประสิทธิภาพสูงมาก ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ หลักๆ เป็นการไล่กำหนดการตีพิมพ์ข่าวเจาะแต่ละซีรีส์ว่าทันเวลาหรือไม่อย่างไร มีปัญหาตรงไหนบ้าง หลังจากนั้นบรรณาธิการอาวุโสและบรรณาธิการ (มีทั้งหมด 5 คน) ประชุมกองบรรณาธิการกันต่อ ผู้เขียนเกรงใจก็เลยขอตัวออกมาคุยกับนักข่าวข้างนอก เพราะดูท่าจะลับกว่าประชุมทีมเมื่อกี้

newsroom propublica
ออฟฟิศ propublica

ผู้เขียนออกมาคุยกับทีม “แอพพลิเคชั่นข่าว” (หมายถึงนักข่าวข้อมูลทั้งหลาย คือโค้ดเป็นทุกคน) ข้างนอก รู้สึกดีใจแกมประหลาดใจที่สก็อตต์ หัวหน้าทีมนี้ บอกว่าเขาชอบอินโฟกราฟิกส์ของไทยพับลิก้าเรื่อง“ภาษีเรา เอาไปทำอะไร?” ชมว่าไอเดียดี ผู้เขียนตอบว่ามันยังไม่สมบูรณ์ ต้องปรับปรุงอีกเยอะ ลองผิดลองถูกกันอยู่ เขาบอกว่าไม่เป็นไร ยิ่งทำยิ่งมีประสบการณ์ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ

คนแรกในทีมที่ผู้เขียนมีโอกาสนั่งคุยยาวๆ ด้วยคือเดบบี้ ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุนของ ProPublica ผู้เขียนถามว่า สังเกตว่าหลังๆ มานี้ ProPublica จับมือเป็น “พันธมิตร” กับสื่อกระแสหลักหลายสิบค่าย ตั้งแต่ New York Times, NPR, CNN, 60 Minutes, Newsweek, Washington Post, This American Life, Slate, ฯลฯ ซึ่งก็ดีมากเพราะทำให้ซีรีส์ข่าวเจาะของ ProPublica เข้าถึงมวลชนและทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น อยากรู้ว่าลักษณะความร่วมมือกันคืออะไร สื่อเหล่านี้จ่ายค่าตอบแทน ProPublica หรือไม่

เด็บบี้ตอบว่าไม่จ่าย ส่วนใหญ่ข่าวที่ทำกับ “พันธมิตร” นั้นนักข่าวของ ProPublica ทำข่าวเองเกือบทั้งหมด สื่อพันธมิตรเพียงแต่มาเรียบเรียงในบางกรณี และ/หรือเพิ่มเนื้อหาที่สะท้อนประเด็นระดับท้องถิ่นในพื้นที่ของตัวเอง (“add local flavor”) มีบ้างเหมือนกันที่นักข่าว ProPublica จับมือทำงานกับนักข่าวของสื่อพันธมิตรตั้งแต่ต้น แต่กรณีแบบนี้มีน้อยมาก

ผู้เขียนถามว่า โมเดลการหารายได้ของ ProPublica ประกาศชัดเจนว่าเป็น “nonprofit” คือเป็นองค์กรข่าวแบบไม่แสวงกำไร ได้เงินปีละ $10 ล้านจาก Herbert Sandler เศรษฐีที่ปวารณาว่าจะบริจาคเงินให้เท่านี้ทุกปี มีความท้าทายในการระดมทุนบ้างไหม เดบบี้ตอบทันทีว่ามีสิ เพราะค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นปีละไม่ต่ำกว่า $1 ล้าน แปลว่าต้องหาทุนเพิ่มจากผู้บริจาครายใหม่ แถมต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้รายเก่าบริจาคต่อ

ความท้าทายเรื่องหนึ่งคือ ProPublica เป็นสำนักข่าว ไม่ใช่โรงพยาบาล วงออเคสตร้า หรือโรงเรียน ซึ่งล้วนเป็นกิจการที่เศรษฐีกระเป๋าหนักคุ้นเคยว่าอยากบริจาค “เพื่อการกุศล” ต้องใช้เวลาสักระยะกว่าคนจะเข้าใจว่าสำนักข่าวเจาะสำคัญอย่างไรกับสังคม แต่เดบบี้ก็บอกว่าคณะกรรมการขององค์กรช่วยได้มาก ชื่อเสียงของพอล (สไตเกอร์ ผู้ก่อตั้ง อดีตบรรณาธิการบริหาร Wall Street Journal) ก็ช่วยได้มาก คณะกรรมการล้วนแต่ภูมิใจในผลงานของ ProPublica ชอบพูดถึงข่าวของเราตลอดเวลาให้คนอื่นฟัง ช่วยดึงดูดคนบริจาคได้เยอะ

ผู้เขียนถามว่าคนและองค์กรที่บริจาคเงินให้ ProPublica วัด “ผลงาน” อย่างไร ประเมินผลตอบแทนทางสังคมจากอะไร เธอตอบว่าหลักๆ คือดูผลกระทบที่เกิดขึ้น – เราเสนอข่าวไปแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลง(ในทางที่ดี)อะไรหรือไม่อย่างไร ถามต่อว่า เธอเชื่อว่าข่าวสืบสวนสอบสวน “จำเป็น” จะต้องทำแบบไม่แสวงกำไรหรือไม่ เดบบี้ตอบว่าเธอเชื่ออย่างนั้น เพราะข่าวแบบนี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ใช้เวลาทำนานกว่าจะเสร็จ และมีความเสี่ยงต่อตัวนักข่าวและสำนักข่าวด้วย

ผู้เขียนถามว่า ProPublica ไม่คิดจะหารายได้ทางอื่นหรือ อย่างเช่นแอพมือถือหลายตัวที่โค้ดไปแล้ว หรือการจัดสัมมนาแบบที่ New York Times จะทำ (และ Wall Street Journal ทำแล้ว) เดบบี้ตอบว่า ProPublica อาจหารายได้ทางอื่นในอนาคต แต่คงจะไม่เป็น “ผู้นำ” เรื่องนี้แน่ๆ รายได้จากสัมมนาเธอมองว่ายาก เพราะ ProPublica อยู่นิวยอร์ก เมืองที่มีอีเว้นท์น่าสนใจมากมายตลอดเวลาจนคนไม่มีเวลาไปครบ สู้เน้นการผลิตข่าวที่ดึงดูดคนและสร้างผลกระทบไม่ได้ ส่วนการหารายได้อื่นนั้นตอนนี้ ProPublica ก็รวบรวมซีรีส์บางชิ้นเป็น e-book ขายผ่าน Kindle ราคา $0.99 ถึง $1.99 ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับดีพอสมควร

คุยกับเดบบี้เสร็จ มาร์ค (ชูฟ บรรณาธิการอาวุโสและ “เจ้าภาพ” ดูแลผู้เขียนวันนี้) ก็ประชุมกองบรรณาธิการเสร็จพอดี ผู้เขียนเลยถามคำถามเดียวกับที่ถามเดบบี้ว่า การทำข่าวเจาะจำเป็นจะต้องทำในองค์กรโมเดลไม่แสวงกำไรหรือเปล่า มาร์คตอบว่าที่จริงไม่จำเป็นหรอก สื่อกระแสหลักหลายค่ายอย่าง New York Times ก็ยังมีทีมข่าวเจาะอยู่ ประเด็นคือข่าวเจาะนั้นแต่ไหนแต่ไรมาเป็นกิจกรรม “ไม่แสวงกำไร” โดยธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะใช้เงินลงทุนสูงแต่ “ขายไม่ได้” ในตัวมันเอง (เพราะขุดคุ้ยเรื่องที่จะทำให้บางคนไม่พอใจ) แต่สร้างชื่อเสียงและสร้างผลกระทบให้สังคม ฉะนั้นที่ผ่านมาสื่อต่างๆ จึงต้องอาศัยรายได้จากตรงอื่นมาโปะการลงทุนในข่าวเจาะ ในเมื่อตอนนี้สื่อกระแสหลักต่างประสบปัญหาทางการเงิน เราก็เลยเห็นโมเดลใหม่ๆ ของการทำข่าวเจาะ รวมถึงโมเดลองค์กรไม่แสวงกำไรแบบ ProPublica ซึ่งเขามองว่าช่วยถมช่องว่างในตลาด และน่าจะได้เห็นมากขึ้นในอนาคต

การ์ตูน propublica

การ์ตูนแปะห้องทำงานของมาร์ค วาดโดยบล็อกเกอร์บนเน็ตที่ชื่นชมการทำงานร่วมกันระหว่าง Guardian, ProPublica และ New York Times ในการเสนอข่าว Snowden แฉ NSA – มาร์คบอกว่าเขาชอบรูปนี้เพราะตัวก้าง Guardian กับ New York Times ในรูปดูโกรธกริ้ว ส่วน ProPublica ดูชิลๆ มีความสุข 🙂

ตอนเที่ยงมาร์คพาผู้เขียนกับ เดวิด เอ็พสตีน (David Epstein) นักข่าวใหม่ของ ProPublica (หน้าใหม่สำหรับที่นี่แต่มีประสบการณ์ในวงการมานาน ล่าสุดเขาเขียนให้ Sports Illustrated และออกหนังสือติดอันดับเบสต์เซลเลอร์เรื่อง The Sports Gene) ไปกินข้าวเที่ยงที่ร้าน FIKA คุยกับเดวิดสนุกดี เขาบอกว่าลาออกจาก Sports Illustrated มาอยู่ ProPublica เพราะ บ.ก. นิตยสารไม่อยากให้ทำบางเรื่องที่เขาอยากเจาะ กลัวจะมีปัญหาทางกฎหมาย (ถูกฟ้อง) เขาสนใจเรื่องการใช้วิทยาศาสตร์กับสารเคมีในเกมกีฬา อยากทำซีรีส์แนวนี้หลายเรื่อง

ขากลับ ProPublica มาร์คพาเดินผ่านตึกตลาดหุ้นอเมริกัน หันมาถามผู้เขียนว่ามีเรื่องอะไรสนุกๆ จะแฉตลาดหุ้นเขาไหม ถ้ามีก็เชิญตามสบาย 🙂 ระหว่างทางผู้เขียนถามเขาเรื่องเสรีภาพของสื่ออเมริกัน ในยุคที่ Snowden ออกมาแฉว่ารัฐบาลดักข้อมูลทุกคนได้ มาร์คบอกว่าเรื่องนี้ทำให้นักข่าวต้องสนใจเรื่องความปลอดภัย อย่างการใช้อีเมลแบบเข้ารหัสมากขึ้น แต่ถึงอย่างไรเขามองว่าสื่ออเมริกันก็มีเสรีภาพกว่าอีกหลายประเทศ เพราะมี First Amendment (สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญอเมริกัน) คุ้มครอง เขายกตัวอย่างว่าตอนที่ ProPublica ทำข่าวเรื่อง Snowden ร่วมกับ New York Times และ Guardian ค่ายหลังซึ่งเป็นสื่ออังกฤษจุดหนึ่งต้องเอาข้อมูลลับมาให้ New York Times กับ ProPublica เก็บ เพราะตำรวจอังกฤษสั่งให้ทำลายฮาร์ดดิสก์ที่มีข้อมูล แต่ตำรวจอเมริกาสั่งแบบนี้ไม่ได้ เพราะการเซ็นเซอร์ก่อนเผยแพร่ (เรียกว่า Prior Restraint) นั้นขัดรัฐธรรมนูญอเมริกา

กลับไปถึงสำนักงาน ProPublica ก็เป็นเวลาที่รอคอย คือได้คุยกับ “ผู้ใหญ่” (และผู้ยิ่งใหญ่) ทั้งสามคนพร้อมกัน ได้แก่ พอล สไตเกอร์ (Paul Steiger ผู้ร่วมก่อตั้งและ Executive Chairman), สตีเฟน เองเกลเบิร์ก (Stephen Engelberg ผู้ร่วมก่อตั้งและ Editor-in-Chief) และ โรบิน ฟีลด์ส์ (Robin Fields, Managing Director) ผู้เขียนรู้สึกทึ่งมากที่ทั้งสามคนนี้ให้เกียรติมาคุยกับผู้เขียนพร้อมกัน แต่คุยไปเขาก็ถามเรื่องไทยพับลิก้า เปิดดูเว็บไทยพับลิก้าและให้ผู้เขียนอธิบายเนื้อหาไปด้วย แสดงว่าเขาก็คงรู้สึกแปลกใจและภูมิใจเหมือนกันที่อยู่ๆ ก็มีคนไทยที่ไหนไม่รู้ได้แรงบันดาลใจจากเขา ชวนพรรคพวกมาตั้งสำนักข่าวที่ใช้ชื่อเลียนแบบเขาเฉยเลย 🙂

พอล สไตเกอร์ และ สฤณี อาชวานันทกุล
พอล สไตเกอร์ และ สฤณี อาชวานันทกุล

ถาม พอล สไตเกอร์ ว่า ProPublica ก่อตั้งมาราว 5 ปีแล้ว เรื่องอะไรที่เหนือความคาดหมายของเขาที่สุด พอลตอบว่าน่าจะเป็นเรื่องความสำคัญของข้อมูล ตอนที่เริ่มตั้งทีมเขามีนักข่าวข้อมูล 2 คน ตอนนี้ทีมนี้มี 8 คนแล้ว เขามองว่าข้อมูลจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นอีกในอนาคต ตอนแรกเขาอยากได้เว็บที่ดูดีเท่านั้นเอง ยกประโยชน์ให้สตีฟ (เองเกลเบิร์ก เป็น Editor-in-Chief และร่วมก่อตั้งองค์กร) ที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล จ้าง สก็อตต์ ไคลน์ (หัวหน้าทีมนักข่าวข้อมูล) มาตั้งแต่เนิ่นๆ

สตีเฟน เองเกลเบิร์กและสฤณี อาชวานันทกุล
สตีเฟน เองเกลเบิร์กและสฤณี อาชวานันทกุล

สตีฟเสริมว่า สิ่งหนึ่งที่เขาพยายามทำคือ สร้าง “วัฒนธรรมนวัตกรรม” (culture of innovation) ให้เกิดขึ้นในทีม เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เช่น ห้าปีก่อนไม่รู้ว่าโซเชียลมีเดียจะสำคัญขนาดนี้ วันนี้ต้องมีคนทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ อีกห้าปีทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอีก ฉะนั้นเราต้องมีวัฒนธรรมที่พร้อมสร้างนวัตกรรมตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง

สฤณี อาชวานันทกุล และโรบิน ฟีลด์ส์
สฤณี อาชวานันทกุล และโรบิน ฟีลด์ส์

ผู้เขียนถามโรบินว่า เธอชอบซีรีส์ข่าวเจาะซีรีส์ไหนมากที่สุด เธอตอบว่าชอบหลายชิ้น และ “ผลกระทบ” ที่เกิดจากข่าวที่ ProPublica ทำก็มีหลายแบบ ซีรีส์ Dollars for Docs เป็นชิ้นที่คนคลิกเข้าไปอ่าน (และ ‘เล่น’ กับอินเทอร์แอคทีฟ) มากที่สุด ส่วน When Caregivers Harm (เปิดโปงว่าคณะกรรมการที่กำกับดูแลพยาบาลที่ทำร้ายผู้ป่วยในแคลิฟอร์เนียใช้เวลากว่า 6 เดือนถึงจะถอนใบอนุญาตคืน) สร้างผลกระทบแบบ “ชั่วข้ามคืน” เพราะจับมือกับหนังสือพิมพ์ LA Times – พอ LA Times ลงรายงานเรื่องนี้เป็นพาดหัวหน้าหนึ่ง วันต่อมา ผู้ว่าฯ แคลิฟอร์เนีย (อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์ อดีตพระเอกหนัง) ก็สั่งปลดคณะกรรมการส่วนใหญ่ทันที

เรื่อง Dialysis Facility Tracker (ซีรีส์นี้โรบินนำทีมทำข่าวเอง โกยรางวัลมากมาย) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญให้คนเข้าไปตรวจสอบคุณภาพการล้างไตของคลีนิกทั่วประเทศ ส่วนซีรีส์ Fracking (วิธีขุดเจาะก๊าซธรรมชาติวิธีหนึ่ง) ก็สร้างผลกระทบในแง่ที่เข้าไปอยู่ในวิวาทะสาธารณะในอเมริกาได้สำเร็จ ทำให้คนตื่นตัวเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ยิ่งฟังยิ่งสัมผัสได้ว่า บ.ก. กับนักข่าวที่นี่ภูมิใจในงานของพวกเขามาก

ผู้เขียนถามพอลกับสตีฟว่า เอาไอเดียทำซีรีส์ข่าวเจาะมาจากไหน คำตอบคือก็ช่วยๆ กันคิด ไอเดียที่ดีที่สุดชนะ ถามว่าจำเป็นไหมที่นักข่าวที่นี่ต้องจบวารสารศาสตร์ เขาตอบว่าไม่จำเป็น ที่จริงนักข่าวกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีปริญญาวารสารศาสตร์ บางคนเรียนไม่จบปริญญาตรีด้วยซ้ำไป สตีฟเสริมว่า การถกเถียงเรื่อง “บล็อกเกอร์” vs “นักข่าว” (ใครเก่งกว่ากัน วัดความเป็นมืออาชีพอย่างไร ฯลฯ) ที่นี่จบไปสามปีแล้ว วันนี้เขาไม่คุยเรื่องนี้กันแล้ว สื่อทุกค่ายล้วนแต่เดินหน้าบูรณาการห้องข่าวดิจิตอลกับห้องข่าวสื่อสิ่งพิมพ์เข้าด้วยกันสถานเดียว

คำถามสุดท้ายที่ผู้เขียนถามพอลคือ เป็นไปได้ไหมที่จะรักษา “กำแพงเมืองจีน” ระหว่างฝ่ายธุรกิจกับฝ่ายข่าวเอาไว้ สำหรับสื่อประเภทแสวงกำไร อยู่ในธุรกิจกระแสหลัก ในเมื่อสื่อกระแสหลักมองหาแหล่งรายได้ที่หลากหลายขึ้นเรื่อยๆ นอกเหนือจากโฆษณาตรงและยอดขาย พอลตอบทันทีว่าเขาเชื่อว่าทำได้ แต่ต้องทำอย่างรอบคอบและระมัดระวัง ยกตัวอย่าง Wall Street Journal สมัยที่เขาเป็นบรรณาธิการบริหารว่าจัดสัมมนาที่มีคนดังอย่าง Bill Gates, Steve Jobs ฯลฯ ไปเข้าร่วม มีนักข่าวขั้นเทพเป็นวิทยากร ไม่มีใครครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่ถ้าไม่คิดให้รอบคอบ เคลื่อน “เร็วเกินไป” ก็อาจเกิดกรณีแบบที่เกิดกับ Washington Post (หนังสือพิมพ์คิดจะเก็บสตางค์จากนักล็อบบี้ แลกกับการได้รับประทานอาหารร่วมกับบ.ก. และนักข่าวเก่งๆ ของค่าย รวมถึงคนวงในรัฐบาลโอบามากับสภาคองเกรส ถูกรุมด่าจากหลายฝ่ายรวมทั้งนักข่าวตัวเองจนต้องล้มเลิกโครงการหาเงินโครงการนี้ไป)

ผู้เขียนถามเรื่องวิธีทำงานของ ProPublica ว่าแตกต่างจากหนังสือพิมพ์ในอดีตขนาดไหน โรบินตอบว่าหนังสือพิมพ์ทำงานแบบ “ระบบสายพาน” ในโรงงาน คือทุกคนทำแต่หน้าที่ตัวเองแล้วส่งต่อให้คนอื่น แต่ที่นี่ทำงานกันแบบ “รังผึ้ง” คือสุมหัวกันคิดทุกเรื่อง เธอบอกว่าวุ่นวายแต่ก็สนุกกว่าและเกิดนวัตกรรมมากกว่า

ระหว่างทางเดินไปขึ้นรถใต้ดิน เดินผ่านกระทิงดุสัญลักษณ์ Wall Street วันนี้มันดูซึมกะทือ ไม่คึกคักเหมือนเคย ราวกับจะรู้ตัวว่าอยู่ในระยะสายตาถ้ามองจากสำนักงานของ ProPublica – หนึ่งในสำนักข่าวเจาะที่เก่งที่สุดในโลก

วัวกระทิง ตลาดหุ้นนิวยอร์ก