ThaiPublica > บล็อก > ครึ่งวันในห้องข่าว The Boston Globe

ครึ่งวันในห้องข่าว The Boston Globe

25 พฤศจิกายน 2013


สฤณี อาชวานันทกุล รายงานจากบอสตัน ระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกา 7 สัปดาห์ในโครงการ Eisenhower Fellowships : 2013 Southeast Asia Regional Program

บอสตัน : 1/11/2013
วันที่สามสิบสาม

บ่ายนี้ผู้เขียนขึ้นรถไฟใต้ดินไป Boston Globe หนังสือพิมพ์โปรดที่เคยอ่านทุกวันสมัยเป็นนักศึกษาเมื่อยี่สิบปีก่อน ตึกของ Globe ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของบอสตัน ใกล้กับ University of Massachusetts Boston

สำนักงานใหญ่ Boston Globe
สำนักงานใหญ่ Boston Globe

คนที่ต้อนรับผู้เขียนคือ ไมเคิล เวิร์คแมน (Michael Workman) ตำแหน่ง “ผู้อำนวยการออกแบบดิจิตอล” (Digital Design Director) ของหนังสือพิมพ์ Boston Globe รับผิดชอบการออกแบบเว็บ BostonGlobe.com และ Boston.com ทั้งหมด ผู้เขียนขอโทษขอโพยที่ไปสาย แต่เขาไม่ว่าอะไร แถมยื่น “กำหนดการเยือน” พิมพ์อย่างดีบนกระดาษ A4 ให้ดู เป็นกำหนดการเฉพาะสำหรับผู้เขียนคนเดียว บอกว่าเขาจัดให้ผู้เขียนเจอบุคลากร 4 คนในห้องข่าว อ่านแล้วรู้สึกเกรงใจมาก

ก่อนอื่นไมเคิลพาผู้เขียนเดินดูบรรยากาศในห้องข่าว Globe เริ่มจากโรงพิมพ์ ซึ่งเขาบอกว่าวันนี้พิมพ์หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นซึ่งวางขายในเมืองบอสตันและรอบนอกด้วย อย่างเช่น Wall Street Journal, New York Times ฯลฯ ฟังแล้วคล้ายกับ Philadelphia Inquirer ที่ไปดูงานเมื่อสามสัปดาห์ก่อน วันนี้หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ ประสบปัญหาเดียวกัน และส่วนใหญ่ก็พยายามแก้ปัญหา หารายได้เพิ่มด้วยวิธีคล้ายๆ กัน คือถ้าไม่หาวิธีสร้างรายได้จากเนื้อหาที่ผลิตไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ก็ต้องหาทางเอา “ศักยภาพเหลือใช้” ของสินทรัพย์อย่างแท่นพิมพ์ไปหารายได้เพิ่ม

แท่นพิมพ์ในโรงพิมพ์ของ Boston Globe
แท่นพิมพ์ในโรงพิมพ์ของ Boston Globe

คนแรกที่ไมเคิลพาผู้เขียนไปคุยด้วยคือ ชิคี เอสเตบาน (Chiqui Esteban) บรรณาธิการฝ่ายกราฟฟิก เป็นหัวหน้าทีม 5 คน รับผิดชอบกราฟฟิกและอินเทอร์แอ็กทีฟทุกอย่างของหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ เขาบอกว่าเขารับผิดชอบงานกราฟฟิกประจำวันที่จะต้องขึ้นคู่กับข่าว พยายามสร้างกราฟฟิกสำหรับเว็บและฉบับหนังสือพิมพ์พร้อมกัน โดยใช้วิธีที่เหมาะสมกับสื่อ เช่น เส้นทางพาเหรดของทีม Red Sox (ฉลองที่ได้แชมป์ World Series) บนเว็บใช้ Google Maps ส่วนฉบับหนังสือพิมพ์ใช้วาดแผนที่ 3D เฉลี่ยแล้วเขารับผิดชอบกราฟฟิกวันละ 3-12 ชิ้น

บรรยากาศในห้องข่าวของ Boston Globe
บรรยากาศในห้องข่าวของ Boston Globe

ชิคีบอกว่า เขาทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีม “ออกแบบข้อมูล” (Data Design) ซึ่งเป็นหน่วยวิเคราะห์ แสดงผล และทำข่าวจากข้อมูล ประเด็นที่สำคัญคือ นักข่าวควรทำงานร่วมกับทีมของเขาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่มา “สั่ง” ให้ทำกราฟฟิกหลังจากที่เขียนข่าวเสร็จแล้ว เพราะถ้าเป็นแบบนั้นส่วนใหญ่เขาจะไม่มีเวลาทำกราฟฟิกให้ทันปิดเล่ม ทำให้กราฟฟิกออกมาไม่ดีหรือไม่มีเลย

คุยกับชิคีจบก็ได้เวลาเดินไปคุยกับฝ่ายใหม่เอี่ยมของที่นี่ คือ “Media Lab” ตั้งอยู่ในห้องซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของฝ่ายขายข้อความรับสมัครงานหรือสินค้า (classifieds) อันยิ่งใหญ่เพราะเคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหนังสือพิมพ์ แต่ในยุคอินเทอร์เน็ตฝ่ายนี้ก็ถูกยุบไปหลายปีแล้ว Boston Globe เปลี่ยนพื้นที่เป็นที่ทำงานของ Media Lab กับ tech start-ups ในโครงการ incubator คล้ายกับที่ Philadelphia Inquirer บุกเบิก

"Tweetwall" หน้า Media Lab ใน Boston Globe
“Tweetwall” หน้า Media Lab ใน Boston Globe

แดน แม็คลัฟลิน (Dan MacLaughlin) หนุ่มน้อยหน้ามน ตำแหน่ง “Creative Technologist” ซึ่งได้ทุนจากมูลนิธิไนท์ (เช่นเคย) ให้มาทำงานที่นี่อธิบายว่า หน้าที่ของเขาใน Media Lab คือ “สร้างผลิตภัณฑ์” ใหม่ๆ ให้กับหนังสือพิมพ์ บางครั้งด้วยการจับมือกับนักวิจัยหรือนักเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น โครงการ “Mapping the Globe” ซึ่งทำร่วมกับ MIT Center for Civic Media (นำโดย Ethan Zuckerman ที่ไปคุยเมื่อวานซืน) แสดงข้อมูล “สถานที่” ซึ่ง Globe ไปทำข่าวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันผ่านแผนที่บอสตัน สามารถเปรียบเทียบกับข้อมูลอื่น เช่น อัตราอาชญากรรม ระดับรายได้ ฯลฯ ได้ (เพื่อดูว่า Globe ทำงานได้ดีเพียงใด เช่น ถ้าถิ่นไหนอาชญากรรมสูงแต่มีข่าวออกน้อย ก็แปลว่า Globe ยังทำงานได้ไม่ดีพอ)

แดน แม็คลัฟลิน
แดน แม็คลัฟลิน
บรรยากาศ Media Lab
บรรยากาศ Media Lab

แดนบอกว่า ความท้าทายที่เขาคิดว่ายากที่สุดคือ ที่นี่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผลิตภัณฑ์ที่เขาคิดได้ (เช่น แอพมือถือ) กว่าจะทำเสร็จอาจ “ไม่เจ๋ง” อีกต่อไปแล้ว หรือมีคนอื่นตัดหน้า ฟังแล้วก็ได้แต่อวยพรให้แข่งกับคนอื่นทัน!

บนกำแพงทางเข้า Media Lab มีป้ายรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของฝ่าย Classifieds ในอดีต ซึ่งวันนี้ไม่มีแล้ว

ป้ายรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของฝ่าย Classifieds ในอดีต
ป้ายรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ของฝ่าย Classifieds ในอดีต

คนต่อไปที่ผู้เขียนไปเจอคือ แดน เซเดก (Dan Zedek) รองผู้อำนวยการด้านการออกแบบ เขาบอกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือความหลากหลายของ “งานออกแบบ” ในวันนี้ ย้อนไปเมื่อ 14 ปีก่อน ตอนที่เขาเข้าทำงานใหม่ๆ คำว่า “ดีไซน์” ที่นี่หมายถึง feature design (การออกแบบรูปเล่มหนังสือพิมพ์) แต่วันนี้ความรับผิดชอบของเขาครอบคลุมเว็บไซต์ 2 แห่ง อีบุ๊กอย่างน้อย 1 เล่มต่อเดือน แอพมือถือ และอื่นๆ อีกมากมาย

แดน เซเดก
แดน เซเดก

แดนมองว่า Boston Globe กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคของสื่อดิจิตอลได้ค่อนข้างดี เช่น ปรับหน้ากีฬาให้มีสีสันมากขึ้น เพิ่มเซ็กชั่นเกี่ยวกับ “แฟนกีฬา” เช่น แฟนทีมอเมริกันฟุตบอลกลุ่มไหนจัดปาร์ตี้หลังเกมได้มันส์ที่สุด ส่วนเรื่องข้อมูล วันนี้นักข่าวก็มีเครื่องมือที่ใช้ง่ายมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น Chartbuilder โค้ดโดยนักข่าวของ Quartz เป็นโปรแกรมสร้างกราฟสวยๆ จากข้อมูลที่ใช้ง่ายและเร็วมาก

แดนบอกว่าเขารู้สึกตื่นเต้นกับอนาคต เพราะวันนี้ Globe กำลังปรับตัว และกำลังจับมือเป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยและนักเทคโนโลยีมากมาย หาวิธีเอากรุข่าวและข้อมูลมหาศาลของหนังสือพิมพ์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ เรื่องหนังสือพิมพ์จะ “ตาย” หรือเปล่าแดนบอกว่าน่าจะอีกนานสำหรับเมืองนี้ เพราะบอสตันเป็นเมืองที่มีหนอนหนังสือเยอะ (และเป็นเมืองมหาวิทยาลัย) น่าจะเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ยอดขายของหนังสือพิมพ์ไม่ตกลงอย่างฮวบฮาบเหมือนกับที่อื่น

ช่วงท้ายของวันผู้เขียนกลับไปคุยกับ ไมเคิล เวิร์คแมน ผู้จัดการกำหนดการเยือนทั้งหมดให้ เขาก็มองโลกในแง่ดีคล้ายกับแดน โดยบอกว่าอัตราการสมัครอ่าน Boston Globe ฉบับดิจิตอลพุ่งสูงกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปีก่อน และวันนี้บรรณาธิการทุกคนก็รู้แล้วว่า ไม่อาจก้มหน้างุดๆ ทำงานของตัวเองไปโดยไม่สนใจฝั่งธุรกิจอีกต่อไป เพราะโมเดลการหารายได้แบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ไมเคิลพยายามหานวัตกรรมเกี่ยวกับการโฆษณา อีกหน่อยอาจใช้โมเดลลงเนื้อหามีสปอนเซอร์ (sponsored content) แบบ BuzzFeed วันนี้ Boston Globe ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น แต่เริ่มใช้ sponsored content กับเว็บ Boston.com ซึ่งเป็นของ Globe เหมือนกันแต่พุ่งเป้าไปที่คนรุ่นใหม่มากกว่า ข่าวไม่ “ซีเรียส” หรือลงลึกเท่ากับ Globe

ไมเคิลมองว่า การขึ้นมาอยู่ในโลกออนไลน์บังคับให้หนังสือพิมพ์ต้องคิดใหม่เรื่อง “วิธีเล่าเรื่อง” เขายกตัวอย่างซีรีส์ 68 Blocks ของ Globe ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก ซีรีส์นี้ส่งนักข่าวสองคนไปใช้ชีวิตอยู่ในเขตที่ยากจนที่สุดของเมืองบอสตันเป็นเวลา 2 เดือน ถ่ายทอดเรื่องราวบนเว็บด้วยส่วนผสมระหว่างข้อเขียน รูปภาพ อินเทอร์แอกทีฟ ฯลฯ ส่วนหนึ่งของกระบวนการทำข่าวคือ ไปค้น Instagram ควานหารูปที่มีคนถ่ายในเขตนี้ เลือกรูปมา 15 ภาพ เขียนอีเมลไปขออนุญาตใช้ภาพจากคนถ่าย พร้อมคำถามว่า “คุณคิดอะไรอยู่ตอนที่ถ่ายรูปนี้?” ผลที่ได้คืองานข่าวที่เจ๋งมาก เพราะได้เนื้อหาจริงจากประชาชนจริงๆ ที่ไม่มีการเสแสร้ง ไม่ผ่านการคัดกรองก่อน เพราะคนที่ถ่ายรูปเหล่านี้ตอนถ่ายไม่มีทางรู้เลยว่าหนังสือพิมพ์ Boston Globe จะติดต่อขอรูปไปใช้

ไมเคิลมองว่าคนยังสนใจข่าวและกระหายอยากได้ข่าวคุณภาพอยู่ เว็บทำให้คนเข้าถึงข้อมูลง่ายกว่าเดิม เพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน คนทุกยุคก็ยังอยากได้ข้อมูล คำถามคือพวกเรา (สื่อ) จะสร้างรายได้จากเนื้อหาได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เฟซบุ๊กสร้าง “เวที” (platform) สำหรับการบริโภคข่าวที่ดีกว่าเว็บของสื่อ คนอ่านไม่รู้สึกอยากมาอ่านข่าวที่เว็บสื่อ อ่านเอาจากลิงก์ที่เพื่อนๆ แชร์บนเฟซบุ๊กก็พอ เขาบอกว่าเราต้องพยายามทำให้เว็บหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของเราเข้าถึงคนอ่านได้ง่ายกว่าเดิม คัดสรรเนื้อหาที่นำเสนอตามรสนิยมของคนอ่านแต่ละคน (personalize) และดึงดูดให้คนแชร์เนื้อหากัน

ไมเคิลทิ้งท้ายว่า “คุณต้องมีเนื้อหาที่คนอ่านแคร์ เนื้อหาที่คนอยากคลิกเข้าไป ไม่ว่าจะทำการตลาดเก่งแค่ไหน หรือออกแบบเจ๋งขนาดไหน ทั้งหมดนี้ไม่มีวันเวิร์กเลยถ้าหากเนื้อหาไม่เจ๋งจริง”