ThaiPublica > คนในข่าว > “สุกัญญา เอื้อชูชัย” บทบาทหอการค้าต่างชาติ กระบอกเสียงเชื่อมความยั่งยืน ธุรกิจ‘ฝรั่งเศส-ไทย’

“สุกัญญา เอื้อชูชัย” บทบาทหอการค้าต่างชาติ กระบอกเสียงเชื่อมความยั่งยืน ธุรกิจ‘ฝรั่งเศส-ไทย’

24 กุมภาพันธ์ 2021


นางสุกัญญา เอื้อชูชัย กรรมการบริหาร หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย (Franco-Thai Chamber of Commerce)

เมื่อความยั่งยืนหรือ sustainability กลายเป็นเทรนด์บังคับสำหรับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องคำนึงถึงหลักความยั่งยืนในการทำธุรกิจทุกฝีก้าว เพราะทุกการเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจตลอด supply chain จากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ย่อมมีผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ในประเทศไทยเอง มีธุรกิจ ‘ฝรั่งเศส’ กระจายตัวอยู่จำนวนมาก ทั้งธุรกิจรายเล็กละรายใหญ่ ซึ่งธุรกิจเหล่าถูกคาดหวังให้ทำธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้การดูแลของ หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย (Franco-Thai Chamber of Commerce)

นางสุกัญญา เอื้อชูชัย กรรมการบริหาร หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงทิศทางหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย และตลอดจนก้าวต่อไปของกลยุทธ์สำคัญ ที่จะทำให้ธุรกิจฝรั่งเศสในประเทศไทยเดินหน้าสู่ความยั่งยืน

บทบาทหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย

ในประเทศไทยมีหอการค้าร่วมต่างประเทศประมาณ 40 หอการค้า โดยแต่ละแห่งมีหน้าที่เป็นเหมือนตัวกลางเชื่อมภาคธุรกิจประจำสัญชาตินั้นๆ ในลักษณะ business club จนเกิดการทำธุรกิจข้ามชาติ แต่ถึงอย่างนั้น หอการค้าร่วมแต่ละแห่งก็ต้องเข้าใจวัฒนธรรมและวิธีคิดของคนสัญชาตินั้นๆ เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้

“คนฝรั่งเศสทำธุรกิจอยู่ไทย เขามีความคิดว่าจะคืนกลับสังคมไทย โดยมุ่งช่วยเด็กไทย อย่างปีนี้สนับสนุนมูลนิธิที่ช่วยให้ทุนการศึกษาเด็กในสลัมคลองเตย ก่อนหน้านี้ช่วยเด็กอ่อนในสลัม ช่วยมูลนิธิโรคหัวใจเด็ก เพราะเด็กเป็นอนาคตของประเทศ ”

นางสุกัญญากล่าวว่า หอการค้าฯ ยังมีบทบาทเรื่องการสนับสนุนการจ้างงานให้กับธุรกิจฝรั่งเศส โดยทำโรดโชว์ร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ และให้ฝ่ายบุคคลของบริษัทต่างๆ ไปเล่าให้นักศึกษาฟังว่าบริษัทฝรั่งเศสต้องการจ้างงานด้วยคุณสมบัติแบบใด เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษากับภาคอุตสาหกรรม และยังทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือTCEB และธุรกิจสัญชาติฝรั่งเศสอีกจำนวนมาก

นางสุกัญญากล่าวต่อว่า นอกจากนี้หน้าที่หนึ่งของหอการค้าฝรั่งเศส-ไทยคือการจัดอีเวนต์ทุกประเภท เฉลี่ย 70 งานต่อปี ช่วยให้ผู้ประกอบการฝรั่งเศสเข้ามาทำธุรกิจในไทยได้สะดวกขึ้น แต่จุดขายของผู้ประกอบการจากฝรั่งเศสคือการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและการทำธุรกิจแบบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่สังคม ดังนั้น ทางหอการค้าฯ จึงมีอีเวนต์เพื่อสร้างความยั่งยืน (sustainability) ในชื่อ Sustainability for Business Forum และมีคณะทำงานเกี่ยวกับประเด็นนี้โดยเฉพาะในชื่อ “Sustainability and CSR Committee”

“เรื่องความยั่งยืนอยู่ใน DNA ของบริษัทฝรั่งเศส เราทำธุรกิจต้องทำกำไร แต่ต้อง ‘ยั่งยืน’ ไม่ว่าเรื่องคน สิ่งแวดล้อม ประโยชน์ต่างๆ ที่จะมีให้สังคม”

“เราพยายามให้ความรู้นักธุรกิจทั้งต่างชาติและไทย รวมทั้งสถาบันการศึกษา ปกติเวลาจัดงานจะมีบริษัทที่บอกว่าฉันไปช่วยตรงนั้นตรงนี้แล้วเอามาพูด แต่เราไม่ เราเอาบริษัทและหน่วยงานที่ไปทำมาพูดด้วยกันให้เป็น lesson learned ว่าเขาร่วมมือกันอย่างไร และไม่ใช่บริจาคแล้วจบ แต่ต้องมีทำอะไรต่อ เพราะบริษัทฝรั่งเศสเน้นเรื่องความยั่งยืน คิดถึงประโยชน์สาธารณะ ทำให้บทบาทของหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย ต้องให้น้ำหนักกับประเด็นนี้ตามไปด้วย”

การสนับสนุนให้ภาคธุรกิจสร้างความยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจและการตระหนักรู้ถึงข้อดีที่จะเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจหันมาสนใจความยั่งยืน โดยนางสุกัญญาบอกว่า การเริ่มต้นอาจไม่ใช่เรื่องของเงินว่าจะต้องสิบล้านร้อยล้านหรือพันล้าน แต่เป็นการปรับวิธีว่าต้องการสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

เปลี่ยนวิธีคิด ‘โรงแรม’ สู่จุดขายความยั่งยืน

พร้อมกล่าวต่อว่า “ไม่อยากให้คิดว่าการปรับสู่ความยั่งยืนเป็นเรื่องยาก แต่อยู่ที่ว่าผู้บริหารแต่ละบริษัท เรื่องเล็กๆ น้อยๆ บางเรื่อง การใช้กระดาษ เปิดปิดไฟ หรือการจัดงาน มันเป็นเรื่องรอบตัวที่เราคิดไม่ถึง”

“ในฝรั่งเศส สิ่งแวดล้อมเข้มมาก เพราะชีวิตของประชาชนมีค่ามาก อะไรที่จะกระทบกับประชาชนหรือโลกเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนใหญ่ต่างประเทศที่มาลงทุนในบ้านเราเขาก็จะเอาวัฒนธรรมองค์กรต้องตอบแทนสังคมมาด้วย”

กิจกรรมหนึ่งที่หอการค้าฝรั่งเศส-ไทยเป็นผู้ริเริ่มร่วมกับ TCEB คือ กำหนดมาตรฐานความยั่งยืนให้กับโรงแรม สนับสนุนให้โรงแรมรายใหญ่เริ่มปรับตัว ลดการใช้สิ่งที่ไม่จำเป็น

นางสุกัญญากล่าวว่า ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมบริษัทข้ามชาติหรือกลุ่ม MICE จัดงานแต่ละครั้งมีคนเข้าร่วมประมาณ 500 คน ซึ่งจะการจัดงานจะต้องมีอาหาร เครื่องดื่ม เปิดแอร์ ผ้าปูโต๊ะ ดอกไม้ เป็นต้น ทาง TCEB เลยทำมาตรฐานในการจัดงานที่เน้น sustainability

“เวลาจัดงานนึกถึงเลี้ยงบุฟเฟต์ อาหารเหลือ ไม่สนใจทิ้งไป หรือเปิดแอร์เย็นเจี๊ยบ บ้านเราชอบปูผ้าซ้อนผ้าอีกชั้น กลัดเข็มหมุด เปลืองมาก เป็น waste ทั้งนั้นเลย เวลาปูผ้าเยอะๆ ซักผ้ามันคือการก่อมลพิษ เพราะใช้ผงซักฟอก ใช้น้ำ หรือเปิดแอร์หนาวมากมันก็ไม่ดีกับร่างกายมนุษย์และสิ่งแวดล้อม หรือใช้ขวดน้ำพลาสติก จัดงานพันคนขวดน้ำสองพันใบ ไม่ยั่งยืนแล้ว ถ้าบอกว่ายั่งยืน แต่คุณใช้ขวดพลาสติก มันก็เหมือนเราพูดอย่างแต่ทำอีกอย่าง”

จากบทเรียนดังกล่าวทำให้หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย ปรับตัวและทำตามมาตรฐาน sustainable event และชักชวนพันธมิตรโรงแรมเครือแอคคอร์ ซึ่งเป็นเชนโรงแรมรายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น Novotel, Sofitel, Pullman, Ibis ฯลฯ โดยประเทศไทยมีโรงแรมภายใต้เครือแอคคอร์กว่า 50 แห่ง ที่ร่วมสร้างความยั่งยืนโดยการทำอีเวนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดของเสียให้ได้มากที่สุด

“การจัดงานสัมมนาไม่มีขวดพลาสติก คนฝรั่งเศสที่อยู่ในคณะทำงานเขาบอกเลยเมืองนอกจะให้ทุกคนเอากระบอกน้ำมาเอง หรือแจกแก้วแล้วใช้ตลอดงาน โต๊ะไม่ต้องปูผ้า ทุกอย่างให้ยั่งยืนที่สุด ดอกไม้ที่ตัดมาก็ไม่ยั่งยืน ถ้าจะใช้ต้องเอาต้นไม้มาตั้งหรือไม่มีดอกไม้เลย โรงแรมสมัยใหม่เขาจะเป็นโต๊ะไม้ดีๆ โดยไม่ต้องปูผ้า ลงทุนโต๊ะดี แต่แน่นอนราคาสูงกว่าทั่วไป”

นางสุกัญญากล่าวต่อว่า หลังจากที่ TCEB ไปอบรมให้กับโรงแรมต่างๆ จนหลายโรงแรมเริ่มเข้าใจถึงการสร้างความยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็น ‘food waste management’ จนปัจจุบันเชฟประจำครัวโรงแรมเริ่มเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในการใช้วัตถุดิบทำอาหาร และการจัดสรรอาหารเพื่อไม่ให้เหลือทิ้ง ตัวอย่างเช่น โรงแรมแอทธินี (Athenee Hotel) ที่ทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

แต่ในทางกลับกัน ฝั่งธุรกิจเองก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นทางหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย จึงจับมือกับ TCEB มาสร้างความเข้าใจเรื่องความยั่งยืน และเป็นจุดขายที่ทำให้นักท่องเที่ยว MICE ต่างชาติเข้าใจว่าเมื่อเดินทางมาที่ประเทศไทย จะได้ช่วยเรื่องความยั่งยืนไปในตัวและเป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต

“หลายโรงแรมที่ได้มีการพูดคุยด้วย เขาบอกว่าทำแล้วเปลืองเงิน ทำงานยากขึ้น แล้วฉันได้อะไร แล้วมีคนขอไหม (ลูกค้า) ในประเทศก็ไม่มีใครขอ ดังนั้ทางหอการค้าฝรั่งเศสจะมาพูดเรื่องนี้มากขึ้น เราจะจัดงานร่วมกับ TCEB และหอการค้าต่างๆ เริ่มทำแล้วเป็นการขับเคลื่อนให้เกิดดีมานด์ในตลาด โรงแรมก็จะเริ่มขยับตาม เราลงพื้นที่ไปภูเก็ตก็เจอหลายโรงแรม ถามโรงแรม 4 แห่ง เขาก็สนใจ ดังนั้นขั้นต่อไปจะไปชวนโรงแรมต่างจังหวัดมาร่วมสร้างความยั่งยืนกันด้วย เพราะหลังโควิดทุกคนกลับมาเหมือนเดิม คนมาเที่ยวไทย เม็ดเงินเข้ามา”

“‘ความยั่งยืน’ จะเป็นภาพลักษณ์ทำให้ไทยเป็นตลาด MICE ที่ไฮเอนด์ และคนจะรู้ว่าเราก็รักโลก”

จากที่นางสุกัญญากล่าวต่อว่า ทุกวันนี้สิ่งหอการค้าฝรั่งเศสทำคือ เปลี่ยนวิธีคิด และ “Walk the Talk” เพื่อเป็นต้นแบบให้ภาคธุรกิจต่อไป

พลิกโควิดเป็นโอกาส

นางสุกัญญาเล่าว่า หลังจากลงพื้นที่ไปช่วยเหลือธุรกิจฝรั่งเศสที่จังหวัดภูเก็ต ทำให้เห็นว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการจำนวนมากมีความพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งเป็นสัญญาณดีที่ทุกคนหันมาสนใจมากขึ้น

ทว่าย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในช่วงสถานการณ์ปกติที่การท่องเที่ยวยังคึกคัก นางสุกัญญาบอกว่าผู้ประกอบการหลายราย โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ไม่ได้มีความสนใจในเรื่องความยั่งยืน เพราะธุรกิจยังไปได้ดีต่อเนื่อง

“ทุกคนถามว่าทำไมหอการค้าฝรั่งเศส ต้องไปภูเก็ต เราบอกว่าภูเก็ตเขาลำบาก แล้วเรามีบริษัทฝรั่งเศสอยู่จำนวนมาก บทบาทของหอการค้าฯ คือสนับสนุนสมาชิกเรา ถ้าสามารถช่วยอะไรได้ก็ช่วย อีกอย่างคือเป็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะเขาปรับตัวเองใหม่”

“นี่เป็นช่วงดีนะ มันเป็นวิกฤติก็จริง แต่มันก็เป็นโอกาส เพราะเรามีเวลามากขึ้น เราก็จะได้พิจารณาจุดขายหรือปรับปรุงอะไรมากขึ้น หมายถึงถ้าเขายังไหว”

“ภูเก็ตได้รับบทเรียนว่าเขาเอาไข่ใส่ในตะกร้าเดียวใบเดียวคือท่องเที่ยว วันนี้เขาก็เริ่มมองแล้วว่าสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง จากช่วงตอนปกติเขาไม่ต้องการ ใครไปคุยก็ไม่พูดด้วย เพราะเขาร่ำรวย แค่รับลูกค้าก็ไม่ไหวแล้ว แล้วภูเก็ตไม่โดนวิกฤติต้มยำกุ้ง (ปี 2540) ต่างประเทศยังมาเที่ยว ช่วงสึนามิก็ได้รับผลกระทบไม่มาก แต่โควิด-19 ครั้งนี้เขาหนัก”

นางสุกัญญากล่าวต่อว่า หอการค้าฝรั่งเศส-ไทยจะร่วมกับหอการค้าร่วมอื่นๆ มีแผนจะลงพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากภูเก็ต เพื่อกระจายวิธีคิดเรื่องความยั่งยืนไปทั่วประเทศ

เปลี่ยนภาพไทย ไม่ใช่แค่ช้างและท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม นางสุกัญญามองว่า ประเทศฝรั่งเศสมีข้อจำกัดเรื่องภาพลักษณ์ เพราะเวลาคนพูดถึงจะนึกแต่เพียงว่า หอไอเฟล น้ำหอม และสินค้าแบรนด์เนม ทั้งที่ประเทศฝรั่งเศสมีจุดเด่นทั้งเรื่องเทคโนโลยีและเทคโนโลยีการแพทย์

ฝรั่งเศสประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศไทยที่ ‘ขายตัวเองไม่เป็น’ ทำให้มีแค่ภาพลักษณ์เดียว

“เวลาคนฝรั่งเศสมาไทยเขาจะโดนถามว่าไปทำงานจริงเปล่า มาเที่ยวล่ะสิ เพราะเรามีภาพของเมืองท่องเที่ยว ททท. ทำงานดีมาก ภาพคนขี่ช้างมันก็ยังอยู่ในความคิด คนต่างชาติไม่ว่าอยู่ในประเทศไหน จะถามเลยว่าเธอขี่ช้างไปโรงเรียนหรือเปล่า มันเป็นภาพจำเกี่ยวกับประเทศไทย คนคิดว่ามาไทยคือมาเที่ยว ไม่ได้ทำงาน คนไทยก็คิดว่า เราเป็นที่รู้จัก แต่เขาไม่ได้รู้จักหรอกนะ พูดไทยแลนด์เขายังคืดว่าเป็นไต้หวันอยู่เลย มันเลยต้องเริ่มจากการโปรโมทตัวเองให้ดี”

“ฝรั่งเศสก็มีปัญหาเหมือนกัน เพราะเป็นที่รู้จักเฉพาะแบรนด์เนม อาหารการกิน ไวน์ เครื่องบินแอร์บัส ดาวเทียม ดิจิทัล หนังเรื่องแรกที่ใช้ซีจี (คอมพิวเตอร์กราฟิก) กราฟิกก็เป็นคนฝรั่งเศส หรือวัคซีนเอดส์ พิษสุนัขบ้า ไข้เลือดออก ผลิตที่ฝรั่งเศสสถาบันหลุยส์ปาสเตอร์ เลยรู้สึกว่าเรามีปัญหาเดียวกัน”

ดังนั้น ความท้าทายในตำแหน่งหอการค้าฝรั่งเศส-ไทยคือการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นมากกว่าช้าง เพราะสิ่งที่ต้องเน้นคือธุรกิจในไทยมีความยั่งยืน

“ยั่งยืน” คือตัวตั้งธุรกิจคนรุ่นใหม่

ในฐานะที่หอการค้าฝรั่งเศส-ไทย คลุกคลีในแวดวงธุรกิจตั้งแต่ ไซส์ใหญ่จนไซส์เล็ก จนถึงธุรกิจรุ่นใหญ่ไปจนถึงรุ่นใหม่ ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของภาคธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเทียบวิธีคิดของนักธุรกิจรุ่นก่อนกับรุ่นใหม่ ยิ่งเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน

นางสุกัญญากล่าวต่อว่า เด็กรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจไม่ได้คิดถึงแค่การหากำไรเท่านั้น แต่เขาจะคิดเสมอว่าธุรกิจที่กำลังทำเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นและเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนหรือไม่ เนื่องจากความรู้ทางสังคมเริ่มมีสอนมากขึ้น ทำให้เด็กรุ่นใหม่เริ่มสนใจประเด็นทางสังคม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือประเด็นภาวะโลกร้อน climate changes

“นักธุรกิจรุ่นใหม่มีดีเอ็นเออยากช่วยสังคม เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เธออยู่ได้ ฉันอยู่ได้ เขามีจิตสำนึก ความคิดดีๆ เยอะมาก แล้วออกนอกกรอบ”

นางสุกัญญายกตัวอย่าง นักธุรกิจรุ่นใหม่สัญชาติฝรั่งเศส ซึ่งทำแอปพลิเคชันเพื่อจัดการ food waste โดยมีโมเดลธุรกิจคือไปซื้ออาหาร-ขนมที่เหลือในแต่ละวันจากร้านขนม-เบเกอรีที่เป็นพาร์ตเนอร์ แล้วนำขนมที่เหลือในแต่ละวันไปแจกจ่ายให้แก่คนที่เดือดร้อน

“หอการค้าฯ เราก็พยายามหาเวทีให้เด็กรุ่นใหม่ อย่างงานเราชื่อ YP Young Professional คือทุกหอการค้าจะมีคนรุ่นใหม่ อายุทำงาน 25-35 ปี บางทีพวกนี้อยู่ฝรั่งเศส เรียนจบไม่ยอมทำงาน เดินทางมาแสวงหาความรู้ แล้วก็จัดให้คนกลุ่มนี้เจอกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ อย่างของเราก็ฝรั่งเศส ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยน เราเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ทุกกลุ่ม”

นี่คือบทบาทของหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย ที่ไม่ใช่แค่คนประสานงานการลงทุนหรืออำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ แต่หัวใจสำคัญคือการสร้างเมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม และส่งต่อให้กับนักธุรกิจทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่

เพราะเมื่อภาคธุรกิจเป็นผู้นำประเด็นความยั่งยืนได้ สังคมจะเริ่มเดินหน้าสู่ความยั่งยืนในที่สุด