ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > #thsdg17: Business in Action (2) Sustainable Supply Chain กรณีเทสโก้ฯ-ซีพีเอฟ-ดีแทค

#thsdg17: Business in Action (2) Sustainable Supply Chain กรณีเทสโก้ฯ-ซีพีเอฟ-ดีแทค

15 มิถุนายน 2017


เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ Thailand SDGs Forum 2017#1: BUSINESS in ACTION ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ โดยมีองค์กรธุรกิจชั้นนำระดับโลกและระดับประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ เทสโก้ โลตัส โคคา-โคล่า เอสซีจี บางจาก เอไอเอส ดีแทค ซีพีเอฟ อิเกีย กสิกรไทย และ PTTGC มาร่วมแบ่งปันบทเรียนและความคืบหน้าจากการนำกรอบแนวคิด SDGs ไปดำเนินการในองค์กร

จากตอนที่ 1 ยูนิลีเวอร์ เอสซีจีและบางจาก ได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนผ่านของโมเดลธุรกิจใหม่ และการเลือกโฟกัสในเป้าหมายหลักที่สอดคล้องกับการสร้างผลกระทบขององค์กร โดย ยูนิลีเวอร์พุ่งเป้าไปที่เป้าหมายที่ 12 การบริโภคที่ยั่งยืน ขณะที่เอสซีจีและบางจาก โฟกัสที่เป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ใน#thsdg17: Business in Action(2) ตอนที่ 2 จะเป็นวงคุยต่อเนื่องของการแบ่งปันบทเรียนจาก เทสโก้ โลตัส ซีพีเอฟและดีแทค ภายใต้โจทย์ ความก้าวหน้าของแต่ละองค์กรภายหลังแนวคิดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ SDGs

ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการแผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท เทสโก้ โลตัส จำกัด เล่าถึงทิศทางความยั่งยืนของเทสโก้ โลตัส ในไทย

เทสโก้ โลตัส ZERO Carbon กับเป้าหมายความยั่งยืนที่วัดผลได้

เทสโก้ โลตัส หนึ่งในบริษัทระดับโลกที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนเมื่อหลายปีก่อนและสร้างความแปลกใจให้แวดวงธุรกิจค้าปลีก เมื่อเทสโก้ ระดับโลกประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 และต้องการบรรลุเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งในปี 2563 ก่อนหน้าหลายปีที่เป้าหมายความยั่งยืนอย่าง SDGs จะประกาศใช้ ความตื่นตัวในเรื่องนี้ถูกส่งผ่านไปยังทุกประเทศที่เทสโก้ โลตัส เข้าไปลงทุน โดยเฉพาะใน 3-4 ปีที่ผ่านมาที่ภารกิจและการลงทุนด้านความยั่งยืนคืบหน้าอย่างเป็นลำดับ อาทิ  เช่น การลงทุน Solar Rooftop ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเมื่อปลายปี 2559 โดยสิ่งที่แตกต่างที่ในแทบทุกโครงการที่ริเริ่ม (innitiative) มีทิศทางที่ค่อนข้างแตกต่างหากเปรียบเทียบกับในอดีต

ดังที่ ชาคริต ดิเรกวัฒนชัย รองประธานกรรมการแผนกสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท เทสโก้ โลตัส จำกัด กล่าวตอนหนึ่งบนเวทีว่า กลยุทธ์ความยั่งยืนของเทสโก้ โลตัส วันนี้ยึดหลักการ “ทำแล้วต้องจับต้องได้” ซึ่งในที่นี้เขาหมายถึง การวัดผลด้านความยั่งยืนในแต่ละเรื่องที่ทำ โดยอธิบายเพิ่มเติมว่า

“คำว่า sustainability เป็นคำที่ได้ยินบ่อยมาก แปลว่ายั่งยืน แต่คิดว่าจริงๆแล้ว sustainability คือการทำดี เหมือนกับหลักศาสนาพุทธที่บอกว่า ความดีนี่แหละที่ยั่งยืน”

“สำหรับโปรเจ็กต์ที่เทสโก้ โลตัส ทำเรื่องไหนที่จะยั่งยืน ต้องบอกว่าอาจมีบริบทต่างกัน ซึ่งผมเห็นด้วยว่าขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละองค์กร ผมเจอผู้บริโภคเยอะ และไม่สามารถควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะต้องทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง คงต้องดูบริบท CSR (Corporate Social Responsibility)  เพราะ CSR คือ ตัวที่นำไปสู่ SDG ทุกๆเป้าหมาย บางกิจกรรมสามารถนำไปได้มากกว่าหนึ่งเป้าหมาย”

โดยในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนเพื่อจะบรรลุเป้าหมายนั้น อาจจะมี 3 ข้อที่จะต้องพิจารณา

ข้อแรกคือ “จับต้องได้” อาจจะเป็นลักษณะ KPI ชัดเจน มีคนวัดให้ชัดเจน จับต้องได้ในความรู้สึกของผู้บริโภคจริงๆว่าทำแล้วมันได้  จับต้องได้ในสิ่งที่เราสามารถบอกสังคมได้ว่า เรามีการวัดและลดการใช้ เช่น เรื่องพลังงาน การใช้โซล่าเซลล์มันช่วยได้อย่างไร หรือจับต้องได้ในมุมที่ผู้สื่อข่าวสามารถนำไปเขียนต่อ และผู้บริโภคฟังและรู้สึกมีเหตุผล ใช้ได้และเป็นไปได้

ข้อที่ 2 “ทำแล้วต้องบอก” หลายคนบอกว่า CSR เป็นกิจกรรมปิดทองหลังพระ บอกไม่ได้ ไม่ใช่พีอาร์ แต่มองว่าจริงๆแล้ว กิจกรรมปิดทองหลังพระ ไม่มีกฏข้อห้ามไหนที่เราสามารถเดินมาหน้าองค์พระ ขณะที่คุณกำลังกราบพระอยู่และบอกว่าเราพึ่งปิดทองหลังพระไป ตอนนี้หลังพระเหลืองอร่ามมาก ถ้าว่างๆเดินผ่านมาดูก็จะเห็นองค์พระทั้งองค์ได้ การทำกิจกรรมเหล่านี้ ในหลายประเด็นจำเป็นต้องทำให้รับรู้จึงต้องบอกต่อ เช่น ตอนนี้เทสโก้มี โครงการลดการใช้ถุงพลาสติก มีการทำคลิป มีการสื่อสารเรื่องนี้มาก สำหรับเทสโก้ฯ มีแผน เริ่มทำจากภายในองค์กร และการเชิญชวนผู้บริโภคซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด

โดยขยายความว่า เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว มีคนแค่ 1 หมื่นคนที่ไม่รับถุงพลาสติกแล้วใช้ถุงผ้า แต่ตอนนี้ผ่านมา 4 ปี มีคนประมาณเกือบ 2 แสนคน อาจจะยังน้อยอยู่ แต่คนเหล่านี้คือคนที่เข้าใจ และ  ทราบว่าเขาควรที่จะต้องเริ่มลดการใช้ถุงพลาสติก

การที่เราต้องบอกก็เพราะว่า แม้หลายๆคน อาจจะไม่ได้ใช้ถุงพลาสติก อาจจะไม่ช้อปปิ้ง แต่  วันนี้เขารู้แล้วว่า ตอนนี้โลกกำลังพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นการทำโครงการที่ยั่งยืน “ต้อง  บอก” ฉะนั้นการแจ้งให้คนทราบ เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะสังคมจะรู้ว่าตอนนั้นเขาต้องทำเรื่องอะไร และตอนนี้สังคมกำลังสนใจเรื่องอะไร

ส่วนที่ 3 ต้องเข้ากับบริบทของบริษัท ถามว่าจะให้เทสโก้ โลตัสไปทำฝายแบบเอสซีจี  จะดูไม่เกี่ยวดังนั้นเราต้องทำสิ่งที่เรามี ต้องยอมรับว่าองค์กรหรือธุรกิจของเรามีผลกระทบ อะไรบ้าง แล้วเราควรจะทำในด้านไหนบ้าง เช่น ในเรื่องสิ่งแวดล้อม (Green) หลายคนก็พูดถึงตรงนี้มาก เทสโก้ก็มองตัวเราเองว่าอันดับแรกเรื่อง ง่ายที่สุดคือ ติดแผงโซลาเซลล์บนหลังคา ซึ่งมีอยู่ 10 กว่าสาขา ศูนย์กระจายสินค้าทั้ง 4 ภาค วางโซล่าเซลล์ทั้งหมด ซึ่งทำให้ความร้อนลงมาข้างล่างลดลง พลังงานสามารถนำไปใช้ได้ และเป็นเรื่องดี ที่สามารถบอกต่อได้ว่าเราพร้อมจะใช้ด้วย นอกจากนี้สำหรับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรมีโซน zero carbon ที่พนักงานทุกคนต้องมีส่วนช่วยประหยัดไฟห้องน้ำโดยจะมีการติดเซนเซอร์ หากไม่มีการเคลื่อนไหวไฟจะดับ สิ่งเหล่านี้เป็นการบอกว่าเราต้องช่วยกันประหยัด  และทำให้รู้สึกว่าเราจำเป็นต้องทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานด้านสิ่งแวดล้อมภายในกระบวนการธุรกิจของเรา

Food Waste การจัดการซัพพลายเชนและการลดการสูญเสียอาหาร

“ลดของเสียจากอาหาร” (Food Waste) เป็นหนึ่งในโครงการที่จะช่วยในเรื่องการลดการสูญเสียอาหารในซัพพลายเชน (suppli chain) ตั้งแต่ต้นทาง โดยลงไปทำงานกับซัพพลายเชนเพื่อลดการสูญเสียอาหาร  จากซัพพลายเชนเรามีโครงการซื้อตรงจากเกษตรกร โดยเทสโก้ฯลงไปทำงานกับเกษตรกรในหลายๆเรื่อง อาทิ การลดสารเคมีให้อยู่ในมาตรฐานเพื่อลดการทิ้งอาหารจากการพบสารตกค้างในผักในปริมาณมาก การพัฒนาคุณภาพผัก ผลไม้ เพื่อให้สินค้าตรงความต้องการลูกค้า และไม่เหลือทิ้ง ทำให้เกษตรกรรู้ว่าจะต้องปลูกอย่างไรบ้าง แล้วต้องขนาดขนาดไหน ตัดมาแล้วจะไม่สูญเสีย สอนผู้ผลิตให้รู้ว่าตลาดต้องการอะไร

“หลายครั้งเป็นเรื่องเส้นผมบังภูเขา เช่น กล้วยหอม จะขายดีมากช่วงสารทจีน ตรุษจีน คนก็ซื้อกล้วยหอมดิบสีเขียว ซื้อไปหนึ่งสัปดาห์ลูกค้าก็โทรศัพท์มาต่อว่า กล้วยเขียวแล้วเน่าเลย ไม่สุก เรื่องแบบนี้เป็นไปได้ ถ้าเราตัดไม่ถูกจังหวะ”

หลังจากที่ทำงานกับเกษตรกร พบว่า กล้วยเหมือนกับมนุษย์ พอตั้งครรภ์ 9 เดือนแล้วจะคลอด กล้วยก็เหมือนกัน ออกหัวปลีแล้วมันจะนับได้เลยว่ากี่สัปดาห์จะเขียว ตัดตอนนี้จะเหลือง พอออกหัวปลีเกษตรกรก็แปะสติกเกอร์ แล้วใช้นับวันเอา หลังจากนั้นกล้วยที่นำมาขายเป็นกล้วยเขียว เกือบ 100% ก็สุก ฉะนั้นมันดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่การที่เวลากล้วยไม่สุก ก็คือของเสีย นั่นคือสิ่งที่ทำ

อย่างการวางขายที่สาขา ก็จะมีของเหลือเมื่อสิ้นวัน จะมีของขายไม่ได้แล้วแต่ยังใช้ได้ ซึ่งจะนำของเหล่านี้ไปบริจาค โดยผักที่จำหน่ายไม่ได้ แต่ยังรับประทานได้ ก็จะได้รับการบริจาค หรือแม้กระทั่งสิ่งของบางอย่าง เช่น  ส้ม 10 ผลในหนึ่งแพ็ค มีเน่า 1 ผล ของแบบนี้ขายไม่ได้แล้ว แต่ยังสามารถบริจาคอีก 9 ผลที่เหลือได้

“นี่คือสิ่งที่เราต้องการลดของเสียที่เป็นอาหาร อาหารในที่นี้คือ อะไรก็ตามที่ทานได้ เราไม่ได้หมายความว่าทานอาหารไม่หมดจาน แต่เราพูดถึงว่า เมื่อเรามีหน้าที่ในการจำหน่ายอาหาร หน้าที่ของเทสโก้อย่างหนึ่งคือ เราจะต้องไม่ทิ้งอาหารตรงนี้”

แม้ว่าคนอาจจะรู้สึกว่าประเทศไทยไม่ได้มีจุดอ่อนเรื่องไม่มีอาหารบริโภคเหมือนประเทศในแถบเอธิโอเปียหรือแอฟริกา ส่วนใหญ่ที่ไม่มีอาจจะไม่มีเงินซื้อ อย่างไรก็ตามทำให้หลายคนอาจจะไม่สนใจและลืมนึกไปว่าเราสามารถที่จะไม่ทิ้งอาหารได้ เพราะฉะนั้นถือว่าเป็นบริบทของเทสโก้โลตัสที่จำเป็นต้องทำ

ดังนั้นในประเด็นที่เชื่อมโยงกับ SDG  4 เรื่องที่เราทำงานและสอดคล้อง คือ การศึกษา สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเรื่องต่างๆที่เกิดขึ้นในชุมชน เทสโก้มีอยู่ทุกที่ ทุกซอกซอย และทุกจังหวัด อย่างกรณีน้ำท่วม ลูกค้าก็จะขับรถมาจอดรถที่เรา พักที่เรา เป็นเรื่องที่ทำกัน อย่างภาคใต้น้ำมาเร็ว จอดได้ เราจำเป็นต้องอยู่เป็นที่พึ่ง ต้องอยู่เป็นแหล่งให้ลูกค้ารู้สึกว่าเรายังอยู่ ไม่ว่าจะเกิดอะไรก็ตาม ในพื้นที่หรือชุมชนมีอะไรต้องการให้เราทำ เราสามารถช่วยได้เสมอ

เพราะฉะนั้นสำหรับเราในเรื่อง SDG เริ่มจาก CSR และเริ่มจากความคิดที่เราต้องการทำสิ่งดีๆกับชุมชน และสิ่งที่ทำจะกลับไปตอบสนอง SDG ของเราได้ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

ซีพีเอฟ อนาคตธุรกิจอาหารบนความเสี่ยงด้านทรัพยากร

วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF) กล่าวว่า CPF มองความยั่งยืนสอดคล้องกับเรื่อง SDG ในหลายด้าน โดย mapping เรื่อง SDG มาตั้งแต่ปีที่ประกาศ ซึ่งเป้าหมายหลักในการดำเนินงาน CSR หรือความยั่งยืนของ CPF จะมี 3 ด้านได้แก่ “อาหารมั่นคง” “สังคมพึ่งตน” และ “ดินน้ำป่าคงอยู่”

ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกิจอาหารไปเกี่ยวข้องกับทรัพยากร ต้องยอมรับว่าอาหารทั้งหมดมาจากทรัพยากรธรรมชาติ 100% จากดิน น้ำ ป่า  ดังนั้นความยั่งยืนของธุรกิจเราจะอยู่ได้ ต้องดูแลฐานทรัพยากรให้ดีด้วย เราไม่ใช่ธุรกิจด้านเทคโนโลยี จึงมีความเสี่ยงพอสมควร และวันนี้ประชากรเพิ่มขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรลดลง

วุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)

การขับเคลื่อนโลกวันนี้มีอยู่ 2 ส่วน ที่มีความสำคัญ คือ เรื่องของ “พลังงานคน” และ “พลังงานเครื่องจักร” สำหรับพลังงานคนก็คือ “อาหาร” พลังงานเครื่องจักรก็คือ สิ่งต่างๆที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ

ดังนั้นในโลกยุค 2050 (พ.ศ.2593) ที่กำลังจะมาถึง จะมีความเสี่ยงอยู่ 2 เรื่อง ดังนั้นจะจัดสรรอย่างไรที่จะทำให้เกิดความสมดุลในการใช้ทรัพยากรให้ถึงปีนั้น ที่จะส่งผ่านให้ลูกหลานเรา สิ่งนี้จึงนำมาสู่เรื่องอาหารมั่นคง โดยในเรื่องอาหารมั่นคง ในฐานะที่เป็นบริษัทผลิตอาหารขนาดใหญ่ ลงทุนไป 14-15 ประเทศทั่วโลก มองว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดกระบวนการเข้าถึงอาหารของเรา ซึ่งมี 2 เป้าหมาย

เป้าหมายแรกคือ “ยกระดับคุณภาพความปลอดภัยตลอดกระบวนการ” เรื่องนี้ได้ตั้งเป้าไว้ก่อนที่ SDG จะกำหนด ซึ่งเป็นการท้าทายตัวเอง คือ 30%ของผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต เราต้องเน้นเรื่องสุขโภชนาการและสุขภาพที่ดี  และไม่มีเหตุการณ์เรียกคืนสินค้า

ฉะนั้นในอนาคตอันใกล้ เราจะมีอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้นในสินค้าของเรา ให้ผู้บริโภคได้เลือกบริโภค ไม่ว่าจะเป็น อาหารผู้สูงวัย อาหารผู้ป่วย อาหารเด็ก เพื่อให้เข้าถึงโภชนาการอย่างเต็มที่ในเรื่องการบริโภค

ขณะเดียวกัน บริษัทมุ่งเน้นไปในเรื่องการส่งเสริมการเข้าถึงอาหารในปี 2020 (พ.ศ.2563) จำนวน 3 แสนคน โดยมองว่า  ภาวะการขาดโภชนาการหรือทุพโภชนาการ จะส่งผลถึงจำนวนประชากรจำนวนเท่าไร  ยังไม่รวมถึงสิ่งที่เราทำทางอ้อม ในการที่จะให้องค์ความรู้หรือการเข้าไป  พัฒนาในโครงการต่างๆ ในกิจกรรม CSR เช่น “โครงการอิ่มสุข ปลูกอนาคต” หรือบางโครงการก็จะไปร่วมกับภาคส่วนต่างๆด้วย

“ซัพพลายเชน” จุดอ่อนไหวความยั่งยืนในธุรกิจอาหาร

ในส่วนเรื่อง “สังคมพึ่งตน” มองว่า สิ่งที่เป็นประเด็นในธุรกิจอาหาร คือ “ซัพพลายเชน” เป็นปัญหาสำคัญเพราะว่า เรามีซัพพลายเชนเป็นหมื่นราย และถ้าบริหารจัดการไม่ดี ก็จะเกิดประเด็นปัญหาความยั่งยืน แต่ถ้าเราจะทำเรื่องบริโภคยั่งยืน ก็ต้องจัดการซัพพลายเชนให้ยั่งยืนด้วย โดยก่อนที่จะมีการพัฒนาซัพพลายเชน เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะทำอย่างไรกับหมื่นราย เลยสรุปกันว่า ต้องหา critical supply chain ก่อนในเบื้องต้น  จึงมองไปที่คู่ค้าที่มี volume มากที่สุดจากนั้นจึงจัดอันดับลงมา

ซัพพลายเชนลำดับที่ 2 คือ ซัพพลายเชนที่มีความสำคัญต่อเรา เช่น ในเครื่องปรุงมีรายเดียว ซึ่งถือว่าสำคัญ เพราะถ้าขาดรายนี้ไป อาหารเราจะไม่อร่อย ขายไม่ได้ อันนี้เรามองว่าเป็นซัพพลายเชนสำคัญ นอกจากนี้ยังมีซัพพลายเชนที่มีความเสี่ยงต่อ SDG คือ “ESG” ซึ่งประกอบด้วยเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” (environment) “สังคม” (social) และ “ธรรมมาภิบาล” (governance) นี่คือความเสี่ยงของตัวองค์กร ที่จะต้องพิจารณาให้ความสำคัญ

และหลังจากรวบรวมจัดลำดับความสำคัญแล้วมีประมาณ 200 กว่ารายที่ต้องพัฒนา และจำเป็นจะต้องสนับสนุนและพัฒนาเขาให้เป็นซัพพลายเชนที่มีความเข้าใจเรื่องของการจัดการด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคน เรื่องวัตถุดิบ เรื่องสิ่งแวดล้อมโดยซีพีเอฟต้องเป็นคนที่ให้องค์ความรู้ทั้งหมด รวมถึงก็จัดนโยบายการจัดอาหารยั่งยืน โดยมีการตกลงร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาจากผลการดำเนินงานนี้ มีการตกลงที่ร่วมลงนามไปประมาณ 99% จาก 200 กว่าราย ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลต่อหลายเรื่องในธุรกิจ

สิ่งที่เป็นปัญหาในอดีตในการผลิตอาหารก็คือ วัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็นปลาป่น ข้าวโพด น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นกรณีใหญ่ๆ เราจะไม่รับซื้อสิ่งเหล่านี้จากวัตถุดิบที่ไม่ถูกต้องจากต้นทาง เช่น การบุกรุกทำลายป่า

นี่เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาคู่ค้า เพื่อให้ภาพรวมของสังคมเกิดความยั่งยืนให้ได้ โดยเฉพาะต้นทางของอาหารคือสิ่งแวดล้อม ถ้าสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย อาหารไม่มั่นคงแล้วประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลต่อปัญหาที่จะตามมาในอนาคต

ในส่วนเป้าหมายส่งเสริมคุณภาพชีวิตชุมชน ซีพีเอฟ มองว่าจะพัฒนาเกษตรกรรายย่อย รวมถึง สนับสนุนกลุ่มเปราะบางทางสังคม โดยส่งเสริมอาชีพ 5 หมื่นราย ในปี 2020 (พ.ศ.2563) โดยกลุ่มเปราะบาง อาจจะเป็นเรื่องของคนพิการ สตรี คนที่ด้อยโอกาสต่างๆ ที่ซีพีเอฟจะเข้าไปสนับสนุนใน ซึ่งเรื่องการส่งเสริมอาชีพ และจะไปตอบโจทย์แก้ไขปัญหาความยากจนขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

กลยุทธ์หลักด้านสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายความยั่งยืนด้านอาหารโลก

ส่วนเสาหลักสุดท้ายในการดำเนินงานความยั่งยืน คือเรื่อง ดินน้ำป่าคงอยู่ ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้ ฐานข้อมูลจากปี 2558 โดยมีการสำรวจทั้งองค์กร ในเรื่องข้อมูลในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ข้อมูลการใช้น้ำ  หรือแม้กระทั่งการใช้น้ำมีอยู่เท่าไหร่ และหาความเป็นไปได้ว่าภายในปี 2020 (พ.ศ.2563)จะลดการปล่อยคาร์บอนและการใช้น้ำไปได้เท่าไหร่

รวมทั้งมีการบรรเทาพื้นฟูสิ่งแวดล้อม จากการประเมินเราจะมองว่าเราใช้ในทรัพยากรอะไรบ้าง ซึ่งมีทั้งป่าบก ป่าน้ำ ก็เข้าไปดำเนินการตามแผน มีทั้งยุทธศาสตร์ป่าชายเลน 5 จังหวัด รวมทั้งป่าบก และพื้นที่การทำงานทั้งหมด 400 กว่าแห่งทั่วประเทศ ก็ต้องทำเป็นพื้นที่สีเขียวด้วย รวมถึงการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งหมดถูกกำหนด และจับคู่ กับ SDG Goals ไปแล้ว

สำหรับระดับต่างประเทศ ซีพีเอฟจะขับเคลื่อนร่วมกับเครือข่ายต่างประเทศทั้งหมด ในเรื่องของการสร้างความยั่งยืน ซึ่งวันนี้มองว่าต้องจับมือกันและร่วมกันผลักดันในเรื่องของ “ความยั่งยืนทางอาหารของโลก” และรวมถึง “การบริโภคอย่างยั่งยืน” ด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะไปตอบโจทย์ในเรื่องของการส่งเสริมการเข้าถึงอาหาร และรวมถึง “zero hunger”  เพราะอาหารกลายเป็นขยะ(waste)จำนวนมาก  จำเป็นจะต้องจัดการกับขยะ(waste) เหล่านี้อย่างไร ให้เกิดกระบวนการบริโภคยั่งยืนทั้งโลก

วันนี้ซีพีเอฟลงทุนทั่วโลก ก็เลยมองว่าสิ่งที่ต้องทำวันนี้ไม่เพียงในระดับประเทศ แต่เราต้องเป็นเครือข่ายส่วนหนึ่งในการสนับสนุนในการสร้างความยั่งยืนของโลกด้วย

ดีแทค ความเหลื่อมล้ำและการมาถึงของ technology acceleration

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค

อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค กล่าวว่า ปัจุบันดีแทคทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางด้าน “ดิจิทัลเซอร์วิส” (digital service) ซึ่งวันนี้คงไม่มีใครไม่ได้ยินวิสัยทัศน์ท่านนายกฯ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) และรัฐบาลปัจุบัน ในการผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศไทย 4.0

จริงๆตอนนี้เราอยู่บนความท้าทายและโอกาสว่า ทั้งโลกของเรา เราอยู่ในโกลบอลไลเซชั่น (Globalization) เวลาพูดคำว่าโลก ก็หมายถึงประเทศไทยเข้าไปอยู่ในกระแสนั้นด้วย โดยอยู่ระหว่าง 2 ทาง ทางด้านหนึ่งคือ “technology acceleration” คือ เทคโนโลยีตอนนี้อยู่ในอัตราเร่งที่เร็วที่สุด สิ่งที่เคยดูกันในสมัยเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์อีที ที่มีการสื่อสารระหว่างโลกกับอวกาศ หรือวัตถุกับวัตถุคุยกัน ตอนนี้เป็นยุคที่ accelerate คือ เกิดขึ้นแล้วจริงๆ และจะเกิดขึ้นในระยะเวลาที่รวดเร็วภายใน 2-3 ปีนี้ด้วย ขณะเดียวกันเรายังอยู่ในยุคที่คนมากกว่า 30% ของโลก ยังไม่แม้แต่จะเชื่อมต่อ(connect)กับอินเทอร์เน็ต ฉะนั้นจึงเกิดช่องว่าง

เป้าหมายหนึ่งของ SDG คือเป้าหมายที่ 10 เรื่อง reduce inequality จึงมีความสำคัญมากๆ มีการพูดถึงเรื่องนี้มากที่สุด คือเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” และความเหลื่อมล้ำจะเกิดคำถาม ในขณะที่บอกว่า เทคโนโลยีเข้ามาน่าจะมีการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวิตหรือเศรษฐกิจของคน แต่ขณะเดียวกัน คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังตามไม่ทัน เทคโนโลยีก็จะยิ่งเป็นตัวถ่างความเหลื่อมล้ำออกไปเรื่อยๆเพราะฉะนั้นถามว่า 4.0 วันนี้มีคนพร้อมเท่าไหร่

freedom of speech & data privacy

ขณะนี้องค์กรชั้นนำของประเทศไทยพร้อมรับนวัตกรรมนี้ ทุกองค์กรอยู่ระหว่างในช่วง ดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น ก็อาจจะพร้อมที่จะรับหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)  หรือ Internet of Things (IoT) เข้ามาใช้ในกระบวนการทำธุรกิจ แต่ก็จะมีคนอีกจำนวนมากที่อยู่ในกลุ่ม 1.0 คือ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ที่ไม่คิดเลยว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตด้วยซ้ำไป

ดังนั้นเวลาพูดถึงคำว่า ความยั่งยืน (sustainability) ที่ดีแทค อาจจะแบ่ง 2 ขา ขาแรก เราจะทำสิ่งที่ถูกต้องเท่านั้น และสิ่งเหล่านี้จะไปอยู่ในกระบวนการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ หรือเวลาเราพูดถึงโทรคมนาคม สิ่งที่ควบคู่กันมาคือ freedom of speech เรื่องอิสรภาพในการแสดงออก การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน หรือเรื่องของ privacy ของลูกค้า เรื่องนี้กำลังจะเป็นประเด็นที่ใหญ่

เราพูดถึง ‎big data ข้อมูลที่เต็มไปหมด แต่เคยสงสัยไหมว่า เวลาเดินเข้าไปที่ไหน เขารู้ได้อย่างไร ส่งส่วนลด หรือส่งประกาศบางอย่าง ตรงกับเราที่กำลังเดินไปซื้อพอดี รู้ได้ อย่างไร  ทั้งหมดนี้มันคือการใช้ big data แต่คำถามคือ เราเคยถามไหมว่า อยากให้เขารู้ไหมว่าเราเดินเข้ามาในที่นี้ เพราะฉะนั้นจุดบางๆระหว่าง data privacy กับเรื่องของการใช้ big data อยู่ตรงไหน อันนี้เป็นเรื่องของการสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจของโอเปอร์เรเตอร์ทั้ง 3 ราย ในขณะที่อีกขาหนึ่ง เราตระหนักถึงบทบาทการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยการประกาศเจตนารมย์ว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ไม่ว่าคนๆนั้นจะอยากใช้หรือไม่อยากใช้อินเทอร์เน็ตก็ตาม

ในอนาคตจะมี telemedicine  ถ้าท่านป่วย อาจจะไม่ต้องเดินทางออกมาหาคุณหมอ แต่สามารถหาคุณหมอจากที่บ้านได้เลย หรือว่าในสังคมไทย เชื่อไหมว่ามีคนไทยจำนวนมากที่ไม่มีบัญชีธนาคาร แต่เบอร์โทรศัพท์มือถือของเราต่อไปจะเป็นบัญชีธนาคาร ในปากีสถาน หรือในหลายๆประเทศ สามารถที่จะให้บริการไมโครไฟแนนซ์ผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนสามารถที่จะเข้าถึงบริการทางด้านการเงินได้ในอนาคต

DTAC Accelerate อนาคตเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 9

ยกตัวอย่าง 2 เป้าหมายที่ดีแทคมีบทบาททำอยู่ ณ ตอนนี้ คือ Goal เป้าหมายที่ 9 Industry, Innovation and Infrastructure คือการสร้างอุตสาหกรรม นวัตกรรมโครงสร้างพื้นฐาน

เวลาได้ยินคำว่า “สตาร์ทอัพ”  เบื่อไหม เราเริ่มจะเอียนๆ ซึ่งจริงๆแล้วแนวคิด (concept)ของคำว่าสตาร์ทอัพ คือ “disruption” มันจะ disrupt ทุกอย่างที่มันเป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน อันนี้ต่างหากคือ co-concept ของคำว่าสตาร์ทอัพ

สตาร์ทอัพเป็นเพียงประเภทหนึ่งของการทำธุรกิจ หรือวิธีการเติบโตในธุรกิจแบบใหม่ แต่ co concept ของมันคือคำว่า disrupt เพราะฉะนั้นดีแทคจึงทำโครงการที่ชื่อว่า “ดีแทค แอคเซอเลอเรท” (dtac Accelerate) ในลักษณะที่ต้องการเป็นโรงเรียนบ่มเพาะสตาร์ทอัพให้สำเร็จให้ได้และเติบโตไปให้ได้

เวลาเราพูดคำว่าสตาร์ทอัพ เราต้องพูดถึงบริษัทขนาดเล็กที่เติบโตเร็ว ปีละ100% ลูกค้าเขา จะต้องไม่อยู่แต่ในประเทศไทย แต่เรากำลังจะพูดถึงลูกค้าทั่วโลก  คนจะเป็นเจ้าของ   สตาร์ทอัพ จะต้องมีความคิดแบบนี้ และ disrupt ป่วนระบบเดิมที่เคยเป็นอยู่ ที่อาจจะเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน เกิดการผูกขาดระหว่างทาง เขาจะมา disrupt สิ่งเหล่านี้ทั้งหมด นั่นคือ หัวใจของการทำสตาร์ทอัพ

วันนี้ ดีแทคแอคเซอเลอเรท (DTAC Accelerate) เป็นอันดับหนึ่งของประเทศในการสร้างสตาร์ทอัพ และเป็น อันดับที่3ของอาเซียน เราตั้งเป้าว่าปี 2020 เราอยากเป็นที่ 1 ของอาเซียน

เพราะจริงๆประเทศไทยคนชอบท้าทายว่า เราจะชนะสิงค์โปรได้ไหม สิงค์โปรจริงๆ ผู้บริโภคน้อย แต่ประเทศไทยกำลังดี และอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี ซึ่งเวลาเราช่วยคนไทยทำ เราบอกเลยว่า ผู้บริโภคของคุณคือคนทั้งโลก

หยุดคิดได้แล้วว่าสตาร์ทอัพจะมาผูกเอาลูกค้าดีแทค 20 กว่าล้านราย อันนี้เป็นวิธีคิดที่  โบราณมาก ต้อง disrupt ว่าลูกค้าคือคนทั่วโลก

ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการลดช่องว่างดิจิตอล

อีกเป้าหมายหนึ่งคือเป้าหมายที่ 10 (reduced inequality) คือเรื่องของการ “ลดความเหลื่อม ล้ำ” เราคิดว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเชื่อมช่องว่าง (bridge gap) บางอย่าง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ยังใช้ เทคโนโลยีน้อยๆ

ยกตัวอย่าง เช่น ดีแทคมีทีมเน็ตอาสา คือคนที่ออกไปสอนอินเทอร์เน็ตให้กับคนที่ไม่คิดจะใช้  อินเทอร์เน็ต เช่น ผู้ป่วย คนแก่ คนพิการ เด็กออทิสติก หรือเกษตรกรที่จับกลุ่มกันและเป็น  วิสาหกิจชุมชน และอยากจะขายของอยู่บนอินเทอร์เน็ต  อีกกลุ่มคือเกษตรกรรายย่อย เราพยายามให้เขาเข้าใจกระบวนการ การทำ value chain ด้วย  การนำดิจิทัลเข้าไปเพิ่มมูลค่าในทุกๆขั้นตอนของ value chain โดยกำหนดเป้าหมายไว้ว่า  อยากที่จะบรรลุเรื่องอะไรบ้าง และนี่คือทิศทางของเรา

ติดตามอ่านรายละเอียดข้อมูลการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศไทยจาก Thailand SDGs Forum2017#1 ได้เพิ่มเติมได้เร็วๆนี้ทาง thaipublica.org