ThaiPublica > Sustainability > Headline > เปิด 5 ประเด็นจาก 5 เวที GCNT Forum 2021รวมพลังสมาชิกเร่งลงมือ สู้วิกฤติโลกร้อน

เปิด 5 ประเด็นจาก 5 เวที GCNT Forum 2021รวมพลังสมาชิกเร่งลงมือ สู้วิกฤติโลกร้อน

24 ตุลาคม 2021


  • ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ ภายใต้แนวคิด ‘A New Era of Accelerated Actions’ ครั้งแรกของการประชุมสุดยอดระดับผู้นำของประเทศไทย ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสหประชาชาติ ผู้สนใจเข้าร่วมงานมากกว่า 800 คน
  • เปิด 5 ประเด็น 5 เวทีพูดคุยระดับผู้นำ ประเมินสถานการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายกลุ่มธุรกิจ บทบาทของภาคการเงินและการลงทุน บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสรุปการหารือและการดำเนินงานต่อไป เร่งสร้างยุคใหม่ของการลงมือทำอย่างจริงจัง (A New Era of Accelerated Actions)

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 : สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ร่วมกับสหประชาชาติ จัดงาน ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ ภายใต้แนวคิด ‘A New Era of Accelerated Actions’ โดยงานในช่วงเช้าเป็นการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรสมาชิกว่าด้วย “การป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ด้วยเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ค.ศ. 2050 หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกิน ค.ศ. 2070 นับเป็นการรวมพลังองค์กรสมาชิกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กฯ ทุกธุรกิจ ทุกขนาด สู่เป้าหมายเดียวกันเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อรับมือกับประเด็นความยั่งยืนที่สำคัญและเร่งด่วนระดับโลก อย่าง วิกฤติโลกร้อน เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ นับเป็นการแสดงพลังของสมาชิก GCNT ซึ่งเป็นภาคเอกชนชั้นนำของไทย ในการเป็นผู้นำขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับประเทศและระดับโลก

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในองค์กรสมาชิก GCNT ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ เปิดเผยถึงการดำเนินงานของไทยเบฟว่าได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร และพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน มาเป็นแนวทางก้าวไปสู่การพัฒนาครั้งต่อไปขององค์กรด้วยวิสัยทัศน์ PASSION 2025 ซึ่งจะขับเคลื่อนองค์กรในช่วงครึ่งแรกของทศวรรษหน้า มุ่งมั่นที่จะสรรสร้างความสามารถ เสริมแกร่งความเป็นหนึ่ง และพัฒนาความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุเป้าหมายในการ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า มุ่งเน้นนโยบายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นประเด็นสำคัญและเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)

โดยไทยเบฟลงทุนในพลังงานทดแทนและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ของคนในชุมชน ขณะเดียวกัน ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) และมองว่าความร่วมมือจะมีมากขึ้นตามพันธกรณีในฐานะสมาชิกของ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนประการที่ 17 ขององค์การสหประชาชาติ (SDG 17) “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยไทยเบฟได้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network: TSCN) เพื่อร่วมกันช่วยเหลือให้กับพันธมิตรทางธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วย

นอกจากการประกาศเจตนารมณ์ของสมาชิก งาน GCNT Forum 2021 ยังมีการเปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดและประสบการณ์การทำงานด้านการบรรเทาและป้องกันปัญหาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อร่วมหาทางออก (solutions-oriented) ของสมาชิก GCNT ร่วมกับภาครัฐ ภาคประสังคม และสหประชาชาติ ใน 5 หัวข้อ 5 เวที ได้แก่ การประเมินสถานการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตรกลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป บทบาทของภาคการเงินและการลงทุน บทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสรุปการหารือและการดำเนินการต่อไป

สำหรับเวทีแรก “การประเมินสถานการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในไทย” ตัวแทนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (อบก.) United Nations Environment Programme หรือโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ พูดคุยกันถึงการขับเคลื่อนนโยบายของไทยว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศการบรรลุความมุ่งมั่นตามความตกลงปารีส

โดยได้ชี้ว่า การที่จะบรรลุเป้าหมาย Net-Zero Thailand นั้น ประเทศไทยจะต้องมุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และรักษาระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียว ควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับรวมถึงกักเก็บคาร์บอน

ขณะนี้ภาครัฐเริ่มมีมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมเรื่องนี้ เช่น การลงทุนในเทคโนโลยีต่างๆ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมพลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ การจัดการน้ำเสีย/ขยะ การลดมีเทนในภาคการเกษตร ซึ่งนับเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแนวใหม่ตามนโยบาย BCG บนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการเชิญชวนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมโครงการปลูกป่า เป็นโอกาสของประเทศไทยในการมุ่งสู่เศรษฐกิจปลอดคาร์บอน และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน โดยประเทศไทยมีความเข้มแข็งในหลายด้าน อาทิ ความมั่นคงทางอาหารและทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งควรนำมาขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน นี่คือการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด เกิดการกระจายรายได้สู่สังคม และสร้างความยั่งยืนสู่ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ทางออกในการบรรลุปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรายกลุ่มธุรกิจ

เวทีที่ 2 เป็นการแลกเปลี่ยนทางออกของสามกลุ่มธุรกิจที่จัดได้ว่า เผชิญความท้าทายจากเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในแง่ ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ หากปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลง ในขณะเดียวกันก็สามารถพลิกกลับมาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาได้ด้วยเช่นกัน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอาหารและการเกษตร กลุ่มพลังงาน และกลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป

สำหรับ กลุ่มธุรกิจอาหาร ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) และ โครงการข้าวไทย NAMA ซึ่งทุกองค์กรระบุตรงกันว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจอาหารและการเกษตร ต้องลดการปล่อยและเพิ่มการดูดซับคู่กัน โดยต้องเริ่มจากการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต เน้นที่การจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย และการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานโซล่าร์เซลล์ หรือพลังงานชีวมวล (Biomass) ให้มากขึ้น และทำงานครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) และสุดท้าย คือ ปลูกป่า เพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นและช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

กลุ่มธุรกิจพลังงาน ได้ตัวแทนร่วมเสวนาจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด โดยระบุว่า การพัฒนาด้านพลังงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก นอกจากการลงทุนในโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในกระบวนการผลิต และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานของภาคเอกชน ยังต้องสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมให้ผลิตพลังงานได้เอง มีส่วนร่วมและสร้างความเป็นเจ้าของ (Ownership) เปลี่ยนจากผู้ใช้พลังงานเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ (Prosumer) สร้างเครือข่ายและแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนองค์ความรู้หรือกลไกการพัฒนาพลังงานสะอาด มี Monitoring & Education & Engagement เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยในการตัดสินใจ และสร้างความรู้ความเข้าใจกับสาธารณชนควบคู่กันไป

สำหรับ กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วไป ตัวแทนจากบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) มองภาพใหญ่ว่า การแก้ไขวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด จึงควรใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ต้องสร้างสมดุลระหว่าง “ต้นทุน” และ “สิ่งแวดล้อม” ตั้งแต่การพิจารณาการลงทุน การออกแบบ จนถึงการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่สำคัญ คือ ต้องสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) และร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทุกฝ่าย การดำเนินธุรกิจในยุคนี้ ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) การปรับตัว (Resilience) และความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) จากนี้ไป การประเมินความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate risk assessment) จะเป็นปัจจัยหลักประกอบการพิจารณาลงทุนของธุรกิจ

“ฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในเวทีนี้กล่าวว่า “Climate Crisis เกิดขึ้นแล้ว และหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องจัดการวิกฤตินี้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด อาจถือว่าเราลงมือทำ “สาย” แต่ไม่ช้าเกินไป และเป็นภารกิจท้าทายมากที่พวกเราต้องร่วมมือกัน”

บทบาทภาคการเงิน-การลงทุนป้องกันด้านเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวแทนจาก ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มทางการเงิน (UNEP FI)
และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย ร่วมพูดคุยในเวทีเสวนาที่ 4 ว่าด้วยบทบาทของภาคการเงินและการลงทุน โดย UNDP เห็นว่า ภาคการเงินในไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการเร่งแก้ปัญหาภาวะวิกฤติโลกร้อนแล้ว

เห็นได้จากการที่รัฐบาลไทยได้พัฒนาเครื่องมือทางการเงินร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพราะธนาคารไม่สามารถดำเนินการคนเดียวเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ระดับโลกได้ โดยยกตัวอย่าง ธนาคารในแต่ละประเทศ ที่มีการจัดการความเสี่ยงมาตลอด ภายใต้หลักการ PRB (PRINCIPLES FOR RESPONSIBLE BANKING) ซึ่งเพิ่มเรื่องการบริหารผลกระทบ คือลดผลกระทบเชิงลบ และเพิ่มผลกระทบเชิงบวก เช่น การปล่อยกู้ด้านการเกษตร อาจมีผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ผลบวก คือรายได้เกษตรกร ซึ่งต้องบริหารจัดการโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

โดยขณะนี้ UNEP FI ได้ประสานกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินงานด้านการเงินที่ยั่งยืน (Green Financing) โดยตั้งเป้า ค.ศ. 2050 ต้องเห็นผลใน ค.ศ 2030 ซึ่งจะเน้นลูกค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่ม Oil & Gasเพื่อร่วมขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero

มร.จอร์โจ้ กัมบ้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย กล่าวว่า “HSBC มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ให้บริการด้านการเงินที่เน้นความยั่งยืน และความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมด้วยผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นะ เป็น Green Bond, Green Loan, Sustainability-linked Bond/Loan และ Green Deposit ที่สามารถนำไปใช้กับโครงการต่างๆ ที่มีเป้าหมายช่วยลดสภาวะโลกร้อน”

นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ตัวแทนจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) เปิด
เวทีสนทนาถึงบทบาทของนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเห็นว่า Digital transformation ในยุคของ 4th Industrial Revolution จะช่วยสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases – GHGs) ในขั้นตอนต่างๆ ของการผลิตและบริโภค โดยต้องมีระบบนวัตกรรมที่รัฐบาลช่วยวางนโยบายและกำหนดทิศทางการลงทุนและเข้าถึงนวัตกรรมอย่างมีธรรมาภิบาล เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและการดำเนินการร่วมกัน และดำเนินงานที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม

ส่วนการเลือกใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขององค์กร ควรเริ่มจากการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ของตน เพื่อเห็นปริมาณและความเสี่ยงของการปล่อย GHGs ในทุกขั้นตอนของตนเองก่อน นำไปสู่การวางแผน การพัฒนา และการจัดลำดับความสำคัญในการปรับปรุง รวมถึงการรับฟังมุมมองจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องด้วย โดยการดำเนินงานองค์กร อาจเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพขององค์กรจากภายใน ด้วยการสนับสนุนความคิดริเริ่มของคนในองค์กรก่อน และต้องทำ R&D ที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างมีนัยสำคัญ ที่สำคัญ คือ ต้องมีความมุ่งมั่น (Commitment) ตั้งแต่ระดับบริหารจนถึงผู้ปฏิบัติงาน เพื่อหาแนวร่วมเครือข่ายสร้างความเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนเรื่องของนวัตกรรมและเทคโนโลยี

โดยนายยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-บริหารกลาง บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า “ความท้าทายของการพัฒนานวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่ Net Zero คือ Speed ที่ต้องสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้จริงและทันกับความต้องการ องค์กรต้องมี commitment และบ่มเพาะให้เกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้และการลงมือทำ”

ในขณะที่นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ย้ำว่า “Digital Power Technology จะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ในการลดก๊าซเรือนกระจก” ขับเคลื่อนสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง (Real Transformation)”

ช่วงท้ายของงาน สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย บริษัท แบรนดิ คอร์ปอเรชัน จำกัด ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ได้ร่วมกันสะท้อนมุมมอง ข้อสังเกต ทางออก และข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ ในเวทีเสวนาที่ 5 โดยมองว่า ภาคเอกชนกำลังมองหาจุดสมดุลของตัวเองจากทั้ง 3P (PROFITS PEOPLE PLANET) เพื่อเพิ่มการเติบโต (Growth) ลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลง (Risk) และมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน (Sustainability) ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ Climate Change จึงไม่ใช่ภาระของภาคเอกชน ตรงกันข้าม เป็นโอกาสทางธุรกิจที่ได้แสดงศักยภาพในการแก้ปัญหา ควบคู่ไปกับการสร้างตลาดทางธุรกิจที่มีคุณภาพ เพื่อสนับสนุนการเติบโตที่ยั่งยืน

ดังนั้น ภาคเอกชนต้องมีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนกลไกทางธุรกิจทั้งหมด เพื่อเปลี่ยนจากธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม มาสู่การเป็นธุรกิจเพื่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (Regeneration) และการที่บริษัทจะขับเคลื่อนและพลิกโฉมองค์กรจนถึงแสดงศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงได้นั้น ต้องอาศัยระบบนิเวศ (Eco-system) ที่เหมาะสม ทั้งกลไกทางการเงิน (Financial mechanism) กลไกการวัดและประเมินผลกระทบ (Assessment & Review) ต่อสิ่งแวดล้อมที่เชื่อถือได้และต้นทุนไม่สูงเกินไป รวมทั้งต้องมีเงื่อนไข กฎกติกาและแรงจูงใจ เช่น มาตรการทางการคลัง ตลอดจนกลไกการสร้างความรู้ความเข้าใจ (Knowledge) ในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้กับบุคลากรในภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถ “เร่ง” ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน

ทั้งนี้ งาน ‘GCNT Forum 2021: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021’ ภายใต้แนวคิด ‘A New Era of Accelerated Actions’ จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ 100% ตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau – TCEB) มีผู้นําระดับประเทศจากหลากหลายองค์กรเข้าร่วมงาน อาทิ ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศประจําประเทศไทย ผู้แทน UN Global Compact ผู้นําภาครัฐ ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน จำนวนมากกว่า 800 คน

โดยองค์กรธุรกิจชั้นนำที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ อาทิ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จํากัด, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน), บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน), ธนาคาร เอชเอสบีซี, บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด, บริษัท เอ็น อาร์ อินสแตนท์โปรดิวซ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัทบางจาก คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน), บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด, บริษัท ซี.พี. อินเตอร์เทรด จำกัด, บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด (โลตัส), บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) , บริษัท โอ๊คลิน (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) , บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน), บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทั้งหมดมาผนึกกําลังร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดเป็นภาคีเครือข่ายด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อเดินหน้าเร่งลงมือทำอย่างจริงจัง ในการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

……
สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT – Global Compact Network Thailand): เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนธันวาคม 2561 โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งในไทย 15 บริษัท ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 80 องค์กร โดยสมาคมฯ นับเป็นหนึ่งในเครือข่ายท้องถิ่น (Local Network) ของโครงการสำคัญในระดับโลกของสหประชาชาติ หรือ UN Global Compact ซึ่งเป็นเครือข่ายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก รณรงค์ให้ภาคเอกชนทั่วโลกวางกลยุทธ์และยึดหลักการทำงานที่สร้างเศรษฐกิจยั่งยืน ภายใต้หลักสากล 10 ประการ ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ สิทธิมนุษยชน มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริต ตลอดจนดำเนินกิจกรรมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายสหประชาชาติ อาทิ เป้าหมายว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมไปถึงความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Agreement)

สหประชาชาติในประเทศไทย (United Nations in Thailand): สหประชาชาติทำงานร่วมกับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยมากว่า 50 ปีเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน โดยยึดตามวาระสำคัญและแผนงานระดับชาติ ทีมสหประชาชาติประจำประเทศประกอบด้วยหน่วยงานของสหประชาชาติ 21 หน่วยงาน ซึ่งต่างดำเนินโครงการและกิจกรรมเฉพาะด้านในประเทศไทย ผ่านความร่วมมือกับรัฐบาลไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในระดับชาติ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา ภาคเอกชนผู้บริจาค และสื่อมวลชน และยังทำงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations ESCAP) รวมถึงศูนย์ความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในกรุงเทพมหานคร (UNFCCC RCC Bangkok) อีกด้วย