ThaiPublica > คนในข่าว > อีกด้านของ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” จาก commentator การเมือง สู่ action ความยั่งยืน เปลี่ยนธรรมศาสตร์เป็น “Sustainable University”

อีกด้านของ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” จาก commentator การเมือง สู่ action ความยั่งยืน เปลี่ยนธรรมศาสตร์เป็น “Sustainable University”

20 ตุลาคม 2019


ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในช่วงฤดูเลือกตั้ง หรือช่วงการเมืองร้อนๆ ชื่อ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” จะเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอยู่เสมอๆ เดินไปที่ไหนมักเป็นที่รู้จักดีและได้รับการทักทาย “สวัสดีอาจารย์” แต่ในอีกบทบาทในด้านการบริหารที่รับผิดชอบอยู่ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นั่งในเก้าอี้รองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยกับความยั่งยืน ภายใต้การบริหารจัดการของ ดร.ปริญญาเขาทำอะไรอย่างไร เขาลงมือทำอะไรไปบ้าง อาจารย์ปริญญาให้สัมภาษณ์ว่า

จากgreen universityสู่ sustainable university

“ผมมาเริ่ม green university เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ ในช่วงเริ่มต้นมีแค่จักรยาน ขยะ ประหยัดไฟฟ้า ประหยัดน้ำประปา จุดเปลี่ยนของธรรมศาสตร์ที่เปลี่ยนจากคำว่ามหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน ‘sustainable university’ เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว”

ปี 2555 หลังน้ำท่วมใหญ่ปีหนึ่ง มีเครือข่ายที่เรียกว่า International Sustainable Campus Network ที่เรียกว่าเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนนานาชาติ เป็นมหา’ลัยชั้นนำของโลก เขามีประชุมเรื่องความยั่งยืนกันทุกปี เช่น Harvard, MIT, Hongkong University, มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ปีนั้นเขามาจัดที่ NUS สิงคโปร์ ผมเห็นว่ามันใกล้ ก็ลงลงทะเบียนไปร่วมประชุม ก็ทำให้ได้เปิดทัศนะใหม่

ความยั่งยืน ความหมายมันคือ โลกเรามีทรัพยากรจำกัด แต่คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะกินจะใช้ จะอยู่ยังไงให้โลกนี้มีทรัพยากรให้เราใช้ได้ตลอดไป จะอยู่ยังไงให้โลกไม่แย่ลงไปเรื่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปจนอยู่ไม่ได้ จะอยู่ยังไงให้ขยะไม่ล้นโลก

คำว่า sustainability เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของแค่ขี่จักรยานกัน แยกขยะกันแล้ว มันยั่งยืนไม่พอ เราต้องทำไปถึงห้องเรียน การเรียนการสอน การวิจัย แต่ก่อนเรามีขวาน ตัดต้นไม้ได้ครั้งละต้น ปัจจุบันเรามีรถ เครื่องจักร ที่ตัดทำลายป่าแอมะซอนปีนึงเป็นหลายหมื่นไร่ เราทำลายป่าได้หมดในวลาอันรวดเร็ว

แล้วในทางเศรษฐศาสตร์ก็ดี ในทางการพาณิชย์ก็ดี ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคืออะไร ยิ่งบริโภคมากเศรษฐกิจก็ยิ่งโตมาก ว่าง่ายๆ… เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจในแบบทำลายตัวเอง แล้วนี่ไม่ใช่องค์ความรู้ที่สอนกันในมหาวิทยาลัยหรือ

หรือการโฆษณา “ของ” ซึ่งไม่จำเป็น ก็ต้องหาทางทำให้คนคิดว่ามันจำเป็นให้ได้ เพื่อจะซื้อไปบริโภค นี่คือวิถีเก่า

แค่แยกขยะ ขี่จักรยาน ไม่เพียงพอ…ลุยลงมือ

ดังนั้น ลำพังเพียงเรื่องมาแยกขยะกันเถอะ ขี่จักรยานกันเถอะ ไม่เพียงพอ การไปสัมมนาในปี 2555 มันทำให้ได้เกิดมิติใหม่ อ๋อ…แค่สิ่งแวดล้อม มันไม่พอ แล้วความยั่งยืนมันคืออะไร มันคือสิ่งแวดล้อมบวกกับสังคม เรียกว่าความยั่งยืน เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมี SDG – Sustainable Devleopment Goals ปี 2015

หลังกลับจากงานสัมมนาก็คิดว่า ถ้าเรากลับมาเปลี่ยน เราเขยิบไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่งจากมหาวิทยาลัยสีเขียวเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน คือมันต้องทำในมิติต่างๆ อย่างครอบคลุม ไม่ใช่ทำเพียงแค่บางด้าน และรื่องนี้ก็สอดรับคำขวัญของธรรมศาสตร์ ที่ว่า ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องของคนกับสิ่งแวดล้อมมารวมกันเป็นสิ่งที่เรียกว่าความยั่งยืน มันก็ตรงกับที่เราทำ

สิ่งที่เราพบว่าความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐศาสตร์ แต่ควรเป็นเรื่องของทุกศาสตร์ นี่คือจุดเริ่มต้น

ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดังนั้นเราเริ่มตั้งแต่พลังงาน การสัญจรที่ไม่ทำให้โลกร้อนขึ้น การบริโภคอย่างรับผิดชอบ และการจัดการขยะ เรื่องต้นไม้ เรื่องสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ เรื่องสุขภาพ

เริ่มลงมือเลย จริงจังปี 2556 โครงการแรกที่ทำคือเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยสาเหตุของโลกร้อนก็เกิดจากการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเกินไป จากการใช้พลังงานของคน ประเทศไทยใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอซซิลประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

เชื้อเพลงฟอซซิลคือ ซากพืชซากสัตว์ หมื่นล้านปีที่สะสมกันจนกลายเป็นน้ำมัน เป็นถ่านหิน เป็นแก๊สธรรมชาติ เราก็เอาซากพืชซากสัตว์โบราณเนี่ย เอามาจุดไฟ ถ้าเป็นของแข็งคือถ่านหิน ถ้าเป็นของเหลวคือปิโตรเลียม น้ำมัน แก๊ส แล้วมันทำให้โลกร้อน

เพราะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มันเป็นก๊าซที่เรียกว่าเรือนกระจก green house gas ถามว่าโลกร้อนกับเรือนกระจกมันเกี่ยวอะไรกัน ก๊าซเรือนกระจกมันคือกระจกที่หุ้มโลกเอาไว้ แสงแดดจากดวงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามายังโลก ถูกกักเอาไว้ในกระจกอันนี้ โลกก็เลยอุ่นขึ้นเรื่อยๆ แต่เดิมตอนกระจกมันยังไม่หนาเนี่ย กระจกมันยังปิดไม่สนิท ความร้อนมันกลับสู่อวกาศได้ คือถ้าพูดให้เห็นภาพคือเหมือนกับว่า เราขับรถไปจอดไว้กลางแดด แล้วดับเครื่องโดยไม่เปิดหน้าต่าง เราไม่มีทางทนได้นานหรอก เราก็แย่แล้ว หรือที่สุนัขตายในรถหรือว่าโรงเรียนอนุบาลลืมเด็กแล้วตายก็เพราะมันร้อน

ทีนี้ ถ้าเกิดเราเปิดหน้าต่าง แม้ว่าดับเครื่องอยู่กลางแดดก็ทนได้นะ แต่ถ้าขังไว้ มันก็ร้อนขึ้น ร้อนขึ้น ร้อนขึ้น สภาวะโลกร้อน แบบเดียวกันเลย ปัจจุบันคือ กระจกมันปิดเกือบสนิท หนังเรื่อง An Inconvenient Truth ปี 2006 ทำนายไว้จะเกิดอะไรบ้างก็เกิดอย่างที่ Al Gore ทำนายไว้ เพราะโลกมันร้อนขึ้น

สิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงประการแรกคือสภาพภูมิอากาศ เรียกว่า climate change พออุณหภูมิของโลกมันร้อนขึ้น น้ำแข็งก็ละลาย น้ำทะเลจะเพิ่มขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งจะเพิ่มมากขึ้น แล้วที่ตามมาคือไอน้ำในบรรยากาศมากขึ้น ถึงคราวควบแน่นเป็นฝนตกลงมามันก็มากกว่าเดิม พายุแต่ละลูกจึงมีน้ำฝนที่มากขึ้นแล้วก็นานขึ้น น้ำท่วมจึงเกิดถี่ขึ้น ในทางกลับกัน ถึงตอนแล้งก็แล้งนานกว่าเดิม ไฟป่าจึงเกิดถี่ขึ้นทั่วโลก

ที่หนาวก็หนาวหนักกว่าเดิม อเมริกาเจอไซโคลน แล้วปีนี้เจอโพลาร์วอร์เท็กซ์ที่คลื่นความเย็นจากขั้วโลกเหนือลงมาปกคลุมอเมริกา ญี่ปุ่นเจอซูเปอร์ไต้ฝุ่น ขณะที่ซีกโลกใต้ ออสเตรเลียเนี่ยก็ร้อนจนทะลุสถิติมา 2 ปีติดต่อกันแล้ว 48 องศาเซลเซียส แล้วไฟป่าก็เกิดถี่ขึ้นทั่วโลก

solar rooftop

รัฐบาลทั่วโลกเห็นแล้วโลกร้อนเป็นเรื่องจริง สหประชาชาติบอกว่าอุณหภูมิตอนนี้เพิ่มขึ้นหนึ่งองศาแล้ว ถ้าร้อนไม่เกินสององศา เรายังพอรับมือไหว นั้นข้อตกลงที่เป็น Paris Agreement ก็คือว่าต้องช่วยกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกร้อนเกินสององศา เกิดเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ UN เขาปรับตัวเลขใหม่บอกว่าแค่ 1 องศา มันยังเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขนาดนี้ ถ้า 2 องศามันคงเอาไม่อยู่ละ เขาเลยปรับใหม่เหลือแค่ 1.5 ต้องไม่เกินนี้ในปี 2030 อีก 11 ปีข้างหน้า

โครงการที่ธรรมศาสตร์ทำคือต้องหาทางลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เราเปลี่ยนเป็นพลังานแสงอาทิตย์ด้วยการติดตั้งบนหลังคาที่เรียกว่า solar rooftop หรือเรียกว่า solar roof ที่ธรรมศาสตร์รังสิต ส่วนการอนุรักษ์พลังงานจะไม่ใช่ทำเพียงแค่ปิดไฟตอนพักเที่ยง เชิญชวนให้อย่าเปิดไฟโดยไม่จำเป็น แต่ไม่พอ ต้องทำให้ได้มากกว่านั้น ถ้าเราเปลี่ยนอุปกรณ์ทั้งหมดให้เป็นอุปกรณ์แบบประหยัดไฟ เราจะสามารถประหยัดไฟได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีเก่า มันกินไฟน้อยลง อย่างปัจจุบันเห็นได้ชัดคือหลอด LED

โครงการที่สองคือการสัญจร เราก็เปลี่ยนรถยนต์มาเป็นรถไฟฟ้า เริ่มจาก shuttle bus มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า มีสกูตเตอร์ไฟฟ้า ล่าสุดเราก็มีโครงการ EV ไฟฟ้าที่เป็น car sharing

“ปีหน้ารถยนต์สวัสดิการรับส่งบุคลากร รถบัส 9 คัน จะเป็น EV ทั้ง 9 คัน เราจะเปลี่ยนทั้งหมด แต่ว่ามันต้องใช้เวลา เพราะว่าราคายังแพง แต่ว่าเราต้องทำ เราไม่มีทางอื่นที่จะหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

การบริโภคอย่างรับผิดชอบ

โครงการที่สามคือการจัดการขยะและการบริโภคอย่างรับผิดชอบให้มีขยะน้อยๆ ด้วย เรามีโครงการพายเรือเก็บขยะ ปีนี้เป็นปีที่ 2 มันต้องลงมือทำ มันถึงจะเปลี่ยนประเทศได้ เพื่อเชิญชวนคนไทยเลิกทิ้งขยะลงแม่น้ำให้ได้ ถ้าคนไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำแล้วไปทิ้งลงถัง ปัญหาเรื่องสัตว์ต้องมาตายเพราะขยะทั้งสัตว์น้ำสัตว์บกก็จะหมดไป ฉะนั้นเรื่องด่วนสุดเนี่ยคือข้อ 13 คือ responsible consumption เรื่องของการให้เลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง

“เราเป็นมหา’ลัยที่เริ่มต้นเลิกให้ถุงพลาสติกฟรีๆ เป็นขาย ในปี 2558 ร่วมกับ 7-11 ชวนมาเป็นพาร์ทเนอร์ ต่อมาเดือนมิถุนายน ปี 2561 เหลือแค่ของร้อน แต่ต่อไปก็อยากเลิกให้หมด จากเดิมเราใช้ประมาณปีนึง 6.5 ล้านใบ มาตรการเปลี่ยนเป็นขายลดไปได้ 2 ล้านใบ พอเลิกให้ก็เหลือเพียงแค่ประมาณ 9 แสนใบ ลดไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ โรงอาหาร ร้านเครื่องดื่มทุกร้านไม่ให้ใช้หลอดพลาสติกกับแก้วพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เปลี่ยนเป็นแก้วน้ำแล้วก็เหยือกน้ำ เราก็แจกกระบอกน้ำให้กับนักศึกษาในปีนี้ แล้วก็เปลี่ยนเป็นที่เติมน้ำ ตู้เติมน้ำที่ติดใหม่แต่ยังไม่ทั่วถึง ก็ทยอยติดให้ทั่วถึงให้มากที่สุด และถ้าหากต้อง take away คือซื้อไปกิน ใช้แก้วกระดาษที่ย่อยสลาย แล้วปีนี้เราก็เริ่มต้นร้านกาแฟทุกแห่งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และขยายไปที่ตลาดนัดด้วย การจัดงานต่างๆก็เป็นงานที่ปลอดพลาสติก ทยอยเลิกไปทีละอย่าง”

นอกจากนี้พานพุ่มวัน “ปรีดี พนมยงค์” และวัน “สัญญา ธรรมศักดิ์” แต่เดิมเป็นพานพุ่มดอกไม้ครั้งเดียวทิ้ง เราเปลี่ยนเป็นพานพุ่มเครื่องเขียนอุปกรณ์การเรียน เสร็จงานเอาไปแจกโรงเรียนที่ขาดแคลนและยากจน 1 พันบาทซึ่งเคยสูญเปล่าก็กลายเป็นอุปกรณ์การเรียนที่เอาไปแจกให้กับนักเรียนต่อได้

ออกประกาศเป็นระเบียบมหาลัยธรรมศาสตร์

ทั้งนี้เพิ่งออกประกาศเป็นระเบียบมหาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเป็นที่แรกในประเทศไทยที่มีระเบียบนี้ออกมา รวมทั้งน้ำดื่มที่เป็นขวดยี่ห้อโดมธรรมศาสตร์ ในอนาคตเราจะเลิกให้หมด แต่เราจะมีที่เติมน้ำให้เพียงพอก่อน ต้องให้คนใช้กระบอกน้ำให้มากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้คือเรื่องของ responsible consumption ที่เราทำมากที่สุด

“ผมว่าธรรมศาสตร์ตอนนี้ก็ไปไกลพอสมควร ด้วยความที่เราทำมาหลายปี แรกๆ มันก็มีเสียงต่อต้านว่าทำไมยกเลิกพลาสติก มันควรเป็นความสมัครใจ ผมก็บอกว่าผมให้สมัครใจ แล้ว ให้ถุงผ้ามา 12 ปี ไม่เห็นใช้กันสักที ผมรอความสมัครใจมาตั้ง 10 กว่าปีแล้ว โลกมันรอไม่ได้แล้ว งั้นก็เลิกให้ไปเลย ถุงผ้าให้ไปแล้ว ก็มาใช้ซิ เราจะรอความสมัครใจของคน โลกมันเปลี่ยนไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลง”

โครงการที่สี่คือเรื่องต้นไม้ใหญ่ เพราะไม่มีอะไรที่ดูดคาร์บอนไดออกไซด์กลับคืนมาจากบรรยากาศได้ดีไปกว่าต้นไม้ใหญ่ ทางรอดของมนุษยชาติคือต้องปลูกต้นไม้ใหญ่ให้มากที่สุด เราจริงจังมากกับเรื่องของการทำให้คนทำเป็นคน แล้วก็เชื่อว่าทำได้ แล้วต้องทำด้วยก็คือเรื่องของ urban forest นะครับ หมายถึงการมีป่าในเมือง สิงคโปร์คือตัวอย่างของ urban forest ต้นไม้ใหญ่สามารถอยู่คู่กับเมืองได้ แล้วสิงคโปร์ร่มรื่นมาก ทั้งๆ ที่เขาอยู่ติดเส้นศูนย์สูตร ต้องร้อนกว่าเรา แต่กลับเย็นสบายกว่าเราเพราะต้นไม้เยอะมาก เราร่วมกับโครงการ BIG Trees Project ร่วมกับ กทม. อบรมเจ้าหน้าที่ กทม.ทั้ง 50 เขตเรียบร้อย

“เห็นการเปลี่ยนแปลง ต้นไม้ใน กทม.มันเริ่มดีขึ้น ต้นไม้รอบสนามหลวงเริ่มดีขึ้น วิธีการดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี ต้นไม้ใหญ่อยู่กัยสายไฟได้ ต้นไม้ใหญ่อยู่กับติดอาคารได้ ถ้าเราดูแลเป็น อันนี้ก็เป็นข้อที่เราทำมากเป็นพิเศษ ”

การอบรมหลักสูตรเชิงปฏิบัติดูแลรักษาต้นไม้

ยิ่งป่วยยิ่งรักษายิ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

โครงการที่ 5 คือสุขภาพ มันก็คือเรื่องอาหารการกิน เรื่องการออกกำลังกาย ยิ่งเราป่วยมากเท่าไร กระบวนการและขั้นตอนในการรักษามันปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เยอะ เราควรจะไม่ป่วย เราควรจะแข็งแรง

เรื่อง well-being ก็ทำเยอะพอสมควร เราตั้งโจทย์จากจุดที่ว่าทำไมคนไทยถึงเป็นมะเร็งมาก สารพาราควอต ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงทั้งหลาย โพลิโฟลีน ไกลโฟเซตพวกนี้ รัฐบาลไม่ยกเลิกสักที (ล่าสุดเพิ่งมีคำสั่งให้หยุดนำเข้าสารเคมี คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต ตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2562)

“เมื่อ 3 ปีก่อน เรามีแปลงผักที่ชื่อว่าโดมออร์แกนิก ปลูกหน้าตึกโดม ผมแค่รื้อเอาแปลงต้นเข็มออกไป แล้วลงผักไปแทน แล้วให้คนมาปลูกผักกัน ที่รังสิตก็ทำแล้ว แล้วรังสิตไปไวกว่าท่าพระจันทร์ คือเราขายเลย ส่งขายโรงอาหารไม่พอขาย ตอนนี้อาคารป๋วยร้อยปีที่สร้างมาในรอบที่อาจารย์ป๋วยครบ 100 ปี เป็นหลังคาเขียว เราไปไกลกว่าสิงคโปร์ สิงคโปร์แค่ปลูกหญ้า ส่วนจุฬาลงกรณ์ สวนจุฬาฯ 100 ปี เป็นสวนหลังคา เขาก็ปลูกพืชสวยงาม ซึ่งจุฬาฯ ก็ไปไกลกว่าสิงคโปร์ แต่ของเราไปไกลกว่าอีกชั้นนึง เราจะปลูกผักออร์แกนิก ทำนาขั้นบันได เราต้องการเปลี่ยนธรรมศาสตร์ เปลี่ยนเพื่อให้เป็นตัวอย่าง ว่าเราจะมีสุขภาพดี กินผักปลอดสารพิษ ปลอดยาฆ่าแมลง ปลอดยาฆ่าหญ้า เพื่อประเทศไทยทั้งประเทศเปลี่ยน ซึ่งมันเปลี่ยนได้”

ตอนเริ่มต้นเราก็ทำอยู่ 5 ด้าน แล้วพอมีเป้าหมาย SDGs ออกมา 17 เป้าหมาย หลายข้อก็ตรงกับที่เราทำอยู่แล้ว เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ no poverty ความยากจนต้องหมดไป หรือ zero hunger ความหิวโหยต้องหมดไป หรือ peace and Justice สันติภาพและความยุติธรรม มันคือเรื่องของประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ซึ่งธรรมศาสตร์ก็ทำอยู่แล้ว

  • ม.ธรรมศาสตร์จับมือ 4 บริษัท ส่งเสริม “รถไฟฟ้า Car Sharing” ดันสู่ Thammasat Smart City ดูแลสิ่งแวดล้อม
  • ใช้ความเป็น partnership

    โครงการต่างๆ ที่ธรรมศาสตร์ทำแล้วสำเร็จคือใช้ความเป็น partnership ไม่ใช่ไปการไปขอบริจาคนะ การไปขอบริจาคมันไม่ยั่งยืน เราชวนเป็นหุ้นส่วน อย่างการลงทุนทำโซลาร์เซลล์ โครงการ 600 ล้านบาท ไม่มีเงินทำ เราไปชวนบริษัทเอกชนมาลงทุน แล้วเราซื้อไฟจากเขา ได้ส่วนลดเอามาทำเรื่องอื่นต่อไป การขอบริจาค ขอสปอนเซอร์ มันต้องมีอยู่แล้ว แต่ว่าขอให้เป็นหุ้นส่วนที่จะต้องการไม่ใช่แค่ของตัวเงิน แต่ต้องการให้เป็นหุ้นส่วนกัน

    หลักการของความยั่งยืน คือ คนกับธรรมชาติต้องมาอยู่ด้วยกันให้ได้ แล้วไม่มีทางที่หน่วยงานของรัฐจะมาดูแลทรัพยากร ดูแลป่าทุกป่า ทะเลต่างๆ แม่น้ำทุกสาย ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม

    “ใช้คอนเซปต์มีส่วนร่วม อย่าลืมว่าแต่เดิมนั้น ‘ป่า’ คือตลาดของชาวบ้าน แม่น้ำทะเลเหมือนตลาดของชาวบ้าน เพราะมันคืออาหาร ผมคิดว่าเราต้องให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่ใช่อย่างที่ทำลาย ชุมชนโดยทั่วไป เขาใช้อย่างยั่งยืน ผมคิดว่าเราก็ทำให้เกิดการใช้อย่างยั่งยืน ธรรมชาติมันฟื้นตัวได้ทัน หมุนเวียนกลับมาได้ทัน ปลาในทะเลวางไข่กลับมาให้เขาได้ทัน ต้นไม้เติบโต ของป่า หน่อไม้ มันถึงได้กลับมาทัน อย่างเหมาะสมแล้วก็ยั่งยืน”

    “ผมคิดว่าการไปแยก planet ออกจาก people ผมไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร อย่างธรรมศาสตร์ เราถนัดเรื่องไหนเราทำเรื่องนั้นให้มากที่สุด climate change ด่วนที่สุด เพราะเราจะกำลังจะสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ สิ่งแวดล้อมที่เราทำลายไปนั้น ไม่ใช่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่คือการทำลายสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับตัวเรา เราอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้อุณหภูมิขนาดนี้ ออกซิเจนขนาดนี้ ระดับน้ำทะเลขนาดนี้ ถ้าเราทำลายทั้งหมดที่ว่าไปนี้เมื่อไร เราจะอยู่ไม่ได้ เพราะนี่คือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับมนุษย์เอง”

    ล่าสุดเรามีร้านรีฟิลสเตชั่น คือไม่มีภาชนะให้ ต้องเอาถุง เอากล่องไปเอง แล้วชั่งตามน้ำหนัก เช่น จะซื้อสบู่แชมพู น้ำยาล้างจาน ก็เอาภาชนะไปเติม น้ำมันทำกับข้าว น้ำมันพืช น้ำปลา ต้องเอามาเติมหมด หรือสปาเก็ตตี้ก็ตวงเอา เปิดแล้วที่ธรรมศาสตร์รังสิต

    ไม่บ่น ทำจริง และไม่ทำลายล้างธรรมชาติ

    อย่าเอาแต่บ่น ต้องให้ทุกคนตระหนักว่าโลกนี้มีทรัพยากรต่างๆ วิถีการพัฒนาแบบทำลายล้างธรรมชาติดังที่ผ่านมา ยิ่งบริโภคมากยิ่งใช้มาก ยิ่งผลิตมากเศรษฐกิจยิ่งดี ไม่ใช่แล้ว ความจริงแล้วทำไมเราต้องทำงาน 5 วัน หยุด 2 วัน ทำไมไม่ทำงาน 4 วันหยุด 3 วัน หลายเรื่องที่ทำๆ กันอยู่ ไม่จำเป็นต้องทำเพราะที่ทำกันอยู่มันทำแบบทำลายล้างธรรมชาติ

    เราสามารถทำงานให้น้อยลงได้ ถ้าเราสามารถจะเปลี่ยนวิถีเศรษฐกิจในแบบฉลาด เราสามารถทำงานให้น้อยลงได้ ถ้าเราสามารถจะเปลี่ยนวิถีเศรษฐกิจในแบบฉลาด ทำงานที่มีประโยชน์และมีความสุขมากขึ้นได้ decent work SDGs ข้อ 8 คืองานที่มีความสุข 8 ชั่วโมงลดลงเหลือ 7 ชั่วโมงพอได้ไหม แล้วเหลือแค่ 4 วันต่อสัปดาห์ได้ไหม สัปดาห์นึงทำแค่ 28 ชั่วโมงพอ ไม่ใช่ 40 ชั่วโมง แล้วงานที่มันไม่เข้าท่าทั้งหลาย ก็ให้หุ่นยนต์ AI ทำไป คือที่ผ่านมาเราทำงานกันหนักเพราะต้องบริโภคเยอะ ต้องเพิ่มตัวเลข ต้องขายเยอะ บริโภคเยอะ ผลิตเยอะ มันผิดหมดเลย รู้ไหมครับว่าสินค้าที่ผลิตออกจากโรงงานมามาถึงมือผู้บริโภคแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 70 คือสินค้าที่ขายไม่ออก

    ตอนนี้ธรรมศาสตร์เอาเรื่อง SDGs เป็นเป้าหมายของมหาวิทยาลัย แล้วทุกคณะ เริ่มจากปีที่แล้ว ต้องมี 1 ข้อเป็นอย่างน้อย ในเรื่อง SDGs เช่น นิติศาสตร์ทำข้อ 16 peace and justice สันติภาพและความยุติธรรม, well being good health ข้อ 3 ก็ต้องคณะแพทยศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์ ข้อ 9 infrastructure, innovation เพื่อการพัฒนาอย่างยั่นยืน หรือคณะเศรษฐศาสตร์มาทำเรื่อง economic growth ในแบบ sustainable ในแบบยั่งยืน เราเริ่มขยับแล้ว เริ่มที่จะพูดคุย ตั้งเป้าหมายกันแล้วว่าต้องทำกันต่อไปให้สำเร็จ ผมเรียนว่าในการขยับอย่างทั้งมหาวิทยาลัย เราเพิ่งเริ่มต้นในปีที่แล้ว

    ในด้านของนักศึกษาเรามีวิชาพลเมือง ชื่อว่าวิชา Civic Engagement การลงมือทำของพลเมือง เป็นวิชาที่ทำงานบริการสังคม หนึ่งกลุ่มมีประมาณ 10-12 คน ห้องหนึ่งมี 50 คน คือแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ก็ให้ทำโครงงาน ลดการใช้ขยะพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง โครงงานแยกขยะ โครงงานชุมชนที่ทำในเรื่องความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ อาจารย์เป็นโค้ช ให้นักศึกษาฝึกลงมือทำ

    “ผมเป็นคนดูแลวิชานี้เอง เราเปิดกว้างมาก อยากให้นักศึกษาทำกันมากๆ ส่วนใหญ่เขาก็ไม่อยากเปลี่ยนพฤติกรรม เราแจกถุงผ้าไปก็ไม่ค่อยใช้ แจกกระบอกน้ำไปก็ไม่ค่อยใช้ พอเราเปลี่ยนแปลงบางทีก็มาบ่น มาเขียนบ่นทางเฟซบุ๊ก ก็เรื่องธรรมดา ก็ต้องยอมรับ มันก็ต้องมีคนไม่สะดวก แล้วคนก็ต้องบ่น เราถือเป็นเสียงสะท้อนกลับมาในการปรับปรุงวิธีการ เราก็ต้องสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วม”

    นี่คือจุดเริ่มต้นในการลงมือทำ ส่วนจะก้าวหน้าหรือถอยหลัง ก็มาจาก “ส่วนร่วม” ของ “ส่วนรวม” เห็นพ้องหรือเห็นต่าง…