เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
เชื่อเศรษฐกิจไทยปี 64 ดีขึ้นตามลำดับ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2564 อยู่ที่ระดับ 83.5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น การส่งออกรถยนต์ขยายตัว แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 คาดว่าจะดีขึ้นตามลำดับ
ส่วนสินค้าการเกษตรที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 14-15% ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หัวมันสำปะหลังสดคละ ปาล์มทะลายน้ำหนักมากกว่า 15 กิโลกรัม ยางแผ่นดิบชั้น 3 และไก่รุ่นพันธุ์เนื้อ ซึ่งตนหวังว่าราคาผลผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้จะเป็นผลดีกับเกษตรกรผู้ประกอบการผู้ผลิต
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่ารัฐบาลได้ปรับการทำงานของ ครม. และของหน่วยงาน โดยให้มีการติดตามกำกับดูแลมากขึ้นนอก เหนือจากการทำงานตามฟังก์ชัน ยังให้มีการบูรณาการ ทั้งในส่วนของงบประมาณโครงการได้มีการเน้นย้ำเรื่องการสื่อสารสองทาง โดยทำจากบนลงล่างและทำจากล่างขึ้นบนด้วย รับฟังจากเสียงประชาชนว่ามีความต้องการอะไรขึ้นมาแล้วนำมาปรับให้ตรงกัน
“หลายๆ อย่างรัฐบาลจัดทำในเรื่องของโครงสร้างหลัก ความเชื่อมโยงหรือการบูรณาการกฎหมายต่างๆ ให้สามารถดำเนินการได้มีการรับฟังเสียงของประชาชนขึ้นมาแล้วทำให้ต่อเนื่อง ให้เกิดความยั่งยืน รัฐบาลยินดีรับข้อมูลต่างๆ ทั้งหมด สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องกระตุ้นทั้งส่วนราชการต่างๆ และข้าราชการทุกคนให้มีการตรวจงาน ติดตามประเมินผล ในเรื่องใดก็ตามที่มีการร้องเรียนการทุจริตก็จะต้องเข้าไปตรวจสอบ เพราะรัฐบาลจัดทำโครงการใช้งบประมาณจำนวนมาก ดังนั้นทุกคนต้องมีความรับผิดชอบ แต่ละระดับไม่ว่าจะส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น วันนี้ผมก็ให้ความสำคัญกับท้องถิ่นมาก เพราะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง รัฐบาลดูแลทุกภาคส่วน เป็นความรับผิดชอบในภาพรวมอยู่แล้ว”
รับไม่ได้ ขรก. ทุจริตทำ รบ. เสื่อมเสีย ย้ำ ครม. ลากคนโกงมาลงโทษ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงกรณีการทุจริตในโครงการของรัฐ ด้วยว่า ตนได้ย้ำไปในที่ประชุม ครม. แล้ว ให้ตรวจสอบและนำบุคคลเหล่านี้มาลงโทษให้ได้ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องทำให้โครงการที่ดีของรัฐบาลเสียหาย รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้คนประมาณ 40 ล้านคน ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนักแต่ก็พยายามทำอย่างเต็มที่
สำหรับมาตรการทางการเงินของรัฐบาลที่ได้ออกไปแล้วเพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สินของผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนรายย่อย ตนขอให้ติดตามคำชี้แจงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
“ขอขอบคุณประชาชนในการแจ้งเบาะแสให้กับรัฐบาล นายกรัฐมนตรีหลายอย่าง ที่มีข้อมูลสำคัญ ซึ่งผมก็จะนำเข้าไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็วที่สุด ขอขอบคุณประชาชนอย่างแท้จริง นั่นคือการใช้อำนาจของประชาชน อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินไปด้วยกัน ทุกคนเข้าถึงกระบวนการร้องทุกข์ กล่าวโทษ แจ้งความ ทำให้ทุกอย่างเร็วขึ้น ครอบคลุมทุกปัญหา ขอให้เข้าในช่องทางที่ถูกต้อง เพราะส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็ไปเข้าทางสื่อ ซึ่งหลายอย่างต้องพิจารณาให้เหมาะสมว่าข้อเท็จจริงคืออะไร”
นอกจากนี้ในเรื่องของราคาสินค้า ตนได้ย้ำกับกระทรวงพาณิชย์แล้วและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ให้เข้าไปตรวจสอบการขึ้นราคาสินค้าโดยไม่มีเหตุผลที่เพียงพออาจมีความผิดในเรื่องของการขึ้นราคาสินค้าเพื่อหวังเงินในมาตรการคนละครึ่งและอาจจะมีทั้งข้าราชการหลายๆ ส่วนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเน้นย้ำว่าการทำงานต้องตรวจสอบได้
“เห็นใจคนที่มีรายได้น้อยบ้าง ถึงแม้ว่าเขาจะยากลำบากในการขึ้นทะเบียนวันนี้ ก็ต้องหาวิธีการในการแก้ปัญหาให้ได้มากพอสมควร เข้าถึงคนที่มาไม่ได้ โดยการไปหาที่บ้าน หรือให้คนมาช่วย ปัญหาทุกปัญหาจำเป็นต้องแก้ไข เมื่อทำแล้วเกิดปัญหาก็ต้องแก้ให้เร็วที่สุด ขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอื่นๆ และหน่วยงานอื่นๆ ในระดับพื้นที่ ขอให้มีการตรวจสอบติดตามประเมินผลอย่าให้เกิดข้อบกพร่อง”
ไม่ว่างเล่น “คลับเฮาส์” ส่งหน่วยงานตามฟัง-ชี้จะพูดอะไรนึกถึง ปชช.
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงแนวทางที่นายกฯ จะใช้ “คลับเฮาส์” เป็นอีกหนึ่งในช่องทางสื่อสารและรับฟังเสียงของประชาชนหรือไม่ว่า ตนไม่มีเวลาขนาดนั้น แต่วันนี้ตนได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความเคลื่อนไหวเหล่านั้น ซึ่งเป็นการติดตามตามกฎหมาย
“เมื่อท่านฟังได้ผมก็ให้ราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องเขาฟังได้เหมือนกัน เพื่อที่จะได้ชี้แจงให้ถูกต้องในกรณีที่มีการบิดเบือนอันนี้ก็สุดแล้วแต่ประชาชนจะว่าอย่างไร ใครจะเข้ามาพูดก็แล้วแต่ ผมถือว่าวันนี้เป็นเรื่องของโลกใบใหม่โลกยุคใหม่ เพราะฉะนั้นเราต้องดูที่ว่าอะไรทำให้บ้านเมืองของเราสงบสุข มีเสถียรภาพ ไม่อย่างนั้นทุกอย่างก็วุ่นวายไปหมด สับสนอลหม่านไปหมดประชาชนก็เสียขวัญ ต้องนึกถึงประชาชนบ้าง เขาจะเสียประโยชน์อย่างไรในการกระทำที่ไม่ถูกต้องของท่าน นั่นคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไปตามรัฐธรรมนูญที่เป็นของปวงชนชาวไทยไม่ใช่ของประชาชน ปวงชนคือคนทั้งหมดของประเทศเป็นผู้ได้รับประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
สื่อสารหลายช่องทาง ลุย “พอดแคสต์” แจงผลงาน รบ.
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ในการใช้การประชาสัมพันธ์นั้นมีหลายช่องทางด้วยกัน วันนี้ได้เพิ่มช่องทางอีกช่องทางหนึ่งคือพอดแคสต์โดยการเผยแพร่รายสัปดาห์ให้ทราบถึงการทำงานความก้าวหน้าของรัฐบาลในภาพรวม โดยสิ่งที่ทำการสื่อสารออกไปในระยะแรกนั้นเป็นสิ่งที่เราสามารถมองเห็นได้ ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพาน หรือไฟฟ้า การคมนาคมต่างๆ วันหน้าเราก็จะเพิ่มเติมเรื่องน้ำ เรื่องการดูแลผู้มีรายได้น้อย เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
“เหล่านี้อยู่ระหว่างการสังเคราะห์ข้อมูลเพราะรัฐบาลได้ทำมานานแล้วเพียงแต่ต้องทำผลงานให้เป็นรูปประธรรมได้มากที่สุดเกิด ที่ผ่านมาก็มีความก้าวหน้าในแต่ละปีแต่ละปีตามลำดับ ครั้งที่แล้วเป็นการทำเพื่อนำข้อมูลเข้าไปในสภาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเท่านั้น ขอขอบคุณข้าราชการทุกส่วนประชาชนทุกส่วนที่เข้าฟังและติดตามในส่วนที่เป็นประโยชน์รัฐบาลก็จะนำมาแก้ไขมาดำเนินการในทุกมิติ”
เล็งสร้างประตูระบายน้ำเพิ่ม หวังแก้ปัญหาน้ำเค็มหนุน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องเกษตร BCG (Bio-Circular-Green Economy) ว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องการเผาอ้อย ว่าจะนำส่วนของอ้อยที่เหลือใช้มาทำประโยชน์อะไรได้บ้าง จะสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้อย่างไร ขณะเดียวกันก็เป็นการตอบสนองในวาระของโลกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันนี้สถานการณ์ในต่างประเทศเรื่องของสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมีความน่าเป็นห่วงอยู่หลายอย่างด้วยกัน
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า เหตุที่น้ำประปาหรือน้ำกร่อยนั้นสืบเนื่องมาจากมีน้ำทะเลหนุนเข้ามาและน้ำต้นทุนในการผลักดันในระบบนิเวศนั้นมีน้อย ประกอบกับสถานการณ์ฝนด้วย ซึ่งรัฐบาลได้ให้นโยบายไปแล้วว่าจำเป็นต้องสร้างประตูน้ำเพิ่มเติมในแม่น้ำสายสำคัญ
“ของเดิมอาจจะมีน้อยเกินไปและชำรุด วันนี้ก็จะเร่งรัดตรงนี้มาเพื่อที่จะเก็บกักน้ำให้ได้และเพื่อที่จะระบายน้ำให้ได้เมื่อมีปัญหา อันนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการและใช้งบประมาณจำนวนมากพอสมควร รัฐบาลไม่เคยหยุดยั้งในการแก้ปัญหาเหล่านี้ เดี๋ยวจะมีการสรุปลงพอดแคสต์หรือสรุปโดยกระทรวงชี้แจงให้ทราบต่อไปในทุกๆ เรื่องทุกประเด็นซึ่งสรุปทีเดียวไม่ได้”
ขอเอกชนนำเข้าวัคซีน-หวังใช้เป็นเกณฑ์กำหนดนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการฉีดวัคซีนลอตแรกว่า เรื่องของวัคซีนโควิด-19 นั้น ตนขอกราบเรียนอีกครั้งไม่ใช่วัคซีนของตน ไม่ใช่วัคซีนของนายกฯ แต่เป็นของประชาชนทั้งประเทศ เป็นการอนุมัติใน ครม. ร่วมกันในการจัดหาวัคซีน ซึ่งวันนี้ได้มา 2 ยี่ห้อและกำลังจะตามมาในอีกหลายๆ วัคซีน เพราะจำเป็นที่ต้องนำมาขึ้นทะเบียนที่องค์การอาหารและยา (อย.) ก่อนและหลังจากนี้ก็จะมีการเพิ่มเติมการฉีดโดยภาคเอกชนนำเข้ามาได้ ยืนยันรัฐบาลไม่ปิดกั้น
“เพียงแต่ขอให้ระยะแรกผ่านไปก่อนแล้ว ทุกคนก็สามารถเสนอเข้าไปรับรองจาก อย. ได้ก็จะฉีดเพิ่มเติมมันดีเสียอีกที่จะมีวัคซีนมากกว่าจำนวน 65 ล้านโดสที่เราเตรียมไว้ในปัจจุบัน มีหลายบริษัทเสนอเข้ามาแล้วแต่ยังส่งเอกสารไม่ครบ พร้อมกันนั้นเราก็ได้ติดตามสถานการณ์ความคืบหน้าการใช้ในต่างประเทศด้วย”
ต่อคำถามถึงแนวโน้มความเป็นไปได้ในการใช้พาสปอร์ตวัคซีนเพื่อดึงดูดการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตนคิดว่าวัคซีนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การท่องเที่ยวหรือการประกอบธุรกิจดีขึ้น เนื่องจากผู้ที่มีการฉีดวัคซีนถ้าฉีดแล้วมีใบรับรองแล้วเข้ามาในประเทศก็ไม่จำเป็นต้องกักตัว เพียงแต่ต้องติดตามว่าไปที่ไหนอย่างไรเผื่อมีปัญหาเกิดขึ้นรัฐบาลต้องคิดอย่างรอบคอบ
เมื่อถามว่าได้รับคำตอบจากคณะแพทย์หรือยังว่านายกฯ จะสามารถฉีดวัคซีนได้ และจะมีคณะรัฐมนตรีคนอื่นร่วมฉีดหรือไม่ ว่า “นี่คือกระพี้จะฉีดคนแรกหรือเปล่า คนที่ 2 หรือคนที่ 3 กระพี้ทั้งนั้น คำถามแบบนี้ผมว่ามันเป็นกระพี้ สิ่งที่เราน่าจะยินดีร่วมกันคือเรามีวัคซีนสำหรับฉีดแล้ว แต่การจะฉีดให้ใคร เป็นเรื่องของคณะกรรมการพิจารณาขึ้นมาและขึ้นอยู่กับความสมัครใจว่าใครจะเป็นผู้ฉีดเท่านั้นเอง ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วมและเขาก็เปิดช่องทางให้แล้วว่าหากใครประสงค์จะฉีดก็ส่งรายชื่อเข้ามาที่กระทรวงสาธารณสุข”
ทั้งนี้ เท่าที่ตนทราบส่วนหนึ่งประชาชนมีความไว้ใจอยากจะฉีด อีกส่วนหนึ่งยังคงลังเลอยู่ ส่วนหนึ่งไม่ฉีด รอดูสถานการณ์ไปก่อนก็เป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลจะต้องเตรียมวัคซีนให้พร้อมสำหรับคนทั้งประเทศ โดยทยอยรับมา ทยอยจัดหาทั้งในภาครัฐและเอกชนต่อไปด้วย ตนไม่ปิดกั้นใคร แต่ยืนยันว่า ระยะแรกจำเป็นต้องฟังข้อสังเกตหรือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขด้วยถึงความปลอดภัยถึงหลักการในการขึ้นทะเบียนต่างๆ เหล่านี้ก็ฝากภาคเอกชนด้วยใครที่จะนำเข้าก็ขออนุมัติให้ถูกต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามระเบียบต่างๆ ทั้งหมด
ให้คำมั่น “ชาวชาติพันธุ์” จะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นอีก
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงการแก้ปัญหาพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่กับชางกะเหรี่ยงบางกลอยที่ต้องการกลับไปที่บ้านโป่งลึก บางกลอยบน และปัญหาชาติพันธุ์ที่จะถูกนำมาใช้ชุมนุมเคลื่อนไหว ว่า ปัญหาข้อพิพาทดังกล่าว และปัญหาชาติพันธุ์รัฐบาลเป็นห่วงมาตลอด ในทุกรัฐบาลก็ดูแลอย่างเต็มที่ วันนี้ยืนยันว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเช่นในอดีตอีก ไม่ว่าจะพยานหลักฐานด้วยกฎหมายหรือข้อเท็จจริงและจะดูแลชาวบางกลอยให้มีที่อาศัยมีที่ทำกินให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ตนไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงเกิดขึ้น เพราะรู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้น้อยอยู่แล้ว ก็ต้องค่อยค่อยแก้ไปด้วยวิธีการที่เหมาะสม ยืนยันว่าจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
“มีการย้ายออกมาเป็นระยะเวลานานแล้วในหลายพื้นที่ด้วยกัน ทั้งก่อนหน้านั้นและระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งจะต้องดูแลทุกจุด การที่จะไปสร้างความขัดแย้งซึ่งกันและกันโดยมุ่งหวังผลประโยชน์อย่างอื่นผมว่ามันไม่เหมาะไม่สมควร เป็นการแก้ปัญหาแล้วก็เกิดปัญหาซ้อนขึ้นมาอีก ก็ต้องแก้ปัญหาตรงนี้ไปด้วยว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้อีกหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเอกสารที่ดินทำกินซ้อนทับกันก็มีการแก้ไขทุกวัน”
แจง รัฐบาล-พรรคร่วม สัมพันธ์ยังเหนียว
พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเรื่องที่นายกฯ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมีการนัดพูดคุย รับประทานอาหารหรือไม่หลังเกิดปัญหาภายในพรรคร่วมว่า เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่หัวหน้าพรรคแต่ละพรรคต้องไปว่ากัน
“ผมห่วงปัญหาความขัดแย้งของรัฐบาลภายใน ครม. ของผมเท่านั้นเรื่องอื่นเป็นเรื่องของพรรคการเมืองก็ไปบริหารกันไป แต่ผมยืนยันว่าทุกพรรคการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลก็ยังร่วมมือกับรัฐบาลดีอยู่ ร่วมมือกับผมดีอยู่ ทุกพรรคทั้งพักใหญ่พรรคเล็กขอบคุณทุกคนที่เข้าใจ”
ยันเพิ่มกำลัง-คุยเมียนมาเข้มชายแดน ดักทางลักลอบเข้าไทย
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงสถานการณ์ในเมียนมาร์์ที่อาจส่งผลให้มีการลักลอบเข้าประเทศตามแนวชายแดนมากขึ้นว่า วันนี้สถานการณ์ภายในเมียนมามีความเข้มข้นขึ้น ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ต้องการให้มีการหลบหนีเข้ามาในประเทศไทยหรือข้ามแดนประเทศไทยกลับไป จึงได้เพิ่มมาตรการอย่างเข้มงวดตามแนวชายแดนพื้นที่ตอนใดของไทยและประสานกับรัฐบาลเมียนมาร์ในการจัดกำลังมาตรวจสอบกวดขันเฝ้าระวังแนวชายแดน โดยเฉพาะช่องทางที่มักจะถูกลักลอบเข้าเสมอ
“บางพื้นที่เป็นพื้นที่ที่มีระดับน้ำเพียงเล็กน้อยของท่านเท่านั้น สามารถลุยท่านมาได้ตรงนี้ต้องจัดมาตรการเพิ่มเติมและประสานฝ่ายเมียนมาร์ให้ดูแลตรงนี้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอบข้ามแดนเพื่อไปเล่นการพนัน และเรื่องการลักลอบของแรงงานที่ผิดกฎหมายผมยืนยันไม่สนับสนุนการกระทำที่ผิดกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น”
แจงยังต้องทบทวน “นิคมอุสาหกรรมจะนะ”
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ว่าเป็นเรื่องของโครงการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นมา มีหลายโครงการด้วยกัน เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่ภาคใต้ ในสามจังหวัดและบางอำเภอของจังหวัดสงขลา โดยนิคมอุตสาหกรรมจะนะเป็นโครงการหนึ่งในโครงการเหล่านั้น
ฉะนั้นต้องไปทบทวนดูว่าวันนี้จะต้องยุติหรือไม่ยุติ ซึ่งได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการเมืองต้นแบบของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาไปแล้ว ก็ต้องหาวิธีการดำเนินการว่าจะต้องทำอย่างไรให้เกิดขึ้นได้ เพราะผลประโยชน์เกิดกับประชาชน ฉะนั้นใครได้ประโยชน์ ใครเสียประโยชน์ ใครทุจริตไปว่ากันตามกระบวนการ
ไม่ก้าวล่วงอำนาจศาล ตัดสิน 3 รมต. เอี่ยวม็อบ กปปส.
พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถามถึงกรณีที่ศาลอาญาจะมีการพิจารณาคดี แกนนำ กปปส. ชุมนุมทางการเมืองในปี 2557 ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ซึ่งมีรัฐมนตรีในรัฐบาล 3 คน รวมอยู่ด้วย โดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องของศาล ท่านตัดสินอย่างไรเป็นเรื่องของท่าน เป็นองค์กรอิสระรัฐบาล ฝ่ายบริหารไปก้าวล่วงไม่ได้ทั้งสิ้น ต่างฝ่ายต่างต้องไม่ก้าวล่วงซึ่งกันและกันต่างคนต่างมีหน้าที่เป็นของตัวเอง หน้าที่ของทุกคนคือทำให้ประเทศชาตินี้ปลอดภัยสงบสุข มีเสถียรภาพได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศมีผลในเรื่องของเศรษฐกิจการค้าการลงทุน ทุกคนต้องช่วยกันทั้งหมด
“คำถามที่เป็นกระพี้ขอให้ลดลงหน่อย กระพี้รู้จักใช่ไหมที่เป็นเปลือกนอกของต้นไม้ แต่แก่นอยู่ตรงไหนให้ถามตรงตรงนั้นแล้วอะไรที่เป็นการสร้างความขัดแย้งโดยที่ยังไม่ได้ข้อเท็จจริง ผมว่าขยายความไปก็เท่านั้นมันอยู่ในกระบวนการตรวจสอบได้ทั้งหมดอยู่แล้วไม่ใช่ว่าจะต้องทันทีปัญหาซับซ้อนหลายปัญหาด้วยกัน อย่าทำให้เกิดความไม่สงบก็แล้วกัน ถ้าตราบใดยังไม่ได้ข้อเท็จจริงต้องมีการตรวจสอบทุกเรื่อง”
จะปรับ ครม. หรือไม่ ไม่จำเป็นต้องพูดก่อน
พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงกรณีที่หากศาลพิจารณาคดีการชุมนุม กปปส. แล้วส่งผลให้ 3 รัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ได้มีการเตรียมทาบทาบบุคคลได้เข้ารับตำแหน่ง และจะมีการปรับ ครม. ทันทีหรือไม่ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของตน ตนคิดมาโดยตลอด ถ้าตนจะทำอะไรตนจะไม่พูดก่อนอยู่แล้ว โดยตนได้ติดตามดูผลงาน เพราะมีหลายอย่างที่ต้องปฏิรูปกันทั้งหมด
“วันนี้ผมว่าบางทีเป็นการนำความขัดแย้งเก่าๆ มา ผมไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก แต่ผมบอกว่ามันต้องมาพิสูจน์ทราบให้ชัดเจน อะไรที่ไปถึงศาลก็เป็นหน้าที่ของศาล อะไรที่ต้องประเมินโดยผมซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้ารัฐบาลผมก็ประเมินของผมเอง ทั้งหมดต้องไปสู่กลไกในการบริหารของรัฐบาลพรรคร่วม ซึ่งทุกคนมีเจตนารมณ์ที่มุ่งมั่นอันเดียวกัน”
มติ ครม. มีดังนี้
กำหนดราคาอ้อยขั้นต้น 920 บาท/ตัน ปีการผลิต 63/64
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นและผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น ฤดูการผลิตปี 2563/2564 ทั้ง 9 เขตเป็นราคาเดียวทั่วประเทศ เพื่อให้โรงงานน้ำตาลชำระเงินค่าอ้อยและใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
- ราคาอ้อยขั้นต้น ณ ระดับความหวานที่ 10 ซี.ซี.เอส อัตราตันอ้อยละ 920 บาท
- กำหนดอัตราขึ้น/ลง ของราคาอ้อย ต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส เท่ากับ 55.20 บาทต่อ 1 หน่วย ซี.ซี.เอส
- ผลตอบแทนการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายขั้นต้น 394.29 บาทต่อตันอ้อย
เห็นชอบปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 64
นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติการปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ เป็น 1,539,832.78 ล้านบาท จากเดิม 1,465,438.61 ล้านบาท เป็นการปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 74,394.17 ล้านบาท โดยปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 124,534.37 ล้านบาท จากเดิม 1,279,446.80 ล้านบาท เป็น 1,403,981.17 ล้านบาท และการปรับปรุงแผนการชำระหนี้ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสุทธิ 505.88 ล้านบาท จากเดิม 387,354.84 ล้านบาท เป็น 387,860.72 ล้านบาท
โดยการปรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2564 ดังนี้
- การกู้เงินเพื่อดำเนินแผนงานหรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชี้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19) จำนวน 76,239.00 ล้านบาท
- การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณฯ จำนวน 120,000 ล้านบาท
- การกู้เงินเพื่อสนับสนุนการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานภาครัฐและโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ – รังสิต ของการรถไฟแห่งประเทศไทย โครงการขยายระบบไฟฟ้า ระยะที่ 12 ของการไฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น
- โครงการพัฒนา ที่จะเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี จำนวน 18 โครงการหรือรายการ เช่น โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของการยางแห่งประเทศไทย เป็นต้น
- การชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ของรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายจำนวน 441.87 ล้านบาท
ทั้งนี้ ประมาณการระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 จะอยู่ที่ร้อยละ 56.74 ยังอยู่ภายใต้สัดส่วนไม่เกินร้อยละ 60
เห็นชอบถอน ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษฯ
นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบถอนร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าไม่มีความจำเป็นในการตรา พ.ร.บ. เขตเศรษฐกิจพิเศษ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. ที่หวังจะใช้บังคับในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจทั่วไปท่ามกลางระบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้นทำได้ยาก
ประกอบกับ ครม. เพิ่งมีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 และปัจจุบันการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ต่างๆ สามารถใช้กฎหมายเดิมคือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2564
นอกจากนั้น การให้สิทธิประโยชน์บางประการแก่ผู้ประกอบการเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีความแตกต่างไปจากเดิม ประกอบกับมีร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เป็นกลไกการบริหารจัดการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในระยะเริ่มต้น
นายอนุชากล่าวต่อว่า ในระยะยาวจะมีการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ให้ครอบคลุมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษอื่นๆ เช่น พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (NEC), พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC), พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ)
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลระบุว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ ที่ผ่านมามีข้อสงสัยจากหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ สศช. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเห็นตรงกันว่า ไม่มีความจำเป็นต้องยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ให้มีเพิ่มขึ้นจากกฎหมายฉบับเดิมเดิมที่มีอยู่แล้ว เพราะสามารถปรับปรุงกฎหมายเดิมที่มีอยู่ได้ ซึ่งเรื่องนี้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาดูกับตัวเอง โดยสั่งส่วนให้กระทรวงอุตสาหกรรมรีบถอนร่างกฎหมายออกทันที โดยทำเรื่องเสนอ ครม. เห็นชอบถอนกฎหมายฉบับนี้ ที่เคยผ่านการเห็นชอบจาก ครม. มาแล้ว ซึ่งกรณีลักษณะนี้มีให้เห็นไม่ค่อยบ่อยนัก
เห็นชอบข้อตกลงตำรวจสากล เชื่อมฐานข้อมูลใน-นอกประเทศ
ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างความตกลงระหว่างสำนักงานกลางแห่งชาติตำรวจสากลประเทศไทย (ตำรวจสากลกรุงเทพ) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ว่าด้วยการเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสารขององค์การตำรวจสากลโดยตรง โดยข้อตกลงนี้จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั้งในและต่างประเทศ
ร่างความตกลงฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถเข้าถึงระบบฐานข้อมูลองค์การตำรวจสากล จำนวน 9 ฐานข้อมูลได้โดยตรง ดังนี้
- เรื่องเอกสารการเดินทางที่ถูกขโมยหรือสูญหาย (Stolen and Lost Travel Document — SLTD)
- เอกสารราชการที่ถูกขโมย (Stolen Administrative Document)
- ภาพการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กระหว่างประเทศ (International Child Sexual Exploitation Images — ICSE)
- ระบบจัดการบันทึกและการติดตามอาวุธผิดกฎหมาย (Illicit arms records and tracing management system — iARMS)
- เอกสารการเดินทาง (Edison TD)
- ตารางหมายเลขอ้างอิงอาวุธปืน ขององค์การตำรวจสากล (INTERPOL Firearms Reference Table — IFRT)
- ฐานข้อมูลแจ้งเตือนระบบดิจิทัล ขององค์การตำรวจสากลเกี่ยวกับเอกสาร (The Digital INTERPOL Alert Library – Document หรือ Dial-Doc)
- ระบบข้อมูลอาชญากรรมขององค์การตำรวจสากล (INTERPOL’s Criminal Information System หรือ ICIS)
- ระบบข้อมูลกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืน ขององค์การตำรวจสากล (INTERPOL Ballistic Information Network — IBIN)
กำหนดประเภทสถาบันการเงินรายงานข้อมูลบัญชีสหรัฐ
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับประเภท ลักษณะ ขนาด การให้บริการ หรือธุรกรรมของผู้มีหน้าที่รายงาน พ.ศ. …. โดยกำหนดผู้มีหน้าที่รายงาน ดังนี้
- สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
- บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
- ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิตและผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย
- ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
- ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
- บุคคลอื่นใดที่ประกอบธุรกิจรับฝากหลักทรัพย์รับฝากเงินหรือดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการลงทุน
ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวสืบเนื่องจากที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีข้อตกลงความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศและการดำเนินการตาม Foreign Account Tax Compliance Act — FATCA ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านภาษีอากรผ่านระบบปฏิบัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลอัตโนมัติ
เคาะร่างกำกับเอ็นจีโอ เปิดเผยแหล่งรายได้
ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ (พม.) เพื่อสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาลให้กับองค์กรภาคประชาสังคมหรือเอ็นจีโอ เนื่องจากในประเทศไทยมีองค์กรที่จดทะเบียนถูกต้องเพียง 87 องค์กร
โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม ประกอบด้วย กรรมการโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมกรรมผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม จำนวน 7 คน หน้าที่กำหนดนโยบายและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาชน
สาระสำคัญของหลักการดังกล่าว ดังนี้
- ต้องจดแจ้งการเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ กับกรมการปกครอง
- ต้องเปิดเผยแหล่งที่มาและจำนวนของเงินหรือทรัพย์สิน ที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในแต่ละปี และต้องยื่นแบบรายการภาษีเงินได้ทุกปี
- ต้องเสนอรายงานการสอบบัญชี โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตต่อผู้รับจดแจ้งภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี และให้ผู้รับจดแจ้งเผยแพร่ต่อสาธารณะ
- กำหนดให้องค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ฯ จะรับเงินหรือทรัพย์สินจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือไม่ได้จดทะเบียนจัดตั้งในไทย มาใช้ในการดำเนินกิจกรรมในไทยได้เฉพาะกิจกรรมที่กฎหมายกำหนด
“มีองค์กรที่ไม่แสวงหารายได้ แต่เมื่อได้รับเงินสนับสนุนมาไม่ได้ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์เพื่อสาธารณะประโยชน์ตามที่ได้แจ้งไว้ เมื่อมีรายได้เข้าองค์กรก็เอากำไร-ผลประโยชน์มาแบ่งปันกับคนในกลุ่ม จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความโปร่งใส”
ไฟเขียวร่างนโยบายแห่งชาติด้านยาฯ – หวังไทยมั่นคงด้านยาใน 20 ปี
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างนโยบายแห่งชาติด้านยาและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งเป็นไปตามวิสัยทัศน์ “ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ใช้ยาสมเหตุผล ประเทศมีความมั่นคงด้านยา อย่างยั่งยืน” ภายใน 20 ปี โดยมีเป้าประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ระบบควบคุมยามีประสิทธิภาพ และมีธรรมาภิบาล สอดคล้องกับค่าครองชีพและความสามารถในการจ่ายค่ายาของประชาชนและภาครัฐ มุ่งเน้นให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยา สามารถผลิตและจัดหายาจำเป็นไว้ใช้ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในภาวะปกติและฉุกเฉิน รวมทั้งเพิ่มความสามารถของอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศในการแข่งขันสู่ระดับสากล
ทั้งนี้ ตามร่างนโยบายฉบับดังกล่าว ได้มีการวางกรอบการดำเนินการผ่านยุทธศาสตร์ พันธกิจ และเป้าหมายตัวชี้วัดที่ครอบคลุมการส่งเสริมและพัฒนาทุกภาคส่วนอย่างรอบด้าน เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องผ่านการประเมินศักยภาพจากองค์กรระดับสากลอย่างต่อเนื่อง จนถึงปี 2565 มีมูลค่าการผลิตยาชีววัตถุกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 และจำนวนผลิตภัณฑ์ยานวัตกรรมหรือส่งออกได้รับการอนุญาตอย่างน้อย 30 รายการต่อปี พร้อมทั้งได้กำหนดกลไกการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานผ่านการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 3-4 ครั้งต่อปีด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานผลการดำเนินงานของนโยบายแห่งชาติด้านยา 2554 และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ 2555-2559 ด้วยว่า ส่วนใหญ่สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัด เช่น จำนวนรายการยาจำเป็นที่มีปัญหาการเข้าถึงได้รับการแก้ไขอย่างน้อย 20 รายการ จำนวนรายการยาสามัญรายการใหม่ที่ผลิตในประเทศอย่างน้อย 30 รายการ การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผลในโรคเป้าหมายลดลงอย่างน้อยร้อยละ 50 สัดส่วนมูลค่าการบริโภคยาสามัญที่ผลิตในประเทศเมื่อเทียบยานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ10
อย่างไรก็ตามยังมีการดำเนินงานบางส่วนที่ไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตัวชี้วัด เนื่องมาจากปัจจัยหลายด้านเช่น จำนวนแผนงานโครงการที่มีจำนวนมาก ข้อจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลและงบประมาณ และยังขาดวิธีการติดตามประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไม่สามารถทราบความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมทั้งไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขอย่างเหมาะสมได้
รับทราบรายงานสาธารณสุขแจง กมธ. มาตรการรับมือโควิดฯ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษามาตรการป้องกันการเกิดโรคระบาดหรือโรคติดต่อในประเทศไทย ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการฯได้มีข้อสังเกตที่สำคัญ เช่น การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย การควบคุมราคาสินค้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ การเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต การส่งเสริมและกระตุ้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับสุขอนามัยในโรงเรียน การศึกษาวิจัยการใช้สมุนไพรไทยที่มีโอกาสใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) รวมถึงการกำหนดแผนดำเนินการตามมาตรการด้านการป้องกันและการดูแลตนเองจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้มีความรัดกุมและมีมาตรฐาน
ทั้งนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักรับหลักการและข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า รายงานฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่มีความถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19
เช่น การยกระดับอนามัยส่วนบุคคล การสร้างความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง การแก้ไขปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เวชภัณฑ์ และทรัพยากรทางสาธารณสุข การพัฒนาฐานข้อมูลและแอปพลิเคชันเพื่อการเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงหรือผู้สัมผัสโรค การดูแลสุขภาพและภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขจะได้นำไปพิจารณาในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปกำหนดเป็นนโยบายและแนวปฏิบัติต่อไป
อย่างไรก็ตามทางกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังได้พิจารณาดำเนินการมาตรการต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้อย่างชัดเจน แต่ก็มีความสอดคล้องกับหลักการหรือข้อสังเกตหลายประเด็น เช่น มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่มีการระบาดต่ำมากโดยจะมีการลดระยะเวลาในการกักตัวให้สั้นลง แต่ยังคงระบบคัดกรองอย่างเข้มข้น และมีระบบกำกับติดตามนักท่องเที่ยวอย่างรัดกุม การเร่งกระบวนการศึกษาทดลองวัคซีนด้วยกระบวนการบริหารจัดการโครงการวิจัยที่มีประสิทธิภาพโดยสถาบันแห่งชาติและภาคี เพื่อให้ได้ผลการศึกษาที่มีความถูกต้อง และการปรับรูปแบบการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาด องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงฯ นำที่ดินกรมชลประทานให้ชาวบ้านเช่า-เช่าซื้อทำเกษตร
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงกำนหดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการให้เช่า เช่าซื้อ หรือโอนที่ดิน หรือทรัพย์สินอื่นของกรมชลประทานเพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรม และร่างกฎกระทรวงการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินสำหรับแปลงที่ดินในเขตโครงการจัดรูปที่ดิน
- โดยฉบับแรกมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้สำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดเสนอคณะกรรมการจัดรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาว่า ในเขตโครงการจัดรูปที่ดินใดที่มีที่ดินของกรมชลประทานตั้งอยู่สมควรจัดที่ดินแปลงใดให้เช่าหรือเช่าซื้อ เพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรม และประกาศให้ราษฎรที่ประสงค์จะเช่าหรือเช่าซื้อที่ดินแปลงนั้นมายื่นคำขอภายใน 30 วัน นับแต่วันปิดประกาศ พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อ เช่น เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งมีสัญชาติไทยโดยการเกิด ไม่มีที่ดินประกอบเกษตรกรรมเป็นของตนเอง หรือมีที่ดินเพียงเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ
กรณีที่ผู้มีสิทธิเช่าหรือเช่าซื้อรายใดไม่ไปทำสัญญาหรือไม่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนดและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง หรือในกรณีที่หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดพิจารณาเห็นว่า ผู้มีสิทธิเช่าหรือเช่าซื้อรายใดมีเหตุขัดข้องให้แจ้งผู้มีสิทธิเช่าไปทำสัญญาหรือเข้าทำประโยชน์ในที่ดินภายในระยะเวลาที่กำหนด หากผู้มีสิทธิไม่ไปทำสัญญาหรือไม่เข้าทำประโยชน์ในเวลาภายในเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าผู้นั้นสละสิทธิในการทำสัญญา หรือให้ถือว่าสัญญาเช่าหรือเช่าซื้อเป็นอันสิ้นสุดลง
- ส่วนฉบับที่ 2 มีสาระสำคัญคือ กำหนดให้หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดแจ้งขอดำเนินการออกโฉนดที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขาแห่งท้องที่ ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ พร้อมทั้งส่งมอบหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินเดิมและเอกสารหรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือแผนผังการจัดแปลงที่ดินใหม่พร้อมกับรายชื่อเจ้าของที่ดินเดิม และผู้มีสิทธิได้รับที่ดินในการจัดรูปที่ดินแต่ละแปลง
ทั้งนี้ก่อนออกโฉนดที่ดิน ให้เจ้าของที่ดินที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนกรมชลประทาน และหัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัด ร่วมนำทำการรังวัดปักหมายเลขเขตที่ดิน ขณะเดียวกันให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้มีรายชื่อตามหลักฐานที่หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดแจ้ง และให้นำประมวลกฎหมายที่ดินยกเว้นการประกาศแจกโฉนด มาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อออกโฉนดที่ดินแล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินมอบโฉนดที่ดินทั้งหมดให้แก่หัวหน้าสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดไปดำเนินการต่อไป
อนุมัติเพิ่มจำนวน กก.บริษัท ปตท. อีก 4 คน
นางสางไตรศุลี กล่าวว่า ครม. อนุมัติการเพิ่มจำนวนกรรมการของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) โดยกระทรวงพลังงานระบุว่า ในฐานะที่กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานเจ้าสังกัดของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ในสัดส่วนร้อยละ 74.16
“พิจารณาแล้วเห็นว่า ปัจจุบันบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก ได้ดำเนินธุรกิจด้านการค้าปลีกเชื้อเพลิง การค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าสูงและมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ทั้งผู้บริโภค ผู้ร่วมธุรกิจ สังคม ชุมชน พนักงานและผู้ถือหุ้น แต่ยังขาดกรรมการที่มีทักษะ ความรู้ และความชำนาญเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจุบันมีกรรมการ 11 คน เห็นควรเพิ่มให้เป็น 15 คน ซึ่งไม่เกินตามข้อบังคับ”
สำหรับกรรมการที่เพิ่มมาอีก 4 คน ประกอบด้วย
- ด้านกฎหมาย ทำหน้าที่กำกับและบริหารการดำเนินการขององค์กรให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์พร้อมกับเป็นรัฐวิสาหกิจ
- ด้านธุรกิจระหว่างประเทศ ทำหน้าที่ในการกำกับและบริหารธุรกิจที่จะขยายการลงทุนในต่างประเทศ ตามวิสัยทัศน์ขององค์กรที่จะเป็นบริษัทไทยชั้นนำระดับโลกที่สร้างคุณค่าให้กับชุมชนผ่านการดำเนินธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทย่อยและบริษัทร่วมตั้งอยู่ในต่างประเทศจำนวน 10 ประเทศ และมีแผนการขยายการลงทุนระยะยาวในต่างประเทศ ซึ่งในช่วงปี 2564-2568 จะขยายการลงทุนในต่างประเทศประมาณร้อยละ 22 ของวงเงินลงทุนทั้งหมด(ประมาณ 74,000 ล้านบาท)
- กรรมการด้านธุรกิจค้าปลีก เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับและบริหารการดำเนินการของธุรกิจค้าปลีกเนื่องจาก บริษัทมีเป้าหมายหลักในการขยายธุรกิจทางด้านค้าปลีกและบริการอื่นๆ (Non-0il) เพื่อเป็นไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนฉับพลัน (Disruptive Technology) และเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรและผู้มีส่วนได้เสีย
- ด้านบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อทำหน้าที่ด้านการเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สังคม ชุมชน ประชาชน พนักงานและสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาและเติบโตไปพร้อมองค์กร
เห็นชอบร่างระเบียบสนับสนุนงานติดตามคนหายฯ หวังเพิ่มโอกาสติดตามคนหาย
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสนับสนุนการปฏิบัติงานติดตามคนหายพิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนาม ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายเดิมให้ครอบคลุมการปฏิบัติงานด้านคนนิรนาม เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เป็นการขยายโอกาสในการติดตามคนหายได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งปรับปรุงชื่อและองค์ประกอบคณะกรรมการพัฒนาระบบการติดตามคนหายพิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนาม(ค.พ.ศ.)ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้นด้วย
โดยมีรองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ มีกรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 11 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีผลงานและประสบการณ์ด้านนิติเวชศาสตร์ ด้านการพิสูจน์หลักฐาน ด้านกฎหมาย ด้านสิทธิมนุษยชน และด้านสังคมสงเคราะห์ที่เกี่ยวข้องจำนวนไม่เกิน 5 คน
ทั้งนี้ ให้ ค.พ.ศ. มีอำนาจหน้าที่จัดทำนโยบาย แผนแม่บทและแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านคนหาย คนนิรนาม และศพนิรนามเสนอต่อ ครม. ศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการดำเนินการติดตามคนหาย พิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนามของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาระบบการติดตามคนหาย พิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนาม สนับสนุนและส่งเสริมภาคเอกชนและประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามคนหาย พิสูจน์คนนิรนามและศพนิรนาม รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติงานตามที่ค.พ.ศ.มอบหมาย
โดยได้กำหนดให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ทำหน้าที่เป็นเลขานุการของ ค.พ.ศ. ทำหน้าที่แจ้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการเกี่ยวกับคนหาย คนนิรนามและศพนิรนามแก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ รวมทั้งแจ้งข้อมูลให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนที่ดำเนินการด้านคนนิรนามทราบด้วยพร้อมประสานงานกันเรื่องข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนนิรนาม
ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ถึง 31 มี.ค. 64
นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 และสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2564 ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีความเห็นพ้องว่า ยังมีความจำเป็นจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ควบคู่ไปกับการพัฒนากลไกกฎหมายปกติในการบูรณาการการปฏิบัติงาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจอย่างเพียงพอในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ 1) การเฝ้าระวังและสอบสวนโรคเพื่อหาแหล่งที่มาของการติดเชื้อ 2) การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคภายในประเทศ และ 3) การคัดกรองบุคคลที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงและปลอดภัยในระบบสาธารณสุขของประเทศ
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 เพิ่มเติม