ThaiPublica > คอลัมน์ > เพราะความท้าทายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

เพราะความท้าทายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

9 กุมภาพันธ์ 2021


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคงจะใช้เวลายาวนาน มีการฟื้นตัวที่ไม่เท่ากัน และมีความไม่แน่นอนสูง

ตอนนี้เราเริ่มจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์กับอนาคตของเศรษฐกิจโลก ที่ส่วนหนึ่งมาจากความมหัศจรรย์ของมวลมนุษยชาติ ในการคิดค้นวัคซีน ที่ใช้เวลาในการคิดค้นและทดลองกับมนุษย์น้อยกว่าหนึ่งปี จากเดิมที่การพัฒนาวัคซีนปกติใช้เวลามากกว่า 5-10 ปี และปัจจุบันมีวัคซีนถึงหกชนิดที่มีรายงานผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ ซึ่งได้รับการยอมรับแล้วว่ามีประสิทธิผลในการสร้างภูมิคุ้มกัน สามารถป้องกันการติดเชื้อหรือลดความรุนแรงของโรคอย่างมีประสิทธิผลค่อนข้างดี และมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างจำกัด

เชื่อว่าเมื่อเราเริ่มฉีดวัคซีนกันแล้ว น่าจะเริ่มเห็นอัตราการติดเชื้อ อัตราการเสียชีวิต และจำนวนผู้ป่วยเข้าโรงพยาบาลลดลง จนเริ่มสามารถเปิดเมืองได้บางส่วน และในประเทศพัฒนาแล้วน่าจะฉีดกันจนเกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” จนเชื้อเริ่มหายไปได้ภายในปีนี้

เมื่อเมืองกลับมาเปิดได้ เศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ น่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวและขยายได้ และด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดมหาศาล คาดกันว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะกลับมาโตได้ประมาณ 5.5% มากกว่าที่หดตัวไป 3.5% เมื่อปีที่แล้ว นำโดยสหรัฐอเมริกาที่น่าจะโตได้ถึง 5-6% เทียบกับที่หดไป 3.4% เมื่อปีที่แล้ว และจีนและอินเดีย ที่น่าจะโตได้ถึง 8% และ 11% ตามลำดับในปีนี้ การฟื้นตัวที่ดีของประเทศใหญ่ๆ เหล่านี้น่าจะช่วยเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจประเทศอื่นเริ่มฟื้นตัวได้

แต่ก็มีอีกหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกือบทุกประเทศในยุโรป รวมถึงประเทศไทย ที่เศรษฐกิจน่าจะโตได้น้อยกว่าที่หดตัวไปปีก่อน แปลว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกสักพักกว่า “ระดับรายได้” จะกลับไประดับก่อนที่จะมีปัญหาโควิด

ปัญหาโควิดคงยังไม่จบลงไปง่ายๆ และยังมีความไม่แน่นอนอยู่อีกมาก หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนายังไม่ได้เริ่มฉีดวัคซีนกันเลย (เช่น ไทย เป็นต้น) และด้วยอัตราที่ฉีดวัคซีนกันในปัจจุบัน กว่าที่เชื้อจะหายไปจากโลก อาจจะใช้เวลาอีกหลายปี

เรายังมีคำถามที่ยังหาคำตอบไม่ได้อีกมากมาย เช่น ภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจะอยู่ได้นานแค่ไหน ต้องฉีดวัคซีนเพิ่มเติมหรือไม่ วัคซีนเหล่านี้จะคุ้มกันไวรัสที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลาได้หรือไม่ ผู้ได้รับการฉีดวัคซีนจะยังคงเป็นพาหะในการนำเชื้อโรคไปติดให้กับผู้อื่นได้อยู่หรือไม่ การเดินทางและการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับสู่ภาวะปกติได้เมื่อไร ซึ่งทั้งหมดนี้คงต้องมีการวิจัยและศึกษากันต่อไปเพื่อเราจะเข้าใจและออกแบบวิธีบริหารจัดการ และควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่น่าจะอยู่กับเราไปอีกสักพัก

ส่วนประเทศไทยนั้น…

ถ้าย้อนมาดูที่ประเทศไทย จะเห็นว่าเราถูกกระทบจากวิกฤติรอบนี้หนักกว่าคนอื่น และเราน่าจะเป็นประเทศที่ฟื้นช้ากว่าประเทศอื่น เพราะ “หลุม” ของเราใหญ่กว่า และยังกลบไม่เต็ม

ทั้งจากอุปสงค์ในประเทศที่หายไปจากมาตรการป้องกันการระบาด การกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้เงินได้ช้าและน้อยกว่าหลายประเทศ รายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศที่เคยเป็นถึง 12% ของ GDP หายไปทั้งหมด และเรายังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศได้ รายได้ที่หายไปส่วนนี้ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะกลับมาได้เมื่อไร

แม้ประเทศใหญ่ๆ จะฉีดวัคซีนกันหมดแล้ว คำถามคือ เราจะกล้าให้คนฉีดวัคซีนแล้วเข้าประเทศไหม ถ้าเรายังฉีดได้ไม่เท่าไร และโดยเฉพาะถ้าคนฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถเป็นพาหะนำเชื้อโรคอยู่ได้ และคนที่ฉีดวัคซีนแล้วจะกล้ามาประเทศไทยไหม ถ้าเรายังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และเขารู้ว่าวัคซีนไม่ได้มีประสิทธิผลป้องกันได้ 100%

การบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างต้นทุนเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านสาธารณสุขยังมีความจำเป็นและต้องได้รับการประเมินด้านเทคนิคอยู่ตลอดเวลา

ปัจจัยเหล่านี้ สะท้อนภาพของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องใช้เวลานาน มีความแตกต่างกันไปในหลายภาคส่วน และยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งคงสร้างแผลเป็นให้กับเศรษฐกิจ ทั้งด้านการจ้างงาน ความสามารถในการแข่งขัน ความเหลื่อมล้ำ รายได้ ความมั่งคั่ง และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ ของครัวเรือนและบริษัท อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาระยะสั้น

ในระยะสั้น คำถามคือ ด้วยระดับของเศรษฐกิจที่อยู่ต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก น่าจะซบเซาไปอีกสักพัก และมีความไม่แน่นอนสูง จะส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในการบริโภคและการลงทุนมากขึ้นไปอีก เราควรต้องมีมาตรการอย่างไร เพื่อให้การเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิผลสูงสุด บทบาทของนโยบายการคลังและนโยบายการเงินควรเป็นอย่างไร

เราเห็นอาการหลายอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจภายในประเทศของเรากำลังย่ำแย่ มีการลงทุนและการบริโภคอยู่ต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น เราเห็นเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งๆ ที่เราขาดรายได้จากการท่องเที่ยวไปจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรายังมีเงินออมมากกว่าการลงทุนในประเทศ

นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น (เงินเฟ้อพื้นฐานของไทยอยู่ที่ประมาณ 0% เทียบกับสหรัฐที่อยู่ที่ 1.5% และมีแนวโน้มสูงขึ้น) และหลุดกรอบที่แบงก์ชาติตั้งไว้เป็นเวลามากกว่าห้าปีติดต่อกัน

ในขณะที่ธนาคารกลางใหญ่ๆ อย่าง Federal Reserve ของสหรัฐฯ และธนาคารยุโรป มีการทบทวน ปรับเป้าหมายและกลยุทธ์ในการดำเนินนโยบายการเงิน เพราะกังวลว่าเงินเฟ้อที่ต่ำเป็นเวลานานจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ในระยะยาว แต่บ้านเรายังต้องตั้งคำถามกันอยู่ว่า เรายังควรต้องสนใจและยึดเอาเงินเฟ้อเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่หรือไม่ และเมื่อเงินเฟ้อหลุดกรอบขนาดนี้ (แม้เราจะมีเป้าหมายอื่น เช่น เสถียรภาพของระบบการเงิน) เราจะควรต้องทบทวนและปรับกระบวนการทำนโยบายหรือไม่อย่างไร

เราควรสนับสนุนการลงทุนต่างประเทศหรือในประเทศ

สังเกตว่า ในปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็ง มาตรการที่แบงก์ชาติเพิ่งประกาศออกมา เช่น การผ่อนคลายข้อจำกัดของเงินทุนไหลออกและสนับสนุนให้ลงทุน “ในต่างประเทศ” เพิ่มขึ้น เพื่อทำให้มีการ “รีไซเคิล” การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดให้มากขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของการเปิดเสรีและลดข้อจำกัดที่ควรทำ แต่มาตรการเหล่านี้อาจจะไม่พอและเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

จริงๆ แล้วสิ่งที่เราควรช่วยกันคิดคือ จะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจในประเทศเติบโตและมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ทำอย่างไรให้มีการลงทุน “ในประเทศ” เพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการใช้นโยบายกระตุ้นทั้งการคลังและการเงินเพื่อ “jump start” เศรษฐกิจ เพื่อเยียวยา และกระตุ้นเศรษฐกิจ ทดแทนอุปสงค์ที่หายไปได้อย่างไร

เกือบจะเหมือนกับปัญหาในช่วง The Great Depression ในช่วงทศวรรษ 1930s ที่ต้องการมาตรการกระตุ้นอย่างหนักเพื่อให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นได้ ต่างกันที่ครั้งนี้ ปัญหาโรคระบาดอาจจะยังเป็นข้อจำกัดที่ทำให้เศรษฐกิจกลับมาปกติยังไม่ได้

แล้วเราจะทำให้การบริโภคและการลงทุนกลับมาขยายตัวได้อย่างไร จะลดข้อกฎระเบียบ ข้อจำกัดต่างๆ และนโยบายที่สนับสนุนทุนผูกขาด ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการแข่งขัน การเปิดเสรีในด้านต่างๆ อาจจะเป็นหนึ่งในทางออกเพื่อให้เกิดการลงทุน และยกระดับความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ

หากเรายังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจภายในประเทศจะฝ่อลงไปเรื่อยๆ เพราะบุญเก่าเรากำลังจะหมด ในขณะที่โครงสร้างประชากรของเรากำลังจะพาเราเข้าสู่ภาวะ “แก่ก่อนรวย” และติดกับดัก deflationary spiral (ภาวะเงินฝืดขั้นรุนแรง) แบบที่ญี่ปุ่นเคยเจอมา

ปัญหาระยะยาว

นอกจากแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะสั้น เรายังเจอปัญหาระยะยาวอีกหลายเรื่อง เช่น ความเหลื่อมล้ำที่น่าจะทวีความรุนแรงขึ้น เราเห็นชัดเจนว่าโควิด-19 ยิ่งสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งด้านแรงงานและการศึกษา แรงงานจำนวนมากไม่มีทางเลือกในการทำงานจากบ้าน อยู่นอกระบบ และขาดระบบสวัสดิการ และนักเรียนจำนวนมากไม่มีความพร้อมในการเรียนจากบ้าน และสุ่มเสี่ยงที่เราจะมีช่องว่างด้านความรู้ ที่นักเรียนจำนวนมากอาจขาดพัฒนาการด้านการเรียนรู้ไป

นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขันของไทยก็กำลังแสดงอาการออกมาเรื่อยๆ การส่งออกของไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน เรามีสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีน้อยกว่าหลายประเทศ และเราขาดการลงทุนใหม่ๆ สังเกตว่านอกจากการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ จะมาไทยน้อยลงแล้ว เราเริ่มเห็นการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไปด้วย แนวโน้มโครงสร้างประชากรที่เราจะมีประชากรวัยทำงานลดลงทำให้เรายิ่งต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างเร่งด่วน

วันนี้ปัญหาข้างหน้าใหญ่หลวงนัก เราคงต้องช่วยกันคิดและหาทางแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่เราเผชิญอยู่ และความเสี่ยงจากการทำ “มากเกินไป” อาจจะน้อยกว่าต้นทุนของการทำ “น้อยเกินไป” ก็ได้