ThaiPublica > สู่อาเซียน > “พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย” แถลงครั้งแรกปกป้องรัฐประหาร หลังประท้วงขยายวงลุกลาม

“พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย” แถลงครั้งแรกปกป้องรัฐประหาร หลังประท้วงขยายวงลุกลาม

9 กุมภาพันธ์ 2021


ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/2/8/myanmar-military-leader-gives-first-address-to-nation-since-coup

  • กองทัพเมียนมาคุมอำนาจ ประกาศฉุกเฉิน คุม “อองซานซูจี” พร้อมผู้นำอีกหลายคน
  • กองทัพเมียนมา ตั้ง “พลเอก มินต์ ส่วย” รักษาการประธานาธิบดี ปกครองใต้ภาวะฉุกเฉิน 1 ปี
  • “อองซานซูจี” ปลุกประชาชนลุกขึ้นต้านรัฐประหาร
  • ประธานอาเซียน ออกแถลงการณ์ เรียกร้องเมียนมาให้เจรจาปรองดอง
  • “ใคร” ในกองทัพเมียนมาคุมบริหารประเทศ
  • ประชาชนเมียนมาลุกฮือ เดินขบวนต้านรัฐประหาร

    ผู้นำกองทัพออกมาปกป้องการรัฐประหาร ขณะที่การประท้วงรุนแรงขึ้น

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า กองทัพจะจัดการเลือกตั้งและส่งมอบอำนาจให้กับพรรคที่ชนะ และกล่าวด้วยว่า การเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งพรรคของนางออง ซาน ซูจี ที่กำลังถูกควบคุมตัวชนะอย่างถล่มทลาย เป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม

    กองทัพได้เริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นในบางพื้นที่ รวมถึงประกาศมาตรการเคอร์ฟิวในเมืองใหญ่สุด 2 เมืองของประเทศและห้ามการชุมนุมของผู้คนที่เกิน 5 คน เพื่อพยายามที่จะหยุดการประท้วงที่มีขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ในวันจันทร์ พร้อมๆ กับการประท้วงที่ขยายวงไปทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพในสัปดาห์ที่แล้ว

    การประกาศคำสั่งในวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ขณะที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย แถลงถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ เรียกร้องให้ประชาชนให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงไม่ใช่ความรู้สึก และกล่าวย้ำการกล่าวหาที่ไร้หลักฐานว่าการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนมีความผิดปกติ

    การออกมาแถลงของผู้นำกองทัพ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่นำการรัฐประหารต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของผู้นำพลเรือน นางออง ซาน ซูจีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดการประท้วงในวงกว้างและนานาชาติพากันประณาม

    ที่มาภาพ: https://www.bbc.com/news/world-asia-55975746

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย พูดอะไร

    คำแถลงของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มุ่งเน้นไปที่สาเหตุของการรัฐประหารมากกว่าที่จะขู่ผู้ประท้วง

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งล้มเหลวในการตรวจสอบความผิดปกติเกี่ยวกับรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนและไม่อนุญาตให้มีการหาเสียงอย่างเป็นธรรม

    คณะกรรมการการเลือกตั้งกล่าวว่า ไม่มีหลักฐานสนับสนุนการกล่าวหาว่ามีการฉ้อโกงอย่างกว้างขวาง

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ซึ่งสวมเครื่องแบบทหารสีเขียว ให้คำมั่นต่อการเลือกตั้งครั้งใหม่ และส่งมอบอำนาจให้กับผู้ชนะ โดยที่คณะกรรมการการเลือกตั้งที่มาจากการปฏิรูปชุดใหม่จะเข้าไปดูแล

    นอกจากนี้พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย กล่าวอีกว่า การปกครองของเขาจะ “แตกต่าง” ไปจากการยึดอำนาจทางทหารที่กินเวลา 49 ปีซึ่งสิ้นสุดในปี 2011 และการปราบปรามที่โหดร้ายในปี 1988 และ 2007

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่ายพูดถึงการบรรลุ “ประชาธิปไตยที่แท้จริงและมีวินัย” ซึ่งเป็นวลีที่เรียกเสียงเย้ยหยันจากฝ่ายตรงข้ามของการรัฐประหารในโซเชียลมีเดีย

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ย้ำจุดยืนดังกล่าวในการแถลงเมื่อวันจันทร์ โดยกล่าวว่ารัฐบาลทหารจะสร้าง “ประชาธิปไตยที่แท้จริงและมีระเบียบวินัย” แตกต่างจากการปกครองของทหารในยุคก่อนๆ รวมทั้งยังกล่าวว่า รัฐบาลทหารของเขาจะจัดการเลือกตั้งใหม่ตามที่สัญญาไว้ภายหนึ่งปีและส่งมอบอำนาจให้กับผู้ชนะ ตลอดจนชี้แจงถึงนโยบายที่ตั้งใจไว้สำหรับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และนโยบายเศรษฐกิจ

    นอกจากนี้ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังบอกให้ประชาชน “อยู่กับข้อเท็จจริงที่แท้จริง และไม่ใช้ความรู้สึกของตัวเอง”

    พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ไม่ได้ข่มขู่ผู้ประท้วงโดยตรง เพียงกล่าวว่าไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย

    แต่ในบางพื้นที่มีการควบคุม โดยบางเขตของย่างกุ้งและมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสอง รวมถึงพื้นที่อื่นๆ อยู่ภายใต้เคอร์ฟิวในเวลา 20.00-04.00 น.

    กองทัพได้ประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีและเมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ได้ใช้มาตรการเข้มงวดเพิ่มเติม ห้ามการชุมนุม ห้ามการรวมตัวเกินกว่า 5 คน ห้ามเคลื่อนขบวนด้วยรถยนต์ นอกจากนี้ยังมีการบังคับใช้กฎอัยการศึกในบางพื้นที่ของย่างกุ้ง มัณฑะเลย์และเมืองอื่นๆ ในเมียนมา ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของทหารหลังการรัฐประหารในปี 1962 มาหลายทศวรรษ

    ในขณะเดียวกัน กองทัพยังเตือนว่าจะดำเนินการกับผู้ประท้วง โดยกล่าวว่ามีการละเมิดกฎหมายและการขู่ใช้กำลังของกลุ่มต่างๆ “ที่ใช้ข้ออ้างเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน”

    ในระหว่างการประท้วงในปี 1988 และ 2007 กองทัพได้ใช้กำลังเพื่อยุติการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

    “ต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายโดยมีขั้นตอนที่มีประสิทธิผลกับการต่อต้านที่มีผลต่อการป้องกันและทำลายเสถียรภาพของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะและหลักนิติธรรม” จากการอ่านแถลงการณ์โดยผู้ประกาศ MRTV ของรัฐ

    โรแนน ลี ผู้เขียนหนังสือ Myanmar’s Rohingya Genocide กล่าวกับอัลจาซีราว่า คำแถลงของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย นั้น “เป็นการปิดรับฟังเสียงความไม่พอใจและความโกรธที่เห็นได้ชัดในเขตเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ทั่วเมียนมา”

    “ผู้คนหลายแสนคนแม้ไม่ถึงล้านพากันประท้วงการรัฐประหาร และการตอบสนองของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ดูเหมือนจะเป็นการตำหนิรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยว่า ไม่ได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างเหมาะสม อันเป็นสาเหตุหนึ่งของการรัฐประหาร”

    ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า “สำหรับรัฐบาลทหารที่มาจากรัฐประหารซึ่งเหยียบย่ำระบอบประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม เป็นเรื่องไร้สาระที่พวกเขาจะอ้างว่ามีสิทธิ ‘ดำเนินการทางกฎหมาย’ ต่อผู้ประท้วงอย่างสันติ”

    ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/2/8/myanmar-military-leader-gives-first-address-to-nation-since-coup

    ประท้วงขยายวง

    การประท้วงต่อต้านการรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทวีความรุนแรงขึ้นในวันจันทร์และกระจายไปยังเมืองต่างๆ มากขึ้น โดยมีคนหลายหมื่นคนเข้าร่วมการประท้วงบนท้องถนนเป็นวันที่ 3 เพื่อประณามการกระทำของกองทัพ รวมถึงการจับกุมออง ซาน ซูจี ซึ่งถูกกักบริเวณในบ้านในช่วง ระบอบทหารก่อนหน้านี้เป็นเวลาหลายปี

    ในเมืองหลวงเนปีดอว์เชื่อกันว่ามีการจัดประชุมผู้นำพลเรือนระดับสูงของเมียนมา วิดีโอที่โพสต์บนโซเชียลมีเดียเมื่อวันจันทร์แสดงให้เห็นว่าตำรวจฉีดน้ำเป็นระยะสั้นๆ เพื่อพยายามสลายผู้ประท้วงอย่างสันติที่รวมตัวกันบนทางหลวง

    รายงานจากสื่อและไลฟ์สดจากพื้นที่แสดงให้เห็นว่า มีตำรวจในชุดปราบจลาจลยืนซ้อนกันเป็น 3 แถวบนถนน ขณะที่ฝูงชนตะโกนคำขวัญต่อต้านรัฐประหารและบอกตำรวจว่า ควรให้บริการประชาชนไม่ใช่ทหาร

    ตำรวจติดป้ายบนถนนว่า สามารถใช้กระสุนจริงได้หากผู้ชุมนุมฝ่าแนวเจ้าหน้าที่แถวที่สาม

    ในย่างกุ้ง พยาบาล ครู ข้าราชการ และพระสงฆ์ ร่วมเดินขบวนต่อต้านรัฐประหาร บางคนถือป้ายประณามการรัฐประหาร และเรียกร้องประชาธิป ไตย ขณะที่คนอื่นๆ โบกธงพุทธหลากสี พร้อมกับป้ายแดงซึ่งเป็นสีของพรรค NLD

    จอว์ ซิน ทุน วัย 29 ปี วิศวกรผู้ร่วมประท้วงในย่างกุ้ง บอกกับสำนักข่าว AFP ว่า เข้าร่วมการชุมนุมเพราะจำความรู้สึกกลัวจากการเติบโตมาภายใต้การปกครองของทหารในวัยเด็กตอนช่วงปี 1990 ได้

    “ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยความกลัวของเราถูกขจัดออกไป แต่ตอนนี้ความกลัวกลับมาอยู่กับพวกเราอีกครั้ง ดังนั้นเราต้องปลดรัฐบาลทหารชุดนี้ทิ้ง เพื่ออนาคตของพวกเราทุกคน”

    ที่มาภาพ: https://www.aljazeera.com/news/2021/2/8/myanmar-military-leader-gives-first-address-to-nation-since-coup

    ยูเอ็นประชุมนัดพิเศษ

    เมื่อวันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าวว่า จะจัดการประชุมวาระพิเศษเกี่ยวกับเมียนมาในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หลังจากสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปเข้าร่วมกลุ่มสิทธิต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้สหประชาชาติจัดให้มีการประชุม

    จูเลียน เบรทเวท เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำกรุงเจนีวา กล่าวว่า การเรียกร้องดังกล่าว “เป็นการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีขึ้นในเมียนมา การควบคุมตัวนักการเมืองและภาคประชาสังคมที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยพลการของกองทัพ” ซึ่งเขากล่าวว่ามี “ผลกระทบร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชนในประเทศ”

    “เราต้องตอบสนองอย่างเร่งด่วนต่อสถานการณ์ของชาวเมียนมาและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เลวร้ายลงอย่างรวดเร็วที่นั่น” เขากล่าว และผู้สนับสนุนการเรียกประชุมวาระพิเศษจะแจ้งสมาชิกสภาอื่นในเร็วๆ นี้เกี่ยวกับการร่างมติในประเด็นนี้

    องค์การนิรโทษกรรมสากลชื่นชมกับการตัดสินใจ โดยระบุว่า มีผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 150 คนนับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจำนวนมากได้หลบซ่อนตัว

    “เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศจะต้องใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อตอบโต้การทำร้ายสิทธิมนุษยชนของกองทัพเมียนมา” เอเมอร์ลีน จิล รองผู้อำนวยการภูมิภาคด้านการวิจัยของกลุ่มกล่าวในแถลงการณ์ “ผู้นำทางทหารของเมียนมารวมถึงผู้กระทำผิดในการก่ออาชญากรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ควรปล่อยให้ก่อการร้ายในประเทศโดยไม่ถูกตรวจสอบ”

    องค์การนิรโทษกรรมสากลและกลุ่มประชาสังคมอื่นๆ กำลังเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย และนายพลอาวุโสคนอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลังการปราบปรามทางทหารที่โหดร้ายต่อชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ตลอดจนการห้ามค้าอาวุธจากทั่วโลกและการส่งเมียนมาไปยังศาลอาญาระหว่างประเทศ

    เรียบเรียงจาก
    Myanmar coup leader defends action amid mass protests
    Myanmar military ruler defends coup as protests intensify