ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรีประเมินเมียนมาใช้ภาวะฉุกเฉิน 1 ปี กระทบ FDI-ปฏิรูปเศรษฐกิจชะงัก-ต่างชาติระงับช่วยเหลือ

วิจัยกรุงศรีประเมินเมียนมาใช้ภาวะฉุกเฉิน 1 ปี กระทบ FDI-ปฏิรูปเศรษฐกิจชะงัก-ต่างชาติระงับช่วยเหลือ

1 กุมภาพันธ์ 2021


กลุ่มผู้สนับสนุนกองทัพประท้วงในย่างกุ้งเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2021 ให้มีการตรวจสอบคณะกรรมการเลือกตั้ง ที่มาภาพ: https://www.samaa.tv/global/2021/02/myanmar-military-declares-one-year-state-of-emergency/

วิจัยกรุงศรีออกบทวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเมียนมา กรณีกองทัพเมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปีหลังการทำรัฐประหารต่อต้านรัฐบาลที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy: NLD)

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมา (หรือตะมะดอว์ Tatmadaw) ประกาศภาวะฉุกเฉินหลังยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดยนางออง ซาน ซู จี ซึ่งเป็นผู้นำของประเทศโดยพฤตินัย

ภาวะฉุกเฉินมีผลบังคับใช้เป็นเวลาหนึ่งปีและมีการถ่ายโอนอำนาจไปสู่พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และมีอู มินต์ ส่วย รองประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีตามรายงานของสถานีโทรทัศน์เมียวดีซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ของกองทัพ ขณะที่นางซูจี และบุคคลสำคัญทางการเมืองคนอื่น ๆ ถูกควบคุมตัว

การรัฐประหารต่อต้านรัฐบาลเป็นที่รับรู้กันว่า เกิดจากข้อกล่าวหาของกองทัพว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 พรรค NLD มีชัยชนะอย่างถล่มทลายโดยได้ที่นั่ง 396 จาก 476 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party: USDP) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพคว้าที่นั่งเพียง 33 ที่นั่ง

รัฐธรรมนูญของเมียนมาซึ่งร่างขึ้นในปี 2008 โดยระบอบทหาร มีบทบัญญัติอนุญาตให้ทหารเข้ามามีอำนาจในภาวะฉุกเฉิน เพื่อรักษาความมั่นคงของชาติหรือความเป็นปึกแผ่นของชาติในประเทศ

มุมมองของวิจัยกรุงศรี

การรัฐประหารที่เกิดขึ้นล่าสุดจะส่งผลกระทบในทางลบต่อเมียนมาและเศรษฐกิจของประเทศ โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทันทีจะถูกส่งผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่

ช่องทางแรก ความเชื่อมั่นที่ลดลงและการไหลเข้าของกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เมียนมาไม่เพียงพึ่งพาการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและอุปสงค์จากภายนอก เพื่อผลักดันการเติบโตและสร้างโอกาสในการทำงานเท่านั้น แต่ยังเพื่อสนับสนุนการดำเนินการในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจด้วย นับตั้งแต่เริ่มกลับมามีส่วนร่วมกับประชาคมนานาชาติในปี 2010 ได้ดำเนินการปฏิรูปมาเป็นระยะเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการพัฒนาและเพื่อดึงดูด FDI ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวเขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรม กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่และกฎหมายบริษัทใหม่

ตั้งแต่นั้นมา FDI กลายเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อย่างไรก็ตามความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้ในระยะเวลาหนึ่งปี การเปลี่ยนผ่านทางการเมือง และทิศทางนโยบาย มีความสำคัญเพียงพอที่จะลดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังการระบาดอย่างทันที เมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศในภูมิภาคนี้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการระบาดของโควิด -19 และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังคงน่ากังวล

ช่องทางที่สอง มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่พันธมิตรด้านการพัฒนาทั้งจากฝั่งตะวันตกและระหว่างประเทศ จะระงับความช่วยเหลือทั้งทางการเงินและที่ไม่ใช่ทางการเงิน เมียนมาอาจเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรทางการเมืองและเศรษฐกิจจากตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป (EU) เนื่องจากการรัฐประหารจะขัดขวางการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองของประเทศ และเป็นการขัดต่อบรรทัดฐานระหว่างประเทศและค่านิยมประชาธิปไตย

แม้เมียนมาจะสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างมาก แต่ตลาดหลัก ๆ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อังกฤษและญี่ปุ่น ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเมียนมาในฐานะจุดหมายปลายทางการส่งออก เนื่องจากประเทศเหล่านี้ได้ให้สิทธิพิเศษทางการค้า และเป็นอีกแหล่งหนึ่งของ FDI และเช่นเดียวกับกัมพูชา เมียนมาได้รับประโยชน์จากสิทธิทางภาษีที่เป็นศูนย์จากอียูให้สามารถเข้าถึงตลาดสหภาพยุโรปที่รวมเป็นตลาดเดียวได้ ผ่านโครงการการให้สิทธิพิเศษทางการค้าครอบคลุมสินค้าทุกประเภทยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์ หรือ Everything But Arm (EBA) ซึ่งช่วยส่งเสริมกิจกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานมาก และภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

นอกจากนี้ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเมียนมายังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรด้านการพัฒนาทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี เช่น เมียนมาเป็นประเทศที่ได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการ(technical assistance)มากที่สุดจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หากถูกระงับการให้ความช่วยเหลือ ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของพม่า

ช่องทางที่สาม การรัฐประหารจะทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจและการปฏิรูปสถาบันหยุดชะงักลงชั่วคราวในระยะอันใกล้นี้ การรัฐประหารไม่เพียงทำลายการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของเมียนมาซึ่งอยู่ในช่วงตั้งไข่อย่างรุนแรง แต่ยังอาจทำให้การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปสถาบัน (ทางการเมือง) ที่กำลังดำเนินอยู่

“ในระยะสั้น วิจัยกรุงศรีคาดว่า เศรษฐกิจของเมียนมาจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการรัฐประหารเมื่อเทียบกับผลกระทบของการระบาดใหญ่ แต่ในระยะปานกลาง เรามองโลกในแง่ดี กองทัพบกจะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจและสถาบันอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเปิดเสรีภาคการธนาคารและบริการทางการเงิน แต่จะช้าลง”

เมียนมายังอยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศและระดับภูมิภาคซึ่งจะทำให้ยากที่จะกลับทิศทาง และหากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของเมียนมา รัฐบาลของ อู เต็ง เส่ง (2011-2016) ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ ได้ริเริ่มการปฏิรูปเศรษฐกิจและสถาบันหลายด้านที่สนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยและการปฏิรูปเศรษฐกิจ เช่น การปฏิรูปธนาคารกลางของพม่า

นอกจากนี้เมียนมามีแนวโน้มที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองกับจีนภายใต้ระบอบทหาร ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจีนกลายเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา ในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวข้ามพรมแดน และความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อพิจารณาถึงการพึ่งพาซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจซึ่งอยู่ในระดับที่มีความสำคัญ จีนจึงอยู่ในสถานะที่จะสนับสนุนเมียนมาหากถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและการเมืองจากทางตะวันตก


สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจของไทย วิจัยกรุงศรีคาดว่าการค้าจะหยุดชะงักชั่วคราว โดยเฉพาะกิจกรรมการค้าชายแดน และกระแสการเงินระหว่างเมียนมาและไทย หากประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับเมียนมา อาจทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินและธุรกรรมทางการเงินข้ามพรมแดนระหว่างไทยและเมียนมายุ่งยากมากขึ้น