ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามตัวเลือกขยายธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น

ASEAN Roundup เวียดนามตัวเลือกขยายธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น

14 กุมภาพันธ์ 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-13 กุมภาพันธ์ 2564

  • เวียดนามตัวเลือกขยายธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น
  • เวียดนามเตรียมเก็บภาษีน้ำตาลไทยโต้ทุ่มตลาด
  • อินโดนีเซียยกเว้นภาษีฟุ่มเฟือยให้รถยนต์บางรุ่น
  • สิงคโปร์เข้มงวดมากขึ้นกับผู้เดินทางเข้าจากเวียดนาม/ผู้ถือบัตรเดินทางเพื่อธุรกิจ
  • สิงคโปร์เป็นหัวหน้าคณะทำงานเปิดพรมแดน
  • เวียดนามตัวเลือกขยายธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่น

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/economy/57-pct-of-japanese-firms-in-vietnam-plan-to-expand-4233140.html
    เวียดนามเป็นตลาดที่มีสัดส่วนบริษัทญี่ปุ่นที่มีแผนการขยายธุรกิจมากที่สุดในภูมิภาค ถึง 57% จากผลสำรวจของพาโซนา กรุ๊ป อิ้งค์ บริษัทจากญี่ปุ่น

    พาโซนา กรุ๊ป อิ้งค์ทำการสำรวจความคิดเห็นบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินงานใน 11 ประเทศและเขตปกครอง ได้คำตอบว่า ตลาดที่จะขยายงานมากที่สุดคือ เวียดนาม ตามมาด้วยอินเดีย(55%) และไทย (50%)

    การสำรวจความคิดเห็นมีขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมาได้สอบถาม บริษัท 818 แห่งที่ดำเนินงานในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฮ่องกง ไต้หวันเกาหลีใต้ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียและอินเดีย

    ในเวียดนาม 36% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า จะคงการดำเนินงานไว้ในระดับเดิม ส่วนที่เหลือยังไม่มีแผน

    ในปีที่แล้ว 37 บริษัท จาก 81 บริษัทของญี่ปุ่นซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลให้ย้ายโรงงานออกจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ ได้เลือกลงทุนที่เวียดนาม

    “ปัจจุบันเวียดนามติดอันดับจุดหมายปลายทางการลงทุน ในกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นที่เลือกกระจายห่วงโซ่อุปทาน” ทาคิโอะ ยามาดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำเวียดนามกล่าว

    ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 6 ในเวียดนามเมื่อปีที่แล้วโดยมีมูลค่าลงทุน 786 ล้านดอลลาร์

    ผลสำรวจขององค์การส่งเสริมการค้าภายนอกของญี่ปุ่น หรือ JETRO ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ก็สอดคล้องกัน โดยราว 47% ของธุรกิจญี่ปุ่นที่ลงทุนในเวียดนาม ระบุว่า จะขยายการดำเนินงานในอีก 1 หนึ่ง 2 ปีข้างหน้า แม้จะมีปัญหามากมายเกิดขึ้นในปี 2020

    JETRO เปิดเผยผลการสำรวจวิสาหกิจญี่ปุ่นที่ลงทุนในต่างประเทศในปีการเงิน 2020 ตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 ถึงมีนาคม 2021 โดย JETRO ตั้งข้อสังเกตว่า ในบรรดาบริษัทที่มีมากกว่า 900 แห่งในเวียดนามที่เข้าร่วมการสำรวจนั้น มีกว่า 400 รายแสดงความตั้งใจที่จะขยายการดำเนินงาน เช่น การผลิตสินค้าทั่วไปและสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง การขนส่ง และการวิจัย

    โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัตราของธุรกิจญี่ปุ่นที่วางแผนจะเพิ่มยอดขายและการผลิตสินค้าปกติในเวียดนามอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับแผนงานในประเทศและภูมิภาคอื่นๆ

    ประมาณ 16.4% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า จะเพิ่มการลงทุนในอุปกรณ์และการลงทุนใหม่อื่นๆ ในอนาคตข้างหน้า การสำรวจพบว่า บริษัทญี่ปุ่นไม่เพียงแต่ให้ความสนใจกับการผลิตและการแปรรูป แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล การค้า และการเกษตรแบบไฮเทคด้วย

    ฮิราอิ ชิจิ หัวหน้าสำนักงานตัวแทนของ JETRO ในนครโฮ จิมินห์ ซิตี้กล่าวว่า แผนการขยายตัวของธุรกิจญี่ปุ่นได้รับแรงหนุนจากความเป็นไปได้ในการทำรายได้ที่สูงขึ้น และศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นของเวียดนามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

    ธุรกิจของญี่ปุ่นกำลังพิจารณาที่จะปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อุปทานบางด้านที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่น การเปลี่ยนหน่วยจัดซื้อ หรือฐานการผลิต

    ผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 18.8% ระบุว่า หากต้องเปลี่ยนซัพพลายเออร์ พวกเขาจะเลือกซัพพลายเออร์ในเวียดนาม ซึ่งเป็นคำตอบที่สูงที่สุดในบรรดา 20 ประเทศเอเชียและโอเชียเนียที่รวมอยู่ในการสำรวจ นอกจากนี้ยังมี 18.1%ที่ระบุว่า พวกเขาจะเลือกเวียดนามหากต้องเปลี่ยนฐานการผลิต เป็นในอันดับที่ 2 รองจากไทยที่ได้คำตอบถึง 20%

    ธุรกิจของญี่ปุ่นระบุว่า เวียดนามถูกจัดว่ามีศักยภาพในการเติบโต มีเสถียรภาพทางการเมืองและสังคม และต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

    นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคที่ บริษัทญี่ปุ่นเผชิญอยู่ การสำรวจชี้ให้เห็นว่า หากต้องการดึงดูดนักลงทุนรายใหม่และส่งเสริมให้ธุรกิจที่มีอยู่ขยายตัว เวียดนามควรพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุน และเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศ

    รายงานของ JETRO แสดงให้เห็นว่า ในปีการเงิน 2020 สถานการณ์โควิด-19 บริษัทญี่ปุ่นในเวียดนาม 52.8% มีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับปี 2019 ในขณะที่ 29.4% กำไรทรงตัว ส่วนบริษัทที่กำไรเพิ่มขึ้นมี 17.8%

    นอกจากนี้ยังมีมุมมองทางบวกต่อโอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนามในปีนี้ เนื่องจากมีการควบคุมโควิด-19ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    เวียดนามเตรียมเก็บภาษีน้ำตาลจากไทยโต้ทุ่มตลาด

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/industries/vietnam-slaps-anti-dumping-duty-on-thai-sugar-4234275.html
    เวียดนามได้ใช้ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการต่อต้านการอุดหนุน ด้วยการเรียกเก็บภาษี 33.88% น้ำตาลทรายดิบจากไทยเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศ

    กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระบุว่า แม้การตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าผู้ส่งออกน้ำตาลของไทยมีส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาด(ราคาปกติหักด้วยราคาส่งออก)ที่ 48.88% แต่ก็ตัดสินใจที่จะเก็บภาษีต่ำกว่านั้น 15% หลังจากคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากภาษีและผลประโยชน์ของเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภคแล้ว

    กระทรวงฯได้เริ่มการสอบสวนเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วจากการร้องขอของผู้ผลิตน้ำตาลในเวียดนาม ที่อ้างว่าได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกของไทย

    ข้อมูลของกระทรวงแสดงให้เห็นว่า การนำเข้าน้ำตาลของเวียดนามจากไทยเพิ่มขึ้น 330% จากปี 2019 เป็น 1.3 ล้านตันในปีที่แล้ว ส่งผลให้แรงงาน 3,300 คนตกงาน เนื่องจากโรงงานหลายแห่งต้องปิดตัวลงและเกษตรกรกว่า 93,200 คนได้รับผลกระทบ

    การพิจารณาขั้นสุดท้ายเในการเก็บภาษีจะมีตัดสินใจในไตรมาสที่สองของปีนี้

    อินโดนีเซียยกเว้นภาษีฟุ่มเฟือยให้รถยนต์บางรุ่น

    ที่มาภาพ: https://en.tempo.co/read/1376308/car-sales-in-indonesia-increased-100-percent-in-july

    อินโดนีเซียจะยกเลิก การเก็บภาษีฟุ่มเฟือย สำหรับรถยนต์บางรุ่นชั่วคราว เพื่อหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการจำกัดการสัญจรเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา

    ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม รัฐบาลจะยกเลิกการเรียกเก็บภาษีฟุ่มเฟือยสำหรับการขายรถเก๋ง และรถยนต์ขับเคลื่อนสองล้อที่มีกำลังเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1,500 ซีซี ตามคำแถลงของกระทรวงประสานงานกิจการเศรษฐกิจ ทั้งนี้อัตราภาษีฟุ่มเฟือยในปัจจุบันอยู่ที่ 10%-30%

    ในอีก 3 เดือนข้างหน้ารัฐบาลลดการจ่ายภาษีฟุ่มเฟือย 50% สำหรับและในอีก 3 เดือนถัดไปจะลดลงอีกครึ่งหนึ่ง โดยทำการประเมินผลทุก 3 เดือน

    ยอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฟื้นตัวขึ้น หลังจากที่ลดลงอย่างมากในช่วงเริ่มต้นของการระบาด แต่ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนการระบาด ยอดขายรวมในปี 2020 มีมากกว่า 532,000 คันคิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของปีที่แล้ว

    กระทรวงเศรษฐกิจระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย โดยมีผู้ผลิตรถยนต์ ตัวแทนจำหน่าย และเวิร์กช็อป ทำให้มีการจ้างงานถึง 1.5 ล้านคน สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะสามารถกระตุ้นการผลิตได้ 81,752 คัน

    ปีที่แล้วผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของอินโดนีเซียหดตัว 2.07% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกตั้งแต่วิกฤตการเงินในเอเชียปี 1998 เนื่องจากการระบาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อการบริโภคของครัวเรือนและการลงทุน

    ตลาดรถยนต์ในอินโดนีเซียมีแบรนด์ญี่ปุ่นครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ทั้งโตโยต้า ไดฮัทสึ มิตซูบิชิ และฮอนดัา ก่อนหน้านี้สมาคมผู้ผลิตรถยนต์ Gaikindo ได้ผลักดันให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ

    สิงคโปร์เข้มงวดมากขึ้นกับผู้เดินทางเข้าจากเวียดนาม-ผู้ถือบัตรเดินทางเพื่อธุรกิจ

    ที่มาภาพ: https://www.businesstraveller.com/business-travel/2021/02/11/singapore-imposes-further-restrictions-on-visitors-from-vietnam-and-business-travel-pass-holders/

    สิงคโปร์ประกาศจะเพิ่ม การตรวจหาเชื้อสำหรับผู้ถือบัตรเดินทางเพื่อธุรกิจ หรือ Business Travel Pass(BTP) และห้ามนักเดินทางระยะสั้นที่เคยไปเยือนเวียดนามในช่วง 14 วันก่อนเดินทางมาสิงคโปร์ เข้าประเทศ

    นอกจากนี้สิงคโปร์ยังจะผ่อนปรนข้อจำกัด สำหรับผู้เดินทางจากนิวเซาท์เวลส์ ในออสเตรเลีย

    โครงการ Business Travel Pass (BTP) ของสิงคโปร์เปิดตัวเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านม าช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเพื่อธุรกิจที่จำเป็นสำหรับผู้บริหารที่อยู่ในสิงคโปร์

    ขณะที่อยู่ต่างประเทศผู้ถือบัตร BTP จะต้องปฏิบัติตาม “แผนการเดินทางที่มีการควบคุม” และต้องเลี่ยงหรือลดการติดต่อก่อนการเดินทางกลับสิงคโปร์

    การเปลี่ยนแปลงคำสั่งล่าสุดจะทำให้ผู้เดินทางด้วย BTP ต้องรับการทดสอบ PCR หาเชื้อไวรัสในวันที่ 3 วันที่ 7 และวันที่ 14 ของการเดินทางกลับสิงคโปร์ นอกเหนือจากการตรวจหาเชื้อที่มีผลเป็นลบเมื่อเดินทางมาถึง

    ระบบการตรวจหาเชื้อที่เข้มงวดขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงของกรณีที่ตรวจไม่พบและหลุดไปตามชุมชน กระทรวงสาธารณสุขระบุ

    ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์สิงคโปร์จะห้ามผู้เดินทางระยะสั้นที่ถือ Air Travel Pass (ATP) และเคยไปเยือนเวียดนามภายใน 2 สัปดาห์ก่อนหน้าที่จะเดินเข้าสิงคโปร์

    ข้อห้ามนี้ ไม่ได้บังคับใช้กับพลเมืองสิงคโปร์ ผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร และผู้ถือบัตรผ่านแดนระยะยาว เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในเวียดนามเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามผู้ที่มีสิทธิ์กลับจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อเมื่อเดินทางมาถึง และต้องกักกันตัว 14 วัน

    ขณะเดียวกันผู้ที่เดินทางจากรัฐนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย จะต้องกักกันตัว 1 สัปดาห์แทนการตรวจหาเชื้อแบบ PCR เมื่อเดินทางมาถึงนับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ และสิงคโปร์จะกลับมาใช้ ATP กับผู้เดินทางเข้าระยะสั้นตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์

    สิงคโปร์เป็นหัวหน้าคณะทำงานเปิดพรมแดนAPEC

    สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council:ABAC) ได้แต่งตั้งนายลัม ยี ยัง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสหพันธ์ธุรกิจแห่งสิงคโปร์ (Singapore Business Federation:SBF) เป็นผู้จัดประชุมคณะทำงาน เพื่อการเปิดพรมแดนใหม่อย่างปลอดภัยในระหว่างการประชุมครั้งแรกของ ABAC ที่ประชุมผ่านระบบออนไลน์

    คณะทำงานจะจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรฐานของแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย

    ผู้นำธุรกิจของสิงคโปร์รวมถึงนายลัมได้เข้าร่วมกับผู้นำธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางการทำงานร่วมกัน ในการจัดการกับการระบาดของโควิด-19 และสร้างเศรษฐกิจของภูมิภาคขึ้นมาใหม่

    ในฐานะผู้นำการประชุม นายลัม จะเป็นหัวหน้าคณะทำงานในการจัดทำข้อเสนอแนะต่อผู้นำเอเปค เกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานของระเบียบด้านความปลอดภัย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิดพรมแดนใหม่อย่างปลอดภัยและการเริ่มการเดินทาง

    “การเปิดพรมแดนอีกครั้ง โดยทีมีการเดินทางที่ปลอดภัยและราบรื่น เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ภูมิภาคและระดับประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกนี้เราจำเป็นต้องมีกฎที่สอดคล้อง ปฏิบัติได้จริง และตกลงกันจากหลายประเทศ ในประเด็นต่างๆ เช่น ระบบการกักกันตัวและการตรวจหาเชื้อ และการยอมรับการฉีดวัคซีนและผลการทดสอบหาเชื้อร่วมกัน”

    ผู้นำธุรกิจในที่ประชุมยังยอมรับถึงบทบาทของเศรษฐกิจดิจิทัล ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก