ThaiPublica > คอลัมน์ > ปลาทูน่าครีบน้ำเงินที่แพงที่สุดในโลก ประจำปี 2021

ปลาทูน่าครีบน้ำเงินที่แพงที่สุดในโลก ประจำปี 2021

7 มกราคม 2021


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

การประมูลปลาทูน่า ในตลาดปลาญี่ปุ่น ตลาดปลา “Toyosu” ที่มาภาพ :http://www.asahi.com/ajw/articles/14083726

ในวันที่ 5 มกราคมของทุกปี เป็นวันเปิดทำการในวันแรกของตลาดปลาในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นตลาดปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จะมีประเพณีการประมูลปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna หรือ Hon maguro) ปัจจุบันถือว่าเป็นปลาที่หายากในน่านน้ำของญี่ปุ่น

เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยให้ตลาดมีการทำมาค้าขายคล่องตลอดปี โดยในแต่ละปีจะมีชาวประมงนำปลาทูน่าครีบน้ำเงินขนาดใหญ่ (มีน้ำหนักมากกว่า 200 กิโลกรัม) ที่จับได้ในเขตน่านน้ำของญี่ปุ่น โดยเฉพาะจากเมืองโอมะ จังหวัดอาโอโมริ (Oma, Aomori prefecture) ที่มีชื่อเสียงว่าเป็นแหล่งปลาทูน่าที่มีเนื้ออร่อยที่สุด เข้ามาประมูลที่ตลาดปลาแห่งนี้ (ปัจจุบันคือตลาด “Toyosu” ที่สร้างขึ้นใหม่แทนตลาดปลา “Tsukiji” ที่ปิดทำการไปในเดือนตุลาคม 2018 หลังจากเปิดทำการค้ามายาวนานกว่า 83 ปี เนื่องจากเทศบาลเมืองโตเกียวต้องการนำพื้นที่ไปพัฒนาเป็นศูนย์กลางการคมนาคมเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพในปี 2020 แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 กีฬาโอลิมปิก จึงเลื่อนเป็น ปี 2021)

รายงานข่าวจากท้องถิ่นระบุว่า การประมูลในปีนี้ ปลาทูน่าครีบน้ำเงินขนาดใหญ่ที่ถูกส่งเข้ามาประมูล ตัวที่มีการประมูลและขายได้ในราคาสูงสุด เป็นปลาทูน่าครีบน้ำเงินจากเมืองโอมะ จังหวัดอาโอโมริ (Oma, Aomori prefecture) มีน้ำหนัก 208.4 กิโลกรัม ประมูลขายได้ในราคาตัวละ 20.84 ล้านเยน หรือ 202,411 เหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 6.09 ล้านบาท

ที่มาภาพ :https://japantoday.com/category/business/tuna-goes-for-cut-price-20-mil.-yen-at-tokyo’s-new-year-auction

ราคาที่ได้จากการประมูลที่เกิดขึ้นในปีนี้ แม้จะถือว่า “แพง” สำหรับการค้าในตลาดปกติ แต่สำหรับประเพณีการประมูลขายในวันเปิดทำการวันแรกของปี ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna) ตัวนี้ ยังไม่สามารถทำลายสถิติปลาทูน่าที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ที่มีการประมูลกันในปี 2019 (น้ำหนัก 278 กิโลกรัม) ในราคาสูงสุดถึง 333.6 ล้านเยน หรือ 3.1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 98.61 ล้านบาท ซึ่งหากนำมาหารเฉลี่ยเป็นราคาต่อกิโลกรัมแล้ว ราคาปลาทูน่าครีบน้ำเงินในปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 29,278 บาท ในขณะที่ราคาต่อกิโลกรัมในปี 2019 จะอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 354,712 บาท สาเหตุหนึ่งที่ราคาปีนี้ราคาไม่สูงมากนัก นัยว่าเป็นเพราะผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อ “โควิด-19” นั่นเอง

ปลาทูน่าครีบน้ำเงินตัวที่มีราคาแพงที่สุดในโลก (98.61 ล้านบาท น้ำหนัก 278 กิโลกรัม) ที่มาภาพ :https://www.nbcnews.com/news/world/bluefin-goes-3-million-1st-2019-sale-tokyo-market-n955101

ผมได้รับทราบจากเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่คุ้นเคยกับตลาดปลาเป็นอย่างดีว่า ราคาประมูลขายที่ปรากฏตามตารางข้างต้น มิใช่จำนวนเงินที่ชาวประมงเจ้าของปลาจะได้รับ แต่ “ตลาด” จะหักราคา “ค่าขาย” จากชาวประมงในอัตราที่สูงกว่าการขายปกติ ซึ่งคิดร้อยละ 9 ของราคาขาย เป็น “ร้อยละ 25” ของราคาขาย รวมทั้ง ผมไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะเก็บภาษีอีกเท่าไร

ข่าวจากหนังสือพิมพ์ Japan Today ระบุว่านาย Minoru Tanaka ชาวประมงวัย 65 ปี ผู้ที่จับปลาทูน่าครีบน้ำเงินตัวนี้ กล่าวว่า “มันหนักมากเมื่อผมดึงมันขึ้นมา (ขึ้นเรือ) และผมก็คิดว่า “เยี่ยมมาก” เขาจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินตัวนี้ได้เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มกราคม ในทะเลนอกชายฝั่งเมืองโอมะ จังหวัดอาโอโมริ (Oma, Aomori prefecture) ประมาณ 30 กิโลเมตร

ชายผู้คร่ำหวอดกับทะเลมานานกว่า 50 ปี บอกกับสื่อมวลชนในเมืองอย่างติดตลกว่า “เงินที่จะได้รับจากการขายปลาตัวนี้ คงจะหมดไปหลังจากที่จ่ายหนี้สินที่มีกับเรือประมง และการดื่มจนเมามาย”

ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna) ตัวแรกของปี “ทำไมจึงแพง”

จากการได้พูดคุยกับผู้บริหารตลาดปลา เพื่อนชาวประมง ผู้ค้า และผู้ซื้อในตลาดปลาญี่ปุ่น (ตลาดปลา “Tsukiji”) ซึ่งผมมีโอกาสไปเยือนหลายครั้ง ได้ความว่า เหตุที่ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna) ที่มีการประมูลในวันเปิดทำการวันแรกของปี มี “ราคาแพง” ก็ด้วยเหตุผล ดังนี้

    1.เป็นปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna) ที่มีขนาดใหญ่ (เกิน 200 กิโลกรัม) ซึ่งปัจจุบันค่อนข้างหาได้ยากในทะเลญี่ปุ่น
    2.เป็นปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna) สด ที่มีขนาดใหญ่ ที่ถูกคัดเลือกให้มาขายในวันเปิดตลาดปลาเป็นวันแรกของปี “เป็นการขายเอาฤกษ์เอาชัย”
    3.วิธีการจับ การดูแลรักษาคุณภาพของ “ไต้ก๋ง” ที่มีความพิถีพิถันตั้งแต่การดึงขึ้นเรือ เทคนิคการเจาะสมองและระบายเลือด (Bleeding and Brain Spike) การทำความสะอาด การรักษาความสด ฯลฯ (ปลาบางตัวที่นำมาประมูล นอกจากชื่อเรือแล้ว บางครั้งจะมีชื่อ “ไต้ก๋ง” เรือ กำกับอยู่ด้วย)
    4.ศักดิ์ศรีของผู้ซื้อ เมื่อต้องแข่งขันในตลาดจำกัด (เหลือเพียง 2 – 3 รายที่แข่งกันเอง) เมื่อราคาประมูลสูงกว่า 10 ล้านเยน ถือว่า “ฆ่าได้ แต่หยามไม่ได้”
    5.ผลพลอยได้จากการประชาสัมพันธ์จากสื่อต่าง ๆ ทั่วโลก เพราะทุกวันนี้ สื่อต่าง ๆ จะจับจ้องกับการประมูลและตีข่าว “ปลาทูน่าราคาแพง” ของปี ไปทั่วทุกมุมโลก โดยที่เจ้าของร้านปลาดิบผู้ชนะการประมูลไม่ต้องเสียเงินค่า “โฆษณา”

ผมเคยเสนอมุมมองจากสิ่งที่เกิดขึ้นเป็น 2 มิติ คือ

  • มิติด้านการตลาด คือ กลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยในฝั่งของตลาดหรือผู้ขาย คือ “ของหายาก ของที่มีคุณภาพ และการขายในตลาดเฉพาะ ย่อมได้ราคา” ส่วนประเด็นของผู้ซื้อที่เข้าแข่งขันการประมูล คือ วิธีคิดทางการตลาด (Marketing mindset) วิธีคิดในการส่งเสริมการขาย (Promotion mindset) และ ความใส่ใจในการบริการลูกค้า (Customer care) นอกจากนี้ ยังมีประเด็น “ศักดิ์ศรี” ของร้านค้าอีกด้วย
  • มิติด้านชาวประมง การที่จะจับปลาที่มีขนาดใหญ่ได้ นอกจากเรื่องของ “โชค” แล้ว การที่จะเพิ่มมูลค่าให้ปลาทูน่าที่จับได้จะต้องใช้ “ฝีมือ เทคนิค ความชำนาญ และภาพลักษณ์ของ “ไต้ก๋ง” ครับ
แผนที่เมืองโอมะ จังหวัดอาโอโมริ (Oma, Aomori prefecture)
ถิ่นที่อยู่และการกระจายตัวของ “ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน” ที่มาภาพ : https://asbtia.com.au/industry/sustainability-of-southern-bluefin-tuna/southern-bluefin-tuna-confused-species/

ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna)

ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna) บนโลกใบนี้ แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ตามถิ่นที่อยู่ คือ “ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแห่งทะเลใต้ (Southern Bluefin)” “ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแห่งแอตแลนติก หรือปลาทูน่าครีบน้ำเงินแห่งทะเลเหนือ Atlantic Bluefin (Northern)” และปลาทูน่าครีบน้ำเงินแห่งทะเลแปซิฟิก (Pacific Bluefin)”

ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna) ที่มาภาพ :https://sites.google.com/site/32091animals/2

ที่มาภาพ :https://www.newworldencyclopedia.org/entry/Bluefin_tuna

ถ้าจะถามหาความแตกต่างทางกายภาพที่ชาวบ้านอย่างเรา ๆ พอจะแยกได้ ผมคงบอกว่า “ยากครับ” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแห่งแอตแลนติก หรือปลาทูน่าครีบน้ำเงินแห่งทะเลเหนือ Atlantic Bluefin (Northern)” กับ “ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแห่งทะเลแปซิฟิก (Pacific Bluefin)” ที่มีความคล้ายคลึงกันมาก (นักวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่ามีอยู่ 5 แห่ง) แต่ “ปลาทูน่าครีบน้ำเงินแห่งทะเลใต้ (Southern Bluefin)” สามารถแยกแยะได้ง่ายกว่า เพราะนอกจากถิ่นที่อยู่ที่บ่งบอกถึงความแตกต่างแล้ว ยังมีขนาดเล็กกว่าปลาทูน่าอีกสองชนิดครับ

เครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับ “ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน” ที่สำคัญ ได้แก่ “เบ็ดราว (Tuna longline)” ครับ ซึ่งในการวางเบ็ดจะวางกันยาวถึงร้อยกิโลเมตรในมหาสมุทรเลยทีเดียว

ภาพประกอบได้รับความกรุณา จากเพื่อนชาวญี่ปุ่นส่งมาให้ครับ

ปัจจุบัน “ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน” ถูกจัดเป็น “Endangered species” ซึ่งหมายถึง เป็นสัตว์ในกลุ่มที่ “ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์” จึงต้องระมัดระวังในการจับและใช้ประโยชน์ ในปัจจุบัน ในเขตตอนใต้ของทวีปออสเตรเลีย เมือง Port Lincoln รัฐ South Australia มีการทำฟาร์มเลี้ยง “ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน” กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยการจับลูก “ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน” ที่มีอายุประมาณ 2 ปี น้ำหนักประมาณ 15 กิโลกรัม โดยการใช้อวนล้อมจับ แล้วลากย้ายมาทั้งอวน เพื่อต้อนใส่กระชังขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40-50 เมตร (กระชังละประมาณ 2,000 ตัว) ให้อาหารเช้า-เย็น จนมีน้ำหนัก 30-40 กิโลกรัม (ใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือน) จึงจับส่งไปขายที่ญี่ปุ่น โดยในแต่ละปี มีการส่งออกมากกว่า 10,000 ตันเลยทีเดียว

การทำฟาร์มเลี้ยงปลาทูน่าครีบน้ำเงิน (Bluefin tuna) ในกระชัง ที่มาภาพ :https://www.aquaculturealliance.org/advocate/tuna-aquaculture-faces-challenges-in-continued-growth/

เมือง Port Lincoln ในรัฐ South Australia เป็นแหล่งทำฟาร์มเลี้ยง “ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน” ที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก เท่าที่ผมทราบ มีอยู่นับสิบแห่งครับ และถ้าพูดถึง “การเลี้ยงปลาทูน่า” ต้องยกให้คนนี้ครับ “Dr Hagen Heinz Stehr” เขาเป็นผู้บุกเบิกการเลี้ยงปลาทูน่าในทะเลที่เมือง “Port Lincoln” มานานมาก จนคนออสเตรเลียตั้งฉายาให้เขาเป็น “Tuna King of Port Lincoln” ผมเคยมีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของเขาเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่แล้ว น่าตื่นเต้นมากครับ มองไปในทะเล เห็น “Green dollar” กระโดดอยู่ในกระชังเลยครับ

Dr Hagen Heinz Stehr “Tuna King of Port Lincoln”

นอกจากนี้ ผมยังได้ทราบว่า มีสาวไทยคนหนึ่งครับ เป็นเจ้าของธุรกิจการเลี้ยงปลาทูน่าแห่งหนึ่งที่ Port Lincoln ด้วย ชื่อ “คุณลักขณา (Lukina Lukin) ” เดิมเธอไปทำงานเป็นครูแลกเปลี่ยนอยู่ที่ Australia และได้แต่งงานกับคุณ “Dinko Lukin” หลังจากที่สามีได้เสียชีวิตลง ในปี 2011 เธอจึงรับช่วงดูแลกิจการ “Dinko Tuna Farmers” ซึ่งในขณะนั้นมีหนี้สินหลายล้านเหรียญ ต่อมาจนประสบความสำเร็จ และได้ชื่อว่าเป็น “Australia’s only female tuna boss”

คุณลักขณา Lukin สาวไทยผู้เป็นเจ้าของธุรกิจการเลี้ยงปลาทูน่า ที่มาภาพ :https://www.emow.com.au/australias-only-female-tuna-boss-to-bring-luxury-southern-bluefin-to-domestic-market/