ThaiPublica > คนในข่าว > ย้ายนอกฤดูกาล โยก “ประภาศ คงเอียด” คุมกรมบัญชีกลาง วาระวิกฤติงบประมาณ

ย้ายนอกฤดูกาล โยก “ประภาศ คงเอียด” คุมกรมบัญชีกลาง วาระวิกฤติงบประมาณ

16 มกราคม 2021


นายประภาศ คงเอียด ว่าที่อธิบดีกรมบัญชีกลาง

ย้ายนอกฤดูกาล โยก “ประภาศ คงเอียด” มือกฎหมายกระทรวงคลังนั่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง คุมเบิกจ่ายปี 2564 – แก้ปัญหางบฯค้างท่อ

ปิดงบฯปี 2563 ไปได้ไม่ถึง 3 เดือน วันที่ 22 ธันวาคม 2563 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เสนอที่ประชุม ครม. ผ่านความเห็นชอบโผโยกย้ายนอกฤดูกาล ซี 10 กระทรวงการคลัง โดยให้โอนย้ายนายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข จากอธิบดีกรมบัญชีกลาง ไปนั่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลังและโอนย้ายนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มือกฎหมายของกระทรวงการคลัง มานั่งในตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลางแทน และโอนย้ายนางปานทิพย์ ศรีพิมล รองปลัดกระทรวงการคลัง อดีตลูกหม้อ สคร. กลับไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ สคร.แทนนายประภาศ

การโยกย้ายนอกฤดูกาลครั้งนี้เป้าใหญ่อยู่ที่กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินของรัฐบาลที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษในห้วงวิกฤติโควิด-19 และห้วงวิกฤติเศรษฐกิจ ในฐานะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้จ่ายเงินแผ่นดินของส่วนราชการ ทั้งเงินในงบประมาณ และนอกงบประมาณ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และระเบียบข้อบังคับต่าง ๆตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง , กฎหมายวิธีการงบประมาณ , กฎหมายเงินคงคลัง , กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง , ระเบียบพัสดุ และระเบียบการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ ฯลฯ รวมทั้งการบริหารกระแสดเงินสด รายรับ-รายจ่าย ดูแลการเบิกจ่ายค่าตอบแทน เงินสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลให้กับบุคลากรของรัฐ และบริหารเงินคงคลังให้อยู่ระดับที่เหมาะสม

ที่สำคัญรัฐบาลต้องมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอในภาวะวิกฤติและต้องไม่ผิดกฏระเบียบใดๆ

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ว่าที่รองปลัดกระทรวงการคลัง

หากย้อนกลับไปดูผลงานกรมบัญชีกลางในช่วงปีที่ผ่าน เฉพาะงบฯปี 2563 ตัวเลข ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 กรมบัญชีกลางมีการเบิกจ่ายงบฯออกไปทั้งสิ้น 2,943,856 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 92% ของวงเงินตามเอกสารงบประมาณ 3,200,000 ล้านบาท ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีพอสมควร เหลืองบฯที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย 256,114 ล้านบาท ในจำนวนนี้ได้มีการกันงบฯเอาไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีในปี 2564 จำนวน 197,307 ล้าน ส่วนที่เหลือที่เบิกจ่ายไม่ทัน 58,837 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังงบฯค้างจ่ายตั้งแต่ปี 2555-2562 หรือที่เรียกว่า “เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี” มาเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 263,367 ล้านบาท กรมบัญชีกลางได้อนุมัติจ่ายไปประมาณ 224,870 ล้านบาท ยังมีเงินที่เบิกจ่ายไม่ทัน 38,497 ล้านบาท

รวม 2 ยอด ทั้งการเบิกจ่ายงบฯปี 2563 และงบฯเหลื่อมปี ในปี 2563 รัฐบาลมีรายจ่ายรวมทั้งสิ้น 3,366,033 ล้านบาท ประกอบไปด้วยงบฯที่เบิกจ่ายไปแล้ว 3,168,726 ล้านบาท , งบฯที่เบิกจ่ายไม่ทัน แต่กันงบฯไว้เบิกปี 2564 จำนวน 197,307 ล้านบาท เหลืองบฯที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายทั้งสิ้น 97,334 ล้านบาท

สาเหตุที่ทำให้กระบวนการเบิกจ่ายงบฯในปี 2563 เกิดความล่าช้า ส่วนหนึ่งเกิดจากกรณีที่มีผู้ทำเรื่องร้องเรียนถึงกรมบัญชีกลาง โดยขอให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ ประมูลงานของส่วนราชการหลายแห่ง ไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯและระเบียบการบริหารพัสดุภาครัฐ ประเด็นนี้เป็นกระแสข่าวในกระทรวงการคลังว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้อธิบดีกรมบัญชีกลางถูกย้าย เพราะพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนล่าช้า ส่งผลทำให้กระบวนการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการสำคัญๆเกิดความล่าช้า ซึ่งนายอาคมได้เชิญอธิบดีกรมบัญชีกลางมาว่ากล่าวเตือนแล้ว แต่ก็ยังไม่ทันได้แก้ไขปรับปรุงก็มาถูกย้ายเสียก่อน

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ผู้ที่ทำเรื่องมาร้องเรียนกรมบัญชีกลาง ขอให้เข้าไปตรวจสอบโครงการลงทุนของรัฐหลายโครงการนั้นมีทั้งของจริง และร้องเรียนเพื่อกลั่นแกล้งคู่แข่งขัน ล่าสุดก็มีผู้บริหารในกระทรวงการคลังสั่งการเป็นการภายในให้เจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลางไปสำรวจและรวบรวมรายชื่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีปัญหาถูกร้องเรียนว่ามีกี่โครงการ แต่ละโครงการมีวงเงินลงทุนเท่าไหร่ โดยนำมาจัดลำดับความสำคัญของโครงการ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อร้องเรียนก่อนหรือหลัง ตามลำดับความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งสั่งให้รวบรวมรายชื่อผู้ที่มายื่นหนังสือร้องเรียนเป็นประจำ บ่อยครั้ง พร้อมระบุว่าซึ่งในอนาคตอาจจะต้องมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการยื่นคำร้องขออุทธรณ์ด้วย

สำหรับงบฯปี 2563 วงเงินที่กันไว้เบิกเหลื่อมปีจำนวน 197,306 ล้านบาท คาดว่าต้องเบิกจ่ายจากงบฯปกติในปี 2564 เนื่องจากในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลใช้วงเงินกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปเต็มวงเงิน 683,093 ล้านบาทแล้ว ไม่มีวงเงินกู้เงินเหลื่อมปีเหลือให้ใช้จ่ายเหมือนกับปีงบประมาณ 2563 ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2564 มีแนวโน้มลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 รอบใหม่

นับจากนี้ไป กรมบัญชีกลางจะมีบทบาทสำคัญในการบริหารการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน ดูแลกระแสเงินสดทั้งรายรับ-รายจ่าย และบริหารเงินคงคลังให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายในแต่ละเดือน พร้อมทั้งทางออกเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤติที่ยังยากจะคาดเดาในอนาคต

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ว่าที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

ประเด็นดังกล่าวอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตัดสินใจจัดทัพกันอีกครั้ง โยกย้ายนายประภาศ คงเอียด มือกฎหมายของกระทรวงการคลังที่ผ่านงานสำนักบริหารหนี้สาธารณะมานั่งคุมกรมบัญชีกลาง และย้ายนางปานทิพย์ ศรีพิมล ลูกหม้อ สคร. กลับไปดูแลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ และเร่งรัดเงินรายได้ที่ต้องนำส่งคลัง…

สำหรับนายประภาศ คงเอียด ได้เคยให้สัมภาษณ์ไทยพับลิก้าก่อนหน้านี้ว่า หลังสำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. นายประภาศ คงเอียด เริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกที่กรมสรรพสามิตด้วยวัยเพียง 19 ปี ขณะทำงานอยู่ที่กรมสรรพสามิตได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ใช้เวลา 3 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จากนั้นก็ไปเรียนต่อที่สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ใช้เวลา 1 ปี จบเนติบัณฑิตไทย

เมื่อกลับมาดำรงตำแหน่งข้าราชการซี 5 ที่กรมสรรพสามิต สอบชิงทุนของกระทรวงการคลัง ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขา International Tax Program Certificate and Master of Laws (ITP/LL.M.)

หลังสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ นายประภาศกลับมาทำงานใช้ทุนได้สักพัก ก็ไปสอบผู้พิพากษา ได้เป็นผู้พิพากษาที่ศาลภาษีอากรกลาง นายประภาศ กล่าวว่า “สำหรับนักกฎหมายแล้วการได้เป็นผู้พิพากษา ก็ถือว่ามาถึงจุดสุดยอดของชีวิตแล้ว”

ช่วงที่ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ผมได้ตัดสินคดีภาษีไปหลายคดีจนนับไม่ถ้วนทั้งคดีพิพาทที่เกี่ยวกับภาษีสรรพากร ภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิต ภาษีโรงเรือน และอากรรักนกอีแอ่น แต่คดีภาษีใหญ่ที่สุด ที่นายประภาศได้เข้าร่วมในองค์คณะผู้พิพากษา คือ คดีภาษีหุ้นชินคอร์ปฯ

จากนั้นอีกไม่นานได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลภาษีอากรกลาง และถูกย้ายมาเป็นหัวหน้าคณะผู้พิพากษาศาลอาญา เป็นตำแหน่งสุดท้ายของการทำหน้าที่ผู้พิพากษาก่อนที่จะขอย้ายกลับมาทำงานที่กระทรวงการคลัง

ปี 2558 นายประภาศได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นได้ปีเดียว ก็ย้ายขึ้นไปเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง รับผิดชอบงานด้านกฎหมาย ปี 2560 ย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และปี 2561 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)ก่อนจะมารับตำแหน่งอธิบดีกรมบัญชีกลาง

  • ปิดงบฯ ปี’63 คลังกู้ 784,115 ล้าน เกิน พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ?