สบน.ยืนยันกู้ชดเชยงบฯขาดดุลปี 63 อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย 683,093 ล้านบาท แจงตัวเลขฐานะการคลังของ สศค.นับรวมเงินกู้เหลื่อมปีของปี 62 อีก 101,022 ล้านบาท ทำให้ยอดการกู้เงินเพิ่มเป็น 784,115 ล้านบาท
ตามที่ “ไทยพับลิก้า” ได้มีการเผยแพร่ข่าวว่า “ปิดงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังกู้ 784,115 ล้านบาท เกินพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะหรือไม่”นั้น
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่าในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณไปจำนวน 784,115 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย
-
(1) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณภายใต้กรอบวงเงินของปีงบประมาณ 2562 ซึ่งได้มีการขยายเวลาในการกู้เงินเพื่อให้สอดคล้องกับการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี (Carry Over) จำนวน 101,022 ล้านบาท โดยเป็นดำเนินการตามมาตรา 21 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
-
(2) การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณและกู้เงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้รวมทั้งสิ้น 683,093 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกรอบเพดานของกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยแบ่งเป็นการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 469,000 ล้านบาท และการกู้กรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ จำนวน 214,093 ล้านบาท โดยเป็นดำเนินการตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีวงเงินทั้งสิ้น 3,200,000 ล้านบาท โดยรวมวงเงินชำระคืนเงินต้นจำนวน 89,170.40 ล้านบาท ดังนั้น กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณประจำปี 2563 ตามกฎหมายมีจำนวน 711,336 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 ได้มีการตราพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 โดยให้กระทรวงการคลังโอนงบชำระคืนเงินต้นจำนวน 35,303 ล้านบาท เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวไปใช้แก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรน่า 2019 (COVID-19) ส่งผลให้งบชำระคืนเงินต้นคงเหลือ จำนวน 53,867.40 ล้านบาท ดังนั้น กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 2563 จึงคงเหลือจำนวน 683,093.92 ล้านบาท
ดังนั้น การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 784,115 ล้านบาท ประกอบด้วย การกู้เงินภายใต้กรอบวงเงินปีงบประมาณ 2562 (เหลื่อมปี) จำนวน 101,022 ล้านบาท และการกู้เงินภายใต้กรอบวงเงินปีงบประมาณ 2563 จำนวน 683,093 ล้านบาท และกระทรวงการคลังได้ดำเนินการกู้เงินตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ
โดยนางแพตริเซีย ได้กล่าวกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าเพิ่มเติมว่า ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่ระบุว่าในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 784,115 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่นับรวมการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลของปีงบประมาณ 2562 ส่วนที่เหลือ เหลื่อมมากู้ในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 101,022 ล้านบาท เข้าไปด้วย หรือที่เรียกว่า “กู้เหลื่อมปี” (Carry Over) ตามาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ 2548 ซึ่งทาง สบน.ขอยืนยันว่าการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2563 อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายทุกประการ
“ตามกรอบของ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ฯ กำหนดให้รัฐบาลกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลได้ไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี บวกอีก 80% ของงบฯชำระคืนต้นเงินกู้ แต่ในปีงบประมาณ 2563 รัฐบาลได้ออกกฎหมายโอนงบฯชำระคืนต้นเงินกู้ประมาณ 35,000 ล้านบาท เข้าสมทบในงบกลาง รายการสำรองจ่ายฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วน เหลืองบฯชำระคืนต้นเงินกู้ในปีนี้ประมาณ 55,000 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลตามกฎหมายในปีงบประมาณ 2563 ลดลงมาอยู่ที่ 683,093 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้ สบน.ได้ดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเต็มวงเงิน 683,093 ล้านบาท ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2564 ก็จะไม่มีการกู้เหลื่อมปี หรือ Carry Over เหมือนกับปี 2563 อีก หากนำตัวเลขการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลของปี 2563 มารวมกับยอด Carry Over ของปีงบประมาณ 2562 จำนวน 101,022 ล้านบาท จะเท่ากับตัวเลขของ สศค.พอดี (784,115 ล้านบาท)” นางแพตริเซีย กล่าว
นางแพตริเซีย กล่าวต่อว่า ภายใต้กรอบการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลสูงสุดตามกฎหมายวงเงิน 683,093 ล้านบาทนี้ ทาง สบน.ได้นำมากำหนดเป็นแผนการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2563 โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ 1. การกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 469,000 ล้านบาท และ 2. การกู้ยืมเงินเพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ตามมติคณะรัฐมนตรีอีก 214,093 ล้านบาท โดย สบน.ได้ดำเนินการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2563 ไปทั้งสิ้น 683,093 ล้านบาท แต่ต้องบวกการกู้ยืมเงินเหลื่อมปีอีก 101,022 ล้านบาท เข้าไปด้วย
ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้ถามถึงข้อมูลรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2563 ที่จัดทำโดยกองบัญชีภาครัฐ กรมบัญชีกลาง ในเอกสารระบุว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 รัฐบาลมีรายรับจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลในปีงบประมาณ 2563 ทั้งสิ้น 701,283 ล้านบาท ขณะที่กรอบวงเงินกู้สูงสุดตามกฎหมายหนี้สาธารณะอยู่ที่ 683,093 ล้านบาท ว่าส่วนที่เกินมา 18,190 ล้านบาท ถือเป็นการกู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลเกินกรอบวงเงินกู้กฎหมายหนี้สาธารณะหรือไม่?
นายแพตริเซีย ยืนยันว่า “ไม่ได้กู้เกินวงเงินตามกรอบของกฎหมาย พร้อมชี้แจงว่า เวลา สบน.ออกพันธบัตรกู้ยืมเงินจากตลาด บางครั้ง เราก็ได้ Premium และบางครั้งเราก็ต้องให้ Discount แต่เมื่อหักลบกันแล้วมีตัวเลขส่วนเกินขึ้นมา แสดงว่าเราได้ Premium กล่าวคือ เราลงมือกู้เงินตามวงเงินที่กฎหมายกำหนด 683,093 ล้านบาท แต่ได้รับเงินจริงๆ 701,283 ล้านบาท ไม่ได้กู้เกินวงเงินตามกรอบของกฎหมายแต่อย่างใด รัฐบาลก็ยังเป็นหนี้แค่ 683,093 ล้านบาทเหมือนเดิม”
ในปีงบประมาณ 2563 มีงบฯที่ยังไม่เบิกจ่ายเหลือ ซึ่งรัฐบาลได้มีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีจำนวนหนึ่ง ถามว่ารัฐบาลจะใช้เงินจากแหล่งไหนมาเบิกจ่าย
นายแพตริเซีย ตอบว่า “งบฯปี 2563 สบน.ได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลไปเต็มวงเงินแล้ว ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2564 ก็จะไม่มีการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลในปี 2563 เหลื่อมมากู้ในปีงบประมาณ 2564 อีก เพราะกู้ไปเต็มแมกซ์แล้ว การเบิกจ่ายงบฯเหลื่อมปี 2563 ก็ต้องไปเบิกจากงบฯปี 2564″