ThaiPublica > เกาะกระแส > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ต้อง transformative change รับโลกยุคย้อนแย้ง เปลี่ยน me society ไปสู่ we society

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ชี้ต้อง transformative change รับโลกยุคย้อนแย้ง เปลี่ยน me society ไปสู่ we society

13 พฤษภาคม 2018


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวปาฐกถาในงาน TrueBusiness Forum 2018: The Digital Future to Sustainability โลกดิจิทัลแห่งอนาคตสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน ว่าขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีชุดของโอกาสชุดใหม่ รวมทั้งภัยคุกคามชุดใหม่ ข้อจำกัดชุดใหม่ และขีดความสามารถชุดใหม่ที่ต้องพัฒนาขึ้นมา ดังนั้นเราจะปรับเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่เรียกว่า New Normal ได้อย่างไร

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า โลกในศตวรรษที่ 21 ที่กำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ เป็นโลกที่มีความสุดโต่งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องธรรมชาติ สังคม การเมือง และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความสุดโต่งทางด้านเศรษฐกิจ หากมีนโยบายที่ไม่ดี ก็จะทำให้เกิดการกระจุกตัวของความมั่งคั่งมากขึ้น และสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจในอนาคตยุคที่มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมายเช่นนี้คือจะมีคนที่รวยแบบสุดโต่ง และคนที่จนแบบสุดโต่ง

นอกจากนี้ เรากำลังอยู่ในโลกที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง กฎเกณฑ์แบบหนึ่งในศตวรรษที่ 20 ไม่สามารถบังคับใช้ได้ในปัจจุบัน เพราะตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ทัน โลกวันนี้จึงมีลักษณะย้อนแย้งที่กฎจะกลายเป็นข้อยกเว้น และข้อยกเว้นจะกลายเป็นกฎมากขึ้น ประเด็นสำคัญคือเราจะอยู่กับมันอย่างไร

รวมทั้งเรากำลังอยู่ในโลกของการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน แม้เทคโนโลยีมีจำนวนมากขึ้น แต่อายุก็จะสั้นลง คนที่ทำธุรกิจอาจจะเกิดและดับได้ตลอดเวลาในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะมีขีดความสามารถในเรื่องเทคโนโลยี  เรื่องนวัตกรรมทางธุรกิจ ได้มากน้อยเพียงใด ขณะที่การรู้เท่าทันเทคโนโลยีก็จะเป็นความสามารถอย่างหนึ่งที่จะนำไปสู่เรื่องความยั่งยืน

ดร.สุวิทย์ กล่าวด้วยว่า “จากความท้าทายของโลกในด้านต่างๆ เหล่านี้ รัฐบาลจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยได้เริ่มทำสิ่งที่เรียกว่า sandbox ในภาครัฐไปแล้วประมาณ 2-3 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น คุณบัณฑูร ล่ำซำ บอกว่าอยากบริหารจัดการน่าน เพื่อจะแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาการบุกรุกป่า แต่ถ้าไม่ใช้ sandbox ก็เกิดขึ้นไม่ได้ หรือคุณมีชัย วีระไวทยะ บอกว่าอยากปฏิรูปการศึกษา ก็ให้เอกชนลองบริหารโรงเรียนของรัฐ  ซึ่งตัวอย่างเหล่านี้คือเรื่องของ sandbox ดังนั้น ในอนาคตเราจำเป็นต้องมีสิ่งที่เรียกว่า sandbox เพื่อจะปรับเปลี่ยนให้ได้ตามบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป”

นอกจากนั้นยังจำเป็นจะต้องมี future lab, policy lab นโยบายใหม่ๆ จะต้องถูกทดลองหรือทดสอบเช่นเดียวกับการปฏิรูปการศึกษาหรือการปฏิรูปเพื่อขจัดความยากจน ขณะที่ภาคเอกชนต้องมี 4E ประกอบด้วย 1. Exploring 2. Experiment 3. Experience และ 4. Exchange เป็นคอนเซปต์ใหม่ของการทำงานร่วมกันในสังคมโลกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น

“วันนี้รัฐบาลได้เริ่มทำ government lab ในหลายด้าน เช่น เรื่องการบริหารจัดการน้ำ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้เริ่มทำ living lab เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดขึ้นในระดับชุมชน โดยไม่ต้องรอฝนหรือชลประทานขนาดใหญ่ แต่ทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการได้เองภายใต้ภัยแล้งหรือน้ำท่วมได้ นี่คือเรื่องของ sandbox ที่จะไปตอบโจทย์ว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราจะ counter disruptive change อย่างไร”

“คำถามสำคัญของ global challenges คือเรากล้าทดลองทดสอบที่จะรับมือกับ global challenges ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่า strategic transformation ซึ่งหน้าที่ของเราทุกคนและรัฐบาลมีหน้าที่เดียวกันคือ future setting ที่ต้องร่วมกันต่อจิ๊กซอว์ให้ได้”

อย่างไรก็ตาม การจะไปสู่โลกอนาคตได้นั้น นอกจาก future setting แล้ว ยังมีเรื่องของ “game changers” ซึ่งภาครัฐจะต้องดูว่านโยบายการพัฒนาประเทศจากนี้ไปต้องมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้โลกในศตวรรษที่ 21 นำมาสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์การพัฒนา หรือ development paradigm ซึ่งจากเดิมที่เชื่อในเรื่อง economic growth เป็นสำคัญ มาเป็น thriving in balance ใน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

1. imbalance ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความไม่ยั่งยืน
2. มนุษย์กับมนุษย์ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
3. มนุษย์กับเทคโนโลยี ทำให้เกิดสิ่งต่างๆ มากมาย ซึ่งนี่คือปัญหาของประเทศไทยที่นำมาสู่การปรับเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เรียกว่าโมเดลไทยแลนด์ 4.0

“จริงๆ แล้วโมเดลไทยแลนด์ 4.0 คือการสรุปบทเรียนในศตวรรษที่ 20 เพื่อเตรียมพร้อมประเทศไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 เรามองว่าทุกอย่างไม่ได้เทไปอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อก่อนอาจจะเป็นด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่วันนี้เราจำเป็นจะต้องน้อมนำเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ ซึ่งก็คือเรื่องของ thriving in balance ถ้าเราต้องการจะไปสู่ sustainability”

“thriving in balance คือการบาลานซ์ให้เห็นคุณค่าของมนุษย์ ซึ่งก็คือ human wisdom ดังนั้นการจะทำธุรกิจในอนาคต หากไม่มี human wisdom มีแต่เทคโนโลยี ก็เป็นไปไม่ได้  จะต้องมี human wisdom เพื่อไปกำกับเทคโนโลยีในทิศทางที่จะทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ เกิดแฟลตฟอร์ม หรืออะไรก็ตาม โดยมี human wisdom เป็นตัวตั้งต้น

“และเมื่อมีตัวตั้งต้นเป็นหลักคิดที่ถูกต้องแล้ว ก็นำมาสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่ขับเคลื่อนไปสู่ 3 เศรษฐกิจ คือ 1. เราต้องการบาลานซ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อนำมาสู่ regenerative economy 2. บาลานซ์มนุษย์กับมนุษย์ เพื่อนำมาสู่ distributive economy และ 3. บาลานซ์มนุษย์กับเทคโนโลยี เพื่อนำมาสู่ innovative economy

“เพราะฉะนั้น ไทยแลนด์ 4.0 คือการนำ regenerative economy, distributive economy, และinnovative economy มาร่วมกันอยู่ตรงกลาง เราจึงจะตอบโจทย์โลกในอนาคตได้ เป็นโลกที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริงได้”

ดร.สุวิทย์ ยังกล่าวว่า โลกในอนาคตทรัพยากรจะมีอย่างจำกัด ฉะนั้น จะต้องมองธรรมชาติเป็นแหล่งทรัพยากร ไม่ใช่มองธรรมชาติเป็นทรัพยากรอีกต่อไป และหากเป็นไปได้เศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตจะต้องเป็น zero waste  ของที่ทิ้งแล้วสามารถนำมาใช้ใหม่ได้  แม้จะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่นับว่าเป็นโจทย์ที่ตอบความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

นอกจากนั้นแล้ว การจะไปสู่ความยั่งยืนหรือเศรษฐกิจยั่งยืนได้ ประเด็นสำคัญจะต้องเปลี่ยนสังคม จาก me society หรือสังคมตัวกูของกู ไปสู่ we society โดยจำเป็นจะต้องมองคุณค่าของคน หรือ human wisdom เป็นสำคัญ

และในอดีตเรามอง people for growth เป็นเรื่องสำคัญ แต่วันนี้เราต้อง growth for people เพื่อสร้างการเติบโต สร้างอนาคต ทำให้การปลดปล่อยศักยภาพของคนคนนั้นออกมาให้ได้ เพราะโลกในอนาคตที่พวกเราอยู่ ไม่ใช่แค่  making things แต่เรายังต้อง making skill  และเอา skill นั้นไป making สิ่งอื่นๆ ได้อีกมากมาย ฉะนั้นเราต้องเปลี่ยน mindset พร้อมกับเปลี่ยน skill set

ดร.สุวิทย์กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบิ๊กดาต้า (big data) เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์จะนำบิ๊กดาต้ามาปรับใช้ในการขจัดความยากจน ใช้ข้อมูลแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ รวมทั้งมีความยั่งยืนในอนาคตให้ได้ เพื่อให้ประชาชนยืนอยู่บนขาของตัวเอง โดยมีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเบื้องหลังสำคัญ

“เราจะบาลานซ์ mind กับ machine ยังไง บาลานซ์มนุษย์กับหุ่นยนต์ยังไง เรากำลังก้าวจาก internet of things ไปสู่ internet of value อย่างไร  เรามี core business แต่เราจะใช้ภูมิปัญญามหาชน หรือ wisdom of the crowd ยังไง นี่คือโจทย์ที่ท้าทาย แต่ปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังของความยั่งยืนเหล่านี้คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง”

ดังนั้น การที่เราจะไปข้างหน้าได้ เราต้องรู้ว่า เราจะ define the future ด้วยตัวเราเองอย่างไร ด้วยพวกพ้องของเราอย่างไร  ซึ่งปัจจัยสำคัญคือเราต้องไปด้วยกัน และเราต้องกล้ามองอนาคต ไม่ใช่กลัวอนาคต แต่การกล้ามองอนาคต จะต้องตามมาด้วย game changers ที่สำคัญ และถ้าเราจะเปลี่ยนประเทศ เราต้องปรับ mindset ปรับ skill set ทั้งหมดนี้จึงเป็นคำถามว่าพวกเราพร้อมที่จะให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 แล้วหรือยัง

“ผมคิดว่าอย่างน้อยที่มาประชุมวันนี้มีภารกิจอย่างน้อย 3 เรื่องด้วยกัน 1. Future Setting เราจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ มีสังคมหรือประเทศที่ดีกว่านี้ จะต้องช่วยกันทำเรื่อง Future Setting ให้ได้  แต่ Future Setting จะไม่มีประโยชน์ถ้าไม่ช่วยกันคิดให้เกิด 2. Game Changers ขึ้นมาได้อย่างไร และ 3. หนีไม่พ้นเรื่อง Innovative Capacity ที่ภาคเอกชนและภาครัฐต้องร่วมมือกันในลักษณะประชารัฐอย่างที่ทำกันได้แล้วในทุกวันนี้  เพื่อจะทำให้ประเทศไทยเกิด transformative change ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อรับมือกับชุดของโอกาส ชุดของภัยคุกคาม ชุดของข้อจำกัดชุดใหม่ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างยั่งยืน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ยังมีการบรรยายพิเศษและเวทีเสวนาจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มาร่วมถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ รวมถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น การสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจด้วยบิ๊กดาต้าและปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากข้อมูลมหาศาลสู่การกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาด การพัฒนาสินค้าและบริการ และเปิดมุมมองสังคมทางการเงินดิจิทัลในประเทศไทย ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ในการดำเนินการธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่าย และสามารถแข่งขันได้ทัดเทียมในระดับสากล

พร้อมกันนี้ ยังจัดบูธแสดงนวัตกรรมเทคโนโลยีสุดล้ำและโซลูชันต่างๆ โดยจำลองบรรยากาศเสมือนจริงให้ได้ทดลองและสัมผัสประสบการณ์ใช้งาน เช่น smart retail, smart restaurant, smart hospitality, smart office และ smart logistic ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรทุกขนาด ทุกประเภทธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างครบวงจร