ThaiPublica > คอลัมน์ > เหตุใดผมจึงเห็นว่าการแก้ปัญหา IUU-fishing จึงเป็นการ “กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด”

เหตุใดผมจึงเห็นว่าการแก้ปัญหา IUU-fishing จึงเป็นการ “กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด”

6 พฤษภาคม 2016


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาผมเฝ้าติดตามการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU-fishing ของรัฐบาล โดยหวังว่าปัญหาของภาคการประมงของไทยที่สั่งสมมายาวนานกว่า 50 ปี จะได้รับการแก้ไขทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

แต่จนถึงวันนี้ ข่าวสารที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศนั้น ดูเหมือนว่า EU หรือสหภาพยุโรปยังไม่พึงพอใจต่อการดำเนินงานแก้ไขปัญหาการทำประมง IUU ของไทย และมีแนวโน้มว่าจะออกประกาศแจ้งเตือนประเทศไทยหรือให้ “ใบเหลือง” ใบที่สองหากแย่ไปกว่านั้นก็อาจจะเป็น “ใบแดง”

เรือประมง-4

ในขณะที่ธุรกิจประมงของไทย ทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ ตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งน้อยใหญ่กำลังตกอยู่ในสภาพที่ถูกทำลายจนเกือบจะย่อยยับกันหมด ในขณะที่รัฐบาลยังคงหลับหูหลับตากลัดกระดุมเม็ดต่อๆ ไป เพราะเชื่อมั่นว่าที่ดำเนินการมานั้นถูกต้องแล้ว ถูกทางแล้ว ทั้งๆ ที่เริ่ม “กลัดกระดุมผิดเม็ด” มาตั้งแต่ต้น

เสียดาย…ครับ

เสียดาย…ในเจตนารมณ์และความตั้งใจของรัฐบาลไทยที่ต้องการจะแก้ไขปัญหาและจัดระเบียบการประมงของไทยให้เข้ารูปเข้ารอย และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

เสียดาย…โอกาสในการนำอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ที่มีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนภาคการประมงอย่างถูกทิศถูกทางเพื่อทำให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งต่อทรัพยากร ชาวประมง และผลประโยชน์ของชาติ

เสียดาย…เวลา 1 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้ชาวประมงหลายคน (หรือเกือบทั้งหมด) ต้องเสียโอกาสในการทำมาหากินที่ต้องหยุดลงโดยกะทันหัน ต้องสูญเสียอาชีพที่ทำกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ ขาดรายได้ เป็นหนี้เป็นสิน หลายคนต้องเสียบ้านเพราะถูกยึด หลายคนต้องไปประกอบอาชีพอื่นเพื่อประทังรายได้ หลายครอบครัวที่ต้องให้ลูกย้ายโรงเรียน เพราะไม่มีเงินที่จะนำไปจ่ายค่าเทอม ฯลฯ

เหตุผลที่ผมเห็นว่าการแก้ปัญหา IUU-fishing เป็นการ “กลัดกระดุมผิดเม็ด” นั้น ก็เพราะว่า

1. ตีโจทย์ผิด…กระดุมที่กลัดผิดเม็ดแรก

สาเหตุที่ผมเห็นว่ารัฐบาลนี้ตีโจทย์ในการแก้ไขปัญหา IUU ผิด คือ

1.1 เข้าใจว่าการต่อต้านการทำประมงแบบ IUU นั้น เป็นมาตรการของสหภาพยุโรป ทั้งๆ ที่ถูกต้องคือ การต่อต้านการทำประมงแบบ IUU เป็นมาตรการที่ UN และ FAO กำหนดขึ้นเพื่อให้ประเทศสมาชิกนำไปใช้ “เป็นแนวทางในการปฏิบัติ” โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การอนุรักษ์และการจัดการทรัพยากรสิ่งมีชีวิตทางทะเลให้มีการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน เพื่อความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคต

แต่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลบางคนจะยืนยันว่าเข้าใจในเรื่องดังกล่าวดี แต่การดำเนินการแก้ไข IUU ของไทยก็เป็นไปแบบทำตามความต้องการของสหภาพยุโรป โดยไม่โต้แย้งหรือชี้แจงใดๆ ทั้งๆ ที่การทำประมงของไทยนั้นมีความแตกต่างจากการทำประมงของสหภาพยุโรปหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิศาสตร์ ทรัพยากรสัตว์น้ำ และบริบททางเศรษฐกิจและสังคม

หากท่านเข้าใจจริง ก็ต้องเข้าใจว่ามาตรการและแผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ลด และเลิกการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IPOA) และจรรยาบรรณว่าด้วยการทำประมงอย่างรับผิดชอบ (CCRF) ที่ FAO กำหนดนั้นเป็นเพียงแนวทางให้ประเทศต่างๆ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของแต่ละประเทศ

1.2 เข้าใจว่าเจตนารมณ์ของ EU นั้นบริสุทธิ์ ต้องการให้ไทยมีการจัดการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบ IUU เพื่อประโยชน์ทางการค้าของไทยเอง มิเช่นนั้นสินค้าประมงของไทยจะไม่สามารถเข้าสู่ตลาดประชาคมยุโรปได้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่า EU นำเรื่อง IUU มากดดันรัฐบาลนี้ ที่มาจากการรัฐประหาร ทั้งๆ ที่รัฐบาลไทยทำตามที่ EU เสนอแนะทุกอย่าง แม้กระทั่งกฎหมายประมงของไทยยังต้องนำไปให้คณะกรรมาธิการ EU เห็นชอบก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนชาวประมงและผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวเนื่องของไทยกำลังเดือดร้อน ใกล้จะสิ้นเนื้อประดาตัวกันหมด แต่ EU ก็ยังไม่พอใจสักที พอจะจบเรื่อง IUU ก็เอาเรื่องค้ามนุษย์ขึ้นมาเป็นเงื่อนไข ทั้งๆ ที่มาตรการ IUU เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน

1.3 เข้าใจความต้องการของ EU ผิด หากเราย้อนกลับไปดูเอกสารข่าวประชาสัมพันธ์ของคณะกรรมาธิการยุโรป [(EU) IP/15/4806] ฉบับลงวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558 จะพบว่า EU ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า

“จากการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด และการหารือร่วมกับทางการไทยมาตั้งแต่ปี 2011 (พ.ศ. 2554) คณะกรรมาธิการฯ สรุปได้ว่าประเทศไทยล้มเหลว และไม่มีมาตรการในการดำเนินการติดตามตรวจสอบ ควบคุม และบังคับใช้กฎหมายที่เพียงพอต่อการทำประมงที่ผิดกฎหมาย”

นาย คาร์เมนู เวลลา (Karmenu Vella) กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและการประมง ของสหภาพยุโรป กล่าวว่า “ด้วยการนำนโยบายที่เข้มงวดของสหภาพยุโรปต่อการปฏิบัติการที่เป็นอันตราย เช่น การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง จะทำให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข ผมจึงขอเร่งรัดประเทศไทยให้ความร่วมมือกับสหภาพยุโรปในการแก้ไขปัญหาความล้มเหลวในการทำประมงอย่างยั่งยืน และดำเนินการอย่างจริงจังในการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ผลของการออกคำประกาศเตือนในวันนี้ จะเป็นการเริ่มต้นขั้นตอนการเจรจากับทางการไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะให้ไทยใช้มาตรการที่ถูกต้องและจำเป็นในการแก้ไขปัญหา โดยประเทศไทยจะต้องดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 6 เดือน”

เห็นไหมครับ เขาบอกว่า เขาต้องการให้ประเทศไทย “จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหา” ให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน ไม่ใช่ “แก้ไขปัญหา IUU” ให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ซึ่งประเทศไทยก็ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว

1.4 เข้าใจตัวเลขการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังสหภาพยุโรปผิด

ผมได้ฟังท่านนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี รวมทั้งผู้บัญชาการ ศปมผ. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อหลายครั้งว่า หากประเทศไทยไม่เร่งแก้ไขปัญหา IUU ก็จะเกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทย ที่มีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านบาทในแต่ละปี ได้ยินแล้วเห็นได้ชัดเจนเลยว่า ไม่มีใครทำการบ้านให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ท่าน ว่าประเทศไทยส่งออกสินค้าประมงไปขายยังตลาดประชาคมยุโรปปีละเท่าไร

ตัวเลขที่ว่ากว่า 200,000 ล้านบาทนั้น จากข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของกรมประมง คือมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงไปจำหน่ายทั่วโลกในแต่ละปี ส่วนตลาดประชาคมยุโรปนั้นมีมูลค่าเพียงร้อยละ 10-15 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั้งหมดของไทย กล่าวคือ ในปี 2554 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงไปยังสหภาพยุโรปที่ 37,500 ล้านบาท จากนั้นในปี 2555 ก็ลดลงต่อเนื่องมาเป็น 35,000 ล้านบาทน ปี 2556 ลดลงเหลือ 32,300 ล้านบาท และ 27,600 ล้านบาท ในปี 2557 ส่วนในปี 2558 ที่ผ่านมามีมูลค่าเพียง 20,790 ล้านบาท

นอกจากนี้ หากดูให้ลึกลงไปอีกก็จะเห็นได้ว่า สัตว์น้ำที่ส่งออกไปยังตลาดประชาคมยุโรปนั้น เป็นสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทยจริงแค่ไม่เกิน 5,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนที่เหลือเป็นสัตว์น้ำเกิดจากการเพาะเลี้ยง เช่น กุ้ง และที่นำเข้ามาแปรรูป เช่น ปลาทูน่า (ดูข้อมูลได้ที่นี่)

ผลจากการที่ตั้งโจทย์ในการแก้ไขปัญหาที่ผิดพลาด ทำให้ใน 1 ปีที่ผ่านมา ภาคการประมงของไทยต้องเสียหายไปแล้วกว่า 100,000 ล้านบาท

คุ้มกันไหมครับ…ท่าน

2. โทษคนผิด…กระดุมที่กลัดผิดเม็ดที่สอง

2.1 ด้วยความกลัวว่า EU จะไม่ค้าขายกับเรา ยังไม่ทันได้ศึกษาวิเคราะห์คำวินิจฉัยของ EU ให้รอบคอบ รอบด้าน ว่าเขาท้วงติงอะไร ปัญหาข้อบกพร่องของเราอยู่ตรงไหน และอะไรคือสาเหตุ ก็กระโดดเข้าใส่ทำตามคำบอกของ EU ทันที ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเบ็ดเสร็จ เร่งออกมาตรการต่างๆ รวมทั้งตรากฎหมายประมงฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้อย่างเร่งด่วน ทั้งๆ ที่หากอ่านวินิจฉัยของคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558 อย่างวิเคราะห์ทั้ง 94 ข้อแล้ว จะพบว่าคำวินิจฉัยกว่าครึ่งหนึ่ง เขาตำหนิหน่วยงานของรัฐ คือ กรมประมง ว่าขาดประสิทธิภาพ ไร้ความสามารถ ไม่จริงจัง ไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่เขาท้วงติงมานานแล้ว หลายเรื่องมีแผนงานโครงการว่าจะทำ แต่ EU ตรวจพบว่าจริงๆ แล้วไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ ถามข้อมูลเรือประมงไทยที่ไปลักลอบทำประมงในน่านของประเทศอื่นแล้วถูกจับก็ไม่รู้ ไม่มีคำอธิบาย

ปัญหาอีกส่วนหนึ่งคือ การรายงานข้อมูลเท็จ อ้างหลักฐานเท็จกับเขาในเรื่องการนำเข้าและส่งออกปลาทูน่าและสินค้าประมงแปรรูป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพของระบบและหน่วยงานที่มีอำนาจในการควบคุม ตรวจสอบ

สำรวจเรือประมงไทย Over fishing

ส่วนประเด็นปัญหาหลักในเรื่องการทำประมง คือเรือที่ติดธงไทยออกไปลักลอบทำการประมงในน่านน้ำของประเทศอื่น โดยไม่มีอาชญาบัตร ไม่มีอุปกรณ์ติดตามเรือ ไม่มีสมุดปูมเรือ ซึ่งในคำวินิจฉัยก็ระบุชัดเจนว่า เป็นเพราะกฎระเบียบการขึ้นทะเบียนเรือและการออกอาชญาบัตรของประเทศไทยไม่มีความชัดเจน กรมเจ้าท่าและกรมประมงซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจดทะเบียนเรือไม่มีความร่วมมือกันในการดำเนินการจดทะเบียนเรือ รวมทั้งทางการไทยยังไม่มีวิธีการบังคับให้มีการปฏิบัติที่เป็นไปตามภาระผูกพันในการขึ้นทะเบียนเรือตามกฎหมายไทยอย่างเพียงพอสรุปแล้ว สาเหตุก็มาจากความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการอีกเหมือนกัน

อยากถามว่า 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้แก้ไขประสิทธิภาพ และความสามารถของกรมประมงรวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหรือยังครับ จะเห็นก็แต่เรื่องที่จะเพิ่มอัตรากำลังคนให้

ปัญหาการไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานราชการนั้น ไม่ได้เกิดจากการขาดอัตรากำลังคนหรอกครับ แต่เป็นเรื่องของการขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำประมงทะเล และความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎ กติกาการทำประมงระหว่างประเทศครับ ไม่มีใครบอกท่านหรือครับว่า “ประเทศไทยหยุดสร้างคนที่มีความรู้เกี่ยวกับประมงทะเลมากว่า 30 ปี” แล้วครับ

นี่เป็นเหตุให้เราไม่มีคนที่มีความรู้และความสามารถที่จะเข้าใจและแก้ไขปัญหาได้ ถ้าจะเอาจริง วันนี้ต้องตั้ง “กรมประมงทะเล” แล้วสร้างคนใหม่ จึงจะแก้ไขปัญหาได้ครับ

2.2 ไม่แยกแยะประเด็นของ IUU ให้ชัดเจนซึ่งความหมายที่แท้ของ IUU คือ การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม มาจากคำภาษาอังกฤษว่า “Illegal, Unreported and Unregulated Fishing” ซึ่งรากฐานของปัญหาทั้งหมดมาจากการบริหารจัดการรัฐครับ ที่ผมบอกเช่นนี้ก็เพราะการทำประมงที่ผิดกฎหมายหรือ Illegal Fishing ของไทยนั้น มีสาเหตุมาจาก หนึ่ง “กฎหมายที่ไม่ทันสมัย” และ “ไม่สอดคล้องกับกติกาสากล” (ก่อนที่จะได้ใบเหลือง ไทยใช้กฎหมายประมง ฉบับ พ.ศ. 2490) สอง “การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ” และสาม “การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย” ซึ่งครอบคลุมถึงการไม่จดทะเบียน ไม่ขออนุญาต และไม่มีอาชญาบัตร ทั้งสามข้อที่กล่าวมานี้ ใครต้องรับผิดชอบครับ เจ้าหน้าที่ทั้งนั้นล่ะครับ ชาวบ้านแก้กฎหมายเองได้ไหมครับ ชาวบ้านไล่จับกันเอง (บังคับใช้กฎหมาย) ได้ไหมครับ

การทำประมงที่ขาดการรายงาน หรือ “Unreported Fishing” ของไทยนั้น เกิดขึ้นก็เป็นเพราะว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีการวางระบบรายงานการทำประมงแม้แต่ในน่านน้ำเราเอง ดังนั้น การเชื่อมโยงการรายงานกับรัฐชายฝั่งอื่นๆ คงไม่ต้องพูดถึง แม้ว่าในอดีตจะมีการกำหนดให้จดบันทึกการทำประมงในสมุดปูมเรือก็ตาม แต่ก็ได้เลิกทำกันมานานนับสิบปี ถามว่าเป็นความผิดของชาวประมงหรือครับที่ไม่รายงาน ไม่ใช่อย่างแน่นอนครับ “เป็นความผิดของกรมประมง” ที่ไม่ตรวจสอบ ไม่พัฒนา และไม่สร้างระบบการรายงานที่มีประสิทธิภาพไว้ให้ชาวประมงต้องปฏิบัติ

ส่วนการทำประมงที่ไร้การควบคุม หรือ “Unregulated Fishing” นั้น อยากถามว่า เป็นหน้าที่ของใครที่ต้องควบคุม ก็ “กรมประมง” ! อีกแล้วใช่ไหมครับ

ผลจากการที่โทษคนผิด ทำให้ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา การดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหา EU-IUU ทุกอย่างล้วนเพ่งมองไปว่าเป็นความผิดของชาวประมง ต้องแก้ไขที่ชาวประมง

แก้ไขเสียจนวันนี้…ชาวประมงไม่ว่าเล็กใหญ่กำลังจะตายกันทั้งประเทศ

3. เชื่อคนผิด…กระดุมที่กลัดผิดเม็ดที่สาม

การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานั้น รัฐบาลฝากความไว้วางใจไว้ที่ “กรมประมง” ด้วยเชื่อว่า “กรมประมงต้องรู้” เพราะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการประมงของประเทศ แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้บริหารกรมประมงที่ผ่านมาส่วนใหญ่มีพื้นฐานมาจากสาขาการประมงน้ำจืด สาขานักสิ่งแวดล้อม และสาขาอื่นๆ จึงไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องประมงทะเลหรอกครับ แต่ผมไม่โทษรัฐบาล และท่านผู้บริหารประเทศหรอกนะครับ เพราะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ล้วนแต่มาจากทหารหาญที่ชำนาญการยุทธ์ ไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนเรื่องการประมงทะเล จะเสียดายก็แต่เพียงแทนที่ท่านจะถามหาคนที่รู้ ฟังคนที่รู้ ท่านกลับไปฟังคนที่เป็นต้นเหตุของปัญหา IUU เสียนี่

ยังมีบุคคลที่มีบทบาทสูงในการแก้ไขปัญหา IUU ครั้งนี้ อีก 2-3 ท่าน คือ เพื่อนร่วมรุ่น วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) ของท่านนายกรัฐมนตรี ท่านหนึ่งเคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับการประมงทะเลนอกน่านน้ำอยู่บ้าง แต่เข้าใจว่าตนเองรอบรู้ อีกท่านหนึ่งไม่มีความรู้เรื่องการทำประมงเลย เป็นเพียงผู้แปรรูปและส่งสินค้าสัตว์น้ำไปจำหน่ายยังต่างประเทศรายใหญ่ ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงกับการค้าการส่งออกสินค้าประมงทั้งกับสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงหากประเทศไทยได้ใบแดง หรือสินค้าประมงของไทยถูกห้ามนำเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป ซึ่งท่านนายกฯ เข้าใจว่าบุคคลเหล่านี้มีความรู้ความเข้าใจ และเชี่ยวชาญในเรื่องการทำประมงทะเล

สุดท้าย คนเหล่านี้แหละครับ ที่ทำให้การแก้ไขปัญหา IUU ของไทยเข้ารกเข้าพงมาถึงวันนี้ เพียงเพราะเขาต้องการปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของเขา มิใช่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ

เรือประมง-3

4. กำหนดโครงสร้างและมอบอำนาจการกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาผิด…กระดุมที่กลัดผิดเม็ดที่สี่

จริงๆ แล้วผมดีใจนะครับ ที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทำประมงแบบ IUU และเห็นด้วยกับการตั้ง ศปมผ. ขึ้นมากำกับดูแล แก้ไขปัญหาประมง แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้ง ผบ.ทร. เป็นแม่งาน เพราะเรื่องนี้ต้องใช้คนที่มีความรู้ทั้งในเชิงนโยบาย และมีความรู้ในเรื่องการทำประมง รวมทั้งเป็นคนที่มีอำนาจสั่งการข้ามกระทรวงได้ การให้ ผบ.ทร. ที่มีสถานะตำแหน่งเทียบเท่าอธิบดีมีอำนาจสั่งการเหนือรัฐมนตรี เหนือปลัดกระทรวง เหนืออธิบดีกรมอื่นๆ จึงทำให้เกิดปัญหาในระบบราชการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการประกาศบังคับใช้พระราชกำหนดการประมงฉบับใหม่ ที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รักษาการและมีอำนาจตามพระราชกำหนดฯ ในขณะที่ ผบ.ศปมผ. ก็มีอำนาจตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 ผลที่ได้คือ การ “ใช้อำนาจทับซ้อนกัน” และ “ต่างคนต่างทำ” ทำอย่างนี้ ชาวประมงก็มีแต่ตายกับตายเท่านั้นล่ะครับ

5. ไม่ศึกษาข้อมูล ขาดการทำการบ้าน ทำตาม EU โดยไม่คิด…กระดุมที่กลัดผิดเม็ดที่ห้า

อย่างที่ผมกล่าวไว้ตั้งแต่ต้นว่าการต่อต้านการทำประมงแบบ IUU นั้น เป็นมาตรการที่ UN และ FAO กำหนดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ ซึ่ง EU เพียงแต่นำมาตรการทางด้านการค้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมเพื่อป้องกันมิให้สินค้าที่ได้มาจากการทำประมง IUU เข้าสู่ตลาดประชาคมยุโรป ดังนั้น การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นของไทย ควรที่จะต้องยึดแนวทางของของ FAO เป็นหลัก แล้วจึงนำความต้องการของ EU มาประกอบ ต้องดูว่าที่ EU ต้องการนั้นสอดคล้องกับหลักการของ FAO และบริบทของประเทศไทยหรือไม่ อะไรที่ไม่ใช่ เราต้องชี้แจง โต้แย้ง และไม่ต้องทำ อะไรที่ใช่ ก็ต้องมาพิจารณาว่าทำได้แค่ไหน โดยคำนึงถึงผลดี ผลเสีย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ก็อย่างที่ผมเคยบอกครับ เพราะผู้แทนของเราที่ไปเจรจากับ EU นั้นไม่มีใครรู้จริงสักคน ประกอบกับข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับตัวเลขการส่งออก ความกลัวว่าจะส่งออกสินค้าประมงไม่ได้ เมื่อเจอ EU บอกให้ทำอะไรก็ตาลีตาลานทำเลย ไม่ทันได้คิด ไม่ทันได้ดู เขาบอกเราว่าต้องแก้ไขกฎหมายประมง เราก็เร่งแก้ไขผลักดันให้มีผลใช้บังคับ (ทั้งๆ ที่ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มีการยกร่างมานานแล้ว มีหลายข้อหลายประเด็นที่มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการและผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะประเด็นความไม่สอดคล้องกับกติกาสากล)

เมื่อประกาศใช้และเอาไปให้ EU ดู เขาบอกไม่พอใจ ต้องแก้ไขใหม่ รัฐบาลไทยก็สนองโดยใช้วิธีพิเศษเร่งด่วน ออกเป็นพระราชกำหนดการประมงมาบังคับใช้ โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 ที่เพิ่งจะมีผลบังคับใช้ได้เพียง 4 เดือนเศษ ก่อนที่จะส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบ

วันนี้ประเทศไทยจึงมีกฎหมายประมงที่แปลกประหลาด ทั้งผิดหลักนิติศาสตร์ นิติรัฐ ปฏิบัติไม่ได้ ขัดกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS 1982) และแผนปฏิบัติการสากลว่าด้วยการป้องกัน ลด และเลิกการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (FAOs IPOA-IUU) ทำให้คนที่เคยทำประมงอย่างถูกกฎหมายกลายเป็นคนที่ทำผิดกฎหมาย รวมทั้งมีการลงโทษรุนแรงหนักกว่าสหภาพยุโรปหลายเท่าฯลฯ

ล่าสุด ผมยังได้ข่าวว่า EU จะกำหนดให้เรือที่ขนถ่ายปลาทูน่ามาขึ้นท่าในประเทศไทยต้องเป็นเรือที่จดทะเบียนกับ EU อีกด้วย ผมอยากทราบว่า ท่านเคยโต้แย้งกันไหมครับว่าความต้องการของ EU ในเรื่องนี้ สอดรับกับหลักการ IPOA-IUU ของ FAO หรืออยู่ในเงื่อนไขข้อใดของกฎระเบียบของสหภาพยุโรป ที่ (EC) No.1005/2008 ว่าด้วยการจัดตั้งระบบของประชาคมยุโรปเพื่อป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Council Regulation (EC) No 1005/2008 of 29 September 2008 establishing a community system to prevent, deter and eliminate illegal, unreported and unregulated fishing) ซึ่งเป็นที่มาของใบเหลือง หรือยัง

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้จนถึงวันนี้รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหา IUU ให้เป็นที่ยอมรับของ EU ได้ ก็เพราะติดกระดุมผิดมาตั้งแต่เม็ดแรก

ตื่นเสียทีเถอะครับท่าน ปลดกระดุมเก่าออกให้หมด แล้วลุกขึ้นมาติดใหม่ครับ ติดให้ถูก เพื่อผลประโยชน์ของชาติ เพื่อการใช้ทรัพยากรที่ยั่งยืน และเพื่อภาคประมงไทยที่กำลังจะล่มสลาย

ถ้าไม่ยึดศักดิ์ศรี บอกมา ชาวประมงทุกคนพร้อมจะช่วยครับ

หมายเหตุ: วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ อดีตประธานกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ วุฒิสภา, อดีตประธานสมาคมประมงการประมงแห่งประเทศไทย และอดีตนายกสมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย