ต่อจากตอนที่ 1 เวที
“คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคตะวันออก (ตอน 1) รัฐต้องผลักดัน EEC จริงจัง พร้อมเตรียมแรงงานคุณภาพได้ทักษะภาษา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้าน คือ การใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หลังวิกฤติโควิด
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงควรเป็นอย่างไร
แปดองค์กร อันประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้
โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในเดือนพฤศจิกายน
โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่เชียงใหม่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมาและที่พัทยา จังหวัดชลบุรีวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญที่สรุปได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความเห็นจากวงเสวนาพัทยา คือ สภาพเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักได้รับผลกระทบรุนแรง ส่งผลให้แรงงานบ้ายกลับถิ่นเดิม การดำเนินนโยบายของภาครัฐต้องปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ และต้องเร่งผลักดันโครงการ EEC เพราะเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ พร้อมพัฒนาเสริมทักษะแรงงานรองรับ ตลอดจนส่งเสริมยกระดับภาคเกษตรที่เป็นจุดแข็งของท้องถิ่น
คิดใหม่เรื่องท่องเที่ยว
นายอัครวิชย์ เทพาสิต ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานระยอง กล่าวว่า ททท. มีการจัดทำกิจกรรมหรือแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว กับกลุ่มผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มแตกต่างกันไป ก่อนโควิดมีแคมเปญร่วมกับสวนทุเรียนว่า กินทุเรียนก่อนใครไประยอง เชิญชวนให้เดินทางไปเที่ยวสวน ไปทานบุฟเฟ่ต์ผลไม้ ไปตามกำลังทรัพย์และกำลังซื้อ เมื่อโควิดระบาดเดินทางไม่ได้ ได้เปลี่ยนเป็น กินทุเรียนก่อนใครสั่งออนไลน์จากระยอง ซึ่งได้รับผลตอบรับดีมากๆ และกำลังจะขยายระยะเวลาต่อไปปัญหาการท่องเที่ยวที่ประสบมักกระจายตัวไปสู่ชุมชน ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวรอง ของประเทศไทยมีอยู่ปัญหาเดียวคือเรื่องของการขนส่ง ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา แต่เป็นทั้งประเทศ อาจจะเป็นแนวคิดที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันทำเพื่อที่จะเปลี่ยนสิ่งที่ดี ส่วนอีกเรื่องเป็นเรื่องของการเสียโอกาสเป็นอย่างมาก ตอนนี้คนใช้โทรศัพท์มือถือทำการจองผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ผ่านผู้ให้บริการท่องเที่ยวออนไลน์(Online Travel Agency:OTA) ภาครัฐต้องเข้ามาส่งเสริมสตาร์ทอัป เอสเอ็มอีต่างๆ อย่างชัดเจน
นายนฤพล กิ้นบูราญ เจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือนักท่องเที่ยว สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดชลบุรี ให้ข้อมูลสถานการณ์การท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงเดือนสิงหาคม มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากว่า 1.4 ล้านคน เทียบกับกว่า 6.6 ล้านคนในปีที่แล้วลดลงกว่า 70% ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เมืองพัทยาเป็นนักท่องเที่ยวจีน รองลงมาเป็นอินเดีย แล้วรายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรีเมื่อปีที่แล้วเทียบมาถึงช่วงเดียวกันมีรายได้กว่า 140,000 ล้านบาท สำหรับปีนี้มีรายได้เพียง 37,000 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วประมาณ 68%นักท่องเที่ยวไทยที่มาท่องเที่ยวชลบุรี เมื่อปีที่แล้วประมาณ 580,000 คน เทียบกับปีนี้ช่วงเดือนสิงหาคม 560,000 คน ก็ไม่ได้ต่างจากปีที่แล้วเพราะนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและให้หยุดยาวของรัฐบาล จังหวัดชลบุรีภาพรวมลดลงเพียงแค่ 3% มีรายได้ 2,000 กว่าล้านปีนี้ แต่ลดลงจาก 5,000 กว่าล้าน ในปีที่แล้ว
สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.ชลบุรี มีโครงการหลายๆ โครงการที่อาจจะร่วมกับท้องถิ่นด้วย เช่น โครงการสีสัน EEC เป็นการท่องเที่ยวชุมชน เป็นเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร ไม่ใช่เฉพาะในจังหวัด แต่ขยายวงไปถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง โดยแนะนำให้กลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออกไปศึกษาเรียนรู้โครงการต่างๆ ของแต่ละจังหวัด รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอทุกอำเภอมีข้อมูลในการที่จะแนะนำนักท่องเที่ยว ปัญหาของการท่องเที่ยวชุมชนก็คือการคมนาคม
พัทยาขอรัฐสนับสนุนผู้ประกอบการ
นายรัตนชัย สุทธิเดชานัย คณะทำงานที่ปรึกษานายกเมืองพัทยา ให้ข้อมูลว่า เมืองพัทยามีพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตร เป็นผืนน้ำไป 150 ตารางกิโลเมตร ส่วนที่เหลือพื้นที่ 52 ตารางกิโลเมตรเป็นพื้นที่จัดการการท่องเที่ยวเมืองพัทยา เมืองพัทยาเป็นเมืองเดียวที่เศรษฐกิจทางด้านธุรกิจเป็นการท่องเที่ยวเกือบ 100% เพราะฉะนั้นผลกระทบจากโควิดจึงสูงปีที่แล้วก่อนโควิดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างประเทศมีประมาณ 18 ล้านคน ซึ่งทำรายได้ให้จังหวัดชลบุรีและประเทศในมูลค่ารวมประมาณ 220,000 ล้านบาท แต่ปีนี้นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์ แต่หวังว่านักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 8 ล้าน จะช่วยให้กู้วิกฤติโควิดได้
เมืองพัทยาได้ดำเนินการในหลายด้าน รวมทั้งได้ใช้เทคโนโลยี AI และ big data มาใช้ในการทำการตลาดมาตั้งแต่ก่อนโควิด พร้อมประสานงานกับสำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ให้รายได้ลงไปสู่รากหญ้า เพราะเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ส่วนที่อยากให้รัฐดำเนินการคือ อุดหนุนการท่องเที่ยวเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้จ้างงานต่อเนื่องมีผลให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเดินหน้าไปได้
ขอช่วยหาทางยกโรงแรมให้ถูกกฎหมาย
นางสาวธนิชยา ชินศิรประภา รองประธาน หอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า สถานการณ์ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อระยองไม่ต่างจากกับชลบุรี แต่ระยองยังโชคดีที่มีภาคอุตสาหกรรม ในภาพรวม ระยองจึงถือว่าดีกว่าที่อื่นในพื้นที่แถบนี้จากการที่ประเทศไทยยังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาได้ และต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวในประเทศ หอการค้าได้พยายามผลักดันการท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้มากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมมาตรฐานของสถานที่ที่จะรองรับการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว
“ในระยองโรงแรมที่ถูกกฎหมายมีน้อย เราพยายามจะผลักดันให้คนที่ยังไม่ถูกกฎหมายให้ปรับให้ถูกกฎหมาย เพื่อเขาจะได้มีมาตรฐานต่างๆ ที่ภาครัฐกำหนด แล้วจะได้พัฒนาตัวเองขึ้นเพื่อที่จะรองรับทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศต่อไปเมื่อเปิดประเทศ ซึ่งต้องให้ภาครัฐหาแนวทางช่วยเหลือ เพราะที่ผ่านมาไม่ได้รับอำนวยความสะดวกทำให้เขายังพัฒนาได้ไม่มาก และต้องมีทางออกให้ด้วย”
ทั้งนี้ภาคโรงแรมมีการจ้างงานจำนวนมาก รองรับแรงงานได้หากทำให้ถูกกฎหมายได้ก็จะมีผลดี โดยเฉพาะการออกใบอนุญาต และการจ่ายภาษีจะได้เต็มที่
ส่วนหนึ่งโรงแรมจำนวนมากเหมือนเป็นธุรกิจครอบครัว มีการก่อสร้างด้วยโครงสร้างอาคารไม่ถูกกฎหมาย หากต้องปรับให้มีมาตรฐานทั้งด้านความปลอดภัย ระบบบำบัดน้ำเสีย ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเหลือให้นำมาตรฐานต่างๆ มาปรับให้เข้ากับโครงสร้าง โดยที่ไม่ต้องทุบทิ้ง รื้อทิ้ง สร้างใหม่ เช่น อนุญาตให้เดินระบบลอยได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง บางโรงแรมเป็นโรงแรมขนาดเล็กที่มีราคาห้องพักไม่สูงราว 500 บาทต่อคืน แต่ต้องลงทุนระบบบำบัดน้ำเสียประมาณ 2 ล้านบาท
ผู้ประกอบการคิดใหม่ทำใหม่
ดร.นิสากร บุญงามดี เจ้าของโครงการแปซิฟิกเพลส ผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ข้อมูลว่า บริษัทให้บริการที่พักระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งที่พักระยะสั้นลูกค้า 95% เป็นยุโรป จึงได้รับผลกระทบอย่างมากเมื่อใช้มาตรการล็อกดาวน์ แต่เมื่อคลายล็อกดาวน์และกลับมาเปิดให้บริการลูกค้าเปลี่ยนมาเป็นคนไทย ในฐานะผู้ประกอบการก็ต้องเปลี่ยนแนวคิดตัวเอง“เปลี่ยนความคิดตัวเองเพราะพฤติกรรมลูกค้าแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ทำให้ต้องใช้เวลากับตรงนี้ แล้วก็มีเทรนด์การเปลี่ยนแปลงของที่พัก คนไทยเปลี่ยนจากพักโรงแรมไปเป็น pool villa ดังนั้นการเป็นที่พักโรงแรมขนาดเล็กจึงรับเป็น private group แทนเป็นกลุ่มๆ ไม่ได้เปิดตลอด แต่สามารถที่จะเอามาเลี้ยงชีพตัวเองได้ เลี้ยงลูกน้องได้เท่านั้น ยังไม่ต้องคำนึงถึงกำไรเก็บไว้ก่อน เพียงให้ธุรกิจเดินหน้าไปได้ และช่วยลูกน้องให้มีรายได้ เพราะเราไม่ได้อยากให้ใครสักคนหนึ่งต้องออกไป แต่ละคนมีภาระหน้าที่ของแต่ละคน”
ส่วนที่พักระยะยาวก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และหนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะช่วงนั้นโรงแรมเต็ม 100% ตลอดเวลา แต่ครั้งนี้มีการพักหลือแค่ 38 ห้องจาก 138 ห้อง รายได้ที่ได้แค่นำมาเลี้ยงลูกน้อง จ่ายค่าน้ำค่าไฟ เท่านั้น นอกจากนี้ยังได้รับผลกระทบจากการตัดราคาเพราะที่พักมีมากกว่าจำนวนคนอีกทั้งมีคู่แข่งจำนวนมาก ทั้งอพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียมที่สร้างใหม่
รัฐต้องส่งเสริมเกษตรกรรมจุดแข็งของประเทศ
นายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ รองประธานกรรมการค้าชายแดน–ผ่านแดน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2020 ในโลกศตวรรษที่ 21 นี้ไทยเจอการเปลี่ยนผ่านและวิกฤติซ้อนวิกฤติ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจในหลายทศวรรษ หลายรัฐบาลส่งเสริมไปด้านการส่งออก ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว บริการ ซึ่งทำได้ดีระดับหนึ่ง“แต่ผมมีคำถามอยู่ อยากจะฝากเป็นการบ้านให้ทุกท่านว่า ภาคเกษตรในเชิงภาพรวมโครงสร้างเราถูกละเลยไหม หลายรัฐบาลหลายสิบปีมาแล้ว ภาคเกษตรกว่า 40% ของคนไทยที่ยึดโยงเกี่ยวข้องตรงนี้ ภาคเกษตรในอดีต มีข้าว ยาง มันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อย แต่ปัจจุบันมันสำปะหลังเป็นพืชเกษตรรายได้ต่ำ และอยู่บนปัจจัยความเสี่ยง ภัยธรรมชาติ แล้งบ้าง ท่วมบ้าง ภัยแมลง ไม่มีอำนาจต่อรองการตลาดต่าง คนเกือบค่อนประเทศรายได้ต่ำ 150 ล้านไร่ทั่วประเทศ พื้นที่ผลิตซึ่งเป็นต้นทุนที่ดินที่สำคัญ แต่ผลตอบแทนในการลงทุนลงแรงขาดทุน ข้าวต่อไร่ต่อปีผลผลิต 300-500 กิโลกรัมต่อไร่ ค่าใช้จ่าย 3,000-6,000 บาท ข้าว 500 กิโลกรัมขายได้เท่าไรก็ขาดทุน”
หอการค้าไทยมีมุมมองว่า ต้องเปลี่ยนภาคเกษตรวิถีใหม่ เปลี่ยนจากผลิตที่ได้รายได้น้อยไปเป็นการผลิตน้อยที่สร้างได้มากด้วยนวัตกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และส่งเสริมอย่างจริงจังต่อเนื่อง มีความชัดเจน เนื่องจากภาคเกษตร พืชเกษตร ผัก ผลไม้ สมุนไพร สัตว์น้ำ สัตว์บกมีจุดเด่นมากมาย สะท้อนจากการที่ไทยส่งออกภาคอาหารอันดับ 11 ของโลก ทั้งปลาทูน่ากระป๋อง ทุเรียนที่ส่งออกอันดับหนึ่ง อาหารสัตว์ อันดับหนึ่ง กุ้ง หมู อันดับสอง ไก่ อันดับสี่ แสดงให้เห็นถึงจุดแข็งของประเทศ
“ภาครัฐต้องช่วยกันขับเคลื่อนเกษตรวิถีใหม่ ชูไทยเป็นฮับเกษตรโลก จัดสรรงบประมาณมาส่งเสริมการวิจัยให้มากขึ้นต่อยอดเพิ่มมูลค่า สร้างให้เกษตรกรเป็นเกษตรรายได้สูง ทำให้เกษตรกรเข้มแข็ง ซึ่งหากขับเคลื่อนตรงนี้ได้ ปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจนต่างๆ จะถูกแก้ไข และเศรษฐกิจภาพรวมจะดีขึ้น เราได้เห็นมาแล้ว ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งภาคเกษตรไม่ได้รับผลกระทบ”
จุดแข็งของประเทศไทยคือ เกษตรกรรม ต้องส่งเสริม young smart farmer คนรุ่นใหม่เข้ามาต่อยอดเป็นเกษตรอัจฉริยะ ที่มีงานวิจัยด้วยเครื่องมือกลไก เทคโนโลยีรองรับ ซึ่งหอการค้าไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญคือ 1 ไร่ผลตอบแทน 1 ล้าน เป็นการเปลี่ยนโฉมเพื่อให้คนกลุ่มนี้ยืนอยู่บนความมั่งคั่งและยั่งยืน เพราะปัจจุบันมีคนวัยแรงงานในกรุงเทพฯ กลับภูมิลำเนาจำนวนมาก
นอกจากนี้ต้องวางนโยบายด้านการเกษตรให้ถูกต้องเหมาะสม ไม่ควรแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะการส่งออกข้าวที่จะไปแข่งกับอินเดีย เวียดนาม จีน เมียนมา เนื่องจากประเทศเหล่านี้ต้นทุนต่ำกว่าไทยมาก การแข่งขันส่งออกข้าวจะยิ่งทำให้เกษตรกรขาดทุนมากขึ้น
รัฐควรส่งเสริมและปรับเงื่อนไขการค้าและการส่งออกชายแดนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด่านถาวร ด่านผ่อนปรน หรือด่านชั่วคราว เนื่องจากการค้าชายแดนเป็นตลาดใหญ่มีมูลค่าสูงมาก โดยเฉพาะ CLMV ที่มีโอกาสมาก เพราะมีความนิยมในสินค้าไทยสูง ซึ่งจะช่วยทดแทนการส่งออกไปทางยุโรปหรือประเทศอื่นๆ ที่ลดลง
“ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การส่งออกทุเรียนที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท จากการผลักดันเกษตรกรคุ้มค่า ช่วงที่ผมทำหน้าที่ประธานหอการค้าปี 2557 ในจันทบุรี พื้นที่ปลูกผลไม้ได้ระดับโลก ผ่านการทำโครงการมหานครผลไม้ และนครอัญมณี ชูจุดแข็งในท้องถิ่นที่มี ส่งผลให้มูลค่าผลไม้ต่อปีทั้งระบบเกือบ 10 ชนิดเพิ่มกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปีเป็นแสนล้านบาทต่อปีภายใน 5 ปี แต่เพียงผ่านไป 3 ปีมูลค่าทะลุแสนล้านบาท และยังทำให้เกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออกกลายเป็นเศรษฐีใหม่ชาวสวนจำนวนมาก มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้ทุเรียนเฉลี่ยต่อไร่ต่อปี 2-3 แสนบาท ในแง่ของการลงทุนการค้าถือว่าคุ้มมากๆ นี่เป็นเพียงการบริโภคทุเรียนสด ยังไม่พูดถึงการแปรรูป การทำตลาด”
ตลาดทุเรียนที่เป็นตลาดใหญ่ของไทยคือจีน ปี 2563 มีผลผลิตประมาณ 1.4 ล้านตัน ซึ่ง 80% หรือประมาณ 350 ล้านลูกส่งไปจีน และยังมีช่องทางตลาดอีกมาเพราะจีนมีประชากรถึง 1,400 ล้านคนและชอบกินทุเรียน
ขยายสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยช่วยหลายกลุ่ม
นายพาวุฒิ ตาลบำรุง ผู้อำนวยการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จังหวัดชลบุรี กล่าวถึงภาพรวมของปัญหาจังหวัดชลบุรีที่ธนาคารได้ประสบมาและมีข้อเสนอแนะบางส่วนว่า ในช่วงของโควิดได้เห็นผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ทั้งอุตสาหกรรมเกษตร เกษตรรายใหญ่ หรือแม้กระทั่งผู้ไม่เกี่ยวข้องกับเกษตร แต่เป็นภาคอุตสาหกรรมเข้ามาติดต่อขอใช้สินเชื่อจาก ธ.ก.ส. ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์จากเดิมเกินกว่า 100%จากการสอบถามพบสาเหตุที่เข้ามาใช้บริการจากเดิมที่ไม่ได้ใช้บริการ ธ.ก.ส. คือ การเข้าไปใช้บริการสถาบันการเงินต่างๆ ยากขึ้น ซึ่งธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการส่วนหนึ่งเท่าที่ไม่ขัดต่อระเบียบ เพื่อให้ประคองธุรกิจให้เดินหน้า และคงสภาพการจ้างงานได้ สำหรับผู้ประกอบการที่เป็นภาค อุตสาหกรรม ธนาคารไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ เพราะไม่มีระเบียบกำหนดไว้
สินเชื่อประเภทหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนและช่วยเยียวยาสถานการณ์โควิดแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ รวมทั้งเป็นสินเชื่อที่ธนาคารจะปล่อยให้ได้ คือ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ซึ่งหากภาครัฐนำไปขยายจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถที่จะประคองธุรกิจได้ ทั้งในภาคเกษตรหรือภาคอุตสาหกรรมเพราะสินเชื่อนี้ต้นทุนดอกเบี้ยถูกมาก 0.01% แต่เงื่อนไขคือต้องคงสภาพการจ้างงาน และช่วยพยุงคนในท้องถิ่นให้มีอาชีพ ให้มีการประกอบอาชีพได้ ช่วยให้สังคมรอบข้างและชุมชนรอบข้างมีอาชีพ
สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ยังสามารถช่วยคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความรู้ มีอาชีพ มีความสามารถมีฝีมือ ที่ตกงาน และต้องการที่จะประกอบการหรืออาชีพใหม่แต่ขาดเงินทุน ให้สามารถประกอบการได้ เพราะที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ได้เข้ามาติดต่อธนาคาร ซึ่งธนาคารสามารถสนับสนุนได้บางราย แต่บางรายก็ไม่สามารถช่วยได้ เนื่องจากไม่มีหลักประกัน รวมทั้งยังไม่สามารถหาผู้ค้ำประกันเงินกู้ได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสังคมเมือง
“เราต้องหาทางสนับสนุนคนในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ที่มีทั้งศักยภาพ มีทั้งตลาดที่จะผลิต แต่ขาดแหล่งทุน ผมคิดว่า สินเชื่อธุรกิจสร้างไทยที่คิดดอกเบี้ยล้านละร้อยน่าจะช่วยได้ ตอนนี้มีคนมาขอสินเชื่อจำนวนมากอยู่ระหว่างดำเนินการหลายราย”
ส่งเสริมเกษตรด้วยนวัตกรรมผสมหลักเศรษฐกิจพอเพียง
นายพูลลาภ อุไรงาม เกษตรและสหกรณ์จังหวัด จังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวว่า จากประสบการณ์เมื่อปี 2540 ทุกฝ่ายตระหนักกันดีว่าภาคที่อยู่รอด และค่อนข้างจะปลอดภัยมากกว่าภาคอื่นคือภาคเกษตร กระทรวงเกษตรฯ และภาคการเกษตรได้เห็นว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงช่วยไว้ได้ จึงได้ดำเนินการในเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาตลอด ยกตัวอย่าง ก่อนจะเกิดช่วงโควิด ได้สนับสนุนเกษตรกรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ทั่วประเทศประมาณ 2.1 แสนกว่าราย“ในจำนวนเกษตรกร 2 แสนกว่ารายเมื่อเกิดโควิด กระทรวงฯ ประเมินว่าได้รับผลกระทบแน่นอน แต่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากได้ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
ในช่วงโควิดกระทรวงฯ ก็ได้ดำเนินการโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อที่จะรองรับแรงงานที่จะกลับเข้ามา และสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจากการรับสมัครที่จังหวัดฉะเชิงเทรา แม้มีปัญหาศักยภาพในด้านพื้นที่และเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เกษตรกรเข้าหลักทฤษฎีใหม่ไม่ได้มาก แต่ข้อมูลที่ได้จากคนที่มาสมัครร่วมโครงการ พบว่า คนที่มาสมัครมาจากแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมาณกว่า 30 % ออกมาจากภาคแรงงานบางส่วนในโรงงานของฉะเชิงเทรา
นอกจากนี้ยังประเมินว่า เกษตรที่ทำในเชิงธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าเกษตรกรดั้งเดิม กระทรวงฯ จึงได้หาทางเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร เพราะหากยังยึดเกษตรกรส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรดั้งเดิม อาจจะไม่สามารถที่จะพัฒนาให้ได้มากพอ โดยเฉพาะฉะเชิงเทราซึ่งเป็นจังหวัดใน EEC ที่ต้องรองรับประชากรคุณภาพที่จะหลั่งไหลเข้ามา การผลิตอาหารสินค้าคุณภาพที่มีปริมาณเพียงพอและปลอดภัยจึงมีความจำเป็น กระทรวงฯ จึงเน้นการพัฒนาเกษตรด้วยนวัตกรรม มีโครงการที่ชัดเจนตั้งแต่ปี 2562 และดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมเกษตรกรที่มีความเข้มแข็งกันพอสมควร หรือพร้อมที่จะพัฒนา เช่น young smart farmer
“หากเราใช้ด้านเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรเข้ามา แล้วก็ไม่ทิ้งหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภาคการเกษตรก็น่าจะได้รับผลกระทบไม่มากมายนัก ในส่วนเกษตรกรดั้งเดิม ผลิตด้วยภูมิปัญญา ก็จะพัฒนาให้ไปสู่เกษตรธุรกิจ ซึ่งกระทรวงฯ มีโครงการต่างๆ ที่จะพัฒนานวัตกรรมให้เหมาะสมกับศักยภาพที่สามารถจะทำได้ ที่เรียกว่า Agriculture Curve สู่ 4.0 ถึง ปี 2565”
เลิกจ่ายเงินช่วยเกษตรกรหันส่งเสริมสินค้าปลอดภัย
นายไพฑูรย์ โกเมนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัด จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ที่ชลบุรีไม่ต่างจากฉะเชิงเทรา โดยในส่วนของชลบุรีเองภาคเกษตรพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ คือ อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา สับปะรด ไม้ผลมีค่อนข้างน้อย ผลไม้ที่ได้รับผลกระทบน้อยคือ ทุเรียนของชลบุรีที่บ่อทองเพราะขายหมดตั้งแต่ยังไม่ติดลูก มีการจองล่วงหน้าภายในประเทศหมดแล้วเนื่องจากผลผลิตมีไม่มาก ต่างจากจันทบุรีที่มีการส่งออก แต่ผลไม้ที่ส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบมากสุดคือ ขนุน อย่างไรก็ตามเพียงสัปดาห์เดียวก็กลับมาส่งออกได้ ช่วงที่ส่งออกก็ขายภายในประเทศแทน
ผลผลิตทางการเกษตรของชลบุรีส่วนใหญ่เป็นพืชไร่ค่อนข้างเป็นระบบอุตสาหกรรม ขณะนี้มีสับปะรดเป็นสินค้าเดียวที่ได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indication: GI) ส่วนผลไม้อื่นที่กำลังรอจด GI ได้แก่ ทุเรียนหมอนทอง ฝรั่ง ขนุน แต่โดยรวมผลไม้ไม่ได้รับผลกระทบนัก
ส่วนที่ได้รับผลกระทบมากชัดเจน คือ แรงงานภาคเกษตร ซึ่งมีประเด็นสังคมสูงวัยเข้ามาด้วย เพราะภาคเกษตรส่วนใหญ่อายุ 45 ปีขึ้นไปถึง 50 กว่าปี คนรุ่นใหม่ไม่ได้เข้ามาอยู่ภาคการเกษตร อย่างไรก็ตาม หลังโควิดเริ่มมีคนรุ่นใหม่กลับเข้ามาเป็น young smart farmer อีกส่วนหนึ่งก็คือแรงงานคืนถิ่น กระทรวงเกษตรฯ ได้เข้ามาดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อนำแรงงานคืนถิ่นกลับเข้ามาสู่ภาคเกษตร แต่ต้องมีการฝึกอบรมให้เรียนรู้กันใหม่พอสมควร
“สำหรับการที่รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้ภาคเกษตร ผมในฐานะราชการ เห็นว่า ไม่ตรงเป้าเพราะเกษตรกรจริงๆ ได้รับผลกระทบน้อย และยังส่งออกหรือจำหน่ายผลผลิตได้ แม้ประสบกับการบริโภคสินค้าเกษตรที่ชะลอลงบ้าง แต่ยังมีการบริโภคอยู่”
กระทรวงเกษตรฯ ได้มุ่งเน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยได้มาตรฐานมากขึ้น ตอบโจทย์ในเรื่องสุขภาพอนามัยมากขึ้น ตามแนวโน้มการให้ความสำคัญและใส่ใจกับสุขภาพ สินค้าเพื่อสุขภาพ รวมทั้งยังส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้ได้ ปัจจุบันผลผลิตข้าวไทยต่อไร่ 50-60 ถัง ไม่เปลี่ยนแปลงมากกว่า ไม่เปลี่ยนแปลงมานาน ขณะที่เวียดนามสูงราว 100 ถัง
นอกจากนี้ส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือก หรือพืชอนาคต รวมทั้งส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ เน้น เกษตรมูลค่าสูง ด้วยการนำเทคโนยีมาใช้กับพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ใช้ AI ใช้ IoT ใช้สมาร์ทโฟนในระบบการควบคุมการให้น้ำ การให้ปุ๋ย ใส่ยา เพราะแรงงานเกษตรน้อยลง
นายฉัตรชัย ศรีเฉลา เกษตรและสหกรณ์จังหวัด จังหวัดระยอง กล่าวว่า ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการเกษตร ซึ่งภาคเกษตรของระยองค่อนข้างเข้มแข็ง มีความสามารถในการปรับตัวค่อนข้าง กระทรวงเกษตรได้พยายามส่งเสริม ให้ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น แต่ยังไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นเกษตรกรรายย่อย การที่จะเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งส่วนหนึ่งต้องใช้ทุนเข้าไป การขับเคลื่อนด้วยตัวเองจึงไปได้น้อย หากมีการเสริมเข้าไปก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร
ระเบียบที่ครอบคลุมคือปัญหา
ผู้เข้าร่วมการเสวนายังได้สะท้อนปัญหาและอุปสรรคที่พื้นที่ประสบ โดยนายประดิษฐ์ ไกรสร เลขานายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หัวไทร กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาการพัฒนาในพื้นที่ประสบกับระเบียบราชการและการทุจริตคอร์รัปชัน เพราะระเบียบ กฎหมายกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ภาครัฐบังคับใช้เป็นการออกกฎแบบครอบคลุม เมื่อคลุมทั้งหมดเลย การทำงานต่างๆ จึงทำไม่ได้ ประกอบกับไม่มีการประสานงานของ“ปัญหาของระเบียบราชการ ทำให้การทำงานตอบสนองประชาชนทำไม่ได้เลย แล้วเมื่อเกิดภาวะวิกฤติโควิด ก็ตอบสนองประชาชนไม่ได้ บางเรื่องที่ออกเหมือนฝังคลุมหมดเลย ส่วนเรื่องทุจริตอยากให้เอาจริง กฎหมายต้องเอาจริง ต้องจัดการจริง ท้องถิ่นจะเจอแบบนี้เป็นประจำ”
นายณรงค์ศักดิ์ แก้วเมืองเพชร รองประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา มีความเห็นที่ไม่ต่างกัน โดยกล่าวว่า เงื่อนไขบางอย่างและกระบวนการบางอย่างของกกฎหมายทำให้ธุรกิจฟื้นตัวได้ช้า เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ที่ยังต้องการคนงานที่เป็นคนขับรถบรรทุกจำนวนมาก แต่ไม่สามารถหาคนมาขับรถได้ เพราะต้องการให้การดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย ไม่บรรทุกน้ำหนักเกินและคนขับถูกต้อง ส่งผลให้อัตราการจอดของรถโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10%นอกจากนี้ยังเห็นได้จากธุรกิจโรงแรมเมื่อได้รับผลกระทบจากโควิด แต่รัฐบาลไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ เพราะมีส่วนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นส่วนใหญ่ทำธุรกิจไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นับว่าน่าตกใจ ที่ปล่อยให้ธุรกิจที่ทำผิดกฎหมายดำเนินธุรกิจอยู่ได้ เช่นเดียวกับกรณีชาวสวนยางพารา รัฐไม่สามารถลงช่วยเหลือเกษตรกรบางพื้นที่ได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งสะท้อนถึงการบุกรุกพื้นที่ป่า บุกรุกพื้นที่สาธารณะ
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กฎหมายผังเมือง ฉะเชิงเทราที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับ ชลบุรีกับระยอง ในพื้นที่ EEC ซึ่งชลุรี ระยอง อยู่ในพื้นที่สีขาวตามกฎหมายผังเมืองยังพัฒนาอุตสาหกรรมได้หลายจำพวก ยกเว้น 16 ประเภทเท่านั้น แต่ฉะเชิงเทราจัดว่าเป็นพื้นที่สีเขียวเกือบหมดทั้งจังหวัด ไม่สามารถพัฒนาได้ ต้องทำการเกษตรอย่างเดียว
สำหรับการพัฒนาภาคการเกษตรเอง ก็ต้องใช้การตลาดนำการพัฒนาผลผลิต ต้องนำข้อมูลมาพิจารณา เพื่อพัฒนาหาแนวทางให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่มีความหลากหลาย
สภาพัฒน์ฯ ปรับแผนย่อยดูแลฐานราก
นางสาวโชโนรส มูลสภา นักวิเคราะห์นโยบายและผู้ชำนาญการพิเศษ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภาคตะวันออก กล่าวว่า สภาพัฒน์กำลังจะปรับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เรียกว่าเป็นแผนแม่บทเฉพาะกิจหลังโควิด โดยเริ่มรับฟังความเห็นส่วนหนึ่งไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน มีตัวแทนจากภาคเอกชน สถานศึกษาเข้าร่วม พร้อมทบทวนกระบวนการภายใน โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากภายในประเทศ และการยกระดับขีดความสามารถของประเทศรองรับการเจริญเติบโตในระยะยาว
กระบวนการรับฟังความเห็นยังไม่เสร็จสิ้น แต่สภาพัฒน์มองว่าไม่เฉพาะโควิดเท่านั้นที่ส่งผลกระทบกับประเทศ ยังมีอีกหลายอย่างที่กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลง เช่น สังคมสูงวัย ซึ่งเป็นประเด็นที่มีมาก่อนโควิดระบาด ทำให้แรงงานลดลง จึงต้องพัฒนาศักยภาพของแรงงาน และหานวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจ
“ในภาพรวมเราจะนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการที่จะรับมือกับวิกฤติการณ์ที่เกิดขึ้น และหลังจากนี้ต่อไปเน้นความพร้อมรับ คือ ลดความเปราะบาง ขจัดจุดอ่อนข้อจำกัดที่มีอยู่ แล้วก็มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนต้องมีการปรับระเบียบกฎหมายและนโยบายที่ทำให้เราพัฒนาต่อไปไม่ได้ ปรับปรุงให้เราสามารถเดินต่อไปได้”
แผนแม่บทเฉพาะกิจที่กำลังรับฟังความคิดเห็นอยู่และนำมาปรับใช้ จะมีเป้าหมายย่อยๆ เช่น คนสามารถยังชีพอยู่ได้ มีงานทำ กลุ่มเปราะบางได้รับดูแล เศรษฐกิจประเทศฟื้นฟูสู่ภาวะปกติ มีการวางรากฐานเพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ตัวอย่างของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากในประเทศ ที่ดำเนินการบนแนวทาง ช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลาง เอสเอ็มอี ได้แก่ ช่วยแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่อง ส่งเสริมผู้ประกอบการ ดูแลการร่วมมือกัน ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรแต่ละพื้นที่น่าจะช่วยได้มาก
ด้านสังคม สิ่งที่สภาพัฒน์ฯ ให้ความสนใจก็คือ การพัฒนาศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของคน ก็มีทั้งการพัฒนาทักษะความรู้ เพราะการระบาดของโควิดมีผลกระทบต่อแรงงานทั้งที่มีทักษะและไม่มีทักษะ ยิ่งไม่มีทักษะยิ่งได้รับผลกระทบมาก สภาพัฒน์จึงมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการแรงงานให้มีศักยภาพมากขึ้น ขยายและพัฒนาระบบประกันสังคม และเสริมสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ
ส่วนการพัฒนาและปัจจัยพื้นฐานเพื่อเสริมสร้างการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ สภาพัฒน์มีแนวทางของย่อยลง คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ การปรับปรุงกฎหมายปรับปรุงองค์ความรู้ เสริมสร้างความมั่นคง บริหารจัดการความเสี่ยงและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายและภาคีการพัฒนา
ทั้งหมดนี้คณะกรรมการจัดทำร่างแผนแม่บทเฉพาะกิจจะสรุปและจะนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป