สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้าน คือ การใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หลังวิกฤติโควิด
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงควรเป็นอย่างไร
แปดองค์กร อันประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้
โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในเดือนพฤศจิกายน
โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน และที่เชียงใหม่วันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญที่สรุปได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความเห็นจากวงเสวนาเชียงใหม่ คือ โครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวอย่างมากยังเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจุบันหรือไม่ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาล ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง จึงต้องมีแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง และใช้เงินช่วยเหลือให้ตรงเป้า
โครงสร้างเศรษฐกิจยังเหมาะสมหรือไม่
นายโอรส เพชรเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักงานภาคเหนือ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ก่อนที่จะก้าวต่อไปและก้าวอย่างไร ต้องมองปัจจุบันก่อน ในด้าน 1) โครงสร้างเศรษฐกิจภาคเหนือที่ผ่านมาและปัจจุบัน และ 2) ภาวะเศรษฐกิจในภาคเหนือช่วงที่ผ่านมา ช่วงการระบาดของโควิดและหลังโควิด
ด้านโครงสร้าง เศรษฐกิจในภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดมีมูลค่าประมาณ 7 แสนล้านบาท มีสัดส่วนประมาณ 8% ของจีดีพีประเทศ มีประชากร จำนวน 11.4 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 17% ของประชากรทั้งประเทศ
เมื่อแยกออกเป็นรายภาคเศรษฐกิจ ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนที่ 16% ต่อจีดีพีภูมิภาค (Gross Regional Product: GRP) โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญของภาคประกอบด้วย ข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพด ลำใย ปศุสัตว์ ส่วนภาคอุตสาหกรรมมีสัดส่วน 20% ของ GRP ซึ่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคเหนือคือ การผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องดื่ม อีกภาคเศรษฐกิจที่มีความสำคัญคือภาคบริการ เป็นภาคที่มีสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 59% โดยในภาคบริการก็จะมีสัดส่วนของภาคการท่องเที่ยวสูงถึง 26% ของ GRP ภาคเหนือ
ในปี 2562 ก่อนที่โควิดจะระบาด ภาคเหนือมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนทั้งสิ้นสูงถึง 35 ล้านคน โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 30 ล้านคน และต่างชาติ 5 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวภาคเหนือมากที่สุดคือ เป็นชาวจีน มีสัดส่วนสูง 29% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด รองลงมาเป็นฝรั่งเศส อเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ
การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2524 ถึงปัจจุบัน จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างสำคัญ คือ เป็นการเปลี่ยนแปลงการพึ่งพาภาคเกษตรกรรมมาเป็นภาคการผลิตและภาคบริการมากขึ้น สะท้อนได้จากจากสัดส่วนภาคการเกษตรเมื่อปี 2524 ที่สูง 40% ของ GRP แต่ปัจจุบันสัดส่วนภาคการเกษตรลดลงเหลือเพียง 16% เท่านั้น ขณะที่ภาคการผลิตเพิ่มขึ้นจาก 9% เป็น 20% เช่นเดียวกับภาคบริการที่ปัจจุบันสูงถึง 59%
ช่วงที่เปลี่ยนแปลงสำคัญคือปี 2543 ที่สาขาเศรษฐกิจสำคัญผลักดันให้เศรษฐกิจภาคเหนือเติบโต คือ ภาคการผลิตและภาคการบริการ โดยการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตเกิดจากการลงทุนสร้างโรงงานผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในจังหวัดกำแพงเพชร แล้วเริ่มมีการขยายการลงทุนการ ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนฐานการผลิตมาเพื่อรับสิทธิประโยชน์ของการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และบางส่วนก็ย้ายฐานมาจากต่างประเทศ
นอกจากนี้ยังเกิดปัจจัยการกระจายความเสี่ยงของบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มาตั้งโรงงานในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ส่วนในการเปลี่ยนแปลงในภาคบริการมาจากการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคการบริการและภาคการผลิตมากขึ้น
แต่ในมิติแรงงานพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ของภาคยังคงอยู่ในภาคการเกษตร แม้เป็นภาคที่มีผลิตภาพต่ำ สะท้อนได้จากตัวเลขค่าเฉลี่ยระหว่างปี 2556-2560 แรงงานของภาคเกษตรกรรมจะมีสูงถึง 45% สาเหตุที่แรงงานกลุ่มนี้ไม่เคลื่อนย้ายไปยังภาคเศรษฐกิจอื่นที่มีผลิตภาพสูงกว่า เพราะแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตรส่วนใหญ่เป็นแรงงานสูงวัยและมีระดับการศึกษาต่ำ จึงไม่สามารถย้ายไปทำงานในภาคการผลิตหรือภาคการบริการได้ เป็นปัญหาสังคมสูงวัยที่สะท้อนอยู่ในโครงสร้างนี้ด้วย
ภาวะเศรษฐกิจของภาคเหนือในไตรมาสที่ 1 และ 2 ที่โควิด-19 กำลังระบาดจนถึงช่วงกรกฎาคม เศรษฐกิจในทุกภาคเศรษฐกิจสำคัญหดตัวลงทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวมากตามกำลังซื้อโดยรวมที่ลดลง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ ส่วนมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดทั้งในและต่างประเทศที่เข้มงวดส่งผลให้การท่องเที่ยวหดตัวมากจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่หายไปเนื่องจากถูกจำกัดการเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศ แต่เริ่มปรับตัวดีขึ้นจากการท่องเที่ยวภายในประเทศหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการการปิดเมือง
ส่วนรายได้เกษตรกรแม้ไม่ได้ถูกกระทบจากโควิดโดยตรง แต่ก็ถูกกระทบจากภัยแล้ง ก็ทำให้รายได้เกษตรกรหดตัวด้วยเช่นเดียวกัน สอดคล้องกับการผลิตภาค อุตสาหกรรมที่หดตัวจากวัตถุดิบการเกษตรที่เข้าสู่โรงงานน้อยลง อันเป็นผลจากปัญหาภัยแล้ง และคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลงจากโควิดด้วย
แต่เริ่มเห็นทิศทางปรับตัวดีขึ้นในหมวดอาหารอยู่บ้างที่มีความต้องการเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมซบเซา ซึ่งเศรษฐกิจที่ซบเซาทำให้การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลง เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการลงทุนออกไป แรงส่งสำคัญที่มีบทบาทต่อเศรษฐกิจของภาคเหนือคือการใช้จ่ายภาครัฐ
เมื่อเจาะลงในแต่ละภาคเศรษฐกิจ 1) การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงสูงมาก การบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวลงมากถึง 7.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนเนื่องจากระมัดระวังค่าใช้จ่าย กำลังซื้อที่อ่อนแรงจากสถานการณ์โควิด เช่นเดียวกับสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ก็ลดลงถึง 16.8% จากการรายได้ของผู้บริโภคลดลง และสถาบันการเงินก็ยังระมัดระวังการให้สินเชื่อ
มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากโควิดในช่วงที่ผ่านมา สามารถช่วยพยุงกำลังซื้อของครัวเรือนได้บ้าง ทั้งนี้ภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในช่วงของไตรมาส 2 ก็เริ่มเห็นการปรับตัวดีขึ้นบ้าง ของการใช้จ่ายของภาคเอกชน ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐ และการประกาศวันหยุดยาวก็มีส่วนที่สนับสนุนการบริโภคได้ โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนเดือนกรกฎาคมขยายตัว 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐ ทำให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดมากขึ้น สอดคล้องกับปริมาณการใช้น้ำมันที่ขยายตัวมากขึ้น ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังจากมีมาตรการผ่อนคลายขึ้นมาในปลายไตรมาสที่ 2 ส่วนหมวดยานยนต์ ของใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังคงหดตัวอยู่
ด้านการท่องเที่ยว ลดลงมากจากจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้ามาในภาคเหนือผ่านท่าอากาศยานที่สำคัญ 5 แห่ง ก็คือ เชียงใหม่ เชียงราย พิษณุโลก ลำปาง แม่ฮ่องสอน พบว่าหดตัวสูงมาอย่างต่อเนื่อง นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศหายไป 100% นักท่องเที่ยวชาวไทยก็หายไป 90% แต่เมื่อมีการผ่อนคลายก็เพิ่มขึ้นได้บ้าง แต่ก็ยังคงลดลง 59%
“นี่คือโครงสร้างเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคเหนือ ซึ่งพอเจอโควิด-19 เราคงต้องมาดูกันว่า โครงสร้างเศรษฐกิจในลักษณะนี้จะยังคงเหมาะสมอยู่หรือไม่ เรายังคงพึ่งพาการท่องเที่ยวต่อไปอย่างนี้อยู่ได้หรือไม่ จะพึ่งพากันอย่างไร ควรจะปรับเปลี่ยนอย่างไรหรือไม่”
รากหญ้าปรับตัวได้ช้า
นางจินตนา กาทองทุ่ง เจ้าพนักงานธุรการชำนาญการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้เห็นว่า ประชาชนเชียงใหม่ที่เป็นกลุ่มรากหญ้าจริงๆ ปรับตัวช้า โดยส่วนใหญ่รอความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากกว่า จากการที่ลงพื้นที่หลายๆ ครั้งเพื่อเก็บข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ พบว่า อาชีพที่ได้รับผลกระทบหลักๆ มักเป็นครอบครัวที่ทำงานลักษณะเดียวกัน เช่น แคดดี้ ซึ่งถูกพักงานจากการที่ไม่มีลูกค้าเข้ามา และจากการเก็บข้อมูลแคดดี้สนามกอลฟ์ 3-4 แห่ง ได้ข้อมูลแบบเดียวกัน และเกิดเป็นผลกระทบต่อครอบครัวเพราะชวนกันมาทำ เช่น แม่ชวนลูก ช่วงโควิดจึงเป็นระยะที่ต้องพึ่งพาภาครัฐมาก
มาตรการการให้ความช่วยเหลือด้วยการลงทะเบียนเพื่อรับเงินคนละ 5,000 บาท กลุ่มที่มาติดต่อกระทรวงฯ คือกลุ่มที่ไม่ได้เงิน เพราะการตรวจสอบการลงทะเบียนจะพบว่า มีชื่อติดในกลุ่มเกษตรกรบ้าง หรือกลุ่มอื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์ จึงไม่สามารถช่วยเหลือได้ ซึ่งมาตรการของกระทรวงฯ มีด้วยกัน 6 ข้อ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ทั้งคนพิการที่ได้เบี้ยยังชีพและกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้เบี้ยยังชีพด้วย
มาตรการยังครอบคลุมกลุ่มคนไร้บ้าน เร่ร่อนที่อยู่ตามจุดต่างๆ ในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ต้องพึ่งพารัฐอยู่แล้ว จึงได้มีการวางแผนระยะยาวในการช่วยเหลือ และเน้นการช่วยเหลือกลุ่มนี้มากขึ้น โดยปัจจุบันมีศูนย์คนไร้ที่พึ่งจังหวัดเชียงใหม่ และบ้านเติมฝันที่ดูแลคนกลุ่มนี้อยู่ อีกทั้งยังพบว่า เมื่อเปิดให้มีการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด คนกลุ่มนี้ก็เริ่มขยับจากจังหวัดใกล้เคียงเข้ามาอยู่เชียงใหม่ จำนวนจึงมากขึ้น
ที่เชียงใหม่ มีเอ็นจีโอ มีมูลนิธิ 300-500 แห่งที่มาทำงานร่วมกันและมาช่วยเหลือของโควิด และได้รับความช่วยเหลือจากภาคธุรกิจ ตอนนี้เชียงใหม่มีศูนย์ CSR ที่ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) ร่วมกับภาคธุรกิจในเชียงใหม่ และกำลังจะสร้างพื้นที่เพื่อให้ช่วยเหลือครบวงจรสำหรับคนกลุ่มด้อยโอกาส
การช่วยเหลือของกระทรวงฯ ส่วนใหญ่อิงจากนโยบายของรัฐบาล แต่ในระดับจังหวัดได้มีการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ NGO สมาคมธุรกิจและองค์กรการกุศลต่างๆ ช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาส ซึ่งก็ทำช่วยได้ไม่มากเนื่องจากมีข้อจำกัด คือ ภาคธุรกิจก็ไม่มีรายได้เข้ามา อีกทั้งบางกลุ่มเช่น กลุ่มที่ลงทะเบียนรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลแล้ว ตามเกณฑ์ของกระทรวงฯ จึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ ยกเว้นกลุ่มผู้พิการและผู้สูงอายุที่ได้รับเงิน 5,000 บาทแล้ว กระทรวงฯ ยังมีสวัสดิการที่ให้อีก 3,000 บาท
อาชีพอิสระได้รับผลกระทบมาก
นางสาวสลาลีย์ ชัยศิริวงษ์ นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักงานแรงงาน จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ลำพูนเป็นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม และเป็นเมืองเกษตร เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดคนทำงานจึงได้รับผลกระทบ อัตราการว่างงานพิ่มขึ้นจาก 0.40% หรือมีจำนวนระดับ 1,000 คน ในปี 2562 เป็น 1.78% ในช่วงเดือนมีนาคมถึง กรกฎาคม 2563 หรือมีจำนวนประมาณ 3,500 กว่าคน และจากการอบถามกับสำนักงานแรงงานจังหวัดอื่นๆ พบว่า บางจังหวัดอัตราว่างงานเพิ่มมากขึ้นถึง 3% โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมาก คือ อาชีพอิสระ ที่เรียกว่าแรงงานนอกระบบ ไม่ใช่แรงงานต่างด้าว เป็นแรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง
สำหรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบ มองว่าแรงงานเองต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง อาจจะมีการปรับของอาชีพ การปรับเสริมทักษะให้กับตัวเองมากขึ้น ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ลูกจ้างที่ไม่มีทักษะหลาก หลาย โอกาสเสี่ยงที่จะตกงานมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นแรงงานที่อยู่ในวัยทำงานจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการพัฒนาตัวเองด้วย
สภาพัฒน์หันพัฒนาฐานราก-กระจายความเจริญ
นายโสภณ แท่งเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สภาพัฒน์กล่าวว่า เมื่อมองในมิติของการพัฒนา ภาคเหนือในเชิงพื้นที่ก็ประกอบไปด้วย 17 จังหวัด แบ่งออกเป็นภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด ส่วนประชากรก็มีประมาณ 12.1 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของประชากรของทั้งประเทศ แต่หากมองในมิติของด้านสังคมจะเห็นได้ว่า เรื่องที่สำคัญที่สุดภาคเหนือคือ ประชากรสูงอายุ เพราะมีสัดส่วนของผู้สูงอายุมากที่สุดของประเทศและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศโดยรวมเกือบ 10 ปี สาเหตุมาจากการคุมกำเนิดที่มีการเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มมิชชันนารีต่างๆ ที่เข้าพื้นที่ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศนโยบายการวางแผนประชากรอย่างสมัครใจในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 ซึ่งการเข้าไปการคุมกำเนิดตอนนั้น ก็ส่งผลกระทบกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ
“ที่เป็นประเด็นคือเราสูงอายุก่อนเรารวยเพราะเราใช้เวลาสั้นมาก ประมาณ 20 กว่าปีเราเข้าสู่การเปลี่ยนผ่าน เข้าสู่สังคมสูงวัย นอกจากนี้ยังมีคนจนจำนวนมาก จากข้อมูลปี 2561 คนยากจนในระดับ ประเทศมีจำนวนประมาณ 6.68 ล้านคน หรือ 9.85% ของประชากรทั้งประเทศ เมื่อเจาะลึกภาคเหนือจังหวัดที่ยากจนไม่เปลี่ยนแปลงคือ แม่ฮ่องสอน จนเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนของคนจนคิดเป็น 49.1% จากเดิมกว่า 60% กว่าหรือ 69% รองลงมาเป็นตาก 28.9% และอันดับ 3 มีสัดส่วน 18.1%”
อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นปัญหามากของภาคเหนือ คือ อัตราการว่างงาน ปกติสัดส่วนผู้ว่างงานของภาคเหนือจะอยู่ระหว่าง 0.8-1% หรือมีคนว่างงานประมาณกว่า 50,000 คน แต่จากการสำรวจแรงงานไตรมาส 2 ของสำนักงานสถิติ เพิ่มขึ้นไปเป็น 2.1%
ด้านมิติการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ถือว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนที่จะไปสู่ยุคหลังโควิด ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลได้กู้เงิน 4 แสนล้าน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภายใต้กรอบ 4 โครงการ ประกอบด้วย 1) การลงทุนหรือกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ 2) ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนหรือฐานรากจากเดิมที่ต้องพึ่งพาการส่งออกและไม่มีความยั่งยืน 3) กระตุ้นการบริโภค และ 4) โครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ตามปกติ แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของชุมชน
“กรอบโครงการที่ 4 คือ การทำในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่จะไปใช้สนับสนุนกระบวนการผลิตต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเราให้ความสำคัญเพราะเรามองว่าเศรษฐกิจท้องถิ่น เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าสามารถขับเคลื่อนตรงนี้ จะลดบรรเทาผลกระทบจากโควิดไปได้ รัฐบาลให้ความสำคัญจุดนี้ เราก็ให้เงินกู้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน เสริมในเรื่องของการท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ เหล่านี้ รวมถึงการจ้างงาน โดยมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จ้างนักศึกษาเข้าไปช่วยผู้ประกอบการระดับท้องถิ่น ในระดับชุมชนเพื่อยกทุกระดับ เพิ่มศักยภาพผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นเขา เราเรียกว่า 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ตรงนี้มีงบประมาณหมื่นกว่าล้านบาท เป็นความพยายามของภาครัฐในการที่จะเข้ามาลดผลกระทบจากโควิด”
มองไปในอนาคตหลังโควิดต่างๆ สภาพัฒน์มอง 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ต้องกลับให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจฐานรากอย่างจริงจัง เน้นในเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน การเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น ชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณจากวงเงินกู้ให้กับกระทรวงเกษตรฯ และกรมพัฒนาชุมชน ในการทำโคกหนองนาโมเดลประมาณ 14,000 ล้านบาท เพื่อที่จะปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรให้มีความยั่งยืน
“วันนี้เราคงต้องกลับมามองปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของการมีภูมิคุ้มกันต่างๆ เหล่านี้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจะให้ความสำคัญในส่วนของ local economy เราต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง เราก็อยากดึงทุกภาคส่วนเข้ามา”
ส่วนที่สอง Future Sustainable Growth การเติบโตอย่างยั่งยืน จากการที่จะเน้นการเกษตร ที่มีทั้งเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอัจฉริยะ สุขภาพต่างๆ ซึ่งภาคเหนือเอง ในส่วนของภาคเหนือตอนบนประสบความสำเร็จจากการเป็น medical hub ไปแล้ว ขณะที่ภาคเอกชนต้องการให้สภาพัฒน์ ร่วมกับภาคีต่างๆ ขับเคลื่อนในเรื่องของ wellness ซึ่งสภาพัฒน์พร้อมที่จะร่วมมือกำลังจะเข้าสู่กระบวนการการจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาภาครอบใหม่ แผนจังหวัด กลุ่มจังหวัดก็จะต้องเริ่มกระบวนการจัดทำแผนรอบใหม่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโควิด
ประเด็นสุดท้าย การท่องเที่ยวคุณภาพสูง เพราะไม่สามารถทำการท่องเที่ยวแบบทั่วไปหรือ mass tourism ได้ ต้องเน้นไปที่การท่องเที่ยวที่จะสร้างรายได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่างๆ เหล่านี้
นอกจากนี้ต้องกระจายความเจริญลงมา ปัจุบันมีเขตเศรษฐกิจพิเศษกระจายครอบคลุมไปทั้งทั่วประเทศ ในส่วนของภาคเหนือ เน้นที่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย ภายใต้ชื่อ Northern Economic Corridor (NEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือล้านนาครีเอทีฟ ที่จะเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ภาคอีสานจะเน้นในส่วนของ Bio Economy เราเรียกว่า NEEC ภาคกลาง ภาคตะวันตก คือ CWEC เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร และภาคใต้หรือ SEC เน้นการเชื่อมโยง 2 ทะเลเข้าด้วยกัน ทะเลอันดามันเข้าสู่ Western Gateway ซึ่งจะเป็น Growth Center สำหรับการพัฒนาในช่วงต่อไป
“วันนี้เราคงต้องกระจายความเจริญตรงจุดนี้เพราะว่าไม่อย่างนั้นแล้วการกระจุกตัวจะอยู่ที่กรุงเทพฯกับปริมณฑล 48-49% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ นี่คือ ภาพรวมในส่วนของภาครัฐในการมองที่จะก้าวต่อไป ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีเงินอยู่ประมาณ กว่า 50,000 หมื่นล้านบาท ลงพื้นที่ทุกปี”
ต้องช่วยเอสเอ็มอี ใช้เงินแบบมีเป้าหมาย
นายอนุวัตร ภูวเศรษฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทุกภาคได้รับผลกระทบ โดยภาคธุรกิจได้รับผลกระทบรุนแรง เพราะเกิดขึ้นเร็วแบบไม่ทันคาด ดังนั้นการที่จะมองอนาคตข้างหน้า เป็นเรื่องที่ท้าทาย หอการค้าไทยและหอการค้าภูมิภาค ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นและหารือเรื่องนี้ตลอด แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วเพราะตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวเริ่มดีขึ้นจากเดือนมิถุนายน ดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้น รายได้ของผู้ประกอบการเองก็เริ่มดีขึ้น
“ประเด็นที่เป็นห่วงคือ วิกฤตินี้จะกลับมาอีกหรือไม่ เพราะยังมีความเสี่ยงจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีการติดเชื้อ อีกทั้งคาดการณ์กันว่าวัคซีนจะมีออกใช้อย่างเร็วเป็นช่วงกลางปีหรือปลายปี 2564 หมายความว่า เราต้องอยู่กับความระแวง อยู่กับสถานการณ์แบบนี้ไปอีกปีครึ่งเป็นอย่างน้อย และหลังจากมีวัคซีนก็ต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีเป็นอย่างต่ำกว่าทุกอย่างจะเริ่มกลับเข้าที่ นักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมา คนจะเริ่มใช้ชีวิตปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะผ่านจุดนี้กันไปอย่างไร”
รายได้ประชาชนและธุรกิจลดลง ภาระหนี้มากขึ้น ซึ่งหลังจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์สิ้นสุดลงในสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ก็จะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าธุรกิจจะไปรอดได้แค่ไหน มีธุรกิจไหนต้องปิดตัวถาวรหรือไม่ ซึ่งขณะนี้มีหลายธุรกิจยังไม่กลับมาเปิด ทั้ง โรงแรม และอื่นๆ สะท้อนว่าอาจจะมีบางธุรกิจไปต่อไม่ได้
“ผมคิดว่า ที่ราชการและพวกเราเป็นห่วงมากที่สุดคือ ว่า ประชาชนจะอยู่อย่างไร การที่ประชาชนจะอยู่ได้นั้น ต้องมีรายได้และต้องมีงานทำ เพราะประชาชนคงอยู่ไม่ได้ ถ้ารัฐมาโปรยเงินให้แต่ละเดือนๆ แต่การช่วยเหลือเอสเอ็มอีหรือการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มที่พอไปได้ กลุ่มที่ยังพอมีความหวังอยู่ เป็นการช่วยให้เขาสามารถจ้างแรงงานได้ เมื่อเอสเอ็มอีมีการจ้างงาน จะช่วยให้คนอยู่ได้ ตัวอย่าง เอสเอ็มอีที่มีการจ้างคนงาน 100 คนอยู่ไม่ได้ เท่ากับว่าคน 100 คนต้องตกงาน ต้นทุนของการดูแลคน 100 คนที่ต้องตกงาน รัฐใช้เงินมากกว่าในการอุดหนุนเอสเอ็มอีให้อยู่ได้ แต่หาก รัฐบาลจุนเจือให้เอสเอ็มอีเลี้ยงพนักงาน 1 คน รัฐบาลจะประหยัดเงินแทนที่จะมาเลี้ยงดูคนว่างงาน 1 คน”
ฉะนั้นเชื่อว่าเอสเอ็มอียังมีโอกาส แต่อาจต้องการความช่วยเหลือระยะแรกหรือในระยะจำเป็น ตรงนี้ และเป็นการให้ความช่วยเหลือในเรื่องที่เป็นไปได้ โดยในด้านการเงินนั้น แบงก์ชาติมีมาตรการผ่อนคลายภาระทางการเงิน แต่ค่าจ้างแรงงานอยากให้รัฐบาลสนับสนุนช่วยสักประมาณ 30-40% ของค่าจ้าง ส่วนที่เหลือเอสเอ็มอียังพอจ่ายได้ ซึ่งมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลประกาศ จะอุดหนุนหรือสนับสนุนการจ้างงานเด็กจบใหม่ในอัตราครึ่งหนึ่ง มีผลดีช่วยนักศึกษาจบใหม่มีโอกาสได้งานมากขึ้น เพราะนายจ้างจ่ายครึ่งเดียว แต่ที่น่าห่วงคือ ลูกจ้างที่อยู่ในระบบ การรักษาลูกจ้างคนเดิมเราจะทำอย่างไร
นอกจากนี้ จากการที่ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีกประมาณปีครึ่งกว่าจะได้วัคซีน เอสเอ็มอีและปะชาชนทั่วไปต้องปรับตัวในการใช้ชีวิตและจัดการธุรกิจ ข้อแรกคือลดการใช้จ่าย แต่หนี้อาจจะไม่ลด หรือจะเพิ่มขึ้นเพราะจำเป็นต้องหยิบยืม ข้อสอง การบริหารทรัพยากรที่มี โดยอาจต้องขายทรัพย์สินออกไปเพื่อเอาเงินมาใช้
ปัจุบัน เครื่องจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีเพียงตัวเดียว คือการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งรัฐได้อัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่การใช้จ่ายเงินขอรัฐไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เป็นใช้จ่ายทั่วไป และมักจะจ่ายเงินหรือใช้เงินในกลุ่มที่เรียกร้อง ดังนั้นการใช้เงินควรมีทิศทางชัดเจน กำหนดแนวทางใช้เงินให้ชัดเจน
ยกตัวอย่าง แนวทางการใช้เงิน จากปัญหาของภาคเหนือ ที่มี 2 ปัญหาหลัก คือ สังคมสูงวัย และสิ่งแวดล้อม โดยหากรัฐบาลต้องการจะใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ก็อาจจะวางแนวทาง จะให้การสนับสนุนเป็นพิเศษกับ ธุรกิจที่มีการดำเนินกิจการ หรือจ้างงานที่ตอบสนองกับ 2 ปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างคนมารองรับผู้สูงวัยในภาคบริการ หรือความพยายามกระตุ้นให้คนรักษาสิ่งแวดล้อม และลดเรื่องขยะ ซึ่งเชื่อว่า หากมีการส่งสัญญาณมาก็จะมีคนนำเสนอแนวคิดมากขึ้น เมื่อมีคนช่วยคิดแล้วรัฐบาลก็จะสามารถที่จะนำข้อเสนอทั้งหมดมาพิจารณา และตัดสินใจอนุมัติสนับสนุนโครงการในครั้งเดียว ผู้ประกอบการก็จะหันมาปฏิบัติ เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ
“และหากว่ารัฐบาลมีทิศทางที่ชัดเจนและถูกต้อง ผมเชื่อว่าเงินที่จ่ายไปจะได้ผลมากกว่านี้ แล้วพวกเราเองก็จะรู้ทิศทางว่าพวกเราต้องหันหางเสือไปทางไหน”
แบงก์รัฐต้องช่วยจริงจัง
นายวีระยุทธ สุขฑฆโก ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ ให้ข้อมูลว่า สภาพทั่วไปใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ผู้ประกอบการ 40% หรือเกือบครึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก แยกเป็นปศุสัตว์ ซึ่งมีฟาร์มหมูที่ใหญ่ที่สุด หรือราวครึ่งหนึ่งของประเทศ มีฟาร์มไข่ไก่ที่ใหญ่ที่สุด 1 ล้านฟองต่อวัน แล้วก็มีฟาร์มผึ้ง ฟาร์มนม ขนาดใหญ่ ส่วนด้านที่เกี่ยวกับพืชผลทางการเกษตร มีทั้งส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศ ส่วนธุรกิจอื่น ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม แฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์เครื่องกล เครื่องไฟฟ้า ยานยนต์ที่เป็นซัพพลายเชนทั้งหลาย นอกจากนี้มีอุตสาหกรรมก่อสร้าง กิจการสาธารณประโยชน์ ถนน และมีหัตถอุตสาหกรรมด้วย เช่น ลำปาง มีเซรามิก
ปัญหาที่ประสบในช่วงโควิด คือ ภาคการผลิต การบริโภค การลงทุน การเกษตร นักท่องเที่ยวหดตัว มาตรการเปิดรับท่องเที่ยวที่จะเริ่มขึ้นในวัน 1 ตุลาคม มองว่าไม่สามารถมาชดเชยได้ เพราะผู้ประกอบการตกอยู่ในภาวะที่โดนบีบ บีบทั้งข้างล่างและข้างบน ข้างล่างค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแน่นอน จากที่แรงงานต้องเพิ่มทุกปี แต่ในด้านการขายไม่สามารถที่จะเพิ่มราคาตามที่ต้องการ ผู้ประกอบการจึงพึ่งพาอัตรากำไรที่ต่ำมากทำให้ตัวเองอยู่รอด ส่วนมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ถึงมือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
“ยกตัวอย่าง เอสเอ็มอีแบงก์ มีเงื่อนไขว่าขาดทุนเกิน 3 ปี ก็ขอเงินกู้ไม่ได้ แต่ไม่ได้ประเมินกิจการ ไม่ดูเลยว่าผมทำอะไร ผมว่ายน้ำอยู่กลางแม่น้ำ ผมว่ายน้ำมาเกือบ 30 ปี มันจะจมน้ำแค่ยื่นดึงผมขึ้นมาผมก็ไปได้แล้วเพราะทุนหมุนเวียนขาด ไม่ช่วยครับ แต่ไป ช่วยในสิ่งที่ผิดๆพลาดๆ บางคนยังไม่โดดน้ำเลย คุณไปช่วยเขาแล้ว เขาจะไปรอดหรือไม่ไม่ทราบ โดดมา 100 คน อาจจะรอดสัก 3 คน แต่ผมอยู่กลางน้ำผมจะถึงฝั่งแล้วไม่ยื่นมือช่วย ส่วนแบงก์พาณิชย์ที่รัฐบอกว่าจะให้กู้ 20 ล้านบาทต่อ 1 บริษัท ธนาคารพาณิชย์ก็ไปหาบริษัทที่มีหลักทรัพย์ดีให้เขากู้ เสร็จแล้วก็แสดงยอดว่าให้กู้แล้ว แต่ถึงพวกผมไหม ไม่ได้ดูพวกผมเลย ตอนนี้ผมก็ไม่พึ่งแล้ว”
แบงก์ของรัฐต้องช่วยจริงๆ ไม่ใช่ปกป้องตัวเอง ไม่ใช่ปกป้องผู้ดำเนินธุรกิจของแบงก์ อันนี้สำคัญมากถ้าช่วยได้จริงๆ ก็จะทำให้เอสเอ็มอีสามารถที่จะเดินได้ ในภาคอุตสาหกรรมจริงๆ แล้ว ในช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ จากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเปลี่ยนจริงๆ ในช่วงที่จะต้องเปลี่ยนผ่านคงจะต้องพึ่งพากันเอง พึ่งพาสถาบันการศึกษา
มาตรการช่วยเหลือปฏิบัติไม่ได้
นายเชิดพงษ์ ไชยวัฒน์ธำรง นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการไทยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า สมาชิกส่วนใหญ่ของสมาคมเป็นเอสเอ็มอี ขนาดเล็กหรือ S ซึ่งจากการได้รับฟังภาพรวมจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็เชื่อว่ามีแนวทางที่จะรับมือจากสถานการณ์โควิดด้วยดี แต่ที่หลายองค์กรหลายกลุ่มเจอปัญหา น่าจะเป็นเรื่องของการนำไปปฏิบัติ สมาชิกสมาคมจำนวนมากก็เจออุปสรรคนี้ ไม่สามารถไปใช้บริการจากนโยบายภาครัฐได้ มีข้อติดขัดในเรื่องเล็กๆ เช่น เอกสาร แต่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ท้องถิ่น
แนวทางแก้ไข คืออาจจะต้องมีการปรับตัวทั้ง 2 ฝ่าย ในส่วนของผู้ประกอบการเอง สมาคมได้ให้แนวทางการเข้าถึง เช่น ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ก็ให้ความร่วมมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือ แนะนำรูปแบบของการทำเอกสาร ขณะเดียวกันก็ต้องการให้หน่วยงานเหล่านั้นมีความยืดหยุ่นที่จะรองรับกับพฤติกรรมหรือแนวทางปฏิบัติของเอสเอ็มอี
“เอสเอ็มอีหลายๆ ฝ่ายยังมีความกังวลในการที่จะทำเอกสารเพื่อเสียภาษีหรือไปขึ้นทะเบียนด้วยซ้ำไปเพราะเขามองว่า บางทีการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เขาเองค่อนข้างที่จะไปอยู่ปลายน้ำแล้ว แล้วบางทีการรับรู้โครงสร้างต่างๆ ทางด้านภาษีอะไรต่างๆ เกิดปัญหาตอนปลายปี ในระหว่างทำเขายังอยู่ได้ แต่ปลายปีเขาเกิดปัญหา ทำให้เขาเกิดความระแวง ขาดความเชื่อมั่นในเครื่องมือต่างๆ ที่ภาครัฐพยายามจะออกมา”
สมาชิกของสมาคม โดยเฉพาะบริษัทเล็กๆ พร้อมที่จะปรับตัว ในธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว สมาชิกของสมาคมที่มีธุรกิจลักษณะที่พักเป็นโรงแรมเล็กๆ มีพนักงานไม่มากพร้อมที่จะเปลี่ยน เปลี่ยนจากโรงแรมมาทำอาหารก็มี บางคนทำรับเหมาก่อสร้างก็หันไปเปิดร้าน บางคนก็ไปทำเกษตร ก็พร้อมจะปรับ แต่ในระยะยาวมองว่า เมื่อปรับตัวแล้ว สมาคมจะประสานกับหน่วยงาน เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พยายามสร้างอาชีพที่สองเป็นแผนสำรอง และส่งเสริมให้ทางเลือก เพราะโควิดไม่ใช่เป็นสถานการณ์แรก และก็ไม่ได้เป็นสถานการณ์สุดท้าย
เอสเอ็มอีทั่วประเทศ แต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาคมีการรวมตัวกันระดับหนึ่ง และมีการรวมตัวเป็นสมาคม ซึ่งน่าจะเป็นฐานข้อมูลส่วนหนึ่งที่หากภาครัฐเข้ามาศึกษาให้ละเอียดแล้ว น่าจะช่วยให้เกิดความยั่งยืนได้ เพราะเอสเอ็มอีไม่รู้ว่าจะปรับตัวอย่างไร ไม่สามารถสะท้อนภาพพวกนี้ให้ถึงภาครัฐได้ และยังขาดความเชื่อมั่นว่า ภาครัฐมีนโยบายที่จะช่วยเอสเอ็มอีแบบยั่งยืนได้อย่างไร ในทางปฏิบัติแล้วไม่สามารถเห็นนโยบายนั้นอย่างยั่งยืนได้ เพราะเอสเอ็มอีเองก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจ
ต้องเป็นกฎหมายบังคับแบงก์
นายนนท์ หิรัญเชรษฐ์สกุล นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกภาคธุรกิจตอนนี้มีปัญหาหมด มาตรการรัฐยังช่วยเหลือไม่ได้ เนื่องจากมาตรการที่ออกมาไม่ได้บังคับให้ธนาคารปฏิบัติเป็นเพียงการขอความร่วมมือ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง พยายามที่จะขอความร่วมมือกับแบงก์พาณิชย์ ให้ ลูกหนี้เข้ามาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แล้วก็พักเงินต้นพักดอกเบี้ย
“สิ่งที่คาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้จะต้องประกาศเป็นกฎกระทรวง เพราะกฎกระทรวง เป็นกฎหมายบังคับแบงก์ได้ แบงก์พาณิชย์จะต้องปฏิบัติตามเพราะถือว่าเป็นประกาศกฎกระทรวง หรือไม่ก็เป็นมติ ครม. ก็ถือว่าเป็นกฎหมายบังคับได้ แต่ถ้าแบงก์ชาติมีหนังสือเวียนถึงแบงก์พาณิชย์ต่างๆ ว่าขอความร่วมมือเพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ อันนี้ขึ้นกับดุลยพินิจของแต่ละแบงก์ที่เขาจะช่วย”
แม้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยอดบัญชีจำนวน 12.5 ล้านบัญชี หรือ 7.2 ล้านล้านบาท จะเป็นหนี้ NPL เกือบ 100% เพราะตอนนี้ ผู้ประกอบการแต่ละธุรกิจ ไม่มีเงินสด ธุรกิจอะไรที่ไปไม่ได้ ก็ต้องปล่อย เพราะต้องกลับมาแบกภาระดอกเบี้ยที่พักไว้อยู่ดี และอยากจะฝากเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ส่งเสริมการลงทุนตอบโจทย์เอสเอ็มอี
นายสงกรานต์ มูลวิจิตร นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย เสนอว่า ภาครัฐเองควรจะมีการปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อเอสเอ็มอี เช่น กำหนดสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อกลุ่มธุรกิจที่เป็นกลุ่ม S ไม่น้อยกว่า 30% เพราะ S ไม่ได้หมายถึง small อย่างเดียว S มี 3 ส่วนนอกจาก small แล้วมี S-curve คืออุตสาหกรรมเป้าหมาย และ smart enterprise กลุ่มธุรกิจที่ทำธุรกิจแบบมีนวัตกรรมรวมทั้งต้องมีช่องทางพิจารณาสินเชื่อพิเศษ
นอกจากนี้ควรปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอที่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ตอบโจทย์ของเอสเอ็มอีมากขึ้น เช่น หันมาส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษขนาดเล็ก โดยในภาคเหนือมี startup ใน ที่เป็น food startup, wellness startup และมี tech startup จากการที่มี digital nomad อยู่ในพื้นที่จำนวนมาก BOI ควรปรับสิทธิพิเศษ สิทธิประโยชน์ในการลงทุน จากภาษีมาเป็การให้สินเชื่อพิเศษ การสร้าง venture capital (VC) หรือแม้กระทั่งสร้างเป็นเครื่องจักรกลาง เนื่องจากลักษณะการประกอบการแบบใหม่ ผู้ประกอบการไม่ต้องลงทุนเรื่องเครื่องจักรแล้ว รัฐอาจจะเป็น pilot plant ใหญ่ๆ ให้ ผู้ประกอบการเอามาแต่ไอเดีย แล้วสามารถสร้างสินค้าได้โดยที่ใช้ทุนตัวเองน้อยที่สุด เป็นสร้างสินค้าโดยบวกนวัตกรรม ก็น่าจะเป็นคำตอบต่อการสนัลสนุนเอสเอ็มอีของประเทศได้
ขอเงินทุนหมุนเวียนได้ถึงสิ้นปี
นายวีระเดช พรหมเสน นักวิชาการอุตสาหกรรมชำนาญการ จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงอุตสาหกรรมมีมาตรการเยียวยา 2 ส่วน ส่วน แรก กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม มี 2 แนวทาง 1) ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เดิมมีอายุ 5 ปีเมื่อหมดอายุแล้วต้องมายื่นขอต่อใบอนุญาต แต่กฎหมายใหม่กำหนดว่าใบอนุญาตที่ออกไปแล้วจะไม่มีวันหมดอายุให้ใช้ได้จนกว่าผู้ประกอบการจะขอเลิกไปเอง ทำให้ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการต่ออายุอีก 2) กระทรวงฯ ได้ออกกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีของโรงงานทุกประเภท ในรอบตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2563 ถึง 9 มิถุนายน 2564
ส่วนที่สอง กลุ่มลูกหนี้สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ คณะกรรมการกองทุนฯได้ออกมาตรการช่วยเหลืออยู่ 2 รอบ รอบแรกเป็นมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดยมีการพักชำระเงินต้น 6 เดือน เริ่มตั้งแต่กรกฎาคม ถึงธันวาคม 2563 โดยอนุมัติไปทั้งหมดของเชียงใหม่จาก 47 ราย ให้เติมทุนเสริมสภาพคล่องจำนวน 14 ราย วงเงิน 5.5 ล้านบาท และพักชำระเงินต้น 23 ราย วงเงินรวม 53.68 ล้านบาท
มาตรการรอบสอง เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 25 กันยายน เป็นมาตรการที่ใช้ในการปรับปรุงบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่อง หรือสำรองเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานของเอสเอ็มอี โดยมี 2 มาตรการคือ มาตรการที่หนึ่งคือ พักชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือน โดยชำระเฉพาะดอก เบี้ยที่เกิดขึ้นทุกๆ เดือน แล้วมาตรการที่สองคือ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 50% ของสินเชื่อที่ลูกหนี้กองทุนได้รับชำระเงินต้นคืนไปแล้ว โดยจะเสียดอกเบี้ย 1% ต่อปีตลอดอายุสัญญา ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปีและปลอดชำระคืนเงินต้น 1 ปี เริ่มขอได้ไปจนถึง 30 ธันวาคม 2563