ThaiPublica > เกาะกระแส > เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคตะวันออก (ตอน 1): รัฐต้องขับเคลื่อน EEC จริงจัง พร้อมเตรียมแรงงานคุณภาพได้ทักษะภาษา

เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคตะวันออก (ตอน 1): รัฐต้องขับเคลื่อน EEC จริงจัง พร้อมเตรียมแรงงานคุณภาพได้ทักษะภาษา

19 ธันวาคม 2020


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้าน คือ การใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หลังวิกฤติโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงควรเป็นอย่างไร

แปดองค์กร อันประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้

โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในเดือนพฤศจิกายน

โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 4 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน ที่เชียงใหม่วันที่ 29 กันยายนและที่พัทยา จังหวัดชลบุรีวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญที่สรุปได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความเห็นจากวงเสวนาพัทยา คือ สภาพเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักได้รับผลกระทบรุนแรง ส่งผลให้แรงงานบ้ายกลับถิ่นเดิม การดำเนินนโยบายของภาครัฐต้องปรับให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ และต้องเร่งผลักดันโครงการ EEC เพราะเป็นแหล่งจ้างงานใหญ่ พร้อมพัฒนาเสริมทักษะด้านภาษาให้แรงงานรองรับ ตลอดจนส่งเสริมยกระดับภาคเกษตรที่เป็นจุดแข็งของท้องถิ่น

  • เวที”คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอน 1): รัฐต้องเข้าใจ เข้าถึงแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือตรงเป้าอย่างรู้เท่าทัน
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอนจบ): คิด ทำ เปลี่ยน เพื่อก้าวต่อ ด้วย “โอกาส-แข่งขันได้”
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอน 1): เอกชนคิด ทำ เปลี่ยน ปัญหาเป็นโอกาส ขอรัฐแค่อำนวยความสะดวก
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอนจบ): ภาคเกษตรมีอนาคต แต่เกษตรกรต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ นโยบายรัฐต้องตรงจุด
  • เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคเหนือ (ตอน 1): รัฐต้องช่วย SME จริงจัง ใช้เงินให้ตรงจุด
  • เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคเหนือ (ตอนจบ): ขอรัฐเบรกอีคอมเมิร์ซต่างชาติ เอสเอ็มอีภูธรไม่มีพื้นที่แข่งขัน
  • นโยบายต้องสอดคล้องกับท้องถิ่นต้องการ

    ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
    ดร.จิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ให้ข้อมูลว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวดีขึ้น โดยตัวชี้วัดหลายตัว ทั้งมูลค่าการส่งออก ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม การลงทุนภาคเอกชน มูลค่าการนำเข้า และเครื่องชี้การบริโภคฟื้นตัวขึ้นแล้ว หลังจากที่ลงลึกที่สุดในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม แม้ปรับตัวดีขึ้นแต่ทุกตัวบ่งชี้ยังอยู่ในแดนลบ ยังไม่กลับมาที่ระดับก่อนโควิด และคาดว่าจะอยู่ในสภาวการณ์แบบนี้อีกระยะหนึ่ง

    คณะกรรมการนโยบายการเงินแบงก์ชาติ ได้ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจปี 2563 จาก -8.1% เป็น -7.8% ดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากมีการกระตุ้นความต้องการในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ส่วนปี 2564 เดิมคาดว่าจะโต 5% แต่ได้ปรับคาดการณ์เป็น 3.6% ซึ่งสะท้อนว่าแม้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้น แต่ยังทรงตัวในลักษณะนี้ไปอีกสักระยะหนึ่ง ฉะนั้นภายใน 2 ปีนี้เศรษฐกิจก็ยังขยายตัวกลับมาไม่เท่ากับปี 2562 และหากว่ายังไม่เปิดประเทศ เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกก็จะยังมีระยะเวลาการฟื้นตัวนานออกไปอีก

    “ผลกระทบจากภาวะโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจลงลึกมาก โดยเราคาดว่าจะติดลบ 7.8% แล้วก็ฟื้นตัวขึ้น แต่การฟื้นตัวไม่กลับมาเหมือนเดิม”

    แนวโน้มเศรษฐกิจระยะยาวที่ประเมินจากศักยภาพของเศรษฐกิจ ผ่านตัวชี้วัดสำคัญ ได้แก่ ผลิตภาพ คุณภาพของแรงงาน การสะสมทุน พบว่า ศักยภาพเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตเหมือนเดิมหากไม่ดำเนินการอะไร เพราะ ข้อแรก ประเทศไทยสะสมทุนน้อย หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ไม่มีคลื่นการลงทุนใหม่ ข้อสอง แรงงานกำลังเข้าสู่ช่วงสูงวัย ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว กำลังแรงงานมีทั้งหมด 38 ล้านคน อยู่ในภาคการเกษตรประมาณ 1 ใน 3 หรือ 12 ล้านคน ซึ่ง 1 ใน 3 ของประชากร และประมาณ 60% ของประชากรในภาคเกษตร หรือเกษตรกร มีอายุเกิน 50 ปี เพราะฉะนั้นในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าผลิตภาพของภาคการเกษตรไทยจะยิ่งต่ำลงมาก เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรม

    “เราเคยศึกษาภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมแถว EEC พบว่าประชากรสูงวัยจะส่งผลกระทบ เพราะคนเหล่านี้เมื่ออายุกว่า 40 ปีก็ออกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว กลับไปบ้านก็ปรับตัวได้ยาก เป็นสิ่งที่เรากังวล”

    นอกจากนี้แรงงานยังมีความเปราะบาง แบงก์ชาติได้จัดทำข้อมูลนี้ตั้งแต่มีนาคมแล้วเสนอไปที่รัฐบาลหลายรอบว่า วิกฤติครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน เพราะจากการประเมินความเสี่ยงแรงงานที่จะตกงานเกือบ 9 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ จิวเวลรี และนอกจากมีความเสี่ยงที่จะส่งออกไม่ได้ ผลิตได้น้อยแล้ว ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มีเรื่องผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี การใช้ออโตเมชัน การใช้หุ่นยนต์ เพราะฉะนั้น การจ้างงานในภาคยานยนต์คงไม่กลับมา

    ในภาคบริการ ปีนี้สำนักงานสถิติสำรวจพบว่า ขณะนี้มีแรงงานตกงานประมาณ 7 แสนคน อย่างไรก็ตาม การสำรวจนั้นยังไม่ได้นับรวมคนที่มีงานทำแบบไม่เต็มวัน หรือทำงานครึ่งวัน เพราะฉะนั้นรายได้แรงงานคงไม่เท่าเดิม

    แบงก์ชาติประเมินว่า คนที่ตกงานหรือเสมือนตกงานปี 2563 มีประมาณ 4 ล้านคน ส่วนที่ไม่มีงานทำประมาณ 7 แสนคน และคนมีงานทำหมือนไม่มีงานทำอีก 3 ล้านกว่าคน เพราะฉะนั้นรายได้จะหายไป

    แรงงานที่ตกงานได้ย้ายออกจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่และภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยว รวมทั้งย้ายออกจากเมืองอุตสาหกรรมอย่างชลบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม กลับไปต่างจังหวัด ซึ่งพบมากที่นครราชสีมา นครศรีธรรมราช โดยที่กลับไปอยู่ในภาคเกษตรประมาณ 50%

    ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา ประเทศไทยมีประชากร 60 ล้านคน แต่ละปีรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เฉลี่ยเดือนละ 3 ล้านคน หมายความว่า ทุกสิ่งอย่างที่เราทำหายไปทันที 60% ภูเก็ต หาดทีมีชื่อทั้งกะตะ กะรน ป่าตอง ไม่มีกิจกรรมเลย ส่วนที่พัทยายังพอมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจบ้าง เป็นผลจากการที่มีญี่ปุ่น เกาหลีมาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น หากว่ายอมรับได้ มีคนติดโควิด การเปิดเศรษฐกิจให้คนเข้ามาบ้าง เศรษฐกิจยังพอไปได้อาจจะดีกว่านี้ อีกทั้งการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศยังไม่สามารถทดแทนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้

    “รัฐบาลได้มีมาตรการหลายด้าน แต่ยังทำไม่พอ รัฐบาลต้องนำมาตรการลงถึงพื้นที่ แต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละพื้นที่ต้องการนโยบายที่ไม่เหมือนกัน จะทำนโยบายแบบหว่านแหต่อไปไม่ได้ จำเป็นต้องทำนโยบายที่ท้องถิ่นต้องการ”

    นอกจากนี้รัฐบาลไม่สามารถจะใช้นโยบายภาคการคลังเยียวยาแรงงานที่ตกงานและกลับไปอยู่บ้านในต่างจังหวัดต่อไปได้อีก เนื่องจากวิกฤติครั้งนี้ไม่เหมือนกับวิกฤติปี 2540 ทีเมื่อกลับไปในภาคการเกษตรแล้วยังมีงานทำ มีพ่อแม่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตร แต่วันนี้กลับไปภาคเกษตรก็ประสบกับภัยแล้ง ผสมกับต้นทุนในการทำเกษตรก็ขาดช่วงมานาน เพราะฉะนั้นการส่งต่อความรู้ การสอนการทำการเกษตรด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น หายไปค่อนข้างมาก แรงงานที่กลับไปก็ปรับตัวลำบาก แต่ก็ต้องปรับตัวด้วย

    ขณะเดียวกัน เครื่องมือการปรับตัวก็คงยังไม่เพียงพอ แบงก์ชาติได้ร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งกระทรวงแรงงาน กับกระทรวงอุดมการศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนการหางานใหม่ให้กับแรงงานและการเทรนนนิ่งเรื่องยกระดับทักษะ upskill การเพิ่มทักษะ reskill ให้กับแรงงานที่กลับไปท้องถิ่น

    รัฐต้องคิดถึงโรงงานใหญ่ที่รับผลโควิดด้วย

    นายเทียนชัย วัชรอดิศัย นักวิทยาศาสตร์ 8 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้
    นายเทียนชัย วัชรอดิศัย นักวิทยาศาสตร์ 8 สำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี ในฐานะผู้กำกับโรงงานที่มีโรงงาน 700 โรงงาน และมีคนงานประมาณเกือบ 2 แสนคนที่อยู่ในนิคม มีพื้นที่ประมาณ 2.5 หมื่นไร่ นับว่าเป็นนิคมขนาดใหญ่ โดยโรงงานใหญ่ที่อยู่ในนิคมฯ เป็นกลุ่มยานยนต์และประเภทอื่นๆ ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์โควิดมีผลกระทบต่อแรงงานและการผลิต ในส่วนของแรงงานได้รับผลกระทบทุกโรงงาน มีการ work from home บ้าง มีการให้คนงานออกบ้าง แต่ในสัดส่วนน้อย

    สำหรับสถานการณ์ตอนนี้ ในภาคการผลิต โรงงานหลักที่ผลิตยานยนต์ คนงานเริ่มกลับมาทำงานได้แล้ว แต่ผลผลิตกลับขายไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศกับขายต่างประเทศ แต่ในกลุ่มที่ผลิตสิ่งของอุปโภค กับกลุ่มผลิตวัสดุที่ใช้ในประเทศไทยเป็นหลัก หรือส่งออกไปประเทศที่ไม่ค่อยมีการระบาดโควิดมากนัก กลับมาผลิตเกือบ 100% แล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์ประเภทพลาสติก ของใช้ภายในบ้าน หรือประเภทแอร์ เครื่องใช้ภายในบ้าน

    “เมื่อเกิดโควิดทุกคนก็มองเอสเอ็มอี แต่โรงงานขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบมากด้วย เมื่อผลกระทบเยอะ การฟื้นตัวก็จะยิ่งยากขึ้น ผมอยากให้รัฐบาลอย่ามองแต่เอสเอ็มอี ให้มองโรงงานขนาดใหญ่ด้วยเพราะว่าผลกระทบโควิดเท่ากัน แต่ต้นทุนโรงงานขนาดใหญ่จะหายไปเยอะกว่า ส่วนเอสเอ็มอีลงทุนน้อยแต่ว่าผลกระทบก็อาจจะน้อยกว่าหน่อย ผมก็มองในด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ”

    หอการค้าคิดใหม่ยกระดับธุรกิจรายย่อย

    นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานสภาหอการค้าชลบุรี
    นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานสภาหอการค้าชลบุรีกล่าวว่า เศรษฐกิจของจังหวัดชลบุรีและทั้งประเทศเริ่มถดถอยมาสักระยะ 2-3 ปีก่อนโควิดแล้วจากหลายปัจจัย ทั้งการใช้มาตรการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ สงครามการค้า แต่เมื่อโควิดระบาดเศรษฐกิจภาคตะวันออกยิ่งแย่ลง โดยการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นอย่างแรก บางบริษัทต้องปิดกิจการเนื่องจากรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ขณะที่ภาครัฐเข้ามาช่วยไม่ทัน

    การที่มีที่ตั้งใกล้กรุงเทพฯ ทำให้เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์การท่องเที่ยวของจังหวัดชลบุรี ภาคตะวันออกก็ได้รับอานิสงส์ที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับภูเก็ตหรือสถานที่ท่องเที่ยวที่ไกลออกไป จะเห็นได้ว่าช่วงเสาร์อาทิตย์ที่บางแสนรถติดอย่างมาก แต่พื้นที่ที่อิงกับนักท่องเที่ยวต่างชาติเต็มที่อย่างพัทยาซึ่ง 70-80% ของรายได้มาจากนักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมากและยังคงมีปัญหา มีเพียงบางโรงแรมและร้านอาหารบางแห่งเท่านั้นที่พอมีรายได้เข้ามาบ้างจากนักท่องเที่ยวชาวไทย และโรงแรมส่วนใหญ่ยังปิดให้บริการ

    นายธีรินทร์กล่าวถึงบทบาทของหอการค้าในการช่วยเศรษฐกิจของพื้นที่ชลบุรี พื้นที่ EEC ให้ขับเคลื่อนไปได้ว่า จากเศรษฐกิจของจังหวัด และของประเทศที่ถดถอยมาระยะหนึ่ง หอการค้ามองว่าส่วนหนึ่งไม่สามารถที่จะทำให้ธุรกิจกลับมาเหมือนเดิมได้ เพราะเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีการทำธุรกิจแบบเดิม หอการค้าจึงมีนโยบายส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัล ให้กับเอสเอ็มอี และเป็นเทคโนโลยีที่เอสเอ็มอีเข้าถึงได้และเอาไปใช้ได้จริง และที่สำคัญที่สุดต้องยั่งยืน

    “หอการค้าร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) แจกทุนเป็นคูปองดิจิทัลมูลค่า 1 หมื่นบาทให้กับผู้ประกอบการรายเล็กเอสเอ็มอี ตั้งแต่ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านขายของชำ หรือเป็นร้านขนาดกลางถึงเล็กสามารถเข้าถึงซอฟต์แวร์ เข้าถึงแพลตฟอร์มต่างๆ โดยนำไปทดลองใช้ได้ฟรี”

    ปัจจุบันผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นคนไทย พัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่นำไปใช้ จากราคาไม่ได้แพงมาก โดยเงิน 1 หมื่นบาทสามารถได้โปรแกรมร้านอาหารทันที หรือเป็นโปรแกรมการจัดทำสินค้าคงคลังแบบง่ายๆ เพื่อที่จะตรวจสอบย้อนกลับ โดยเฉพาะร้านขายของชำ ร้านโชห่วย ที่ยังไม่สามารถประเมินสินค้าคงเหลือ และต้องใช้แรงงานคนมาก

    การใช้ระบบซอฟต์แวร์เข้ามาช่วยทำให้ธุรกิจขนาดเล็กบริหารจัดการได้ถูกลง กำไรมากขึ้น ลดความสูญเสียลงเร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายทำให้แข่งขันได้ หอการค้าชลบุรีมองว่า รายได้สำคัญที่สุด หากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจังหวัด คือ ร้านค้า ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านเอสเอ็มอีต่างๆ มีรายได้เพิ่มขึ้น ก็จะช่วยเศรษฐกิจทั้งจังหวัดให้เข้มแข็ง

    “การส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมเพราะเรามองว่า การค้าขายแบบเดิมหรือการขายสินค้าแบบเดิมๆ คงไม่ได้แล้วเนื่องจากโลกเราเปลี่ยนไป และยิ่งมีโควิดเข้ามา การขายแต่สินค้าเกษตร พืชผลการเกษตรอย่างเดียว โดยไม่มีการเพิ่ม value added หรือนวัตกรรมเข้าไป ก็จะถูกกดราคา แบบไม่มีอะไรที่ต่อยอดได้ หอการค้าได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพราะมหาวิทยาลัยมีองค์ความรู้ มีอาจารย์ มีนวัตกรแต่ไม่ได้นำมาใช้ ส่วนผู้ประกอบการมีความรู้เรื่องตลาด เรื่องเทรนด์โลก แต่ไม่มีองค์ความรู้การต่อยอด หอการค้าชลบุรีจึงเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้กับนักธุรกิจให้เข้าหากัน เมื่อร่วมกันได้ก็เกิดการพัฒนาต่อยอดสินค้าเกษตรหรืออุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับจังหวัดได้ด้วย”

    นอกจากนี้หอการค้าพยายามผลักดัน smarter city เพราะอยากทำให้ ความเป็นอยู่ของคนในเมือง สะดวกขึ้น ดีขึ้น สบายขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น โดยเริ่มโครงการที่ smarter city ในอำเภอพนัสนิคมอำเภอนำร่อง แต่ก็ยังมีอุปสรรคมากเพราะบางส่วนต้องมีนโยบายจากภาครัฐ นโยบาย จากท้องถิ่นจะต้องเข้าใจและผลักดันให้เกิดได้จริง

    “หอการค้าพยายามที่จะหาช่องทางให้ smarter city เกิดขึ้น แต่ไม่ได้เป็น smarter city ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาก เพราะต้องการให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ดีขึ้น ปลอดภัยขึ้น เป็นเมืองที่ดีขึ้น เมืองที่ฉลาดขึ้น ไม่จำเป็นต้องไฮเทคมาก แต่ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็นอยู่”

    EEC ต้องขับเคลื่อนอย่างจริงจัง

    ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก
    ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ให้ข้อมูลว่า ชลบุรีถือว่าเป็นศูนย์กลางของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพราะชลบุรีเป็นจังหวัดที่เก็บภาษีได้มากสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทยรองจากกรุงเทพฯ และมีโรงงาน 5,000 กว่าแห่ง ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจยานยนต์ กลุ่มผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนระยองมีโรงงานจำนวนน้อยกว่า แต่เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมหนัก

    กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกซึ่งมี 8 จังหวัด แบ่งออกได้ 2 กลุ่ม กลุ่มจังหวัดที่หนึ่งคือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นกลุ่ม EEC ที่เหลืออีก 5 จังหวัดจะเป็นกลุ่มที่สอง ซึ่งมีบริบทแตกต่างจากกลุ่ม EEC เพราะกลุ่ม EEC เป็นอุตสาหกรรมหนัก

    สำหรับภาพรวมภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง ซึ่งใน 3 จังหวัดของกลุ่มแรก การท่องเที่ยวพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ธุรกิจโรงแรมจึงซบเซาปิดให้บริการ แต่ยังได้รับการกระตุ้นบ้างจากนักท่องเที่ยวชาวไทย ด้านการบริโภคภาคเอกชนก็ลดลง แต่ในไตรมาสที่สองและ 2 ไตรมาสที่ผ่านมาการลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมบริการ โลจิสติกส์ มีการลงทุนบ้างเล็กน้อยในกลุ่ม EEC แต่ยังไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้นัก

    โดยรวมทั้ง 8 จังหวัดภาคเกษตรดีขึ้นเล็กน้อย ส่วนภาคผลิตอุตสาหกรรม ด้านท่องเที่ยวและด้านบริการ และการบริโภคด้านเอกชนก็ยังต่ำลง อัตราการจ้างงานลดลง 6 เดือนที่ผ่านมาสถิติที่เก็บจากคลังจังหวัดทุกจังหวัดลดลงไปเกือบ 6 หมื่นคน เป็นผลจากการระบาดของโควิดโดยตรง

    “ปัญหาที่ส่งผลกระทบนอกจากโควิด-19 ที่มีผลทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ล่าช้าแล้ว ก็คือ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ที่ค่อนข้างจะออกมาช้า ทำให้เกิดการลงทุนใหม่ช้าลง และภาคเอกชนไม่มีความมั่นใจที่จะลงทุนเพิ่ม อีกทั้งสถาบันการเงินเริ่มระมัดระวังในการปล่อยเงินกู้มากขึ้น ทำให้เอสเอ็มอีไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนไปต่อได้อย่างคล่องตัวมากนัก และสถานการณ์การปิดประเทศของหลายประเทศ ทำให้การส่งออกในภาคตะวันออกหดตัวลง”

    ส่วนแรงงานก็เป็นปัญหา เพราะการนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับประเทศไปในช่วงโควิดยังทำไม่ได้ ขณะเดียวกันไทยยังพัฒนาแรงงานที่มีทักษะสูงไม่ทัน เป็นผลจากเทคโนโลยี แม้ EEC มีเป้าหมายที่จะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามา แต่ไม่รู้ว่าเทคโนโลยีใหม่ที่มาคืออะไร อีกทั้งการพัฒนาแรงงานก็ไม่รู้ว่าจะสอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ได้หรือไม่ และอย่างไร นับเป็นปัญหาในการพัฒนาแรงงาน นอกจากนี้ อีคอมเมิร์ซที่เติบโตสูงขึ้นจากโควิด ทำให้ผู้ประกอบการที่มีหน้าร้านปรับราคาสินค้าขึ้นได้ยาก จึงเป็นปัญหาในภาคตะวันออก

    มาตรการบรรเทาเศรษฐกิจจากภาครัฐ ปัจจุบันมีหลายๆ มาตรการ ซึ่งก็เป็นข้อดี แต่ยังไม่พอสำหรับภาวะปัจจุบัน ฉะนั้นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องหามาตรการที่สอดรับกับการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลจากโควิด โดยเน้นการกระตุ้นอุปสงค์และการท่องเที่ยว

    “การท่องเที่ยวเราตอนนี้แทบจะล่มสลาย คนมาเที่ยวยังน้อยอยู่ โดยเฉพาะคนไทย ไทยเที่ยวไทยยังน้อย เนื่องจากไม่มีรายได้ทำให้คนไทยไม่กล้าที่จะไปเที่ยว การท่องเที่ยวช่วงนี้ราคาถูกมากทั่วประเทศ ทั้งโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว คนไม่แออัด”

    การประกาศโครงการอุตสาหกรรมภาคตะวันออกหรือ EEC ทำให้ภาคอุตสาหกรรมทั้งภาคตะวันออกมีความหวังและติดตามความคืบหน้า และให้ความร่วมมือที่จะผลักดันโครงการนี้ให้เกิดขึ้นให้ได้เพราะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบเดียวกับการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ในปี 2525 แต่ได้ปรับกลยุทธ์และมีแรงจูงใจต่างๆ มาก

    “แต่นับตั้งแต่วันที่ประกาศจนปัจจุบันโครงการยังไม่เป็นรูปธรรม ยังมองไม่เห็นผู้ที่จะเข้ามาร่วม เราก็ตั้งตาคอยและนักอุตสาหกรรมก็เตรียมพร้อมต่างๆ แต่ลูกค้าที่จะเข้ามาร่วมยังไม่มีเพราะฉะนั้นอย่างไรก็ต้องเดินต่อ ผมก็เชื่อว่ายังให้ความเชื่อมั่นว่าต้องใช้เวลานิดหนึ่ง ให้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เสร็จเรียบร้อย”

    สำหรับข้อเสนอในการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมจังหวัด ต้องการเห็น โครงการ EEC มีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง เพราะการลงทุน EEC ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องและทำให้เกิดการจ้างงาน ฉะนั้นโครงการ EEC ยังคงมีความจำเป็นที่ต้องลงทุนอย่างต่อเนื่อง

    ในอดีตที่ผ่านมา รัฐบาลส่งเสริมอุตสาหกรรมทำให้เศรษฐกิจดี แต่ไม่มีความมั่นคงระยะยาว เนื่องจากไม่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นของไทยโดยตรง สินค้าที่ผลิตภายใต้แบรนด์ทั้งหลายเป็นของต่างชาติทั้งหมด หากมีการย้ายฐาน เศรษฐกิจไทยจะมีปัญหา

    หากรัฐบาลยังส่งเสริมอุตสาหกรรมและให้ต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตก็น่าจะปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสิทธิประโยชน์เช่น อาจจะมีเงื่อนไขให้ต้องทำธุรกิจกับธุรกิจไทยในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างชาติทำธุรกิจด้วยการใช้เทคโนโลยี เครื่องมืออุปกรณ์ วัตถุดิบ จากซัพพลายเชนในกลุ่มเข้ามาทั้งหมด เพียงแค่ใช้แรงงานในไทยเท่านั้น หรือบางกลุ่มธุรกิจยังนำเข้าแรงงานมาโดยตรงอีกด้วย ซึ่งทำให้ประเทศไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่

    “จุดแข็งของไทยคือ เกษตรกรรม ควรใช้จุดแข็งพัฒนาเกษตรกรรม ถึงจะเริ่มต้นตอนนี้ก็ไม่ถือว่าสาย แม้แต่คนงานของผมที่เต็มใจลาออกก่อนเกษียณหลังจากโควิดหลายร้อยคน แต่ละคนได้เงินไป 3-4 แสนบาท ทุกคนดีใจ เพราะอยากกลับบ้านไปทำการเกษตร ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำการเกษตร”

    จากนี้ไปต้องนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิผลของภาคเกษตร เพราะเป็นจุดแข็งของประเทศที่จะทำให้ยั่งยืนได้ เศรษฐกิจตกต่ำ แต่เกษตรกรก็ไม่ได้ตกต่ำ คนที่กลับบ้านยังทำมาหากินได้

    ดร.สาโรจน์กล่าวต่อว่า ภาระกิจของสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกคือ การยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมในทุกมิติ ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคสังคม และการแสวงหาเทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกให้สามารถที่จะแข่งขันได้ในตลาดโลก สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เหมือนเดิม

    สภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจะวางกลยุทธ์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก รวมทั้งการสร้างเครือข่ายในการประชุม กรอ. โดยจะนำเสนอทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมให้รัฐบาลพิจารณา ที่สำคัญการการส่งเสริมธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาบุคลากรให้สอดรับกับภาคอุตสาหกรรมในภาคตะวันออก

    สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้นำเสนอแนวทางนโยบายต่อรัฐบาลว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐต้องมีการจัดซื้อจากเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 30% ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะช่วยกระตุ้นให้เอสเอ็มอีมีแรงขับเคลื่อนต่อไป ส่วนการค้ำประกันเงินกู้ของ บสย. ต้องการให้มีการดำเนินการค้ำประกันเงินกู้ต่อเนื่อง เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์สามารถสะดวกใจในการปล่อยกู้ให้กับภาคเอกชน และยังได้เสนอแนวทางให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ลดเครดิตเทอมให้กับผู้ประกอบการรายย่อย จากเดิม 60 วันหรือ 90 เป็นภายใน 30 วัน เพื่อให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่อง มีเงินทุนหมุนเวียน โดยมีผู้ประกอบการขนาดใหญ่ 100 กว่าบริษัทได้เข้าร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจกับสภาอุตสาหกรรมฯ แล้ว

    มหาวิทยาลัยเตรียมแรงงานพร้อมเพิ่มทักษะ

    ผศ.เอกวิทย์ โทปุรินทร์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยบูรพา
    ผศ.เอกวิทย์ โทปุรินทร์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยบูรพาเป็นมหาวิทยาลัยหลักของ EEC และให้ความสำคัญกับ EEC อย่างยิ่ง โดยที่บางแสนมีศูนย์ออโตเมชั่น พาร์ค (Automation Park) สนับสนุน ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยเตรียมกำลังคน คือ บัณฑิตจากภาคอุตสาหกรรม มาช่วยในการอบรม แต่วันนี้ต้องคิดต่อในอนาคต ด้วยการตรียมคนนอกจากเตรียมตัวบัณฑิตแล้ว ขณะที่เตรียมแรงงานไปด้วย โดยเฉพาะในศูนย์ Automation Park ได้มีการเริ่มเตรียมคนในงานของแรงงาน มุ่งไป EEC ทั้งที่เป็นระดับปริญญาและหลักสูตรประกาศนียบัตร

    มหาวิทยาลัยไม่ได้พัฒนาเฉพาะในส่วนของ EEC และไม่ได้สอนเฉพาะสายวิทยาศาสตร์ สายเทคโนโลยี สายวิศวกรรมศาสตร์ แต่มีสายสังคมศาสตร์ด้วย ฉะนั้นในภาคอุตสาหกรรมบริการหรือภาคการจัดการที่อยู่ในสายสังคมศาสตร์ ก็เตรียมการด้วย

    “สิ่งที่เราพยายามเตรียมการทำมาในการปรับหลักสูตรครั้งที่ 2 และ 3 ที่กำลังทำอยู่ คือเพิ่มทักษะ หนึ่ง digital skill สองก็คือ people skill ทักษะทำงานร่วมกับคน ทักษะความเป็นมนุษย์ที่มีความสำคัญ ต่อมาเป็น design thinking เพราะหลังโควิดผ่านไปแล้วงานทุกอย่างจะกลับเข้ามา แต่จะเปลี่ยนรูปแบบ design thinking คือ ทักษะกระบวนการคิดแล้วแก้ ปัญหา นี่คือการติดอาวุธให้ทั้งบัณฑิต และผู้ใช้บัณ ฑิต ที่สำคัญที่สุด คือแรงงานที่เป็นคนทำงานที่จะรับเข้ามา มหาวิทยาลัยบูรพาไม่ได้ทำ upskill แต่เพียงอย่างเดียว เราทำ reskill แล้วก็ new skill ด้วย สิ่งที่เราพยายามทำอยู่คือ ลงพื้นที่พยายามจะสนับสนุนในทุกมิติเท่าที่จะทำได้”

    ผศ. ดร.ฐิติมา ไชยะกุล คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา กล่าวว่า กระบวนการปรับเปลี่ยนหลักสูตรค่อนข้างช้า เนื่องจาก 5 ปีมีการปรับครั้งหนึ่ง แต่กว่าจะผ่านกระบวนการ เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปแล้ว ความรู้เปลี่ยนแล้ว จึงไม่ทันปัจจุบัน ดังนั้นหลัก สูตรระยะยาว 4 ปี อาจไม่ได้ตอบโจทย์ความเป็นปัจจุบัน แต่มหาวิทยาลัยยังให้ความรู้พื้นฐานได้ ส่วนการ reskill สำหรับคนที่จบแล้ว และทำงานมาสักระยะหนึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสิ่งสำคัญ ที่ต้องพัฒนาไม่ว่าเทคโนโลยีที่เปลี่ยน ความรู้ต่างๆ ที่เปลี่ยน

    ขาดแรงงานคุณภาพที่ได้ภาษาอังกฤษ

    ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง
    ดร.ทรรศนะ บุญขวัญ ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง กล่าวว่า วิทยาลัยฯ เป็นเอกชน เพราะฉะนั้นให้ความสำคัญกับการปรับตัวอย่างเต็มที่ แต่ประเด็นที่อยากให้คิดใหม่ เพื่อไทยก้าวต่อไป คือ คุณภาพเด็กไทยที่จะต้องไปแข่งขันในโลก โดยมองข้ามสถานการณ์โควิดไปในอนาคต

    “สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยแข่งขันไม่ได้คือ ภาษาอังกฤษ เด็กไทยเรียนมา 12 ปีในระบบการเรียนพื้นฐานกับอีก 2 ปีหรือ 4 ปีในมหา วิทยาลัยเท่ากับศูนย์มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ไปต่อได้ แม้ทักษะหรือสกิลได้ แต่ภาษาไม่ได้จริงๆ หลังจากนี้ถ้าเราจะก้าวต่อไป เราต้องเริ่มด้วยภาษาอังกฤษ”

    “วิทยาลัยของผม นักศึกษาระดับ ปวช. หรือ ปวส. ของวิทยาลัยไม่ตกงานเพราะนักศึกษา ปวช., ปวส. เป็นแรงงานที่มีทักษะเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะโรงงานในแถบท่าเรือแหลมฉบัง และยังกำหนดให้เด็ก ปวช. กับ ปวส. ต้องสอบ TOEIC ถึงจะถือว่าจบการศึกษา ซึ่งทำให้เด็กที่จบจากวิทยาลัยสามารถเข้าไปทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ได้ และสามารถโยกไปทำงานอื่นที่ใช้ทักษะแรงงาน ได้เนื่องจากวิทยาลัยผมเป็นภาคอุตสาหกรรมหมายถึงเด็ก ปวช., ปวส. ที่เป็นช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างอิเล็กทรอนิกส์มากกว่าส่วนที่เป็นพาณิชย์

    จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชลบุรี คือ เด็กชลบุรีมักไม่ตกงาน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตกงาน เด็กชลบุรีเลือกงานด้วย เพราะงานมีมากอยู่แล้ว และมักชอบพูดกันขาดแรงงานฝีมือ ไม่เป็นความจริง ชลบุรีไม่ได้ขาดแรงงานมีฝีมือ แต่ขาดแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพและพูดภาษาอังกฤษได้

    นายจักรพงศ์ ประภากรสกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานสภาอุตสาหกรรม จังหวัดจันทบุรี เสนอให้รัฐบาลจัดให้มีการโครงการ reskill ประชากรที่สูงวัยครอบคลุมคนที่ยังไม่เกษียณอายุจากงานราชการ รวมทั้งปรับเปลี่ยนเงื่อนไขแรงงานต่างด้าวที่มักถูกมองว่าเป็นแรงงานระดับล่าง เพราะบางรายอาจจะมีทักษะสูง ตลอดจนเพิ่มการให้บริการระบบสาธารณสุขที่เข้าถึงพื้นฐาน