ThaiPublica > เกาะกระแส > เวที”คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอน 1 ) : รัฐต้องเข้าใจ เข้าถึงแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือตรงเป้าอย่างรู้เท่าทัน

เวที”คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอน 1 ) : รัฐต้องเข้าใจ เข้าถึงแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือตรงเป้าอย่างรู้เท่าทัน

7 กันยายน 2020


สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้านคือ การใช้ชีวิต (Living) การเรียนรู้ (Learning) และการทำงาน (Working) สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (New normal) หลังวิกฤติโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติ COVID-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงควรเป็นอย่างไร

แปดองค์กรประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้

โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในช่วงปลายปี 2563

โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม และที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญที่สรุปได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความเห็นจากวงเสวนาหาดใหญ่ พบว่าเศรษฐกิจภาคใต้มีโครงสร้างที่เน้นหนักในภาคเกษตรกรรม แต่ภาคการเกษตรของภาคใต้ยังมีศักยภาพอีกมาก สามารถเป็นฐานรองรับแรงงานที่ตกงานจากภาคเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะต้องพัฒนาการผลิต ส่วนในระยะสั้นการช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต้องมีการส่งเสริมอาชีพทดแทนให้กับเกษตรกร ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน รัฐต้องขยายมาตรการช่วยเหลือไปจนถึงสิ้นปี 2563 ส่วนในการระยะยาวต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันในโลกได้ ขณะเดียวกันชุมชนก็ปรับกระบวนการเรียนรู้หาทางออกให้ตัวเองโดยไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐ

สร้างกลไกขับเคลื่อนประเทศไทยบนแนวพระราชดำริ

นายประสิทธิ์โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

นายประสิทธิ์ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวถึงที่มาของโครงการ คิดใหม่ ไทยก้าวต่อว่า เมื่อเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ผสมกับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมีผลกระทบต่อประชาชนคนไทยอย่างมาก สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ต้องการที่จะรู้ว่าในวิถีใหม่และด้วยรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยจะรองรับการเปลี่ยนแปลงได้มากน้อยแค่ไหน จึงได้ตั้งโจทย์ขึ้น คือ 1.บริบทของผู้คนในสังคมไทยเป็นอย่างไร มีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใดและย้อนไปดูบริบทของสังคมโลก และประเทศไทยก่อนวิกฤติ COVID-19 เป็นอย่างไร 2) เมื่อเกิด COVID-19 แล้วได้ส่งผลอะไรต่อสังคมโลกและประเทศไทย ในด้านไหนบ้างและมากน้อยเพียงใด ซึ่งนำไปสู่กาวิเคราะห์ว่าสังคมโลกต้องเปลี่ยนและประเทศไทยต้องปรับอะไรบ้าง 3.จากนั้นหาต้นแบบหรือโมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ขณะที่ไทยแนวพระราชดาริหลายแนวที่นำมาปรับใช้ได้ ก็จะนำมาประยุกต์ใช้

การศึกษาตรงนี้เป็นการดำเนินการใน 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกเป็นการศึกษาวรรณกรรมปริทัศน์ ศึกษาบริบทสังคมโลกสังคมไทย ส่วนที่สอง เมื่อทั้งโลกปรับ ประเทศไทยควรปรับอะไร และคนไทยมีความพร้อมที่จะปรับหรือไม่ ตรงนี้เป็นหัวใจ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้จะได้จากการเสวนาที่จัดขึ้นใน 4 ภาค ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคอีสานและเวทีใหญ่ที่กรุงเทพ เมื่อได้ภาพใหญ่แล้ว ก็จะนำไปสู่ส่วนที่สามคือ นำประเด็นมาหาทางออกในการปรับตัวของสังคมไทย และมีมุมใดบ้างที่สามารถนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้ และสร้างกลไกในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป

เศรษฐกิจภาคใต้กระจุกตัว

นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. สำนักงานภาคใต้

นายสันติ รังสิยาภรณ์รัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า โครงสร้างของเศรษฐกิจภาคใต้โดยรวมกระจุกตัว โดยเน้นหนักใน 4 ภาค คือ 1.ภาคเกษตรมีสัดส่วนสูงอันดับหนึ่ง 20% 2.ภาคท่องเที่ยว ที่พักแรม หรือที่บริการด้านอาหาร ประมาณ 16% 3.ภาคค้าปลีกและค้าส่ง และ4. ภาคการผลิต ซึ่งสัดส่วนค้าปลีกค้าส่งรวมกับการผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 10% ส่งผลให้ทั้ง 4 ภาคนี้มีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจของภาคใต้สูงถึง 60%

ภาคการเกษตรนอกจากจะมีสัดส่วนสูงแล้ว ผลิตผลในภาคนี้ยังกระจุกตัวอีกด้วย เนื่องจากเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยวค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของภาคเกษตรกระจุกตัวในพืช 4 ประเภท คือ ยางพาราประมาณ 60% รองลงมาคือปาล์มน้ำมันประมาณ 20% แล้วตามด้วยกุ้งขาวอีก 10% และที่เหลือเป็นผลไม้ แต่ผลไม้ก็กระจุกตัวอยู่ในทุเรียน เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าในแง่ของการเกษตรเองก็กระจุกตัวค่อนข้างมาก

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ที่พักแรมหรือบริการด้านอาหาร 70% กระจุกตัวอยู่ในอันดามัน คือ ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก นอกจากกระจุกตัวแล้วยังพึ่งพานักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ด้วย เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะโครงสร้างที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจงทำให้แรงกระทบค่อนข้างมาก

ภาคค้าปลีกค้าส่งค่อนข้างจะดีในลักษณะที่ว่ามีการปรับตัวได้ดี แต่การปรับตัวไม่ใช่ทุกกลุ่ม ส่วนใหญ่แล้วมีการปรับตัวแทนที่จะพึ่งหน้าร้าน ก็มีการพึ่งพาเทคโนโลยีก็คือ ผ่านอีคอมเมิร์ซ การสั่งผ่านออนไลน์ ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่วนภาคการผลิตได้รับผลกระทบเนื่องจากมีการกระจุกตัวเช่นกัน โดยภาคการผลิตเน้นการส่งออกไปต่างประเทศ เน้นการผลิตพึ่งพาไม่กี่ผลิตภัณฑ์ เช่น ยางพารา

“เมื่อประเทศอื่นๆ มีการปิดประเทศ กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงัก ทำให้คำสั่งซื้อส่วนใหญ่ของภาคการผลิตภาคใต้ที่ส่งออกไปจีน สหรัฐฯ หรือมาเลเซียหายไป ดีมานด์หรืออุปสงค์จากต่างประเทศหายไป โดยสรุปในแง่ของโครงสร้างมีการกระจุกตัว”

ในมิติของแรงงาน แรงงานของภาคใต้กว่า 50% ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม ส่วนที่เหลือกระจายไปในภาคการค้า การท่องเที่ยว การผลิต นอกจากนี้แรงงานที่อยู่นอกระบบที่ไม่มีประกันสังคมจะค่อนข้างสูงกว่า 50% แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างของแรงงานมีการกระจุกตัวในภาคเกษตรกรรม และมีการใช้แรงงานจำนวนมากในภาคการท่องเที่ยวและบริการ

สำหรับผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบหมด มีการหดตัว ทั้งการใช้จ่ายภาคเอกชน ภาคท่องเที่ยว ภาคการผลิต การลงทุนภายในประเทศ สาเหตุหลักมาจากการล็อกดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 ฉะนั้นเศรษฐกิจของภาคใต้ในช่วงไตรมาสที่ 2 หดตัวค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่ช่วยหนุนเศรษฐกิจภาคใต้คือ การใช้จ่ายภาครัฐ และเป็นปัจจัยเดียวที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจภาคใต้ไม่ให้หดตัวสูง

มาตรการเยียวยาต่างๆ ของภาครัฐ หรือมาตรการที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนทั่วไป เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ยังเป็นส่วนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พยุงเศรษฐกิจของภาคใต้ในไตรมาสที่ 2

ส่วนภาวะเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ติดลบ ปัจจัยหลักคือราคาพลังงานและราคาอาหารสด ซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องจากผลของการระบาดของไวรัสโควิด-19 คนไม่ได้ออกไปใช้จ่ายข้างนอก ไม่ได้ไปร้านอาหาร ร้านอาหารก็ไม่ได้มีการซื้อสินค้าประเภทนี้เข้ามา และคนส่วนใหญ่ช่วงล็อกดาวน์ก็จะซื้ออาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ประกอบกับราคาน้ำมันโลกมีการปรับตัวลดลงจึงทำให้ภาวะเงินเฟ้อติดลบในช่วงไตรมาสที่ 2

ภาวะการจ้างงานยังค่อนข้างเปราะบาง จากตัวเลขแรงงานที่ไปใช้สิทธิประกันสังคม ทั้งมาตรา 33 และมาตรา 38 มีการใช้สิทธิเพิ่มขึ้น ตรงส่วนนี้แบงก์ชาติมีความเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมาหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูง ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 80 ของ GDP ของประเทศ จึงน่าเป็นห่วงในแง่การจ้างงาน หากไม่มีการจ้างงาน หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น จะส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน ซึ่งนอกจากการใช้จ่ายแล้ว ประชาชนจะต้องนำรายได้ไปชำระหนี้ของตัวเอง ก็เป็นประเด็นหรือโจทย์ที่สำคัญ

ส่วนปัญหาหลักของภาคใต้ แบงก์ชาติเห็นว่า ในระยะยาว จากการที่โครงสร้างเศรษฐกิจของภาคใต้กระจุกตัว ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวโดยร่วมมือกับภาครัฐ ด้วยการวางยุทธศาสตร์ที่จะต้องกระจายหรือต้องปรับตัวเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่รองรับแนวพฤติกรรมใหม่ๆ ในอนาคต หรือพฤติกรรมที่เห็นในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นก่อนที่ไวรัสโควิดจะระบาด

ทั่วโลกมีแนวโน้มเปลี่ยนจากเดิมที่จะพยายามมี globalization คือ การที่ประเทศต่างๆ ค้าขายกันเพื่อที่จะใช้ประโยชน์ของประเทศที่สามารถผลิตสิ่งของได้ต้นทุนที่ถูกที่สุด เป็น deglobalization เดิมทีแรงงานอาจจะมีการเคลื่อนไปอยู่ในที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่จากการระบาดของโควิดและเกิดแนวโน้ม deglobalization แรงงานอาจจะต้องอยู่กับที่ แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจเคลื่อนไปอยู่ที่แรงงาน เคลื่อนไปหาแรงงาน อาจจะเป็นแนวโน้มใหม่

“ในแง่ของความคล่องตัวของแรงงานที่จะเคลื่อนไปเคลื่อนมาอาจจะหายไป เพราะฉะนั้นในแง่ของประเทศไทยแรงงานที่อาจจะหายไป หรือขาดแคลนจะต้องนำเข้า หรือเราอาจจะต้องหาแรงงานต่างชาติ ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นอุปสรรคในอนาคต เพราะมีแนวคิดที่จะใช้ automation ต่างๆ มาแทนที่คน เนื่องจากว่าคนอาจจะเป็นทรัพยากรแรงงานที่หายากขึ้น”

ภาคใต้ยังขาดแรงงานที่มีทักษะที่ตรงกับความต้องการ ตัวอย่างที่เห็น คือ โรงงานต้องการช่างเทคนิคค่อนข้างมาก แต่ด้านอาชีวะอาจจะผลิตด้านนี้น้อยไป เพราะฉะนั้นในแง่ของการป้อนแรงงานที่ถูกต้องตรงตามความต้องการของตลาดอาจจะน้อยลง หรือในภาคการท่องเที่ยว ตลาดต้องการแรงงานที่สามารถพูดได้หลายภาษา ก็อาจจะไม่มีการผลิตแรงงานทางด้านนี้เพียงพอ ดังนั้นจึงไม่สามารถป้อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้

“ทั้งหมดเป็นข้อมูลโดยรวมที่สำคัญที่กระทบต่อในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคใต้ในอนาคต ซึ่งก็หวังว่าเราจะได้เห็นหรือหยิบยกขึ้นมา อาจจะได้ไปคิดต่อ”

สภาพัฒน์เก็บข้อมูลเตรียมปรับแผนพัฒนา

นางพรรณิภา รัตนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด สภาพัฒน์ฯ

นางพรรณิภา รัตนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนยุทธศาสตร์จังหวัด สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า สภาพัฒน์ฯ ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคได้รับมอบหมายหาประเด็นเพื่อที่จะเตรียมนำไปปรับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในแผนที่กำหนดไว้เดิม ทั้งการเกษตรได้เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งกลุ่มเกษตรกรที่เป็น young smart farmer เกษตรกรรายย่อย ที่เน้นทำการเกษตรผสมผสานเพื่อการพึ่งพาตนเอง ลดความเสี่ยงทางด้านรายได้ แต่จะนำไปสู่ทางปฏิบัติได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับส่วนราชการที่จะดึงแผนไปสู่การปฏิบัติในพื้นที่

สถานการณ์ของภาคใต้หลังการระบาดของไวรัสโควิดที่เห็นชัดที่สุด คือ อัตราการว่างงานไตรมาสที่ 2 ค่อนข้างที่จะสูงประมาณร้อยละ 2.2 แรงงานที่มีการจ้างงานลดลงคือภาคอุตสาหกรรมกับภาคบริการเฉพาะสาขาของโรงแรมและภัตตาคาร

สำนักงานภาคของสภาพัฒน์ได้เตรียมทำข้อเสนอกับระดับนโยบายเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 ในด้าน การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้ง reskill, upskill ให้กับกลุ่มแรงงานที่ยังคงได้รับผลกระทบ

สภาพัฒน์ฯ ให้ความสำคัญ กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบ และก็มีการย้ายถิ่นฐานกลับสู่ภูมิลำเนา ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ก็ยังกลับไปสู่ภาคการเกษตรบางส่วน ในกลุ่มของแรงงานที่กลับสู่ภาคการเกษตร ที่จะไปเสริมสร้างความเข้มแข็ง แนวนโยบายคือทำให้เขาสามารถทำกิจกรรมพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด มีความมั่นคงในครัวเรือนแล้วนำไปสู่ความมั่นคงในระดับชุมชน

นอกจากนี้อาจต้องมีการพัฒนาต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับผลิตภัณฑ์ทางพาณิชย์ต่อไป ตัวความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากระดับที่สอง คือ สถาบันเกษตรกร หรือสถาบันชุมชน ตรงนี้อาจจะต้องสร้างความเข้มแข็งให้มากขึ้น ทั้งการให้สถาบันเป็นแหล่งทุนให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่มากขึ้น และเพื่อลดการพึ่งพาการเงินนอกระบบ

ทางด้านเอสเอ็มอี แนวนโยบายที่วางไว้ก็ค่อนข้างใกล้เคียงกับแนวทางที่ผู้ประกอบการมีข้อเสนอ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้เป็น smart SME แต่ปัจจัยสำคัญคือ การเข้าถึงแหล่งทุน รวมทั้งยังมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ในการเข้ามาทำธุรกิจของเอสเอ็มอี แล้วองค์ความรู้สมัยใหม่ ดิจิทัลมาร์เกตติง ซึ่งภาครัฐให้ความสำคัญการทำดิจิทัล แพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มรวมให้กับทุกภาคส่วน

สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือในส่วนที่สภาพัฒน์เกี่ยวข้องในเรื่องของเงินกู้ สำนักภาคดูแล แผนงานการฟื้นฟูของทางด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นชุมชน ผ่านช่องทางให้หน่วยงานในจังหวัดเสนอโครงการขึ้นมา ตอนนี้ทั้งประเทศในงวดแรก คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเฉพาะภาคใต้ 2 รอบไปแล้ว โครงการของภาคใต้ที่ผ่านจังหวัดช่วยเหลือเศรษฐกิจท้องถิ่น เน้นการสร้างงานสร้างอาชีพเป็นระยะเร่งด่วน รวมทั้งหมด 51 โครงการ วงเงิน 310 ล้านบาท เฉพาะผ่านจังหวัด ทั้งประเทศมีจำนวน 210 โครงการ รวม 1,000 กว่าล้านบาท อีกส่วนหนึ่งที่เป็นของกระทรวง หน่วยงานที่ดำเนินโครงการเพื่อเร่งการจ้างงานมีทั้งหมด 13 โครงการ วงเงินที่อนุมัติไป 43,000 ล้านบาท ซึ่งมีการประมาณการณ์ว่าทั้ง 13 โครงการจะสามารถจ้างงานในระยะเร่งด่วนได้ประมาณเกือบ 90,000 ตำแหน่ง

รัฐต้องขยายเวลามาตรการเยียวยา ผู้ประกอบการยังขาดสภาพคล่อง

นายสมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมภาคใต้

นายสมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้นำข้อมูลสำคัญมาแลกเปลี่ยน 4 หัวข้อใหญ่ ประกอบด้วย 1) สถานการณ์เศรษฐกิจ 2) สถานการณ์แรงงาน 3) สถานการณ์ภาคอุตสาหกรรม และ 4) ข้อเสนอแนะ

นายสมบูรณ์กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่เกิดขึ้นก่อนการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอยู่แล้วทำให้อุปสงค์ภายในประเทศก็ลดลง เหตุผลหลักคือ การเบิกจ่ายเงินงบประมาณปี 2563 ล่าช้าและสงครามเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และจีนก็เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2561 จนถึง 2563 ทำให้เศรษฐกิจประเทศไทยเฉลี่ยเติบโตแค่ 3.4% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่หนี้ครัวเรือนสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์คือเป็นราว 79% ของ GDP

สำหรับภาคใต้ เศรษฐกิจของภาคใต้มีสัดส่วนขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ 8.6% ของ GDP ทั้งประเทศ เศรษฐกิจภาคใต้มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แม้หลายๆ เครื่องชี้วัดยังหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ปีนี้เทียบเดือนต่อเดือนก็เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

เศรษฐกิจภาคใต้อยู่ในภาคการเกษตร 20% ภาคอุตสาหกรรม 15% และภาคบริการ 64% ส่วนความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจากการสำรวจอยู่ที่ 82.5% เป็นภาพรวมทั้งประเทศที่ถือว่าดีขึ้น จาก 50% ในก่อนหน้านี้ แสดงว่าหลังจากปลดล็อกดาวน์ดีขึ้น ภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักจากการปลดล็อกดาวน์เริ่มมีความต้องการใช้สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เมื่อคนอยู่บ้านเพิ่มขึ้น สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น เริ่มมีการซ่อมแซมของที่เสียหรือซื้อหาเข้ามาทดแทน ประกอบกับมีการจัดโปรโมชัน

ส่วนปัจจัยลบมีอยู่บ้าง คือ ผู้ประกอบการยังมีความกังวลอยู่ ขาดสภาพคล่อง ไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังต้องชำระหนี้เก่าอยู่ แต่เห็นว่ารัฐบาลมีการทำงานรุกดีพอสมควร ที่ผ่านมามีการพักชำระหนี้ มีซอฟต์โลนต่างๆ ออกมารวดเร็ว คือ มาตรการออกมารวดเร็ว แต่การปฏิบัติยังติดขัดอยู่

นายสมบูรณ์คาดการณ์ว่า ใน 3 เดือนข้างหน้าก็ยังอยู่ในสภาวการณ์ที่ดี อุตสาหกรรมขนาดย่อมจะมีปัญหาค่อนข้างมาก แม้ดัชนีความเชื่อมั่นเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมขนาดกลางก็ยังมีปัญหา แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ไม่ต้องวิตกเพราะสามารถปรับตัวสู้กับปัญหาได้ดีอยู่แล้ว

สำหรับภาคใต้ดัชนีความเชื่อมั่นขยับขึ้นมาที่ 80% เริ่มมีความมั่นใจ และคาดว่าอีก 3 เดือนข้างหน้าจะขยับขึ้นไปเป็น 89% แต่ยังมีสิ่งกังวลอยู่คือ สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น

ด้านข้อเสนอแนะ นายสมบูรณ์กล่าวว่า 1) ขอเสนอให้ภาครัฐขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เช่น พักชำระหนี้ ซอฟต์โลน และออกมามากขึ้น รวมทั้งให้ผลในทางปฏิบัติได้เร็ว ปัจจุบันมาตรการออกเร็ว แต่เวลาปฏิบัติช้า 2) หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้นำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อเดิมอยู่แล้ว ควรให้ผ่อนผัน เพราะนับว่าเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำกิจกรรมต่อไปได้และจะมีผลต่อแรงงานจำนวนมาก 3) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โครงการลงทุนพประเภทสาธารณูปโภคต่างๆ ต้องใช้คนจำนวนมาก ใช้การจ้างงานภายในจำนวนมาก ควรจะรีบเร่งดำเนินการและเบิกจ่ายออกมา

นายสมบูรณ์กล่าวอีกว่า รัฐบาลควรออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อที่จะนำเงินที่มีอยู่แล้วมาจ้างงานและมาซื้อวัตถุดิบ เช่น การชะลอเก็บค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพื่อให้ไม่เงินที่ผู้ประกอบการมีไหลออกไป แต่สามารถนำเงินที่จะจ่ายค่าน้ำค่าไฟฟ้ามาจ้างงานและซื้อวัตถุดิบในการผลิต หรือเร่งการคืนภาษีให้เร็วขึ้น

“ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแล้ว โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตอุตสาหกรรมในปีนี้ และไม่ต้องจ่ายสมทบในปีหน้า นี่คือมาตรการที่ดี เป็นการลดเงินไหลออกจากกระเป๋า เขาจะได้เอาเงินนั้นไปหมุนเวียนเป็นสภาพคล่อง อยากเห็นภาพแบบนี้”

นายสมบูรณ์กล่าวว่า ควรคืนเงินประกันค่าน้ำ ค่าไฟ ให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมด้วย รัฐได้มีการคืนให้ประชาชนทั่วไปแล้ว แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังไม่ได้ แต่ละรายต้องมีเงินประกันหม้อแปลงไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนบาท บางรายสูงเป็นล้าน เงินก้อนนี้วางไว้ที่ธนาคารเฉยๆ ได้ดอกเบี้ย 1-2% ไม่มีประโยชน์เลย

“ถามว่าใครกล้า ไม่จ่าย ไม่จ่ายวันเดียวพรุ่งนี้ไม่ต้องทำงาน ปิดหมดเลยทั้งโรงงานชัตดาวน์ ไฟฟ้ามาตัดแน่ เงินประกันนี้เอาคืนเขาไปเถอะให้เขาไปหมุนเวียน จ้างคนงานได้อีกเป็นเดือน หรือจ้างคนงานได้ 10 คน ผมว่ารัฐพร้อมสามารถที่จะทำได้ทันที เงินก้อนใหญ่ๆ รัฐก็ทำไป แต่ก้อนเล็กๆ ต้องมีให้เขาหมุนเวียนก่อน”

แนะส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน – พัฒนาอาชีพที่2 ให้เกษตรกร

นายณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยา ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี

นายณัฐนนท์ พงษ์ธัญญะวิริยา ประธานหอการค้าจังหวัดปัตตานี ซึ่งร่วมเสวนาในฐานะตัวแทนสภาหอการค้า ให้ความเห็นว่าประเทศไทยได้รับผลกระทบหนักเพราะพึ่งพาการท่องเที่ยวประมาณ 20% ของ GDP พึ่งพิงการส่งออก 60% ของ GDP โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ชาวต่างชาติไม่สามารถที่จะมาเที่ยวในไทยได้ ในส่วนของภาคใต้ มาเลเซียที่เข้ามาเที่ยวปกติมาประมาณ 5 ล้านคนต่อปี ก็หายไป เพราะฉะนั้นการปรับตัวคือ เที่ยวกันเองในประเทศ

นายณัฐนนท์เสนอว่า ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ให้มีการเที่ยวในโซนพื้นที่ใกล้ๆ กันก่อน เช่น 5 จังหวัดที่ใกล้กันหรือมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกันน่าจะทำได้ง่ายกว่า เมื่อการท่องเที่ยวไปมาระหว่างกันดีขึ้นแล้ว หลังจากนั้นสักระยะหนึ่งก็ส่งเสริมการท่องเที่ยวเฉพาะภูมิภาคติดกัน เช่น กลุ่มจังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งตะวันออก กลุ่มอันดามัน น่าจะเป็นไปได้

นอกจากนี้ควรมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน เพราะท่องเที่ยวชุมชนเป็นหน้าร้านของทุกอาชีพในชุมชน สินค้าโอทอปก็เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยวชุมชน ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แต่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของชุมชน ในรูปแบบการท่องเที่ยวตลาดมีความต้องการท่องเที่ยวแบบใหม่ๆ เช่น สปา กิจกรรมที่เป็นลักษณะสอนหนังสือช่วยเหลือชุมชนเหล่านี้ หรือให้ลูกค้าทดลองการทำการเกษตร

อีกแนวทางหนึ่ง คือ จัดท่องเที่ยวในประเทศแต่ชูจุดดึงดูดความเป็นต่างประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ มีโรงแรมหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ มีการตกแต่งเป็นลักษณะสวนญี่ปุ่นทั้งหมด ได้รับการตอบรับที่ดีก็มีคนเข้าไปพัก เพราะตอบสนองต้องการไปเที่ยวญี่ปุ่นแต่ยังไม่สามารถไปได้ หรือจัดท่องเที่ยวชิมอาหารต่างประเทศ ปัตตานีเป็นตัวอย่างในเรื่องของการทำพิซซ่า คนที่ปัตตานีมีฝีมือในการทำพิซซ่าโฮมเมดที่ดี แล้ว ราคาขายจานหนึ่งประมาณ 300-400 บาท สามารถขายได้และขายหมด หรือต้องการไปเที่ยวเมืองหนาว ก็ไปเที่ยวที่เบตง

นายณัฐนนท์ยังเสนอให้มีการส่งเสริมอาชีพทดแทนให้กับเกษตรกร โดยระบุว่าภาคการเกษตรประสบกับปัญหาราคาสินค้าเกษตร ขณะนี้ราคายางพาราประมาณ 45 บาทต่อกิโลกรัม ราคาปาล์ม 3 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแนวโน้มน่าจะมีความยากลำบาก เพราะฉะนั้นภาคเกษตรสมควรที่จะมีการหาอาชีพทดแทนหรือปลูกพืชแซมยาง ในปัจจุบัน 3 จังหวัดภาคใต้ มูลนิธิปิดทองได้ไปส่งเสริมให้เลี้ยงแพะ เกษตรกรหลายรายมีความพอใจ ในปัตตานีได้ส่งเสริมการเพาะพันธุ์ปูทะเล กำลังเริ่ม ส่วนจังหวัดสงขลาและจังหวัดอื่นเดินหน้าไปได้ไกลแล้ว

การเพาะพันธุ์ปูทะเล จะเติบโตได้ต้องมีป่าชายเลน ถ้าโซนนิงป่าชายเลนมีน้อยเกินไป การเพาะพันธุ์ปูก็อาจไม่สมดุล ควรจะสำรวจและกำหนดโซนนิงไว้ให้ชัดเจน นอกจากนี้ก็จะมีการส่งเสริมการปลูกเมลอนและปลากือเลาะห์ ซึ่งเป็นปลาที่ใช้ในภัตตาคารของสิงคโปร์ ตอนนี้ราคาก็ดีมาก และมีการเลี้ยงกันมากในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ส่วนอำเภออื่นคิดว่าน่าจะดูเรื่องการปรับสภาพอุณหภูมิน้ำ

ส่วนการปรับตัวขององค์กร โดยส่วนใหญ่แล้วต้องการที่จะลดขนาดลง นำออโตเมชันเข้ามาเพิ่ม พนักงานที่อยู่ในองค์กรก็ขอให้ไปทำงานที่บ้าน work from home ซึ่งลักษณะทำงานที่บ้านว่าแรงงานที่เป็นฝีมือเบื้องต้น เช่น อาชีพตัดเย็บ การประกอบอุปกรณ์ต่างๆ รับไปทำเป็นชิ้นๆ น่าจะช่วยองค์กรได้ การประชุมสัมมนาจะปรับเป็นออนไลน์ รวมถึงการอบรม การเรียนทุกๆ เรื่อง นำออนไลน์เข้ามาใช้ได้

ในส่วนของโมเดิร์นเทรดได้เห็นการเปลี่ยนแปลง คือ ห้างสรรพสินค้าได้ลดพื้นที่ลง ร้านสะดวกซื้อเช่น 7-11 เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด ขณะที่บิ๊กซีขยายสาขา เซ็นทรัลเองได้ฟื้นแฟมิลี่มาร์ทขึ้นมาใหม่ เพราะคนไม่ได้ใช้เวลาในการซื้อของนาน การเดินเที่ยวในห้างลดลง การค้าออนไลน์ ส่งของเดลิเวอรีก็ปรับตัวสูงขึ้น

สิ่งที่อยากจะให้เพิ่มคือ เงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน และภาคโลจิสติกส์ ประเทศตอนนี้พึ่งพิงต่างชาติมาให้บริการโลจิสติกส์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในช่วงโควิด การขนส่งจากไทยไปประเทศลาว ลาวจะไม่ให้คนขับรถไทยเข้าไปในประเทศเลย ไทยมีความต้องการที่จะผ่านลาวไปประเทศจีน มีความต้องการสูงมาก มีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการร่วมทุน ออกรถให้เขา ทุกๆสิ่งร่วมมือกันหมด สิ่งเหล่านี้ถึงจะเดินต่อไปได้ในช่วงนั้น ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ดีและถูกต้อง และในอนาคตต้องทำ

แนวทางแก้ไขในภาพรวม หอการค้าฯ มองไปที่การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ โดยการกำหนดมาตรฐานอาหารที่ปลอดภัยขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยี ส่วนการส่งเสริมการขายของรายย่อยมีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ บริษัทเนสท์เล่ ได้จัดอบรมให้กับคนที่ขายของรถเร่ เป็นรถขายเครื่องดื่มชงขนาดเล็กให้สามารถที่จะชงโอวัลติน กาแฟ ให้มีรสชาติที่ดี การช่วยให้เข้าถึงสินค้าราคาถูก เป็นการกระตุ้นการบริโภค

หอการค้ามีความเป็นห่วง 1) มนุษย์เงินเดือน คนเหล่านี้ที่ทำงานในห้างสรรพสินค้า ในภาคท่องเที่ยว ภาคบริการ หรือแม้แต่การสอนพิเศษ ได้รับผลกระทบทั้งหมด แล้วก็มีปัญหาหนี้ครัวเรือนมาแทรกซ้อนด้วย 2) อาชีพอิสระหาบเร่แผงลอย เอสเอ็มอีรายย่อย 3) กลุ่มสุดท้ายที่น่าเป็นห่วงก็คือ กลุ่มเปราะบาง เพราะต้องพึ่งพิงชนชั้นกลาง คนที่มีอาชีพอิสระ

นายณัฐนนท์ยังเสนอให้นำใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน สร้างแพลตฟอร์ม ผลักดันให้เกิดการบูรณาการข้อมูลหรือ big data ที่เกี่ยวกับกลุ่มเปราะบาง ว่าอยู่ที่ไหน มีความต้องการอะไร เครือข่ายแก้จนอยู่ที่ไหน เข้าถึงกลุ่มเปราะบางได้อย่างไร

เทศบาลสงขลาวางตัวเมืองท่องเที่ยวเชื่อมมาเลเซีย-สิงคโปร์-อินโดนีเซีย

นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา รองนายกเทศมนตรีสงขลา

นายไพโรจน์ สุวรรณจินดา รองนายกเทศมนตรีสงขลา มีมุมมองว่า ภาคเกษตรของไทยปรับตัวไปมาก และมีโครงการรองรับจำนวนมาก ทั้งโครงการเกษตรอัจฉริยะรองรับคนรุ่นใหม่ โครงการลดต้นทุน โครงการเพิ่มคุณภาพผลิต มีเกษตรเชิงอัตลักษณ์ มีพืช GI มีการจดสิทธิบัตรทำให้ไทยแข่งขันกับต่างประเทศได้ เห็นได้ชัดจากจังหวัดพัทลุงที่เป็นเมืองท่องเที่ยวรอง การท่องเที่ยวพัทลุงเติบโตมากที่สุดเพราะท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการรวมตัวกันของเกษตรกร เป็นพื้นที่ไร่นาก็มี มีการจัดร้านกาแฟท่องเที่ยว มีความหลากหลายของพืช

พืชอัตลักษณ์เป็นพืชที่ขายความหลากหลาย ประเทศไทยมีความหลากหลายมากที่สุด พืชที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีคุณค่าทางยาเยอะแยะมาก การวิจัยพืชในปัจจุบันไปได้ถูกทางเพราะต้องแข่งขัน มองถึงคุณภาพในการที่จะไปสู้ตลาดโลกได้ ครัวโลกได้ เพราะฉะนั้นมองว่า การปรับปรุง วิธีการผลิตให้มีการแข่งขันได้ คือต้นทุน คุณภาพ ผลผลิตต่อไร่ต่ำทำให้ต้นทุนสูง การลดต้นทุนต้องใช้องค์ความรู้เข้าไปมากขึ้น

นายไพโรจน์กล่าวว่า สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นเทศบาลสงขลาพยายามดูแลคน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่ดูแลอยู่ พยายามให้เข้าใจวิถีชีวิตแนวใหม่ ต้องปรับตัว ต้องรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้บริโภค แม้ว่าโควิดจะคลี่คลายไปแล้ว แต่ก็ควรมีมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือการจัดการที่ถูกต้อง ต้องสวมหน้ากากอนามัย ต้องมีระยะห่าง ซึ่งต้องให้ความรู้เขาเพื่อให้เกิดความมั่นใจ รวมทั้งดูแลให้มีทักษะมากขึ้น

เทศบาลนครสงขลาดูแลคนในหลายภาคส่วน จึงมองการปรับตัวของเทศบาลที่เข้าสู่เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน คือเมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน และเป็นเมืองเทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี สงขลาเป็น 1 ใน 5 ของเทศบาลทั่วประเทศที่จะเข้าแข่งขันระดับประเทศ

เทศบาลนครสงขลามองบริบทของตัวเองเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยว ไม่ใช่เมืองอุตสาหกรรม เพราะตัวจังหวัดสงขลามีภูมิทัศน์ที่ดี มีอู่วัฒนธรรมเป็นจุดขาย มีพื้นที่ดึงดูดคน นักท่องเที่ยวเข้ามากขึ้น มองถึงความปลอดภัยเป็นเมืองที่น่าอยู่ เป็นเมืองที่การคมนาคมสะดวก มีกล้องวงจรปิดที่นักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วอบอุ่นใจ

สิ่งที่เทศบาลทำได้ คือให้มีโอกาสที่จะเป็นเมืองอยู่ดี คือเป็นเมืองที่ผังเมืองที่ดี มีการใช้ประโยชน์ผังที่ดินที่เหมาะสม มีการจัดการขนส่งที่ดี คนมีสุขมีการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การดูแลสุขภาพได้ดี

เทศบาลสงขลาใช้มาตรฐานระดับสากลคือ คน 1 คนควรมีพื้นที่ป่าประมาณ 10 ตารางเมตร แต่เทศบาลสงขลามีพื้นที่ป่าให้ 22 ตารางเมตรต่อ 1 คน พยายามสร้างเมืองเป็นเมืองสีเขียว มีการจราจรที่ดี และขณะนี้กำลังเข้าสู่เมือง smart city ซึ่ง smart city smart people คือ คนมีความรู้ มีการอบรม มีการเข้าถึงระบบข้อมูลข่าวสาร smart economic สามารถค้าขายทางออนไลน์ได้

“เราพยายามอบรมอย่างนี้ smart transportation เมืองสีเขียวที่เราทำกับ IMT-GT ความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ หรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างมาเลเซีย อินโดนีเซียและไทย เราเน้น การขนส่ง การคมนาคมที่ปลอดภัย มีสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงได้ดี และส่งเสริมการท่องเที่ยว มองถึงเรื่องการสนับสนุนกันให้การคมนาคมไปสู่มาเลเซีย มาเลเซียไปสู่สิงคโปร์ เพื่อให้มีการไหลของนักท่องเที่ยว”

“สิ่งที่เน้นย้ำที่สุด การระบาดของไวรัสครั้งนี้ทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกระจ่างชัดขึ้น คนระลึกถึง เข้าใจถึงเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น มีคุณธรรมมากขึ้น เห็นได้ชัดจากคนสงขลาที่มีฐานะเริ่มรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ช่วยเหลือกันเกื้อกูลกัน”