ThaiPublica > คอลัมน์ > เหตุการณ์ของการโทษเหยื่อ (victim blaming) มาจากไหน: ทฤษฎีของ Just-World

เหตุการณ์ของการโทษเหยื่อ (victim blaming) มาจากไหน: ทฤษฎีของ Just-World

8 ธันวาคม 2020


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี www.powdthavee.co.uk

เคยสงสัยกันไหมครับว่าพฤติกรรมของ victim blaming หรือการโทษเหยื่อนั้นมันมาจากไหน และเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อประมาณปี ค.ศ. 1960 นักจิตวิทยา Melvin Lerner ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับมนุษย์เราขึ้นมาข้อหนึ่ง เขาได้ให้ชื่อกับข้อสันนิษฐานนี้ว่า The “just-world” hypothesis

ซึ่งหลักการของ just-world hypothesis นี้ก็คือคนเราส่วนใหญ่มักจะเชื่อกันว่า ถ้าคุณทำดี คุณจะได้ดี ถ้าคุณทำชั่ว คุณจะได้ชั่ว (ซึ่งถ้าพูดง่ายๆ ก็คือความเชื่อที่คนทั่วไปในกฎแห่งกรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธนั่นเอง แต่ Lerner พบว่าความเชื่อนี้มีอยู่ทั่วไปไม่ว่าคนคนนั้นจะมาจากศาสนาไหนก็ตาม)

ความเชื่อใน just-world หรือกฏแห่งกรรมนี้มีข้อดีหลายอย่าง เช่น คนที่เชื่อใน just-world อาจจะไม่อยากทำความเลวเพราะกลัวผลลัพธ์ที่ไม่ดีที่อาจจะตามมาทีหลังได้

แต่ความเชื่อใน just-world ก็มีข้อเสียหลายอย่างเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าความเชื่อใน just-world มักจะนำมาใช้ในด้านผิดๆ เช่น เวลาที่เราเห็นคนจน คนที่เชื่อใน just-world ก็มักจะคิดว่า ที่เขาจน เขาจะต้องเป็นคนที่ขี้เกียจแน่ๆ เลย

ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการที่คนเราจนมักจะมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เยอะมากกว่าปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น การที่คนเราเลือกเกิดมาในครอบครัวที่รวยไม่ได้ เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้นคนที่เชื่อใน just-world มากๆ ก็มักจะโทษเหยื่อว่ามันเป็นความผิดของเหยื่อเองที่ถูกลวนลามบ้าง ที่ถูกคนอื่นเอารัดเอาเปรียบบ้าง เพราะคนที่เชื่อใน just-world มากๆ มักจะให้เหตุผลแก่สิ่งไม่ดีที่เกิดขึ้นด้วยความเชื่อของเขา (“ถ้าคนนั้นเป็นคนดีจริงๆ เขาก็ไม่น่าจะเจอกับสิ่งที่ไม่ดีนะ แต่ถ้าเขาเจอกับสิ่งที่ไม่ดี เขาจะต้องเป็นคนไม่ดีแน่ๆ อย่างนี้ก็สมควรแล้ว”) ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เขาคิดเลยก็ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ การโทษเหยื่อของคนที่เชื่อใน just-world เป็นการให้เหตุผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกเพื่อทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันมีความคล้องจองกันกับความเชื่อว่า ถ้าคุณทำดี คุณก็จะได้ดี แต่ถ้าคุณทำชั่ว คุณก็จะได้ในสิ่งที่ไม่ดี

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้น โอกาสที่เราจะเห็นคนที่ไม่ดีเป็นใหญ่เป็นโต หรือคนที่ดีที่ต้องตกระกำลำบากก็เป็นอะไรที่เกิดขึ้นบ่อยในสังคมของเราเหมือนกันนะครับ มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถให้เหตุผลสิ่งที่เกิดขึ้นมันยังไงเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม

Lerner, M.J. and Simmons, C.H., 1966. Observer’s reaction to the” innocent victim”: Compassion or rejection?. Journal of Personality and social Psychology, 4(2), p.203.